ติดอันดับ

สมาชิกอาเซียนร่วมกันยืนหยัดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ในทะเลจีนใต้

ติดอันดับ | Apr 13, 2020:

ทอม แอบกี

เมื่อพูดถึงการปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันในทะเลจีนใต้ สมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน กำลังเรียนรู้ถึงพลังแห่งความสามัคคี

ตามรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ระบุว่า หลายรัฐในอาเซียนมีข้อพิพาททางอาณาเขตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในทะเลจีนใต้ และมีประสบการณ์ด้านความขัดแย้งในระดับต่ำ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ต่างประท้วงการอ้างสิทธิ์ของรัฐบาลจีนในอาณาเขตบางส่วนของตน ซึ่งรวมถึงเกาะต่าง ๆ และน่านน้ำในทะเลจีนใต้ รัฐบาลจีนยังคงรักษาการอ้างสิทธิ์เหล่านี้ แม้จะมีคำวินิจฉัยใน พ.ศ. 2559 จากคณะตุลาการระหว่างประเทศในกรุงเฮกว่า โดยพื้นฐานแล้ว จีนไม่มีสิทธิ์ในทางกฎหมาย

การเจรจาเพื่อกำหนดหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้กำลังอยู่ในขั้นดำเนินการระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการอ้างสิทธิ์ทางอาณาเขตที่ขัดแย้งกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีความกังวลด้านการเดินเรือและสิทธิในทรัพยากร เช่น การประมงและเชื้อเพลิงฟอสซิล

แถลงการณ์ร่วมของอาเซียนประกาศว่า บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนได้นำประเด็นเหล่านี้ร่วมหารือในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ซึ่งรวมถึงความกังวลในทะเลจีนใต้เกี่ยวกับ “การเรียกคืนดินแดน การพัฒนาล่าสุด และเหตุการณ์ร้ายแรง ซึ่งได้บ่อนทำลายความไว้วางใจและความเชื่อมั่น เพิ่มความตึงเครียดและอาจทำลายสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาคแห่งนี้”

กลุ่มรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความจำเป็นของหลักปฏิบัติซึ่ง “สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ” รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล พ.ศ. 2525 หรือ อันคลอส ซึ่งการอ้างสิทธิ์ของรัฐบาลจีนละเมิดกฎหมายฉบับนี้ ตามรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์

ดร. คอลลิน โคห์ นักวิจัยจากวิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส. ราชารัตนัมในสิงคโปร์กล่าวกับ ฟอรัม ว่า สมาชิกอาเซียนจะเสริมสร้างจุดยืนของตนให้แข็งแกร่งขึ้นเมื่อเจรจาร่วมกันเป็นกลุ่มสหภาพ

“โดยพื้นฐานแล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นพ้องต้องกันว่าแนวทางในการรักษาผลประโยชน์ของชาติคือการรับรองถึงความอยู่รอดของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง” ดร. โคห์กล่าว “นั่นหมายถึงการช่วยให้มั่นใจว่าอาเซียนจะยังคงเป็นศูนย์กลางและมีความเกี่ยวข้องในสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาค”

ดร. โคห์กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำงานเป็นทีมกับ “ผู้มีบทบาทภายนอก” มีความสำคัญต่อประเทศสมาชิกอาเซียนในรูปแบบที่สอดคล้องกับผลประโยชน์และส่งเสริมเสถียรภาพในภูมิภาค

ดร. โคห์กล่าวว่า “นั่นยังเป็นเหตุผลที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างน้อยบางประเทศคัดค้านข้อเสนอบางประการของจีน” ในด้านหลักปฏิบัติ “เช่น ความจำเป็นในการแจ้งและขออนุญาตจากทุกฝ่ายในหลักปฏิบัตินี้ เพื่อดำเนินการฝึกซ้อมร่วมทางทหารกับฝ่ายภายนอก”

การฝึกซ้อมทางทะเลระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ดำเนินการครั้งแรกในเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 อาเซียนร่วมมือกับสหภาพยุโรปด้านความมั่นคงทางทะเล ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การแพทย์ทางทหารและการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป (พ.ศ. 2561-2565)

ดร. โคห์กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่เหมาะสมสำหรับการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับหลักปฏิบัติจะเป็น “หลักปฏิบัติที่ครอบคลุม เป็นเชิงบังคับ และมีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งจะทำหน้าที่ตรวจจับ ตรวจสอบ บังคับใช้ และลงโทษผู้ฝ่าฝืนข้อตกลง รวมทั้งเป็นหลักที่แต่ละฝ่ายมีส่วนรับผิดชอบซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียม”

ดร. โคห์สรุปว่า มีแนวโน้มยิ่งขึ้นที่หลักปฏิบัตินี้จะเป็นหลักแบบปลายเปิดที่มีความยืดหยุ่นพอที่จะได้รับฉันทามติ แต่ก็ทำหน้าที่เป็นแนวทางให้อาเซียนแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความเป็นศูนย์กลางในสถาปัตยกรรมของภูมิภาคแห่งนี้

นายทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button