ติดอันดับ

สถาบันวิจัยรายงานเรื่องแรงงานชาวอุยกูร์ในบริษัทแบรนด์ระดับโลกที่มีรายชื่อในจีน

ติดอันดับ| Mar 17, 2020: 

รอยเตอร์

สถาบันวิจัยแห่งหนึ่งในออสเตรเลียระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนได้อพยพชาวอุยกูร์หลายหมื่นคนให้ไปทำงานในสภาพที่บ่งชี้ได้ว่าเป็นการบังคับใช้แรงงานในโรงงานต่าง ๆ ทั่วประเทศจีน เพื่อชดเชยกำลังการผลิตของแบรนด์ระดับโลก 83 แบรนด์

รายงานของสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย ซึ่งอ้างอิงเอกสารจากรัฐบาลและรายงานของสื่อมวลชนท้องถิ่น ระบุว่า พบการโยกย้ายชาวอุยกูร์มากกว่า 80,000 คนจากเขตปกครองตนเองซินเจียงทางตะวันตกเข้ามาทำงานในเครือข่ายโรงงานอย่างน้อย 27 แห่งใน 9 มณฑลของจีน

สถาบันวิจัยดังกล่าวระบุในบทนำของรายงานว่า “ชาวอุยกูร์กำลังทำงานในโรงงานที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของแบรนด์ระดับโลกที่มีชื่อเสียงอย่างน้อย 83 แบรนด์ในภาคเทคโนโลยี เครื่องนุ่งห่ม และยานยนต์ ซึ่งรวมถึงแอปเปิล บีเอ็มดับเบิลยู แก็ป หัวเว่ย ไนกี้ ซัมซุง โซนี่ และโฟล์คสวาเกน ในสภาพที่บ่งชี้ได้อย่างมั่นใจว่าเป็นการบังคับใช้แรงงาน”

รายงานจากสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ออสเตรเลียระบุว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่รัฐสนับสนุน

อีกทั้งระบุว่า แรงงานเหล่านั้น “ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากและถูกแบ่งแยกทางเชื้อชาติ” โดยถูกห้ามไม่ให้ประกอบพิธีทางศาสนาและต้องเข้าเรียนภาษาจีนกลาง

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า มีการตามรอยชาวอุยกูร์ด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์และห้ามไม่ให้เดินทางกลับซินเจียง

กระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า รายงานที่กล่าวว่ารัฐบาลละเมิดสิทธิของชาวอุยกูร์นั้นไม่เป็นความจริง

“รายงานนี้เป็นเพียงการปฏิบัติตามกองกำลังต่อต้านจีนของสหรัฐฯ ที่พยายามจะทำให้มาตรการต่อต้านการก่อการร้ายในซินเจียงของจีนเสื่อมเสีย” นายเจ้า ลี่เจียน โฆษกรัฐบาลกล่าวเมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ในการแถลงข่าวทั่วไป

องค์การสหประชาชาติประมาณการณ์ว่า มีชาวมุสลิมอุยกูร์มากกว่าล้านคนที่ถูกกักขังในค่ายที่ซินเจียงในช่วงหลายปีมานี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่มีการดำเนินการอย่างแพร่หลายที่ทางการจีนใช้เพื่อกำจัดการก่อการร้าย

การกักขังผู้คนจำนวนมากในลักษณะนี้กระตุ้นให้เกิดกระแสตีกลับจากกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนและรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งกล่าวว่าลักษณะการกักขังโดยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน (ภาพ: ผู้ประท้วงชาวอุยกูร์เหยียบโปสเตอร์ที่มีภาพของนายเฉิน ฉวนกั๋ว เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ในระหว่างการประท้วงต่อต้านสาธารณรัฐประชาชนจีนที่หน้าสถานกงสุลจีนในกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562)

จีนปฏิเสธการละเมิดสิทธิชาวอุยกูร์ในค่ายดังกล่าว และระบุว่าค่ายเหล่านั้นสร้างขึ้นเพื่อกำจัดการก่อการร้ายและฝึกทักษะทางวิชาชีพ

“ผู้ที่เรียนในศูนย์ฝึกอาชีพทุกคนจบการศึกษาและได้รับการว่าจ้างด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลของเรา” นายเจ้า โฆษกจากกระทรวงการต่างประเทศกล่าว “ตอนนี้คนเหล่านั้นใช้ชีวิตอย่างมีความสุข”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button