เรื่องเด่น

อำนาจ การซื้อ

ประเทศต่าง ๆ ต้องพิจารณาความโปร่งใสของกระบวนการจัดซื้อ เมื่อซื้ออุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการทหารจากต่างประเทศ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

สำหรับหลาย ๆ กองทัพในอินโดแปซิฟิก การปรับปรุงกำลังให้ทันสมัยนั้นเกี่ยวข้องกับการซื้ออุปกรณ์ทางทหารจากต่างชาติในระดับหนึ่ง และสหรัฐอเมริกาก็ได้เห็นการขอซื้อฮาร์ดแวร์และเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น

เมื่อพูดถึงจำนวนการซื้อขายอาวุธทั้งหมดทั่วโลก สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และจีน อยู่ใน 5 อันดับแรกตามลำดับ ระหว่าง พ.ศ. 2557 ถึง พ.ศ. 2561 ตามรายงานของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม เมื่อรวมกันแล้วคิดได้เป็นร้อยละ 75 ของปริมาณการส่งออกอาวุธทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว ในจำนวนนั้น มากกว่าหนึ่งในสามหรือประมาณร้อยละ 36 ของการส่งออกมาจากสหรัฐอเมริกา

“สหรัฐอเมริกามุ่งมั่นที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งแก่พันธมิตรและคู่ค้าทั่วโลกเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการป้องกันตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมายของตน และเพื่อปรับปรุงขีดความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงร่วมกัน” ตามแถลงการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ของสำนักงานด้านการเมืองและทหาร กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งกำกับดูแลการซื้อขายอาวุธระหว่างรัฐบาลส่วนใหญ่ และการอนุญาตการส่งออกทางการค้าของอุปกรณ์และเทคโนโลยีด้านกลาโหมที่มาจากสหรัฐฯ

พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ซ้าย) และ พล.อ. ฟิลิป เอส. เดวิดสัน ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ต้อนรับอากาศยานโกลบมาสเตอร์ ซี-17 ที่กำลังส่งมอบยานเกราะ
สไตรเกอร์ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ณ ท่าอากาศยานทหารดอนเมือง กรุงเทพมหานคร

การขายอาวุธและการค้าด้านกลาโหมเป็นเครื่องมือสำคัญในนโยบายต่างประเทศ และมีผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวต่อความมั่นคงในภูมิภาค จึงเป็นเหตุผลที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ พิจารณาสภาพทางการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ การควบคุมอาวุธ และสิทธิมนุษยชน เมื่อตัดสินใจจัดหาอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการทหารให้แก่ประเทศใด ๆ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าว

สหรัฐอเมริกาได้ลงนามในสัญญาอาวุธมูลค่า 5.56 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท) กับพันธมิตรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากช่วง พ.ศ. 2560 ขณะที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ไฟเขียวเพื่อทำการค้าขายในต่างประเทศมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น โดยภายในสามไตรมาสแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สัญญาขายอาวุธแก่ต่างประเทศของสหรัฐฯ มีมูลค่าถึง 4.41 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท)
รายงานจากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์มระบุว่า ช่องว่างระหว่างผู้จัดหาอาวุธสองอันดับแรกของโลกยังคงมีมากขึ้น โดยการส่งออกอาวุธของสหรัฐฯ สูงกว่ารัสเซียถึงร้อยละ 75 ในระหว่าง พ.ศ. 2557 ถึง พ.ศ. 2561 ขณะที่การส่งออกอาวุธดังกล่าวสูงขึ้นเพียงร้อยละ 12 ในช่วงสี่ปีก่อนหน้านี้ ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม

“สหรัฐฯ ยังคงยืนหยัดในฐานะผู้จัดหาอาวุธชั้นนำของโลกต่อไป” ดร. โอด เฟลอรองต์ ผู้อำนวยการโครงการการใช้จ่ายด้านอาวุธและทางทหารของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์มกล่าว โดยระบุว่าการส่งมอบอาวุธของสหรัฐฯ มักประกอบด้วยอาวุธขั้นสูง เช่น อากาศยานรบ เรือรบพิสัยสั้น ขีปนาวุธทิ้งตัว และระเบิดนำวิถี

ขณะที่จีนตกจาก 5 อันดับแรก เนื่องจากอัตราการส่งออกอาวุธที่ลดลงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม ระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึง พ.ศ. 2551 การส่งออกอาวุธของจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 195 แต่ช่วง พ.ศ. 2557 ถึง พ.ศ. 2561 การส่งออกของจีนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.7
พล.ต. เจฟฟรีย์ ดับเบิลยู. ดรุชาล ผู้บังคับบัญชากองบัญชาการความช่วยเหลือด้านความมั่นคงของกองทัพบกสหรัฐฯ กล่าวในระหว่างการประชุมสัมมนาและนิทรรศการกองกำลังทางบกแปซิฟิกที่เมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ว่า โครงการขายยุทโธปกรณ์ทางทหารแก่ต่างชาติเป็นระบบที่ซับซ้อน กองทัพบกสหรัฐฯ ทำงานร่วมกับคู่ค้าทีละขั้น เพื่อสร้างการประมูลราคาที่เหมาะสมสำหรับประเภทการบริการที่เหมาะสม และประมาณร้อยละ 95 ของโครงการขายยุทโธปกรณ์ทางทหารแก่ต่างชาติของกองทัพบกสหรัฐฯ ดำเนินการโดยกองบัญชาการความช่วยเหลือด้านความมั่นคงของกองทัพบกสหรัฐฯ
ซึ่งทั้งหมดมีส่วนสำคัญในการรักษาความโปร่งใสของกระบวนการ ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าที่ทุกคนต่างต้องการ

พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกตรวจสอบยานเกราะ สไตรเกอร์คันหนึ่งหลังจากที่ยานเกราะดังกล่าวเดินทางมาถึง

“เมื่อคุณซื้อสินค้าจากสหรัฐอเมริกา คุณจะไม่ได้รับเฮลิคอปเตอร์ที่จะนำไปจอดในโรงเก็บเครื่องบินจนกระทั่งใช้งานไม่ได้ แต่คุณกำลังจะได้รับแพ็คเกจที่ครบครัน”
พล.ต.ดรุชาลกล่าวในระหว่างการประชุมสัมมนาและนิทรรศการกองกำลังทางบกแปซิฟิก “ซึ่งรวมถึงอะไหล่ รวมถึงเอกสารข้อมูล รวมถึงการฝึกอบรมด้านการบำรุงรักษา รวมถึงการฝึกอบรมเกี่ยวกับวิธีใช้งานยุทโธปกรณ์ครบชุดที่คุณซื้อ ทุกสิ่งเหล่านี้จะรวมอยู่ในแพ็คเกจที่ครบครันสำหรับประเทศที่ต้องการซื้อได้พิจารณา”
โดยกองบัญชาการความช่วยเหลือด้านความมั่นคงของกองทัพบกสหรัฐฯ จะช่วยให้ความกระจ่างถึงกระบวนการในโครงการขายยุทโธปกรณ์ทางทหารแก่ต่างชาติด้วยหนังสือรายการตรวจสอบคำร้อง เพื่อช่วยให้ผู้ที่อาจเป็นผู้ซื้อทราบรายละเอียดของอุปกรณ์ที่พวกเขาต้องการและวัตถุประสงค์ของอุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งคำร้องต้อง

ระบุแหล่งเงินทุน

ระบุว่าหน่วยทหารในประเทศหน่วยใด (กองทัพบก กองทัพเรือ หรือกองทัพอากาศ) ที่ส่งคำร้อง

ระบุประเภทของอุปกรณ์หรือบริการที่ร้องขอ

ทั้งนี้ ต้องส่งรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการใช้อุปกรณ์หรือระยะเวลาและสถานที่ที่ต้องการนำไปใช้ด้วย

โดยพล.ต.ดรุชาลยอมรับว่า ข้อเสนอแนะอันดับ 1 ของกองบัญชาการความช่วยเหลือด้านความมั่นคงของกองทัพบกสหรัฐฯ คือกระบวนการในโครงการขายยุทโธปกรณ์ทางทหารแก่ต่างชาติมีความล่าช้ามากเกินไป

“ระยะเวลาของการทำสัญญาใช้เวลานานเป็นพิเศษ”พล.ต.ดรุชาลกล่าว “หนึ่งในข้อดีของการใช้โครงการขายยุทโธปกรณ์ทางทหารแก่ต่างชาติของสหรัฐฯ คือความโปร่งใสของกระบวนการทำสัญญาของเรา” ซึ่งประเทศคู่ค้ามักจะถามถึงวิธีการที่จะเร่งกระบวนการซื้อ พล.ต.ดรุชาลกล่าวพร้อมเสริมว่า “กระบวนการอาจต้องใช้เวลานานขึ้นเล็กน้อย แต่สุดท้ายจะจบลงด้วยผลลัพธ์ที่เหมาะสม ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เป็นเอกฉันท์และไม่นำไปสู่การทุจริต”

ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก รวมถึงในทะเลจีนใต้และการเพิ่มการผลักดันอิทธิพลของจีนในแปซิฟิกรวมถึงที่อื่น ๆ มีแนวโน้มที่จะผลักดันโครงการขายยุทโธปกรณ์ทางทหารแก่ต่างชาติของสหรัฐอเมริกาต่อคู่ค้าในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“การซื้ออากาศยานและการป้องกันทางอากาศที่มาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้รับการผลักดันจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในทะเลจีนใต้ รวมทั้งความต้องการที่จะเพิ่มทุนในอุปกรณ์ทางทหารที่มีอายุ” ตามรายงานของนิตยสารมิลิทารีเอ็มเบ็ดซิสเท็ม “ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้นั้นมีความต้องการทั่วไปเกี่ยวกับกองกำลังทางอากาศและภาคพื้นดินที่ก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งรวมถึงความต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุดสำหรับอุปกรณ์ที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา”
บริษัทวิจัยตลาดฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวนคาดการณ์ว่า ตลาดโครงการขายยุทโธปกรณ์ทางทหารแก่ต่างชาติของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จะเติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 3.4 ต่อปีในระหว่าง พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2564 โดยสินค้าที่มีการร้องขอและส่งมอบมากที่สุด ได้แก่ อาวุธภาคพื้นดินเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ อากาศยานขับไล่ บริการฝึกอบรม และยานพาหนะทางยุทธวิธี

เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว กองบัญชาการความช่วยเหลือด้านความมั่นคงของกองทัพบกสหรัฐฯ ได้แต่งตั้งผู้จัดการโครงการประจำประเทศให้ดูแลประเทศพันธมิตรแต่ละประเทศ เมื่อรายการตรวจสอบเสร็จสมบูรณ์ จะสามารถตอบสนองความต้องการเชิงปฏิบัติการเฉพาะเพื่อทำการซื้อขายเทคโนโลยีได้ ตัวแทนของกองบัญชาการความช่วยเหลือด้านความมั่นคงของกองทัพบกสหรัฐฯ ทำงานเกี่ยวกับภาษา ขั้นตอน และความต้องการในการฝึกอบรม ซึ่งนายดรุชาลเรียกว่าพื้นฐานของการปฏิบัติการ

พล.ต. ดรุชาลทราบว่า สภาพทางภูมิรัฐศาสตร์จะกระตุ้นให้มีการร้องขอมากขึ้น และทีมงานของเขาก็พร้อมที่จะช่วยประเทศคู่ค้าในการสร้างขีดความสามารถใหม่ ๆ ต่อไป “ความต้องการผลิตภัณฑ์ด้านการป้องกันของสหรัฐฯ จะไม่ลดลง” พล.ต.ดรุชาลกล่าวในการประชุมสัมมนาและนิทรรศการกองกำลังทางบกแปซิฟิก “ทุกอย่างมีแต่จะเพิ่มขึ้นไป”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button