วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมแผนก

อุโช แห่งญี่ปุ่น สืบสาน ศิลปะโบราณ ของการจับปลา ด้วยนกกาน้ำ

ในค่ำคืนอันมืดมิด เปลวไฟลุกโชติช่วงริมฝั่งแม่น้ำในเมืองกิฟุทางตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น ขณะชายจำนวนหนึ่งกำลังเตรียมพิธีที่เก่าแก่กว่า 1,300 ปี นั่นคือ การจับปลาด้วยนกกาน้ำ

ชุดแบบโบราณทำให้ชายกลุ่มนี้ดูราวกับหลุดมาจากอีกช่วงเวลาหนึ่ง พวกเขาควบคุมนกกาน้ำซึ่งใช้เชือกผูกรวมกันไว้คล้ายกับคนเชิดหุ่นกระบอก

อาชีพของชายเหล่านี้ ซึ่งเรียกว่าอุไก ในประเทศญี่ปุ่น เคยพบเห็นได้ทั่วไปในหมู่บ้านและเมืองริมน้ำทั่วเอเชีย รวมถึงภูมิภาคอื่นของโลก ทว่ากลับค่อย ๆ ลดจำนวนลงมาหลายศตวรรษแล้ว ปัจจุบันยังคงมีอยู่ในประเทศญี่ปุ่นโดยเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นส่วนหนึ่งของมรดกภูมิปัญญาของชาติซึ่งได้รับการคุ้มครองเป็นอย่างดีของญี่ปุ่น

นายชูจิ สุกิยามะ ในวัย 46 ปี เป็นผู้ที่อายุน้อยที่สุดในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้นกกาน้ำ หรืออุโช ในเมืองกิฟุ โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มคนเพียงเก้าคนที่มีใบอนุญาตจากสำนักพระราชวังให้จับปลาด้วยวิธีดังกล่าว เขานั่งสงบนิ่งบนโขดหินริมผืนน้ำสีดำของแม่น้ำนะงะระ เสียงพูดคุยของเพื่อนพ้องชาวประมงไม่ได้รบกวนเขาแต่อย่างใด

“เพราะมนุษย์และนกกาน้ำอาศัยอยู่ร่วมกัน การจับปลาแบบอุไกจึงเกิดขึ้นได้” นายสุกิยามะกล่าว

หลายศตวรรษก่อน อาชีพนี้เคยรุ่งเรือง แต่เมื่อทางการเริ่มออกใบอนุญาตจากสำนักพระราชวังแก่อุโช ใน พ.ศ. 2523 ศาสตร์แขนงนี้ก็ถดถอยเสียแล้ว ปัจจุบัน อุโชมีจำนวนเพียงหยิบมือทั่วญี่ปุ่น และมีเพียงเก้าคนที่มีใบอนุญาตจากสำนักพระราชวังในปลาย พ.ศ. 2561 โดยต้องจับปลาให้พระราชวังแปดครั้งต่อปีและได้รับเงินเดือนตามธรรมเนียม 8,000 เยน (71 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 2,100 บาท) ต่อเดือน

วิธีนี้ไม่ใช่การประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ อุโชต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นซึ่งเปลี่ยนอาชีพนี้ให้เป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว และหวังว่าวันหนึ่งจะได้เห็นอุไกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ
ยูเนสโก

“การจับปลาด้วยนกกาน้ำเป็นสิ่งดึงดูดนักเที่ยวได้มากที่สุดในเมืองกิฟุ” นายคาซุฮิโระ ทาดะ หัวหน้าฝ่ายการท่องเที่ยวท้องถิ่นกล่าว “มีคนมาชมการจับปลามากกว่า 100,000 คนต่อปี และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ”

นายสุกิยามะสืบทอดอาชีพนี้จากบิดา โดยช่วยบิดาจับปลาจนได้รับสถานะอุโชอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2545

สิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

ครอบครัวของนายสุกิยามะห้ารุ่นใช้เทคนิคการจับปลาที่ไม่ธรรมดานี้ ซึ่งเคยมีอยู่ในยุโรปและที่อื่น ๆ แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ที่จีนและญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่

งานนี้ต้องอาศัยความอดทนเนื่องจากชั่วโมงทำงานที่ต่างจากปกติ การจับปลาเริ่มต้นหลังตะวันตกดิน โดยอุโชจะแขวนคบเพลิงไว้ที่เรือเพื่อล่อปลาใต้ผืนน้ำ แม้ฤดูจับปลาจะอยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคมจนถึงตุลาคมเท่านั้น แต่ชาวประมงแต่ละคนต้องดูแลนกกาน้ำของตนเป็นประจำทุกวันตลอดปี

นกตัวใหม่จะมาถึงในฤดูใบไม้ร่วง หลังจากจับได้ในระหว่างการอพยพย้ายถิ่นข้ามจังหวัดอิบารากิทางตอนเหนือของโตเกียว ก็เป็นขั้นตอนการฝึกฝนซึ่งใช้เวลาประมาณสามปี

“ปกติผมนำนกไปประมาณ 10 ตัวเมื่อไปจับปลา และผมนำนกตัวใหม่ไปกับกลุ่มนั้นด้วยเพื่อให้เลียนแบบตัวที่แก่กว่าและเรียนรู้วิธีจับปลา” นายสุกิยามะกล่าว

ความหวังสำหรับอนาคต

ชาวประมงสวมเสื้อผ้าแบบดั้งเดิม ได้แก่ เสื้อสีน้ำเงินและผ้าโพกศีรษะสีเข้ากันเพื่อป้องกันจากขี้เถ้าของคบเพลิง กระโปรงยาวทำจากฟางเพื่อกันน้ำและความหนาวเย็น รวมถึงรองเท้าแตะที่ตัดให้สั้นลงเปิดส่วนส้นเท้าไว้เพื่อป้องกันการลื่นล้ม

พวกเขาแขวนคบเพลิงไว้ที่เรือเพื่อล่อปลาเทราต์ขนาดเล็กที่เรียกว่า อะยุ ซึ่งการล่อปลาเป็นตัวกำหนดทิศทางที่เรือจะมุ่งหน้าไป

นกกาน้ำผูกรวมเข้าด้วยกันด้วยเชือก และชาวประมงผูกเชือกไว้รอบคอของนกแต่ละตัวเพื่อไม่ให้นกกินปลาที่จับได้ เชือกที่รัดคอนกกว้างพอให้นกกินปลาตัวเล็ก ๆ ได้ และจะถอดออกเมื่อจับปลาเสร็จในคืนนั้น

นกเหล่านี้เชี่ยวชาญในการจับปลาและฆ่าเหยื่อทันทีด้วยจะงอยปากคมกริบ

เมื่อนกโผล่ขึ้นเหนือผิวน้ำพร้อมปลาในปาก อุโชผู้ควบคุมนกจะดึงปลาออกจากคอหอย แล้วส่งนกกลับลงไปใต้ผืนน้ำ

ในช่วงที่จับปลาได้สูงสุด บรรยากาศจะเซ็งแซ่ไปด้วยเสียงนกร้อง เสียงชาวประมงตะโกนก้อง และเสียงไม้พายของคนพายเรือที่กระทบข้างเรือเป็นจังหวะ นักท่องเที่ยวคอยถ่ายรูปบนเรือลำอื่น ๆ ที่ลอยอยู่รอบเหล่าชาวประมง

เมื่อสิ้นสุดฤดูกาล นายสุกิยามะจะได้พักผ่อนเล็กน้อย แต่เขาคิดว่าน่าจะยังไม่ได้หยุดพักยาวในเร็ววัน “ผมมีลูกชายคนหนึ่งซึ่งยังเรียนอยู่ชั้นประถม ผมรู้สึกว่าเขาเริ่มสนใจในงานของผม” เขากล่าว “เพราะเห็นผมอยู่กับนกกาน้ำทุกวัน และผมหวังว่าวันหนึ่งเขาจะสืบทอดงานนี้ จากผม” เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button