ติดอันดับ

หมู่เกาะโซโลมอนคิดหนักเรื่องขายสัญชาติเพื่อการลงทุนจากจีน

ติดอันดับ | May 1, 2020:

เจ้าหน้าที่ฟอรัม

รายงานของ ABC.net ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของบริษัท ออสเตรเลียบรอดแคสติ้ง จำกัด ระบุว่า คณะรัฐมนตรีหมู่เกาะโซโลมอนกำลังประเมินแผนการซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันเรื่องการขายสัญชาติเพื่อแลกกับการลงทุน

ข้อเสนอดังกล่าวได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับการคัดกรองผู้ซื้อ รวมทั้งการทำให้อธิปไตยและคุณค่าของสัญชาติในหมู่เกาะโซโลมอนอ่อนแอลง ตามรายงานของนิตยสารออนไลน์เดอะดิโพลแมต

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงกังวลว่า แผนดังกล่าวจะทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถใช้ประโยชน์จากหมู่เกาะโซโลมอนเพื่อผลักดันให้เป็นไปตามวาระของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับวานูอาตูซึ่งมีรายงานว่าเริ่มใช้โครงการ “เงินสดสำหรับหนังสือเดินทาง” ที่คล้ายคลึงกันใน พ.ศ. 2557 และมีการลงทุนลับ ๆ ของจีนด้วยเงื่อนไขที่ไม่เปิดเผย

ในช่วงกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 หมู่เกาะโซโลมอนสิ้นสุดความสัมพันธ์ทางการทูต 36 ปีกับไต้หวัน เพื่อสลับความสัมพันธ์ไปหาจีน ในตอนนั้น กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันกล่าวหาจีนว่าหันไปพึ่ง “การทูตด้วยเงินและสัญญาจอมปลอมของความช่วยเหลือต่างประเทศจำนวนมากในการซื้อใจนักการเมืองโซโลมอนจำนวนหนึ่ง” เพื่อยุติความสัมพันธ์กับรัฐบาลไต้หวันก่อนวันครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งจีนภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์

ภายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 หมู่เกาะโซโลมอนได้พิจารณาสินเชื่อมูลค่ารวมแล้วสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.24 ล้านล้านบาท) จากนักลงทุนจีน ซึ่งเป็นจำนวน 66 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อปีที่ 1.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.77 หมื่นล้านบาท) ตามรายงานของรอยเตอร์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายปีเตอร์ เคนิลอเรีย สมาชิกสภานิติบัญญัติของหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการทูตต่อรัฐบาลจีนกล่าวว่า ตนต่อต้านข้อเสนอการกู้ยืมเงินอย่างหนักแน่นและเชื่อมั่นว่าข้อเสนอนั้นนำมาซึ่งภาระหนี้ที่ไม่ยั่งยืน

เดอะดิโพลแมตรายงานว่า วานูอาตูได้เปิดตัวโครงการการลงทุนหนังสือเดินทางอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2557 และตั้งแต่นั้นมาได้ขายหนังสือเดินทางไปมากกว่า 4,000 เล่ม สร้างรายได้มากถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.94 หมื่นล้านบาท) ให้แก่รัฐบาลวานูอาตู ใน พ.ศ. 2561 จีนแอบมอบเงินให้วานูอาตูจำนวน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.94 พันล้านบาท) สำหรับโครงการริเริ่มลับที่เรียกว่าโครงการอุปกรณ์ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ และได้ออกเงินกู้อีก 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.27 พันล้านบาท) ให้แก่วานูอาตู ตามรายงานของเว็บไซต์ ABC.net

หนังสือเดินทางรวมกับการลงทุนเพิ่มเติมของจีนใช้เป็นเงินทุนสำหรับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ควบคุมโดยชาวจีนในวานูอาตู ค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทางอยู่ในช่วงตั้งแต่ 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.86 ล้านบาท) ถึง 175,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.67 ล้านบาท) ซึ่งมักจะซื้อความคล่องตัวระหว่างประเทศได้มากขึ้น ตามรายงานของเว็บไซต์ ABC.net

เดอะดิโพลแมตรายงานว่า ผู้คนจากจีนแผ่นดินใหญ่ได้ซื้อหนังสือเดินทางเกือบทั้งหมด แม้ว่าการถือสัญชาติคู่จะผิดกฎหมายในจีนก็ตาม

อาชญากรที่ต้องโทษสามารถเป็นพลเมืองได้โดยไม่ต้องมาอยู่ที่วานูอาตู เพราะโครงการนี้ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่อาศัยหรือการลงทุนเพิ่มเติมในประเทศ นายคิม หว่อง ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในฟิลิปปินส์และถือหนังสือเดินทางของวานูอาตู ถูกกล่าวหาว่าขโมยเงินจำนวน 81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.5 พันล้านบาท) ไปจากบัญชีธนาคารกลางของบังกลาเทศในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559

ภายใต้โครงการนี้ รัฐบาลจีนยังได้ยกเลิกสัญชาติวานูอาตูได้อย่างเป็นผลสำเร็จเมื่อเห็นว่าเหมาะสมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนได้บินไปยังวานูอาตูด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำและจับกุมบุคคล 6 คนที่อาศัยอยู่ในวานูอาตูด้วยข้อหาของจีน ซึ่งทั้ง 4 คนถือสัญชาติคู่ ตามการรายงานนั้น รัฐบาลวานูอาตูได้เพิกถอนสัญชาติของบุคคลเหล่านี้ก่อนการเนรเทศ โดยไม่ได้ดำเนินขั้นตอนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนใด ๆ

ในวานูอาตู ผู้สังเกตการณ์บางรายได้ยืนยันว่า แผนการขายหนังสือเดินทางกลายเป็น “กับดักรายได้” ที่เลวร้ายยิ่งกว่า “กับดักหนี้” อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเป็นภาระที่จีนสร้างแก่วานูอาตูซ้ำอีก ตามรายงานของหนังสือพิมพ์วานูอาตูเดลี่โพสต์ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562

ผู้สังเกตการณ์บางรายกล่าวกับวานูอาตูเดลี่โพสต์ว่า “จากการทำให้รัฐบาลพึ่งพารายได้ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเดินทาง ทำให้ขณะนี้ จีนสามารถเรียกร้องความช่วยเหลือเพื่อแลกเปลี่ยนกับการละเลยโครงการดังกล่าวอย่างใจดีต่อไป”

แผนการขายหนังสือเดินทางไม่ใช่เรื่องใหม่ในภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิก รายงานของนายแอนโทนี แวนฟอสเซน ผู้บรรยายเสริมอาวุโสของมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลียระบุว่า โครงการเหล่านี้รุ่งเรืองในตองงาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ถึง 2539 ในหมู่เกาะมาร์แชลล์ตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ถึง 2539 และในนาอูรูตั้งแต่ พ.ศ. 2541 ถึง 2545 ซึ่งสร้างรายได้ระหว่างร้อยละ 6.5 ถึง 11 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม โครงการของวานูอาตูสร้างรายได้ให้รัฐบาลมากกว่าหนึ่งในสามของรายได้ทั้งหมด ตามรายงานของวานูอาตูเดลี่โพสต์ นับตั้งแต่เปิดตัวใน พ.ศ. 2557 โครงการนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนสี่ครั้ง นายแวนฟอสเซนกล่าว

ในอดีตของภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิก โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่มั่นคงและภาวะวิกฤต โครงการขายหนังสือเดินทางโดยปกติแล้วขาดความโปร่งใสและการกำกับดูแลที่ดี ทั้งยังมีส่วนทำให้เกิดการโจรกรรม การฉ้อโกง และการทุจริต นายแวนฟอสเซนเขียนไว้ในนิตยสารออนไลน์ฟอรัมเอเชียตะวันออก

“ผู้ซื้อหนังสือเดินทางเกาะแปซิฟิกส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อชาติจีนที่แสวงหาข้อได้เปรียบอย่างเช่น การเข้าบางประเทศได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า การจ่ายภาษีน้อยลง และเส้นทางหลบหนี ในตองงาและหมู่เกาะมาร์แชลล์ ผู้ส่งเสริมการขายหนังสือเดินทางโต้แย้งอย่างผิด ๆ ว่า ผู้ซื้อไม่ได้ต้องการตั้งรกรากในประเทศผู้ออกหนังสือเดินทาง” นายฟอนฟอสเซนเขียน “ในทั้งสองประเทศ ผู้ซื้อหนังสือเดินทางของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเห็นได้ชัดในธุรกิจท้องถิ่นโดยเฉพาะการค้าปลีก ทำให้ชาวพื้นเมืองมีความสำคัญน้อยลง”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button