เรื่องเด่น

การเชื่อมโยง มนุษย์ กับ เครื่องจักร

ทหารสามารถควบคุมระบบป้องกันด้วย ความคิด

การมาของแท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และนาฬิกาอัจฉริยะที่ใช้งานง่าย ได้เร่งการใช้เทคโนโลยีแบบสวมใส่ได้ ซึ่งทำการตรวจวัดทางชีวภาพได้ทุกอย่างตั้งแต่การตรวจวัดความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และชั่วโมงการนอนหลับ ไปจนถึงข้อมูลสภาพอากาศที่เป็นปัจจุบันและคำแนะนำการนำทาง

กองทัพทั่วโลกได้ยกระดับวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีนี้ไปสู่ระดับใหม่ด้วยส่วนต่อประสานระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น อุปกรณ์สวมใส่ที่สามารถวินิจฉัยและรักษาโรครวมถึงบาดแผลจากการสู้รบ โปรแกรมเสมือนจริงเสริมที่ช่วยในการตัดสินใจในสมรภูมิรบ รวมทั้งเกราะชนิดแข็งเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งและความทรหดให้แก่ทหาร ซึ่งงานวิจัยที่กำลังพัฒนาขึ้นทำให้การเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรนั้นมีความล้ำลึกยิ่งขึ้น

นักวิจัยด้านการป้องกันกำลังพัฒนาประสาทเทคโนโลยี ที่จะทำให้นักรบในสงครามสามารถโต้ตอบกับเครื่องจักรที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ได้ในวันหนึ่งข้างหน้า โดยไม่จำเป็นต้องใช้แป้นพิมพ์ คำสั่งเสียง หรือแม้แต่การกดสวิตช์ ในทางทฤษฎี การใช้เทคโนโลยีส่วนต่อประสานระบบประสาทจะช่วยให้นักบินสามารถควบคุมฝูงอากาศยานไร้คนขับได้โดยใช้เพียงความคิด

“ส่วนต่อประสานระบบประสาทเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดข้อมูลระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร” ดร. อัล เอมอนดี ผู้จัดการโครงการของสำนักงานเทคโนโลยีชีวภาพที่สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Nextgov.com “แนวคิดนี้คล้ายกับวิธีการสื่อสารแบบอื่น ๆ ที่ทำกับคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเพื่อทำงานให้สำเร็จ ลองนึกถึงคำสั่งเสียง หน้าจอสัมผัส แป้นพิมพ์หรือเมาส์ แต่เทคโนโลยีนี้จะข้ามขั้นสื่อกลางของการกระทำทางกายภาพไป”

นักวิจัยที่ศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศสทดสอบส่วนต่อประสานระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ ส่วนต่อประสานช่วยให้ผู้ใช้เลือกสัญลักษณ์บนหน้าจอได้โดยไม่ต้องใช้คำสั่งเสียงหรือมือ
เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

ขณะนี้ ดร. เอมอนดี เป็นผู้นำโครงการความพยายามของสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมที่เรียกว่า โครงการประสาทเทคโนโลยีแบบไม่ผ่าตัดรุ่นใหม่ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะขจัดความจำเป็นในการปฏิบัติการทางกายภาพเพื่อใช้งานระบบป้องกัน

“สิ่งที่ส่วนต่อประสานระบบประสาทจะมอบให้คือประสบการณ์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งสมองของเราจะกลายเป็นเครื่องมือที่เปิดใช้งานโดยระบบต่อประสานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร. เอมอนดีกล่าว “เป็นครั้งแรกที่ส่วนต่อประสานระบบประสาทมีศักยภาพจะปรับตัวให้เข้ากับเรา แทนที่เราจะปรับตัวเองให้เข้ากับเครื่องมือที่เราใช้เพื่อทำงานให้สำเร็จ”

การเชื่อมโยงสมอง

โครงการประสาทเทคโนโลยีแบบไม่ผ่าตัดรุ่นใหม่ระยะสี่ปีของสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมนั้น เกี่ยวข้องกับองค์กรหกแห่งที่หวังจะพัฒนาส่วนต่อประสานระบบประสาทที่ไม่รุกล้ำหรือรุกล้ำ “เพียงน้อยนิด” “ส่วนต่อประสานแบบสวมใส่เพื่อเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์เหล่านี้ ท้ายที่สุดอาจช่วยให้การประยุกต์ใช้งานด้านความมั่นคงของชาติมีความหลากหลาย เช่น การควบคุมระบบป้องกันทางไซเบอร์ที่ใช้งานอยู่และฝูงอากาศยานไร้คนขับ หรือการทำงานร่วมกับระบบคอมพิวเตอร์เพื่อทำภารกิจหลายอย่างในระหว่างภารกิจที่ซับซ้อน” เว็บไซต์ของสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมระบุ

รัฐบาลกำลังร่วมงานกับสถาบันบัทเทลเมโมเรียล มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ศูนย์วิจัยพาโลอัลโต มหาวิทยาลัยไรซ์ และเทเลดีนเทคโนโลจีส์ ในโครงการประสาทเทคโนโลยีแบบไม่ผ่าตัดรุ่นใหม่นี้ ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ส่วนต่อประสานระบบประสาทเป็นการผ่าตัดแบบรุกล้ำ และส่วนใหญ่ใช้ในการฟื้นฟูการทำงานของระบบสั่งการให้แก่ทหารที่ได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของโครงการประสาทเทคโนโลยีแบบไม่ผ่าตัดรุ่นใหม่ คือการประมวลผลข้อมูลและการตัดสินใจอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องผ่าตัด เพื่อใช้กับทหารที่มีร่างกายแข็งแรง

เทคโนโลยีนี้สามารถทำให้ทหารและผู้บัญชาการมี “ระดับความไวต่อความรู้สึกที่เหนือกว่า และความสามารถในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมากกว่าที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมของตนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงช่วยเพิ่มการรับรู้สถานการณ์” บทความของชัทแธมเฮ้าส์ ซึ่งเป็นสถาบันนโยบายอิสระในกรุงลอนดอน ระบุในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 “ความสามารถเหล่านี้จะสนับสนุนการตัดสินใจของทหาร รวมทั้งกระบวนการกำหนดเป้าหมายอีกด้วย”

ความท้าทายสำหรับพันธมิตรของสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมคือการขจัดความจำเป็นในการผ่าตัด “สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมมีความก้าวหน้าที่น่าชื่นชมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นไปได้โดยใช้ขั้วไฟฟ้าที่ฝังอยู่ในหรือบนสมอง เพื่อวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูการทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่และทหารผ่านศึกที่เจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ” ดร. เอมอนดีกล่าว “แต่เนื่องจากความเสี่ยงโดยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดสมองในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่รุกล้ำเหล่านี้จึงไม่สมเหตุสมผลในทางจริยธรรม ยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็นทางการแพทย์”

ทีมโครงการประสาทเทคโนโลยีแบบไม่ผ่าตัดรุ่นใหม่ทั้งหมดกำลังเดินหน้าโครงการที่จะทำให้สัญญาณสมองอ่านง่ายขึ้น เช่น การพัฒนาอนุภาคนาโนแบบฉีด สูดดม หรือกลืนเข้าไป ซึ่งจะจับกับเซลล์ประสาทและขยายสัญญาณ โดยระบบที่ใส่ไว้ในหมวกหรือฝังอยู่ในพนักพิงศีรษะจะอ่านสัญญาณ

นายนาธาน โคปแลนด์ ซึ่งเป็นอัมพาตใช้แขนและขาไม่ได้ เข้ารับการผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์ส่งสัญญาณไมโครอิเล็กโทรดสี่ชิ้นในสมองของเขา อุปกรณ์ส่งสัญญาณเชื่อมต่อกับแขนหุ่นยนต์ที่มีเซ็นเซอร์ที่ซับซ้อน ซึ่งตรวจจับแรงดันที่ใช้กับนิ้ว ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก/ วิทยาศาสตร์สุขภาพพิตต์

นอกเหนือจากการควบคุมหุ่นยนต์ภาคพื้นดินหรือฝูงโดรนแล้ว เทคโนโลยีนี้ยังช่วยให้กองทัพสามารถตรวจสอบเครือข่ายไซเบอร์ที่ซับซ้อนด้วยส่วนต่อระบบประสาท หรือติดตามข้อมูลจำนวนมหาศาลโดยการนำเสนอข้อมูลด้วยวิธีย่อยตามความเร็วของเครื่องจักร เจ้าหน้าที่ของสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมกล่าว
โดยบุคลากรชั้นแนวหน้าคนหนึ่งของทีมเป็นนักวิทยาศาสตร์จากภูมิภาคอินโดแปซิฟิก นายเการาฟ ชาร์มา ชนพื้นเมืองอินเดีย ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านการวิจัยที่บัทเทล เป็นผู้นำทีมที่ได้รับสัญญามูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 650 ล้านบาท) จากสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหม เพื่อพัฒนาระบบที่จะช่วยให้ทหารสามารถควบคุมอากาศยานไร้คนขับหลายลำหรือหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดได้ด้วยความคิด โครงการประสาทเทคโนโลยีแบบไม่ผ่าตัดรุ่นใหม่ของบัทเทลมีชื่อว่า เบรนสตรอมส์ (ระบบสมองเพื่อส่งหรือรับสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้า)

“นี่เป็นหนึ่งในโครงการที่น่าตื่นเต้นและท้าทายมากที่สุดที่ผมเคยทำมา” นายชาร์มากล่าว ตามรายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2562 ในหนังสือพิมพ์เดอะทริบูน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ทางตอนเหนือของอินเดีย “เราจะผลักดันขีดจำกัดของวิศวกรรมและฟิสิกส์อีกครั้งด้วย เบรนสตรอมส์”

การเสาะหาระดับโลก

แนวคิดในการพัฒนาการเรียนรู้ การเยียวยา ประสิทธิภาพ และการตัดสินใจของมนุษย์ผ่านเทคโนโลยีส่วนต่อประสานระบบประสาทกำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก สาธารณรัฐประชาชนจีนรายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2562 ว่า นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาด้วยชิปส่วนต่อประสานระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ หรือบีซีไอ ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว มีการเปิดตัวเทคโนโลยีดังกล่าวในการประชุมหน่วยข่าวกรองระดับโลกทางตอนเหนือของจีน โดยมีชื่อว่า เบรนทอล์คเกอร์
เบรนทอล์คเกอร์ช่วยให้บุคคลสามารถควบคุมคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยใช้เพียงคลื่นสมองเท่านั้น ซินหัวรายงาน โดยเบรนทอล์คเกอร์จะหาข้อมูลเซลล์ประสาทเล็ก ๆ ที่ส่งโดยคลื่นสมองจากเปลือกสมอง แล้วถอดรหัสข้อมูลและเพิ่มความเร็วในการสื่อสารระหว่างสมองกับเครื่องจักร ซึ่งร่วมกันพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทียนจินและบริษัทไชน่าอิเล็กทรอนิกส์คอร์ปอเรชั่น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กลุ่มดังกล่าวหวังว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพชิปเพื่อใช้ในด้านการแพทย์ การศึกษา และการเล่นเกม

ทั้งนี้ เกาหลีใต้กำลังดำเนินการวิจัยที่คล้ายกันที่ห้องปฏิบัติการประมวลผลสัญญาณสมองของมหาวิทยาลัยเกาหลี นักวิจัยกำลังใช้การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กหรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ เอ็มอาร์ไอ และการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายในการสร้างส่วนต่อประสานระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ หรือส่วนต่อประสานระหว่างสมองกับเครื่องจักร ห้องปฏิบัติการต้องการใช้การวิเคราะห์ข้อมูลและการเรียนรู้ของเครื่องจักร เพื่อวินิจฉัยภาวะทางจิตเวชและโรคทางระบบประสาท ซึ่งรวมถึงความบกพร่องทางสติปัญญาที่ไม่รุนแรง โรคอัลไซ เมอร์ ความผิดปกติด้านการนอน โรคลมชัก และโรคซึมเศร้า

บริษัทสองแห่งในสหรัฐฯ กำลังค้นคว้าว่าเทคโนโลยีส่วนต่อประสานระบบประสาทสามารถเพิ่มความปลอดภัยของผู้ขับขี่ได้อย่างไร บริษัททริมเบิลซึ่งตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และบริษัทนิวราเบิลซึ่งตั้งอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อสำรวจการใช้ส่วนต่อประสานระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ ที่จะติดตามสัญญาณสมองและการเคลื่อนไหวของดวงตาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการฝึกและความปลอดภัยของผู้ขับขี่

การฟื้นฟูแบบเร่งด่วน

ในขณะที่การควบคุมหุ่นยนต์ด้วยคลื่นสมองอาจอยู่ในขอบเขตของทหารที่มีร่างกายแข็งแรง ทหารที่ได้รับบาดเจ็บยังสามารถได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีระบบประสาทเช่นกัน ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.

2562 สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมเปิดตัวโครงการที่มุ่งเน้นการรักษาแผลอย่างชาญฉลาดและปรับตัวได้ ผ่านการใช้ไบโออิเล็กทรอนิกส์ ปัญญาประดิษฐ์ ไบโอเซ็นเซอร์ วิศวกรรมเนื้อเยื่อ และการฟื้นฟูเซลล์ โครงการไบโออิเล็กทรอนิกส์เพื่อการฟื้นฟูเนื้อเยื่อ หรือ บีอีทีอาร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดความเจ็บปวดและความทรมานเป็นเวลานานสำหรับทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากการระเบิดและแผลไหม้

“บาดแผลเป็นสภาพแวดล้อมที่มีชีวิต และสภาพจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเมื่อเซลล์และเนื้อเยื่อต่อประสานกันและพยายามซ่อมแซมตัวเอง” นายพอล ชีฮาน ผู้จัดการโครง การไบโออิเล็กทรอนิกส์เพื่อการฟื้นฟูเนื้อเยื่อ กล่าวในแถลงการณ์ “การรักษาที่เหมาะสมจะรับรู้ ประมวลผล และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในสภาพของแผล รวมทั้งแทรกแซงเพื่อแก้ไขและเร่งความเร็วในการฟื้นตัว เช่น เราคาดการณ์การแทรกแซงที่ปรับการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน คัดเลือกประเภทเซลล์ที่จำเป็นไปยังบาดแผล หรือกำหนดความแตกต่างของเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อเร่งการรักษาได้”

สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมตั้งใจที่จะใช้สัญญาณใดก็ตามที่มีอยู่ ซึ่งได้แก่ สายตา ชีวเคมี ชีวอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องจักร เพื่อตรวจสอบกระบวนการทางสรีรวิทยา แล้วกระตุ้นให้เกิดการรักษาและการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว

“เพื่อทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการรักษาแบบปรับตัวที่ตอบสนองต่อสภาพบาดแผล โดยพิจารณาจากกรณีของยาปฏิชีวนะชนิดทา” นายชีฮานอธิบาย “ผู้คนใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาแผลจากการบาดเจ็บธรรมดา และช่วยได้ถ้าแผลติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม การกำจัดจุลินทรีย์ชีวภาพตามธรรมชาติอย่างหมดจดอาจลดประสิทธิภาพการรักษา ดังนั้น หากไม่มีผลสะท้อน ยาปฏิชีวนะอาจต่อต้านการรักษาได้”

การฟื้นฟูการควบคุมแขนขา

พลเรือนและทหารที่สูญเสียการทำงานของแขนขาหรือผ่านการตัดแขนขา ยังได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีส่วนต่อประสานระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ด้วยเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์ในญี่ปุ่นใช้สิ่งนี้เพื่อปรับปรุงการทำงานของแขนขาของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแห่งโตเกียวพบว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่สังเกตการเคลื่อนไหวของมือตนเองในการบำบัดด้วยการส่องกล้องสามารถเร่งการฟื้นฟูสมรรถภาพได้

โรคหลอดเลือดสมองอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตได้โดยการขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังสมอง ดังนั้นการส่งเสริมความยืดหยุ่นของสมองในบริเวณที่มีความแข็งแรงซึ่งเติมเต็มการทำงานของบริเวณที่ได้รับความเสียหาย ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูระบบสั่งการได้ นักวิทยาศาสตร์กล่าวในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งรายงานในวารสารวิทยาศาสตร์รายเดือนที่ผ่านการทบทวนชื่อ สถาบันธุรกรรมวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับระบบประสาทและวิศวกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอาจรวมภาพของระบบการเคลื่อนไหว ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยโรคนี้สามารถจำลองการกระทำโดยจินตนาการว่าตนเองกำลังทำการเคลื่อนไหว เทคโนโลยีส่วนต่อประสานระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ตรวจจับและบันทึกเจตนาของระบบสั่งการ ในขณะที่ผู้ป่วยสังเกตการกระทำของมือของตัวเองหรือมือของคนอื่น

นอกจากนี้ ส่วนต่อประสานประสาทเทคโนโลยียังนำมาใช้เพื่อปรับปรุงการทำงานของแขนขาเทียมด้วย นักวิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับโครงการส่วนต่อประสานการรับรู้อากัปกิริยาและสัมผัสของมือของสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหม ใช้อุปกรณ์ฝังเส้นประสาทส่วนปลายเพื่อให้ผู้พิการแขนขาขาดเข้าถึงสัญญาณควบคุมตามธรรมชาติโดยตรง และ “ช่วยให้สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของมือที่ซับซ้อนได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น อีกทั้งการเพิ่มการตอบสนองทางประสาทสัมผัสจะช่วยปรับปรุงการทำงานของมือให้ดีขึ้น โดยช่วยให้ผู้ใช้รู้สึกถึงแรงจับยึดและท่าทางของมือ” สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมระบุในการแถลงข่าว

การกำหนดพารามิเตอร์ทางจริยธรรม

การวิจัยสมองได้รับการประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ที่เป็นที่สนใจของสาธารณชน เช่น นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเทสลา และเฟซบุ๊กได้เปิดเผยโครงการส่วนต่อประสานระหว่างสมองกับเครื่องจักร นายมัสก์ได้จัดตั้งบริษัทชื่อนิวรอลลิงก์ ซึ่งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ได้เปิดเผยถึงโครงการที่จะใช้ส่วนต่อประสานระหว่างสมองกับเครื่องจักรเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตพิมพ์ด้วยความคิดของพวกเขา ในทางกลับกัน เฟซบุ๊กมุ่งเป้าไปที่อุปกรณ์สวมใส่ที่ไม่รุกล้ำ ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนสามารถพิมพ์ได้โดยจินตนาการว่าตนเองกำลังพูดอยู่เท่านั้น

ขอบเขตใหม่เหล่านี้ทำให้เกิดคำถามพื้นฐานทางจริยธรรม ข้อกังวลประการหนึ่งในหมู่นักจริยธรรมคือ การเชื่อมโยงเครื่องจักรกับสมองของมนุษย์อาจทำให้เกิดคำถามว่าบุคคลนั้นยังคงควบคุมตัวเองอยู่หรือไม่

“ในกรณีของอุปกรณ์สำหรับการตรวจสอบน้ำตาลในเลือดที่ควบคุมการหลั่งอินซูลินโดยอัตโนมัติเพื่อรักษาโรคเบาหวาน การตัดสินใจดังกล่าวในนามของผู้ป่วยนั้นไม่มีข้อโต้แย้ง” ระบุในบทความเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ของวารสารวิทยาศาสตร์ เนเชอร์ “แต่การแทรกแซงโดยมีเจตนาดีในสมองอาจจะไม่ได้รับความยินยอมเสมอไป เช่น บุคคลที่ใช้ระบบปิดเพื่อจัดการความผิดปกติทางอารมณ์อาจพบว่าตัวเองไม่สามารถมีประสบการณ์ทางอารมณ์เชิงลบได้ แม้ในสถานการณ์ที่ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เช่น งานศพ”
แม้เป็นเรื่องปกติที่กองทัพ รัฐบาล และโรงพยาบาลวิจัยจะทำงานร่วมกับนักจริยธรรมเพื่อสร้างแนวทางจริยธรรมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ แต่การดำเนินงานเชิงพาณิชย์มักจะ “แฝงความไม่น่าเชื่อถือและมีการควบคุมดูแลน้อย” บทความของเนเชอร์ระบุ

ความท้าทายที่สำคัญคือ ประเทศต่าง ๆ มีความพยายามมากน้อยเพียงใดในการเพิ่มศักยภาพของเทคโนโลยี โดยขณะเดียวกันก็ยังคงปกป้องความเป็นส่วนตัวไว้ ตามรายงาน
ของเนเชอร์ นายมาร์เชลโล เลนคา นักจริยธรรมประจำสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธรัฐสวิสในซูริกกล่าวว่า ข้อมูลสมองที่จัดเก็บในระบบดิจิทัลอาจถูกขโมยโดยแฮกเกอร์หรือมีการนำไปใช้โดยบริษัทที่ผู้ใช้อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล “ข้อมูลสมองน่าจะเป็นข้อมูลที่ลึกซึ้งและเป็นส่วนตัวมากที่สุดในบรรดาข้อมูลทั้งหมด” นายเลนคากล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button