ติดอันดับ

พันธมิตรในภูมิภาคเผชิญกับอาชญากรรมทางทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น

ทอม แอบกี

การโจมตีเรือที่ไม่ใช่เรือของกองทัพในน่านน้ำอินโดแปซิฟิกในไตรมาสแรกของ พ.ศ. 2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 300 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันใน พ.ศ. 2562 ซึ่งกระตุ้นให้พันธมิตรในภูมิภาคปรับการมุ่งเน้นความพยายามไปที่การต่อต้านภัยคุกคามดังกล่าว

ปีนี้เริ่มต้นด้วยประเด็นการลักพาตัวชาวประมงอินโดนีเซียห้าคนในน่านน้ำมาเลเซีย นอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐซาบะฮ์ มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2563 มือปืน 6 คนที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอะบูซัยยาฟได้ขึ้นเรืออวนลากที่จดทะเบียนในมาเลเซียลำหนึ่ง และจับลูกเรือจำนวนห้าคนจากแปดคนเป็นตัวประกัน กองบัญชาการความมั่นคงตะวันออกของมาเลเซียรายงานว่า หน่วยปฏิบัติการพิเศษได้ประจันหน้าและสังหารผู้ลักพาตัวสองรายเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม แต่เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ผู้จับตัวกลุ่มที่สองยังคงจับตัวประกันไว้

มีการจัดลักษณะของเหตุการณ์อื่น ๆ อีก 28 เหตุการณ์ทั่วภูมิภาคในช่วงตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม พ.ศ. 2563 อย่างกว้าง ๆ ให้เป็น “เหตุการณ์การปล้นเรือโดยใช้อาวุธ” ภายใต้ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือโดยใช้อาวุธในเอเชียของสิงคโปร์ มีการปล้นเรือเพิ่มขึ้นบริเวณใกล้กับบังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมทั้งบริเวณช่องแคบสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือโดยใช้อาวุธในเอเชียรายงานว่า กองกำลังรักษาชายฝั่งฟิลิปปินส์กำลังติดตามกลุ่มสมาชิกอะบูซัยยาฟติดอาวุธห้าคน ที่วางแผนกระทำการลักพาตัวบริเวณใกล้รัฐซาบะฮ์ของมาเลเซีย

นายเบลก เฮอร์ซิงเกอร์ นักวิเคราะห์ด้านกลาโหมของสิงคโปร์ กล่าวกับฟอรัมว่า “การลักพาตัวเรียกค่าไถ่หรือเคเอฟอาร์ เป็นแรงจูงใจหลักของกลุ่มอะบูซัยยาฟ ในขณะที่กลุ่มอาชญากรอื่น ๆ จะขโมยเงินสดและอุปกรณ์” โดยกล่าวอีกว่า “มีรายงานว่ากลุ่มอะบูซัยยาฟกำลังทำสัญญาจ้างให้กลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มอะบูซัยยาฟดำเนินการลักพาตัวประกันและส่งบุคคลเหล่านั้นให้กับกลุ่มอะบูซัยยาฟ”

นายเฮอร์ซิงเกอร์อธิบายว่า การลักพาตัวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในแถบทะเลซูลูและทะเลเซเลบีส ซึ่งมีพรมแดนติดกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

“มีปัญหาที่ต่อเนื่องยาวนานจำนวนมากที่ก่อให้เกิดรูปแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการก่ออาชญากรรมประเภทนี้” นายเฮอร์ซิงเกอร์ “การอ้างสิทธิ์ที่มีการคัดค้านในรัฐซาบะห์ การเคลื่อนไหวแทรกซึมของเจ้าหน้าที่รัฐ/ผู้บังคับใช้กฎหมายในระดับที่ต่ำ และการควบคุมอาณาเขตทางทะเลที่น้อยมาก จนกระทั่งเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเร็วๆ นี้”

โดยเสริมอีกว่า ท่าเรืออย่างไม่เป็นทางการที่กระจัดกระจายทั่วพื้นที่เอื้อให้เกิดการขนถ่ายสินค้าผิดกฎหมายซึ่งไม่มีการตรวจสอบ โดยมีเส้นทางเดินเรือซิบูตูของฟิลิปปินส์เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของกลุ่มหัวรุนแรง ซึ่งเส้นทางดังกล่าวอยู่ทางตะวันออกจากจุดที่เกิดการลักพาตัวเมื่อเดือนมกราคม

นายเฮอร์ซิงเกอร์กล่าวว่า ข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคีที่ลงนามโดยอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 เพื่อดำเนินการลาดตระเวนทางอากาศและทางทะเลอย่างสม่ำเสมอ มุ่งเน้นความสนใจไปที่เส้นทางเดินเรือซิบูตู นายเฮอร์ซิงเกอร์ระบุว่าข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคีเป็นกลไกพหุภาคีที่หวังพึ่งได้มากที่สุดในการต่อต้านการลักพาตัวเรียกค่าไถ่และการปล้นทางทะเลในพื้นที่ดังกล่าว (ภาพ: เรือและเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเรืออินโดนีเซีย เข้าร่วมการลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยในทะเลทารากัน)

ศูนย์รวบรวมข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจัดตั้งโดยกองทัพเรือสาธารณรัฐสิงคโปร์ เข้าร่วมต่อสู้กับการโจมตีทางทะเลทั่วภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ศูนย์ดังกล่าวประกอบด้วย 24 ประเทศที่มีผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้

ศูนย์รวบรวมข้อมูลข่าวสารได้ออกแบบการตอบสนองด้านความมั่นคงต่อภัยคุกคามจากการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นทางทะเล การเพิ่มจำนวนอาวุธ และการก่อการร้ายทางทะเล ผ่านการแบ่งปันข้อมูลและความร่วมมือเพื่อยกระดับความมั่นคงทางทะเล

นายทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button