ติดอันดับ

ออสเตรเลียเสนอให้มีการตรวจสอบกรณีไวรัสโคโรนาที่การประชุมสมัชชาอนามัยโลก

ติดอันดับ | May 13, 2020:

รอยเตอร์

นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวว่า ออสเตรเลียจะผลักดันให้มีการตรวจสอบระหว่างประเทศเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนา ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกประจำปีที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นการประชุมกำหนดแนวทางขององค์การอนามัยโลก

ออสเตรเลียต้องการให้องค์การอนามัยโลกมีความหนักแน่น และแนะนำให้ส่งผู้ตรวจสอบที่มีอำนาจไปยังประเทศหนึ่ง ๆ เพื่อให้ตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ในลักษณะของผู้ตรวจสอบอาวุธ

ออสเตรเลียดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารของการประชุม ซึ่งมีบทบาทกำหนดนโยบายขององค์การอนามัยโลกและแต่งตั้งผู้อำนวยการใหญ่ การประชุมนี้มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ความเป็นไปได้หนึ่งของต้นกำเนิดไวรัสโคโรนา คือเกิดขึ้นในตลาดที่ขายสัตว์ป่าในเมืองอู่ฮั่นของประเทศจีนตอนกลาง ในช่วงปลาย พ.ศ. 2562 ไวรัสแพร่กระจายไปทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อ 2.6 ล้านคนและเสียชีวิตมากกว่า 183,000 คน ตามการคำนวณของรอยเตอร์

การตอบสนองขององค์การอนามัยโลกต่อการระบาดได้กลายเป็นที่ถกเถียงกัน โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวหาว่าองค์การอนามัยโลก “คล้อยตามจีนเกินไป” และระงับการระดมทุนขององค์การในสหรัฐฯ

นักการทูตเชื่อว่าการประชุมประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 จะเปิดโอกาสให้หารือเกี่ยวกับการเรียกร้องให้มีการซักถามของออสเตรเลีย เนื่องจากวาระการประชุมมีการเรียกร้องให้ประเมิน “บทเรียนที่ได้เรียนรู้” เกี่ยวกับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพอยู่แล้ว และเรียกร้องให้สมาชิกปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสุขภาพระหว่างประเทศที่มีขึ้นหลังจากการระบาดของโรคซาร์สในประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. 2547

“การประชุมสมัชชาอนามัยโลกจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ มีโอกาสที่จะติดตามเรื่องดังกล่าวและนั่นคือข้อเรียกร้องแรกของเรา” นายสก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าว

แหล่งข่าวของรัฐบาลระบุว่า ออสเตรเลียได้ก้าวผ่านช่วงที่เลวร้ายที่สุดของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาแล้ว ซึ่งเป็นสาเหตุที่ออสเตรเลียเดินหน้าชักจูงประเทศอื่นให้สนับสนุนการเรียกร้องให้มีการซักถาม แต่ออสเตรเลียเข้าใจว่าประเทศอื่น ๆ ยังคงรับมือกับอัตราการเสียชีวิตที่สูงอยู่

นายมอร์ริสันได้เรียกผู้นำในฝรั่งเศส เยอรมนี และสหรัฐฯ พร้อมคาดว่าจะชักจูงอังกฤษและแคนาดาด้วย เพราะออสเตรเลียกำลังมองหาการสนับสนุนจากประเทศที่มี “ความคิดเหมือนกัน”

นายมอร์ริสันกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เขาเข้าใจถึงความลังเลจากบางประเทศเกี่ยวกับเรื่องเวลา และปฏิเสธข้อเสนอแนะที่จะทำให้จีนตกเป็นเป้า

“วัตถุประสงค์ของเราตรงนี้เรียบง่ายมาก เราต้องการให้โลกปลอดภัยมากขึ้นในเรื่องของไวรัส” นายมอร์ริสันกล่าว

ภาระผูกพันและความรับผิดชอบ

แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นการประเมินอย่างกว้าง ๆ เกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนาและการตอบสนองขององค์การอนามัยโลก ซึ่งสามารถนำไปสู่การเสริมสร้างพลังขององค์การอนามัยโลกได้หลังจากนั้น นายมอร์ริสันกล่าวว่าตนสนับสนุนการจัดการในรูปแบบผู้ตรวจการณ์อาวุธ สำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพที่ประเทศต่าง ๆ ควรเข้าร่วม

“พวกเขาไม่มีอภิสิทธิ์ที่จะเดินทางไปได้ทุกที่ที่ต้องการในโลก แต่หากคุณจะเป็นสมาชิกขององค์กรอย่างองค์การอนามัยโลก ควรจะมีภาระหน้าที่ผูกพันและความรับผิดชอบแนบมาด้วย” นายมอร์ริสันกล่าวในการแถลงข่าว

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่าองค์การจะดำเนินการประเมิน “หลังการดำเนินการ” เมื่อวิกฤตสิ้นสุดลง

นายมอร์ริสันบอกกับสำนักข่าวสกายนิวส์ออสเตรเลียว่า “ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง” หลังจากที่องค์การอนามัยโลกประเมินการระบาดของเชื้ออีโบลาในแอฟริกา โดยนักวิจารณ์กล่าวว่าครั้งนั้นก็จัดการได้ไม่ดี

นายริชาร์ด เมาด์ อดีตนักการทูตและหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของออสเตรเลีย กล่าวว่า ออสเตรเลียเป็นผู้นำแนวร่วมของหลายประเทศในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงการปลดอาวุธ การไม่แพร่ขยายอาวุธ และการที่รัสเซียยิงเที่ยวบินเอ็มเอช-17 ตกที่ยูเครน

“ออสเตรเลียมีประวัติการทำงานสำเร็จได้ดีในกระบวนการพหุภาคี รวมถึงองค์การสหประชาชาติด้วย” นายเมาด์ ผู้อำนวยการบริหารด้านนโยบายของสมาคมเอเชียออสเตรเลียกล่าว

“ปัญหาสำหรับออสเตรเลียในขณะนี้คือ แม้วัตถุประสงค์อย่างความโปร่งใสและการเรียนรู้บทเรียนที่มากขึ้นจะมีเหตุผลและมีความสำคัญ แต่ปัญหาที่มาของเชื้อไวรัสและเส้นทางการแพร่กระจายของไวรัสได้หยุดชะงักเพราะภูมิศาสตร์ทางการเมืองและความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และจีนที่ไม่ลงรอยกัน ซึ่งจีนมีแนวโน้มที่จะไม่ให้ความร่วมมือ”

พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้วิพากษ์วิจารณ์การเรียกร้องของออสเตรเลียให้ทำการสืบสวนว่าเป็น “การปั่นหัวทางการเมือง” และกล่าวหานักกฎหมายออสเตรเลียว่าเป็นนกแก้วนกขุนทองของนายทรัมป์

นางมาริส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ได้เขียนไว้ในคอลัมน์หนังสือพิมพ์ว่าจะไม่มีประเทศใดถูกเจาะจงโดยเฉพาะ และควรมีการประเมินบทบาทขององค์การอนามัยโลกเพราะออสเตรเลียต้องการสถาบันพหุภาคีที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ นางเพย์นกล่าวว่าออสเตรเลียได้ทำ “การเรียกร้องตามหลักการ” เพื่อประเมินต้นกำเนิดของไวรัส แม้ว่าจะมีการคุกคามจากผู้นำจีนให้พลเมืองคว่ำบาตรการส่งออกของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นการคุกคามที่นางเพย์นเรียกว่า “การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ” ตามรายงานของสกายนิวส์

“ออสเตรเลียได้ทำการเรียกร้องตามหลักการให้มีการประเมินการระบาดของโควิด-19 อย่างเป็นอิสระ ซึ่งเป็นวิกฤตระดับโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างรุนแรง” นางเพย์นกล่าว “เราปฏิเสธข้อเสนอแนะใด ๆ ที่ว่าการบีบบังคับทางเศรษฐกิจเป็นการตอบสนองที่เหมาะสมต่อการเรียกร้องให้มีการประเมินดังกล่าว เมื่อสิ่งที่เราต้องการคือความร่วมมือระดับโลก”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button