เรื่องเด่น

เครือข่ายความเร็วสูง ความเสี่ยงที่มีเดิมพันสูง

สหรัฐฯ ออกโรง เตือนห้ามใช้หัวเว่ยซึ่งเป็น ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมจีนในฐานะผู้จำหน่าย

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

แม้ว่าบริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยีของจีนจะมีสถานะเป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุด และเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก แต่ก็พบว่าตลาดบางแห่งปิดตัวลงจากความกังวลว่าหัวเว่ยอาจใช้อุปกรณ์ของบริษัทเป็นเครื่องมือจารกรรม

ขณะที่เทคโนโลยีเคลื่อนที่ในประเทศต่าง ๆ เริ่มเข้าสู่คลื่นระลอกถัดไปจากการสร้างเครือข่ายไร้สาย 5 จี หัวเว่ยในตอนนี้กลับถูกสั่งห้ามจำหน่ายอุปกรณ์ในออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ประเทศอื่น ๆ ยังจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากผู้นำต่าง ๆ รวมถึงเลขาธิการของนาโต ออกมาเตือนถึงอันตรายจากความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างบริษัทหัวเว่ยกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

นายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กระตุ้นให้พันธมิตรทั้งหมดของสหรัฐฯ เลิกคบค้ากับยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมอย่างหัวเว่ย โดยระบุว่าบริษัทนี้ก่อให้เกิดภัยคุกคามความมั่นคงอย่างร้ายแรง

คนงานของหัวเว่ยเข้าร่วมงานโมบายเอ็กซ์โปที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 รอยเตอร์

“กฎหมายจีนกำหนดให้เครื่องมือด้านความมั่นคงขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีนมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในเครือข่ายหรืออุปกรณ์ของบริษัท” นายเพนซ์กล่าวระหว่างการปราศรัยที่การประชุมด้านความมั่นคงประจำปีในมิวนิค เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ตามรายงานของวารสารธุรกิจ นิคเคอิ เอเชียน รีวิว “เราต้องปกป้องโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่สำคัญของเรา และสหรัฐอเมริกากำลังเรียกร้องให้พันธมิตรด้านความมั่นคงของเราทั้งหมดระแวดระวัง และปฏิเสธบริษัทใดก็ตามที่จะทำลายบูรณภาพทางเทคโนโลยีโทรคมนาคมหรือระบบความปลอดภัยระดับชาติของเรา”

คณะกรรมาธิการวิสามัญถาวรด้านข่าวกรองแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ ได้สรุป โดยย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2555 ว่าอุปกรณ์ที่ผลิตโดยหัวเว่ยและแซดทีอี คอร์ป ซึ่งเป็นคู่แข่งด้านโทรคมนาคมในจีน อาจเป็นบ่อนทำลายผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือความใหญ่โตของหัวเว่ย ใน พ.ศ. 2560 บริษัทแห่งนี้ขึ้นแซงหน้า แอลเอ็ม อีริคสัน ของสวีเดน จนกลายเป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์เครือข่ายไร้สายอันดับ 1 ของโลก ในช่วงกลาง พ.ศ. 2561 แบรนด์สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยแซงหน้าแอปเปิลขึ้นเป็นผู้จำหน่ายอันดับ 2 ของโลกรองจากซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ตามรายงานของดิแอส โซซิเอทเต็ด เพรส โครงการ 5 จี ที่หัวเว่ยต้องการสร้าง จะขยายขอบเขตเครือข่ายออกไปอย่างกว้างขวางเพื่อรองรับการทำงานของสิ่งต่าง ๆ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ อุปกรณ์โรงงาน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต

แม้ว่าหัวเว่ยจะยืนกรานว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสอดแนม แต่นักการเมือง นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ข่าวกรองต่างก็เสนอเหตุผลที่หลากหลายว่าเหตุใดจึงต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ก่อนที่จะอนุญาตให้หัวเว่ยและบริษัทจีนอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างระบบสารสนเทศที่สำคัญ

กฎหมายจีนบังคับขอความร่วมมือ

ในการปราศรัยที่มิวนิค นายเพนซ์ชี้ให้เห็นว่า กฎหมายที่สาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศใช้ ทำให้บริษัทจีนต้องรับภาระในการช่วยรัฐบาลรวบรวมข้อมูล กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีนที่ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2558 ระบุว่า พลเมืองและธุรกิจต่าง ๆ มี “ความรับผิดชอบและภาระหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงระดับชาติ” ซึ่งกฎหมายที่สำคัญยิ่งกว่าอาจเป็นกฎหมายข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้บริษัทจีน “สนับสนุน ช่วยเหลือ และร่วมมือกับ” หน่วยงานรวบรวมข่าวกรองของรัฐบาล

ดร. เมอร์เรย์ สก็อต แทนเนอร์ ให้เหตุผลในบทวิเคราะห์ที่จัดทำขึ้นเพื่อเปิดเผยการละเมิดกฎหมายและปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะ จากสถาบันนิติสงคราม ซึ่งเป็นองค์กรในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ความว่า กฎหมาย พ.ศ. 2560 เป็น “จุดสำคัญที่สร้างปัญหาอย่างมากสำหรับโครงการระยะนาน 4 ปีในขณะนั้นของรัฐบาลจีน ที่ส่งเสริมกฎหมายด้านความมั่นคง” ก่อนหน้านี้ ดร. แทนเนอร์ ซึ่งได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับกฎหมายจีนและระบบความมั่นคงภายในของประเทศจีน เคยทำงานเป็นนักวิเคราะห์ให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ โดย ดร. แทนเนอร์ เขียนว่า กฎหมายข่าวกรอง พ.ศ. 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นอาวุธโจมตีมากกว่าเป็นมาตรการปกป้องความมั่นคง

คนงานของหัวเว่ยเข้าประจำที่บริเวณสายการผลิตสมาร์ทโฟน พี30 หัวเว่ยเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ รอยเตอร์

“สิ่งที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือสัญญาณต่าง ๆ ที่ชี้ว่าผู้ร่างกฎหมายข่าวกรองกำลังพยายามเปลี่ยนแปลงสมดุลข้อผูกพันทางกฎหมายเหล่านี้จาก ‘การปกป้อง’ เป็น ‘การโจมตี’ ด้วยข่าวกรอง โดยการให้ชาวจีน และในบางกรณี ให้พลเมืองต่างชาติ บริษัทหรือองค์กรที่ทำธุรกิจในประเทศจีน มีหน้าที่ตามกฎหมายในการให้การเข้าถึง ให้ความร่วมมือ หรือให้การสนับสนุนกิจกรรมรวบรวมข่าวกรองของรัฐบาลจีน” ดร. แทนเนอร์ เขียน

กฎหมายของจีนอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัว หรือลงโทษทางอาญากับผู้ที่ขัดขวางการรวบรวมข่าวกรอง แต่ไม่ได้แบ่งแยกการขัดขวางกับการที่เพียงไม่สามารถให้ความร่วมมือออกจากกัน นายทอม ยูเรน ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายไซเบอร์ระหว่างประเทศแห่งสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ออสเตรเลียกล่าวว่า มีความเสี่ยงสูงที่บริษัทจีนจะให้ความร่วมมือในการรวบรวมข้อมูลข่าวกรอง “มีความเสี่ยงว่าหัวเว่ยอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการจารกรรมหรือก่อวินาศกรรม” นายยูเรนกล่าวกับหนังสือพิมพ์ เดลี เมล ออสเตรเลีย “พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอำนาจควบคุมบริษัทต่าง ๆ เป็นอย่างมาก โดยพรรคให้ความสำคัญกับความมั่นคงของตนเหนือสิ่งอื่นใด”

รูปแบบที่เผยให้เห็น

แม้หัวเว่ยจะยืนกรานว่าไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าตนสอดแนมบริษัทหรือรัฐบาลต่างชาติจริง แต่กลับมีเหตุการณ์ตัวอย่างที่ขัดแย้งกันเกิดขึ้นมากมาย เช่น บริษัทด้านเทคโนโลยี ซิสโก ในสหรัฐฯ กล่าวหาว่าหัวเว่ยขโมยซอร์สโค้ด ซึ่งเป็นคำสั่งที่ใช้เดินระบบซอฟต์แวร์ ในคดีฟ้องร้องเมื่อ พ.ศ. 2546 ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ยุติการฟ้องร้องในท้ายที่สุด

ใน พ.ศ. 2560 คณะลูกขุนสหรัฐฯ ตัดสินลงโทษหัวเว่ยฐานขโมยทรัพย์สินทางปัญญาจากบริษัทด้านโทรคมนาคม ที-โมบาย ในคำฟ้องร้องเมื่อ พ.ศ. 2562 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กล่าวว่าหัวเว่ยพยายามขโมยข้อมูลการออกแบบหุ่นยนต์ของที-โมบายหลายครั้ง

นอกจากการขโมยความลับทางการค้าแล้ว บริษัทนี้ยังมีข้อกล่าวหาต่าง ๆ ตามมาอีก ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 สหรัฐฯ เปิดเผยคำฟ้องร้องนางเมิ่ง หว่านโจว ผู้บริหารฝ่ายการเงินของหัวเว่ย ลูกสาวของนายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัท คำฟ้องร้องนี้กล่าวหาว่าหัวเว่ยหลอกลวงธนาคารสหรัฐฯ ให้ทำธุรกิจกับอิหร่านซึ่งละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่แคนาดาควบคุมตัวนางเมิ่งเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 และสหรัฐฯ กำลังขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน คำฟ้องร้องดังกล่าวระบุว่า ใน พ.ศ. 2556 นางเมิ่งโกหกผู้บริหารธนาคารเรื่องความสัมพันธ์ของบริษัทหัวเว่ยกับบริษัทชื่อ สกายคอม ที่ตั้งอยู่ในอิหร่านหลายครั้ง

เอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ?

แม้ว่าออสเตรเลีย สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ จะมีความกังวลว่าหัวเว่ยอาจถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ผู้บริหารของบริษัทยังคงยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะไม่ส่งต่อข้อมูลไปยังรัฐบาลของตน

นายทิม วัตกินส์ รองประธานฝ่ายยุโรปตะวันตกของหัวเว่ยกล่าวกับ บีบีซี เรดิโอ ว่า “หัวเว่ยไม่มีข้อผูกพันในส่วนที่จะร่วมมือกับรัฐบาล ในลักษณะที่ชาวอเมริกันกล่าวหา”

ทั้งนี้ นักวิชาการที่ศึกษาการอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของของหัวเว่ยยังคงมีท่าทีสงสัยในคำกล่าวเหล่านั้น

นางเมิ่ง หว่านโจว ผู้บริหารฝ่ายการเงินของหัวเว่ย สวมอุปกรณ์ติดตามอิเล็กทรอนิกส์ที่ข้อเท้าขณะได้รับการนำตัวจากบ้านของตนในแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา นางเมิ่งกำลังเผชิญกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐฯ ตามข้อกล่าวหาว่าบริษัทเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

นายคริสโตเฟอร์ บอลดิง และนายเดวิด วีเวอร์ ผู้เขียนรายงานประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ในชื่อ “ใครเป็นเจ้าของหัวเว่ย?” ระบุว่า “หัวเว่ยเรียกตนเองว่าบริษัทที่พนักงานเป็นเจ้าของ แต่การกล่าวอ้างนี้ชวนสงสัย อีกทั้งโครงสร้างองค์กรที่อธิบายไว้ในเว็บไซต์ยังชวนให้เข้าใจผิด” นายบอลดิง รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟุลไบรท์ ประเทศเวียดนาม และนายวีเวอร์ ศาสตราจารย์ด้านการวิจัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน กล่าวว่า บริษัทโฮลดิ้งเป็นเจ้าของหัวเว่ยร้อยละ 100 และนายเหริน ผู้ก่อตั้ง เป็นเจ้าของบริษัทโฮลดิ้งดังกล่าวร้อยละ 1 ส่วนร้อยละ 99 ที่เหลือ มีนิติบุคคลที่เรียกว่า “คณะกรรมการสหภาพแรงงาน” ของบริษัทโฮลดิ้งดังกล่าวเป็นเจ้าของ

ในจีน สมาชิกสหภาพแรงงานไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินที่สหภาพแรงงานถือครอง สิ่งที่หัวเว่ยอ้างว่าเป็น “หุ้นพนักงาน” ในบริษัท “ความจริงแล้วเป็นผลประโยชน์ตามสัญญาส่วนใหญ่ในแผนการแบ่งปันผลกำไร” ผู้เขียนทั้งสองระบุ

รายงานระบุว่า “จากลักษณะของสหภาพแรงงานในประเทศจีนที่เป็นของส่วนรวม หากการถือหุ้นของคณะกรรมการสหภาพแรงงานเป็นเรื่องจริง และหากสหภาพแรงงานและคณะกรรมการทำหน้าที่เช่นเดียวกับที่สหภาพแรงงานโดยทั่วไปในประเทศจีนทำหน้าที่ อาจถือได้ว่าหัวเว่ยเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างเต็มตัว”

นอกจากนี้ ประวัติและความสัมพันธ์ทางการทหารของนายเหรินกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังก่อให้เกิดข้อกังขา อาทิ ประเทศอินเดีย แม้ไม่ได้ออกคำสั่งห้ามบริษัทหัวเว่ยในประเทศ แต่ก็กำลังพิจารณาแผนการกีดกันบริษัทแห่งนี้ออกจากการสร้างเครือข่าย 5 จีในพื้นที่ชายแดนที่มีความละเอียดอ่อน ซึ่งอินเดียมีข้อพิพาททางเขตแดนอยู่ รายงานจากสื่ออ้างว่าเหตุผลหนึ่งมาจากความสัมพันธ์ของพรรคกับมหาเศรษฐีอย่างนายเหริน นายเหรินเติบโตมาอย่างอัตคัดในมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ จากนั้นได้เข้าเรียนต่อที่สถาบันวิศวกรรมโยธาและสถาปัตยกรรมฉงชิ่ง และต่อมาได้เข้าร่วมกองทัพในทศวรรษ 1970 (พ.ศ. 2513-2522) ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน นายเหรินเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีนใน พ.ศ. 2521 และได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนแห่งชาติครั้งที่ 12 ใน พ.ศ. 2525

ภัยคุกคามที่ใหญ่กว่า

การโต้แย้งอันดุเดือดว่าควรอนุญาตให้หัวเว่ยสร้างเครือข่าย 5 จีหรือไม่ มักมีจุดสนใจหลักอยู่ที่ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นสองประการ ได้แก่ บริษัทที่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนอาจมีช่องเข้าสู่ระบบโทรคมนาคมแห่งชาติที่สำคัญ ดังนั้นในทางทฤษฎี ก็อาจทำให้รัฐบาลจีนมี “สวิตช์ตัดการทำงาน” ที่ใช้ปิดเครือข่ายเคลื่อนที่ที่สำคัญในช่วงภาวะวิกฤติหรือการเผชิญหน้า ตามรายงานจากสื่อมวลชนหลายแห่ง

ความกังวลอีกประการหนึ่งคือความเป็นไปได้ที่บริษัทจะเข้าถึงความลับของรัฐบาลหรือข้อมูลกรรมสิทธิ์ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 ไมโครซอฟท์เปิดเผยว่า แล็ปท็อปบางรุ่นของหัวเว่ยมีสิ่งที่เรียกว่าช่องโหว่ลับ ซึ่งอาจทำให้มีการเข้าถึงข้อมูลในคอมพิวเตอร์นั้น ๆ ได้โดยไม่ได้รับอนุญาต ไมโครซอฟท์กล่าวว่าได้แจ้งให้หัวเว่ยทราบถึงช่องโหว่ดังกล่าว จากนั้นหัวเว่ยได้ปล่อยโปรแกรมซ่อมแซมออกมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562 วิศวกรของไมโครซอฟท์ติดตามโค้ดต้องสงสัยไปยังซอฟต์แวร์การจัดการอุปกรณ์ที่เรียกว่า พีซี เมเนเจอร์ ซึ่งติดตั้งไว้ล่วงหน้าในเมตบุ๊กส์ของหัวเว่ย เดิมที ซอฟต์แวร์นี้มีไดรเวอร์ที่อนุญาตให้ผู้ใช้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์สามารถอัปเกรดระดับการเข้าถึงของตน

พนักงานหัวเว่ยรอรถรับส่งที่สวนทดสอบ 5 จี ของบริษัทในเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน รอยเตอร์

ศาสตราจารย์อลัน วูดเวิร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยคอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ในสหราชอาณาจักร กล่าวกับบีบีซีนิวส์ว่า ซอฟต์แวร์ลับถูกติดตั้งในแล็ปท็อปมาตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต แต่ไม่มีใครรู้ว่าซอฟต์แวร์ลับนั้นไปอยู่ในเครื่องได้อย่างไร โดยกล่าวว่าตนไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่บ่งบอกว่ารัฐบาลหรือบริษัทจงใจทำเช่นนั้น แต่ก็ยังมีข้อสงสัยอยู่ “กระบวนการทางวิศวกรรมซอฟต์แวร์อนุญาตให้มีการเปิดใช้งานนี้ได้อย่างไร” ศาสตราจารย์วูดเวิร์ดถาม “เรื่องนี้จะไม่ช่วยเรื่องคดีของหัวเว่ยหรือลดความกังวลของผู้คนลง”

อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงความกังวลด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่เกี่ยวกับจีน หัวเว่ยเป็นเพียงส่วน
เล็ก ๆ จากภัยคุกคามโดยรวม จากรายงานเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 ในหัวข้อ “การคุกคามทางเศรษฐกิจของจีนเป็นภัยคุกคามต่อเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ และของโลกอย่างไร” สำนักงานว่าด้วยการค้าและนโยบายการผลิตของทำเนียบขาวระบุว่า จีนต้องการครองอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงที่เกิดใหม่ซึ่งจะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายงานระบุว่า รัฐบาลจีนกระทำการดังกล่าวโดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาที่รัฐสนับสนุน การจารกรรมทางไซเบอร์ การหลีกเลี่ยงกฎหมายควบคุมการส่งออก การปลอมแปลงและการละเมิดลิขสิทธิ์

แม้การจารกรรมทางไซเบอร์เป็นยุทธวิธีที่จีนใช้มากที่สุด แต่บางครั้งก็มีการขโมยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกันอย่างเป็นรูปธรรม ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 ผู้พิพากษากลางของสหรัฐฯ ตัดสินจำคุกหญิงชาวจีนเกือบสองปี ในข้อหาส่งชิ้นส่วนยานพาหนะดำน้ำไปยังมหาวิทยาลัยของจีนอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงบางส่วนที่หญิงผู้นั้นเก็บไว้ในกระเป๋าเดินทาง หนังสือพิมพ์ ออร์แลนโดเซ็นทิเนล รายงาน อัยการกล่าวหานางอามิน ยู อดีตพนักงานมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลฟลอริด้าวัยอายุ 55 ปี ในขณะที่ถูกตัดสินจำคุก จากการไม่เปิดเผยว่าตนทำงานในนามของรัฐบาลจีนและโกหกเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังส่งไปยังประเทศจีน เธอให้การรับสารภาพข้อหาทำการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศโดยไม่ได้จดทะเบียนเป็นตัวแทนต่างประเทศ และสมคบคิดในการฟอกเงินระหว่างประเทศ นายรอย บี. ดาลตัน จูเนียร์ ผู้พิพากษาเขตสหรัฐฯ ตัดสินจำคุกนางยู 21 เดือน

เป้าหมายของกองทัพมักจะเล็งไปที่กลุ่มแฮ็กเกอร์จีน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ผู้พิพากษากลางของสหรัฐฯ ตัดสินจำคุกนายซู ปิน นักธุรกิจชาวจีนเกือบสี่ปี หลังจากที่ได้สารภาพความผิดในข้อหาสมคบคิดเจาะระบบเครือข่ายของบริษัท โบอิง จำกัด และผู้รับเหมาทางทหารของสหรัฐฯ รายอื่น ๆ นายซูเดินทางมายังสหรัฐอเมริกาอย่างน้อย 10 ครั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ถึง 2557 เพื่อขโมยข้อมูล โดยมีผู้สมคบคิดไม่ทราบชื่อสองคนอยู่ในจีน ทั้งสามถูกกล่าวหาว่าขโมยแผนการที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินขนส่งทางทหารซี-17 รวมทั้งเครื่องบินขับไล่ล่องหน เอฟ-22 และ เอฟ-35

วิศวกรรายหนึ่งทำ งานที่ศูนย์ทดสอบ 5 จี ของหัวว่ย ในศูนย์การผลิตซองซานเลค ที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน รอยเตอร์

แม้กระทั่งในช่วงเวลาที่สายตาของชาวโลกจับจ้องไปยังการขยายธุรกิจของบริษัท หัวเว่ยก็ยังต้องต่อสู้ในสงครามการประชาสัมพันธ์อีกครั้ง เมื่อพนักงานคนหนึ่งของบริษัทถูกจับกุมในข้อหาจารกรรมที่โปแลนด์

เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ทางการโปแลนด์ได้จับกุมบุคคลสองคน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นพนักงานชาวจีนของหัวเว่ย และตั้งข้อหาสอดแนมให้รัฐบาลจีน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์ สื่อโทรทัศน์ในโปแลนด์ระบุว่า พนักงานคนดังกล่าวของ
หัวเว่ยจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศแห่งปักกิ่งด้วยปริญญาด้านภาษาโปแลนด์ และเคยทำงานที่สถานกงสุลจีนในกรุงกดัญสก์ ประเทศโปแลนด์

หัวเว่ยรับมือกับเหตุดังกล่าวด้วยการไล่พนักงานคนนี้ออกทันที โดยบริษัทระบุว่า “ตัดสินใจยุติการจ้างงานของนายหวัง เว่ยจิง ซึ่งถูกจับกุมในข้อหาละเมิดกฎหมายโปแลนด์” ตามรายงานของดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส ทางการโปแลนด์กล่าวว่าได้จับกุมนายหวัง อดีตนักการทูตจีน พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ชาวโปแลนด์ ซึ่งทำงานด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ชั้นนำของรัฐบาลหลายงาน

หัวเว่ยยังคงยืนยันว่าการกระทำของนายหวัง “ไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท” และนายหวังถูกไล่ออกเพราะ “เหตุการณ์ต้องสงสัยที่เกิดขึ้นทำให้หัวเว่ยเสื่อมเสียชื่อเสียง” อย่างไรก็ตาม การแก้ตัวเหล่านั้นลดความกังวลของผู้ที่มองว่าบริษัทดังกล่าวเป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติลงเพียงเล็กน้อย

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การนาโต ออกมาเตือนผู้นำสหราชอาณาจักรถึงความเสี่ยงจากการให้บริษัทจีนเป็นผู้สร้างเครือข่าย 5 จี โดยยอมรับว่าสมาชิกนาโตทุกประเทศมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจด้วยตนเอง

“แต่อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับนาโตคือการตัดสินใจเหล่านี้ต้องดำเนินการด้วยวิธีที่แน่ใจได้ว่าสมาชิกจะมีเครือข่ายที่ปลอดภัย” นายสโตลเทนเบิร์กกล่าว ตามรายงานของเอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button