ติดอันดับ

ญี่ปุ่นสกัดกั้นอากาศยานทหารของจีน 675 ครั้งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

ติดอันดับ | Apr 28, 2020:

ฟรานซ์-สเตฟาน เกรดี/เดอะ ดิโพลแมต

เครื่องบินขับไล่ของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่นขึ้นบินสกัดกั้นอากาศยานของกองทัพอากาศกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน และกองทัพอากาศนาวีของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนจำนวน 675 ครั้ง ระหว่างวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 ตามประกาศของกระทรวงกลาโหมในกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 9 เมษายน

จำนวนการขึ้นบินสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึก 675 ครั้งคิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นับเป็นจำนวนการขึ้นบินสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึกที่สูงเป็นอันดับสองในการตอบสนองต่ออากาศยานของกองทัพจีนช่วงระยะเวลาหนึ่งปีนับตั้งแต่ พ.ศ. 2501

โดยรวมแล้ว กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่นส่งเครื่องบินขับไล่บินสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึกจำนวน 947 ครั้งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อตอบสนองต่ออากาศยานทางทหารต่างประเทศที่เข้าใกล้น่านฟ้าของญี่ปุ่น เมื่อเทียบกันแล้ว ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่นได้ออกสกัดกั้นอากาศยานทางทหารต่างประเทศจำนวน 999 ครั้ง ปีที่มีการบินสกัดกั้นอากาศยานมากที่สุดของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่นยังคงเป็น พ.ศ. 2559 ซึ่งมีรายงานการขึ้นบินสกัดกั้นจำนวน 1,168 ครั้ง

ในจำนวนการบินสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึกใน พ.ศ. 2559 มีจำนวน 851 ครั้งที่สกัดกั้นอากาศยานกองทัพอากาศของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน และกองทัพอากาศนาวีของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ใน พ.ศ. 2560 และ 2561 มีจำนวนการสกัดกั้นเป็นจำนวน 500 และ 638 ครั้งตามลำดับ

ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่นยังได้ส่งเครื่องบินขับไล่ของตนขึ้นบินสกัดกั้นอากาศยานทางทหารของรัสเซียจำนวน 268 ครั้ง กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่นทำการส่งเครื่องบินขึ้นบินสกัดกั้นอากาศยานทางทหารของรัสเซียจำนวน 343 ครั้งใน พ.ศ. 2561 หรือคิดเป็นร้อยละ 34 จากจำนวนทั้งหมด โดยลดลงจากจำนวน 390 ครั้งใน พ.ศ. 2560

อากาศยานทางทหารของรัสเซียทำภารกิจส่วนใหญ่ตามแนวขอบทะเลญี่ปุ่นทางตะวันออกและทางตอนเหนือของฮอกไกโด เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลของรัสเซีย ซึ่งส่วนมากแล้วเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดเชิงยุทธศาสตร์ตูโปเลฟ ตู-95เอ็มเอส ของรัสเซียที่สามารถทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ ยังหลีกเลี่ยงเกาะหลักของญี่ปุ่นเป็นระยะ ๆ ในระหว่างการลาดตระเวนระยะไกล

ใน พ.ศ. 2562 อากาศยานของกองทัพอากาศรัสเซียรุกล้ำน่านฟ้าญี่ปุ่นสามครั้งระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม

กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่นส่งเครื่องบินขับไล่ครองอากาศทุกสภาพอากาศ มิตซูบิชิ เอฟ-15เจ/ไค ซึ่งเป็นรุ่นที่มิตซูบิชิได้รับลิขสิทธิ์ในการผลิตจากต้นแบบคือเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 และ เอฟ-4อีเจ/อาร์เอฟ-4 แฟนท่อม 2 ของล็อกฮีด มาร์ติน สำหรับภารกิจการสกัดกั้น

การสกัดกั้นอากาศยานทางทหารของจีนและรัสเซียดำเนินการโดยกองกำลังป้องกันทางอากาศตอนเหนือ กองกำลังป้องกันทางอากาศตะวันตก กองกำลังป้องกันทางอากาศตอนกลาง และกองบินผสมตะวันตกเฉียงใต้ของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่น

ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กองกำลังป้องกันทางอากาศตอนเหนือของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่นได้ส่งเครื่องบินสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึกจำนวน 198 ครั้ง กองกำลังป้องกันทางอากาศตะวันตกจำนวน 133 ครั้ง กองกำลังป้องกันทางอากาศตอนกลางจำนวน 35 ครั้ง และกองบินผสมตะวันตกเฉียงใต้จำนวน 581 ครั้ง กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่นส่งเครื่องบินขึ้นบินสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึกครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2563 เพื่อสกัดกั้นเครื่องบินเพื่อการสงครามอิเล็กทรอนิกส์และลาดตระเวน ชานซี วาย-9 วาย-9เจบี (จีเอ็กซ์-8) จากกองทัพอากาศนาวีของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนที่ถูกตรวจพบเหนือทะเลจีนตะวันออก (ภาพ: ลูกเรือเตรียมเครื่องบินขับไล่ล่องหน เอฟ-35เอ ของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่นสำหรับการบินขึ้นที่ฐานทัพมิซาวะในจังหวัดอาโอโมริ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น)

เป็นที่สังเกตว่า กระทรวงกลาโหมได้รายงานว่า ภารกิจการลาดตระเวนของอากาศยาน วาย-9 ผ่านน่านฟ้าสากลระหว่างหมู่เกาะโอกินาวะและมิยาโกะของญี่ปุ่นในทะเลจีนตะวันออกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา ช่องแคบนี้เป็นทางเข้าหลักที่กองทัพเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนใช้เป็นเส้นทางเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button