เรื่องเด่น

เสียงเตือนภัย

ระบบเตือนภัยล่วงหน้ามีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นในการลดความเสี่ยงระหว่างเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

การเตือนภัยด้านพายุล่วงหน้า การอพยพคนจำนวนมาก และการประสานงานอย่างเหมาะสมระหว่างกองทัพและหน่วยงานบรรเทาทุกข์พลเรือนต่าง ๆ ช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงอย่างมากทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิก อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติยังระบุว่า การใช้ระบบประกาศเตือนต่อไปเป็นสิ่งจำเป็น

การอพยพที่ประสบความสำเร็จครั้งล่าสุดในภูมิภาคนี้ กระตุ้นให้รัฐบาลหลายประเทศทบทวนความสามารถและแก้ไขช่องว่างที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ความเสี่ยงและเครื่องมือพยากรณ์อากาศสำหรับสภาพอากาศที่รุนแรง น้ำท่วม และภัยแล้ง

การประสานงานและกลไกการสื่อสารที่แข็งแกร่งขึ้นกำลังเจริญก้าวหน้าในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติ ขณะที่นักอุตุนิยมวิทยาในท้องถิ่นก็ทำงานทั้งในระดับประเทศและระดับสากลเพื่อพัฒนาการพยากรณ์อากาศ ความจำเป็นและการใช้ระบบเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งภูมิภาคอินโดแปซิฟิกตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

การเพิ่มขึ้นของประชากร การพัฒนาของเมือง และการทำลาย สิ่งแวดล้อม เป็นตัวกระตุ้นที่ส่งผลกระทบให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง รวมถึงพายุไซโคลน แผ่นดินไหว น้ำท่วม และความร้อนรุนแรง เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ดีขึ้น การบรรเทาภัยพิบัติแบบประสานงานกัน และการลดความเสี่ยง ทวีความสำคัญขึ้นกว่าที่เคย

นายเทพาปรียา รอย นักวิทยาศาสตร์จากองค์กรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย เฝ้าระวังพายุไซโคลนเขตร้อนฟานีภายในสำนักงานที่กรุงโกลกาตา ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 รอยเตอร์

ระบบเตือนภัยล่วงหน้าเป็นวิธีที่ใช้ระบบการสื่อสารแบบบูรณาการ เพื่อช่วยให้ชุมชนเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่เป็นอันตราย ระบบดังกล่าวช่วยรักษาชีวิตและการงาน ที่ดินและโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนสนับสนุนความยั่งยืนในระยะยาว ตามฉันทามติจากการประชุมเวทีโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 ถึง 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ ระบบดังกล่าวยังช่วยในการวางแผนภัยพิบัติให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บริหารอีกด้วย

องค์การสหประชาชาติและพันธมิตรดำเนินการริเริ่มใช้ระบบเตือนภัยล่วงหน้าแบบใหม่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วโลก เช่น ในกัมพูชา ความร่วมมือขององค์การสหประชาชาติกับระบบเตือนล่วงหน้าสำหรับภัยพิบัติต่าง ๆ ในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชียมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการใช้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของกัมพูชา เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบได้ดีขึ้น ระบบเตือนล่วงหน้าสำหรับภัยพิบัติต่าง ๆ ในภูมิภาคเป็นองค์กรระหว่างประเทศและระหว่างรัฐบาลที่บริหารโดย 12 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ กัมพูชา คอโมโรส อินเดีย ลาว มัลดีฟส์ มองโกเลีย ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ เซเชลส์ ศรีลังกา และติมอร์-เลสเต สมาชิกของระบบเตือนล่วงหน้าสำหรับภัยพิบัติต่าง ๆ ในภูมิภาคมีแผนจะแจ้งการพยากรณ์อากาศรายวัน รวมทั้งแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวและสึนามิแก่ประชาชนในท้องถิ่น

ในทำนองเดียวกัน โครงการสึนามิของคณะกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาลขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก จะประเมินความเสี่ยงจากสึนามิ ใช้ระบบเตือนภัยล่วงหน้า และให้ความรู้แก่ชุมชนเกี่ยวกับมาตรการเตรียมพร้อมรับมือ คณะกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาลมีเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวแบบบรอดแบนด์มากกว่า 150 เครื่อง และมีสถานีระดับน้ำทะเลมากกว่า 100 แห่งในมหาสมุทรอินเดีย ที่ประมวลผลข้อมูลใกล้เคียงกับเวลาจริงให้กับระบบเตือนภัยล่วงหน้า

ระบบเตือนภัยล่วงหน้ามีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศและ “ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมตามเวลาจริง ตรวจจับกระแสที่ผิดปกติ และทำการคาดคะเนที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น” ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับระบบเตือนภัยล่วงหน้าของกัมพูชา “ระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้เกิดการตอบสนองต่อภัยธรรมชาติและเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงได้ทันท่วงที รวมถึงการวางแผนการพัฒนาที่ตระหนักถึงข้อมูลความเสี่ยง”

ด้วยลักษณะประเทศซึ่งเป็นที่ราบลุ่มที่มีพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลและชายฝั่งทอดยาวทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคนี้จึงมีความเสี่ยงต่อสภาพอากาศรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ เหตุน้ำท่วมใน พ.ศ. 2556 ที่กัมพูชา ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 1.7 ล้านคนต่อปี โดยใน พ.ศ. 2559 จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 2.5 ล้านคน ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ

“ผลกระทบดังกล่าวสร้างความเสียหายอย่างหนัก และผู้ที่ได้รับผล กระทบเป็นอันดับแรกและร้ายแรงที่สุดจากพายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูง มักเป็นคนที่ยากจนที่สุดและอ่อนแอที่สุด” นายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2561

ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลที่ทำงานเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ รายงานเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ว่ากำลังเร่งสร้างเครือข่ายระบบเตือนภัยล่วงหน้าข้ามพรมแดน ซึ่งเปิดโอกาสให้ประเทศเพื่อนบ้านป้อนข้อมูลสภาพอากาศได้ เพื่อให้ข้อมูลการเตือนภัยล่วงหน้าเพิ่มขึ้นแก่ประชากรจำนวนมากขึ้น เมื่อพิจารณาชุมชนรอบชายแดนอินเดียกับเนปาล ชุมชนท้องถิ่นเหล่านี้ตกอยู่ในภาวะยากจน เนื่องจากไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับน้ำท่วมที่กำลังจะเกิดขึ้น จากรายงานเรื่อง “ระบบเตือนภัยล่วงหน้าข้ามพรมแดนในเอเชีย” ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ที่เผยแพร่โดยสถาบันบรรเทาสาธารณภัยออลอินเดีย โดยรายงานระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 3 ใน 10 รายจากอุทกภัยข้ามพรมแดน เนื่องจากการเตือนภัยล่วงหน้าล่าช้าหรือไม่มีการเตือนภัยล่วงหน้าเลย จากบริบทด้านข้อมูลภัยในเอเชียใต้ ภัยข้ามพรมแดนกำลังพุ่งสูงขึ้น

ผู้โดยสารที่ตกค้างนอนพักภายในสถานีรถไฟอินเดีย หลังจากมีการยกเลิกรถไฟที่วิ่งระหว่างโกลกาตากับโอริสสาก่อนเกิดพายุไซโคลนเขตร้อนฟานีในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 รอยเตอร์

ลุ่มแม่น้ำโคชิและแม่น้ำนารายานี-กานดักในอดีตก่อให้เกิดน้ำท่วมบริเวณชายแดนระหว่างอินเดียกับเนปาล คนท้องถิ่นเรียกลุ่มแม่น้ำสองฝั่งว่า “ความโศกเศร้าของพิหาร” เนื่องจากมีประวัติความเสียหายจากน้ำท่วม ในปัจจุบัน กรมอุทกวิทยาและอุตุนิยมวิทยาของเนปาลที่ต้นน้ำ และชุมชนในรัฐพิหารของอินเดียที่ปลายน้ำ ได้ร่วมมือกันพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าข้ามพรมแดนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตามรายงานของสถาบันบรรเทาสาธารณภัยออลอินเดีย

“การสื่อสารระหว่างชุมชนกับชุมชนมีบทบาทต่อระบบเตือนภัยล่วงหน้าข้ามพรมแดนที่มีประสิทธิภาพและใช้งานได้ ความพยายามนี้ยังแสดงให้เห็นว่า การสร้างความพร้อมรับมือให้ชุมชนที่ตกอยู่ในความเสี่ยง ผ่านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยใช้ชุมชนเป็นฐานอย่างเป็นระบบ และให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในระบบเตือนภัยล่วงหน้าข้ามพรมแดน ช่วยส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมและการเฝ้าระวังในระดับสูงที่ไกลเหนือเส้นพรมแดน”

รายงานของสถาบันบรรเทาสาธารณภัยออลอินเดียระบุว่า ความพยายามอื่น ๆ กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเชื่อมโยงชุมชนต่าง ๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติเดียวกันให้ร่วมมือกันในแบบข้ามพรมแดน “ในขณะที่ความพยายามในการเสริมสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าข้ามพรมแดนมีการเติบโตค่อนข้างมากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาการใช้บทเรียนจากสิ่งเหล่านี้ก็มีความสำคัญต่อการก้าวไปข้างหน้าสำหรับเรา” รายงานของสถาบันบรรเทาสาธารณภัยออลอินเดียระบุ “ความเชื่อมโยงที่ค่อยเป็นค่อยไประหว่างระบบเตือนภัยล่วงหน้าข้ามพรมแดนกับความคิดริเริ่มในการสร้างความพร้อมรับมือกำลังเติบโต รวมทั้งมีบทเรียนที่ดี เกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านี้ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา”

หนึ่งในบทเรียนที่ดีดังกล่าวมาจากอินเดียและบังกลาเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 เมื่อพายุลูกใหญ่ที่สุดลูกหนึ่งในรอบหลายปีพัดถล่มรัฐที่ยากไร้ที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย พายุไซโคลนเขตร้อนฟานีสร้างความหายนะบริเวณพื้นที่ชายฝั่งของอินเดียเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ก่อนจะเคลื่อนตัวไปยังบังกลาเทศ

จากการยกเลิกเที่ยวบินและบริการเดินรถไฟที่หยุดชะงักลง เจ้าหน้าที่ของรัฐในรัฐโอริสสาทราบว่าภารกิจเคลื่อนย้ายประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัยจะเป็นเรื่องท้าทาย แต่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็เผชิญกับสถานการณ์อย่างสู้ไม่ถอย

เจ้าหน้าที่รัฐโอริสสาระดมอาสาสมัคร 43,000 คนและคนงาน ฉุกเฉินเกือบ 1,000 คน แจ้งเตือนชุมชนผ่านโฆษณาทางโทรทัศน์ ไซเรนชายฝั่ง รถบัส เจ้าหน้าที่ตำรวจ และระบบกระจายเสียงตามสาย โดยใช้การประกาศเตือนด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายและชัดเจนว่า “พายุไซโคลนกำลังมา ไปที่พื้นที่หลบภัย” รวมทั้งส่งข้อความ 2.6 ล้านข้อความ ตามรายงานจากหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์

เด็กผู้หญิงคนหนึ่งในเมืองปูรีทางตะวันออกของรัฐโอริสสา ประเทศอินเดีย นำสมุดหนังสือออกมาผึ่งแดดหลังจากพายุไซโคลนเขตร้อนฟานีผ่านพ้นไปในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

รัฐบาลรัฐโอริสสาประสบความสำเร็จในการอพยพประชากร 1.2 ล้านคนตามการคาดการณ์ โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 64 ราย

“น้อยคนที่จะคาดหวังในประสิทธิภาพจากองค์กรประเภทนี้” นายอภิจิตร สิงห์ อดีตนายทหารเรือและหัวหน้าโครงการริเริ่มนโยบายทางทะเลของมูลนิธิออปเซอร์เวอร์ รีเสิร์ช ฟาวน์เดชัน ซึ่งเป็นองค์กรวิจัย กล่าวกับ เดอะนิวยอร์กไทมส์ “นี่เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ”

บังกลาเทศอพยพประชาชนกว่า 1 ล้านคนไปยังพื้นที่หลบภัยได้ เช่นกัน

เมื่อสองทศวรรษที่แล้ว พายุไซโคลนขนาดใหญ่พัดถล่มภูมิภาคเดียวกัน ทำลายหมู่บ้านจนสิ้นซาก และคร่าชีวิตคนนับพัน หลังพายุสงบ มีการพบร่างผู้เสียชีวิตห่างออกไปจากจุดที่อยู่อาศัยหลายไมล์ ตามรายงานของ ไทมส์

การทำลายล้างอย่างราบคาบและภาพเหล่านั้นยังฝังอยู่ในความทรงจำของเจ้าหน้าที่รัฐโอริสสามาโดยตลอด

“เรามีความมุ่งมั่นอย่างจริงจังในเรื่องนี้ จะต้องไม่มีการสูญเสียชีวิตอีก” นายพิษณุภาดา เศรษฐี เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยพิเศษของรัฐโอริสสา ซึ่งดูแลปฏิบัติการอพยพผู้คนเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 กล่าวกับ ไทมส์ “นี่ไม่ใช่การทำงานแค่หนึ่งวันหรือหนึ่งเดือน แต่เป็นการทำงานเป็นเวลา 20 ปี”

หลังจากเกิดพายุไซโคลนครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2542 เจ้าหน้าที่ของอินเดียก็ได้สร้างพื้นที่หลบพายุไซโคลนนับร้อยแห่งขึ้นตลอดแนวชายฝั่ง ซึ่งยังคงยืนหยัดฝ่ากาลเวลาและพายุมาจนถึงปัจจุบัน

“รัฐบาลมักจะทำงานไม่ถูกในกรณีเช่นนี้ แต่การระดมกำลังทั้งหมดค่อนข้างน่าประทับใจ” นายสิงห์ อดีตนายทหารเรือกล่าวกับ เดอะนิวยอร์กไทมส์ “การอพยพผู้คนเป็นล้านคนภายในสามหรือสี่วัน พร้อมทั้งการหาที่หลบภัยและอาหารให้ผู้คนเหล่านั้น เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่ทำได้ในเวลาอันสั้น”

รัฐโอริสสามีระบบประชาสัมพันธ์ชุมชนสำหรับแจ้งเตือนประชาชน และเครือข่ายพื้นที่หลบพายุไซโคลน 450 แห่ง แต่ละแห่งมีคณะกรรมการบำรุงรักษาซึ่งเป็นเยาวชนที่ได้รับการฝึกอบรมการค้นหาและกู้ภัย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการเตือนภัยไซโคลน ตามที่นายดีปัก สิงห์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติของธนาคารโลกระบุ นายสิงห์กล่าวว่าธนาคารโลกช่วยสร้างข้อมูลข่าวกรองเพื่อดำเนินการเตือนล่วงหน้าไปทั่วพื้นที่ ระบบดังกล่าวมีการใช้งานในรัฐโอริสสาในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา

เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งที่สุ่มเสี่ยง ทำให้รัฐโอริสสาต้องประสบกับวัฏจักรพายุทุกสองปี นายดีปัก สิงห์ กล่าว ดังนั้น ยิ่งมีภัยพิบัติมาก ก็หมายความว่ารัฐบาลของรัฐโอริสสาจะยิ่งมีโอกาสมากขึ้นในการเรียนรู้และปรับปรุงระบบเตือนภัยล่วงหน้า ขณะที่ชุมชนมุ่งมั่นทำให้การเสียชีวิตเป็นศูนย์ในช่วงที่เกิดพายุดังกล่าว

“พายุไซโคลนหรือสึนามิขนาดเล็กทุกครั้งได้สอนวิธีการรับมือกับครั้งที่ใหญ่ขึ้น” นายกริชาน คูมาร์ เจ้าหน้าที่ในเขตกอร์ทาของรัฐบาลรัฐโอริส สากล่าวกับ เดอะนิวยอร์กไทมส์ โดยระบุว่า การอพยพผู้คนที่ประสบความสำเร็จของรัฐบาลเมืองนี้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 มีส่วนสำคัญมาจากการสั่งสมความรู้ “หากคุณไม่เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต คุณก็จะจมอยู่ใต้น้ำ”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button