ติดอันดับ

ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ร่วมมือกันจัดทำ “เขตการท่องเที่ยวปลอดโรค” ในช่วงโควิด-19

เขตการเดินทางปลอดโรคโควิด-19 ที่มีการเสนอระหว่างออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ อาจเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการระบาดและจะครอบคลุมไปทั่วหมู่เกาะแปซิฟิกอื่น ๆ ในท้ายที่สุด ตามที่ผู้นำของทั้งสองประเทศได้ประกาศไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นพันธมิตรการค้าที่สำคัญในด้านสินค้าและบริการ โดยมีทะเลแทสมันกั้นทั้งสองประเทศออกจากกันเป็นระยะทาง 2,000 กิโลเมตร ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของนิวซีแลนด์ระบุว่า นิวซีแลนด์ส่งออกบริการแก่ออสเตรเลียประมาณหนึ่งในห้า และนำเข้าบริการจากออสเตรเลียเกือบหนึ่งในสามข้ามไปมาระหว่างทั้งสองฝั่งของทะเลแทสมัน

นอกจากนี้ ข้อตกลงการค้าเสรีของทั้งสองประเทศยังช่วยให้ประชากรซึ่งมีจำนวนรวมกันประมาณ 30 ล้านคนเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว ทำงาน และพำนักอาศัยได้อย่างเสรีระหว่างทั้งสองประเทศ

นางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และนายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ว่า “เขตการเดินทางปลอดโรคโควิด-19 ข้ามทะเลแทสมันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย โดยจะช่วยฟื้นตัวทางการค้าและเศรษฐกิจของเรา ช่วยเริ่มต้นภาคการท่องเที่ยวและการคมนาคม ส่งเสริมการติดต่อด้านกีฬา และเป็นการรวมกลุ่มครอบครัวและเพื่อนฝูงอีกครั้ง”

นิวซีแลนด์และออสเตรเลียได้รับการยกย่องว่ามีการตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ โดยการบังคับใช้มาตรการปิดกั้นพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ได้รับการยกย่องว่าช่วยจำกัดการแพร่กระจายของไวรัสร้ายแรงภายในพรมแดนของประเทศ ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ออสเตรเลียได้รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ว่ามีประมาณ 100 ราย และนิวซีแลนด์มีประมาณ 20 ราย ทั้งสองประเทศกำลังเดินหน้าดำเนินแผนมาตรการคลายข้อจำกัดตามระยะของการระบาด

อย่างไรก็ตาม นายมอร์ริสันและนางอาร์เดิร์นกล่าวอย่างระมัดระวังว่า โครงการริเริ่มที่เรียกว่า “ขอบเขตการเดินทางปลอดโรค” นั้นจะดำเนินตามมาตรการความปลอดภัยระดับแนวหน้า

แถลงการณ์ของทั้งสองระบุว่า “ทั้งสองประเทศไม่ต้องการเห็นการระบาดซ้ำของไวรัส ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เขตการเดินทางดังกล่าวจะต้องปลอดภัย” “การคลายข้อจำกัดสำหรับการเดินทางในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศอย่างชัดเจน และแสดงให้เห็นว่าเพราะเหตุใดการเอาชนะไวรัสได้ตั้งแต่ในระยะแรกจึงเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ”

(ภาพ: นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวถึงข้อเสนอเขตการเดินทางปลอดโรคของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ข้ามทะเลแทสมัน)

การประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่นางอาร์เดิร์นเข้าร่วมการประชุมผ่านวิดีโอของคณะรัฐมนตรีออสเตรเลีย เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว ทั้งนี้ นางอาร์เดิร์นเป็นนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์คนแรกที่เข้าร่วมการประชุมของคณะรัฐมนตรีออสเตรเลีย นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาด พลเมืองนิวซีแลนด์และออสเตรเลียก็ได้รับอนุญาตให้เดินทางผ่านพรมแดนของทั้งสองประเทศเพื่อเดินทางกลับบ้านเกิด

แถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีทั้งสองระบุว่า “ความสัมพันธ์ของเราเปรียบเสมือนเป็นครอบครัวหนึ่ง และการจัดการการเดินทางที่ไม่เหมือนใครของเรา แสดงให้เห็นว่าเรามีการเริ่มต้นที่ได้เปรียบกว่าที่อื่นเมื่อถึงเวลาที่การเดินทางข้ามทะเลแทสมันเป็นไปตามปกติอีกครั้ง”

การเดินทางข้ามทะเลแทสมัน ซึ่งภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “ดิตช์” เป็นการผูกสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ นางอาร์เดิร์นกล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ว่าใน พ.ศ. 2562 ชาวนิวซีแลนด์เดินทางไปออสเตรเลียประมาณ 1.2 ล้านคน และชาวออสเตรเลียได้เดินทางมานิวซีแลนด์ประมาณ 1.6 ล้านคน

นางอาร์เดิร์นกล่าวอีกว่า “หนึ่งในเหตุผลของการเดินทางจำนวนมากนี้ก็เพราะครอบครัวและมิตรภาพนั้นครอบคลุมพื้นที่ของทะเลแทสมันนั่นเอง” “มีชาวออสเตรเลียประมาณ 75,000 คนในนิวซีแลนด์ และมีชาวนิวซีแลนด์มากกว่าครึ่งล้านคนในออสเตรเลีย”

 วิกฤตไวรัสโคโรนาทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักลงและสร้างความเสียหายแก่การท่องเที่ยวทั่วโลก นายไซมอน เวสตาเวย์ ผู้อำนวยการบริหารของสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวออสเตรเลีย กล่าวในแถลงการณ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ว่าในออสเตรเลีย เชื้อไวรัสดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศเป็นมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท)

นางอาร์เดิร์นและนายมอร์ริสันกล่าวว่า รัฐบาลของทั้งสองประเทศจะเริ่มพัฒนา “สุขภาวะ การขนส่ง และระเบียบการอื่น ๆ” สำหรับเขตการเดินทางข้ามทะเลแทสมัน ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงผู้นำทางธุรกิจ

นางอาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ กล่าวว่า “เมื่อเราได้จัดเตรียมการเดินทางที่มีประสิทธิภาพเพื่อข้ามทะเลแทสมันแล้ว เราจะสำรวจโอกาสในการขยายแนวคิดนี้ไปยังสมาชิกในครอบครัวแปซิฟิกที่กว้างขวางของเราด้วย ซึ่งจะช่วยให้สามารถเดินทางระหว่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกต่าง ๆ ได้”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button