เรื่องเด่น

เชื่อมต่อ การสื่อสาร

สนธิสัญญา ความเข้ากันได้ ด้านการสื่อสาร อย่างปลอดภัย ระหว่างอินเดีย กับสหรัฐฯ ช่วยเพิ่มความมั่นคงระดับภูมิภาคให้พันธมิตร

เครื่องบินลาดตระเวนของกองทัพเรืออินเดียและสหรัฐฯ บินคู่กันเหนือมหาสมุทรอินเดียในเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 ขณะที่เรือพิฆาตติดอาวุธนำวิถีของสหรัฐฯ แล่นผ่านน่านน้ำเบื้องล่าง เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การลงนามสนธิสัญญาความเข้ากันได้ด้านการสื่อสารอย่างปลอดภัยใน พ.ศ. 2561 ที่พันธมิตรทางการทหารทั้งสองประเทศได้ดำเนินการฝึกสงครามปราบปรามเรือดำน้ำร่วมกัน และอุปสรรคในการสื่อสารที่ก่อให้เกิดความท้าทายในอดีตไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

ข้อตกลงว่าด้วยการสื่อสาร ความเข้ากันได้ และความมั่นคงที่แสดงถึงความคืบหน้า ซึ่งลงนามในเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 ช่วยยกระดับการประสานงานด้านการปฏิบัติงานระหว่างกองทัพอินเดียกับสหรัฐฯ จากการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนขยายกองเรือและการสำรวจเข้าสู่มหาสมุทรอินเดียบ่อยครั้งขึ้น ข้อตกลงนี้จะช่วยให้พันธมิตรสามารถสื่อสารกันได้อย่างราบรื่นมากขึ้น เพื่อคุ้มครองความมั่นคงของภูมิภาค

บรรดาผู้ทรงเกียรติจากทั้งสองประเทศยอมรับว่า ข้อตกลงดังกล่าวแสดงถึงความร่วมมือด้านกลาโหมที่คืบหน้ามากยิ่งขึ้น

(จากซ้าย) นายจิม แมตทิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในขณะนั้นและนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นางซุชมา สวาราจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียในขณะนั้น และนางนีร์มาลา สิทธารามัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดียในขณะนั้น พบปะกันที่กรุงนิวเดลี ก่อนการลงนามในสนธิสัญญาความเข้ากันได้ด้านการสื่อสารอย่างปลอดภัยเมื่อ พ.ศ. 2561 เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

“ความสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่างสหรัฐฯ กับอินเดียมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างมากในทศวรรษที่ผ่านมา และปัจจุบันอินเดียเป็นพันธมิตรด้านกลาโหมที่สำคัญของสหรัฐฯ” นายแพทริก ชานาฮาน รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในขณะนั้น กล่าวในการปราศรัย ณ ที่ประชุมแชงกรีล่า เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 ที่สิงคโปร์ “เรากำลังเพิ่มขอบเขต ความซับซ้อน และความถี่ของการมีส่วนร่วมทางกองทัพของเรา เพื่อให้ครอบคลุมการฝึกซ้อมแบบสามเหล่าทัพครั้งแรกของเราในปลายปีนี้”

ก่อนการลงนามในข้อตกลงดังกล่าว สหรัฐฯ ต้องนำอุปกรณ์สื่อสารขั้นสูงออกจากแพลตฟอร์มทางทหารที่ขายให้อินเดีย อุปสรรคอีกประการหนึ่งคือ ความจำเป็นของสหรัฐฯ ที่จะติดตั้งระบบชั่วคราวบนเครื่องบินและเรือของอินเดียในระหว่างการฝึกซ้อมร่วมกัน เพื่อให้กองทัพสื่อสารกันได้ จากรายงานของนิตยสารข่าวสารออนไลน์ เดอะดิโพลแมต อย่างไรก็ตาม การฝึกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 เครื่องบินตรวจการณ์และลาดตระเวน พี-8 จากกองทัพเรือทั้งสองประเทศลาดตระเวนบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่มีเรือพิฆาตติดอาวุธนำวิถีของกองทัพเรือสหรัฐฯ ยูเอสเอส สปรูแอนซ์ เข้าร่วมการฝึกดังกล่าว กองทัพเรือสหรัฐฯ ระบุในข่าวประชาสัมพันธ์ว่า การฝึกครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การฝึกสงครามปราบปรามเรือดำน้ำ การแบ่งปันข้อมูล และการประสานงานระหว่างเครื่องบินกับเรือ โดยใช้สถานที่ใกล้กับเกาะดีเอโกการ์ซีอา

“เราประทับใจอย่างยิ่งในความเป็นมืออาชีพและความสามารถของเครื่องบินตรวจการณ์และลาดตระเวนทางทะเลของอินเดีย” น.ท. แมทธิว ชมิดต์ แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ผู้บังคับการเรือยูเอสเอส สปรูแอนซ์ กล่าวถึงพันธมิตรทางการทหารจากอินเดีย “การฝึกนี้เป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม อีกทั้งเป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้และขัดเกลาทักษะของเรา”

หลายปีแห่งการเจรจาต่อรอง

รัฐบาลอินเดียยังคงมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการรักษาเอกราชเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การเจรจาต่อรองใช้เวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษ ก่อนที่รัฐบาลอินเดียจะลงนามในบันทึกการแลกเปลี่ยนการส่งกำลังบำรุงกับสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2559 ตามรายงานของเดอะดิโพลแมต เมื่อทั้งสองประเทศเจรจาต่อรองข้อตกลงว่าด้วยการสื่อสาร ความเข้ากันได้ และความมั่นคง รัฐบาลของนายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย ยืนกรานให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมและบทบัญญัติหลายประการในข้อตกลงมาตรฐาน

สนธิสัญญานี้มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 10 ปี แต่สามารถยกเลิกด้วยการแจ้งล่วงหน้าหกเดือน นอกจากนี้ ข้อตกลงดังกล่าวยังระบุด้วยว่า สหรัฐฯ ไม่สามารถปิดระบบการสื่อสารที่เข้ารหัสขณะที่ข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้ และไม่สามารถแบ่งปันข้อมูลที่ได้จากแพลตฟอร์มของอินเดียกับบุคคลภายนอกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากอินเดีย มีรายงานที่ตีพิมพ์อย่างน้อยหนึ่งฉบับระบุว่า การเผชิญหน้ากันตามแนวชายแดนระหว่างอินเดียกับจีนเป็นจุดที่เปลี่ยนท่าทีของอินเดียในข้อตกลงว่าด้วยการสื่อสาร ความเข้ากันได้ และความมั่นคง ซึ่งเป็นตัวอย่างของประโยชน์จากการร่วมมือทางกลาโหมที่ใกล้ชิดระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นจริง

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 กองทัพจีนพร้อมรถก่อสร้างและอุปกรณ์ก่อสร้างถนน ดำเนินการขยายถนนไปทางทิศใต้เข้าสู่ดอกลัม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพรมแดนติดกับหุบเขาชุมบีของทิเบตทางทิศเหนือ หุบเขาฮาของภูฏานทางทิศตะวันออก และรัฐสิกขิมของอินเดียทางทิศตะวันตก แม้ภูฏานจะอ้างสิทธิ์ในพื้นที่นี้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2504 แต่จีนก็อ้างสิทธิ์ในดอกลัมเช่นกัน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ทหารอินเดียประมาณ 270 นายพร้อมอาวุธและรถเกลี่ยดิน 2 คันเดินทางมาที่เมืองดอกลัมเพื่อหยุดไม่ให้กองทัพจีนสร้างถนน หลังจากเผชิญหน้ากันเป็นเวลา 10 วัน ทั้งสองประเทศก็ประกาศถอนกำลังทหารของตน

อินเดียวางแผนจัดซื้อเครื่องบินควบคุมระยะไกลติดอาวุธ ซีการ์เดียน 30 ลำจากสหรัฐอเมริกา เจเนรัล อะตอมิกส์ แอโรนอติคัล

รายงานในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ดิ อีโคโนมิค ไทมส์ ในอินเดียระบุว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจุดที่ทำให้อินเดียเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อความสำคัญของข้อตกลงว่าด้วยการสื่อสาร ความเข้ากันได้ และความมั่นคง

นอกจากนี้ การลงนามในข้อตกลงดังกล่าวยังเป็นการเพิ่มความตระหนักทางทะเลให้กับกองทัพเรืออินเดียอีกด้วย ตามรายงานจากบริษัท นิวเดลี เทเลวิชัน จำกัด ระบุว่า เมื่อเรือรบหรือเครื่องบินสหรัฐฯ ตรวจพบภัยคุกคาม ก็จะสามารถสื่อสารกับกองทัพเรืออินเดียในพื้นที่ได้ทันที ผ่านการส่งข้อมูลเข้ารหัสจากกองทัพเรือสหรัฐฯ โดยยุทโธปกรณ์ของกองทัพเรืออินเดียจะได้รับการติดตั้งเข้ากับระบบสื่อสารข้อมูลอัตโนมัติตามข้อตกลงว่าด้วยการสื่อสาร ความเข้ากันได้ และความมั่นคง ทั้งนี้ สหรัฐฯ อธิบายว่า ระบบสื่อสารข้อมูลอัตโนมัติเป็นกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือลับซึ่งรองรับกองบัญชาการกำลังรบทั่วโลก

การแบ่งปันข้อมูลอย่างทันท่วงทีไม่ใช่ประโยชน์เพียงอย่างเดียวของข้อตกลงนี้ รายงานเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 ในหนังสือพิมพ์ เดอะไทมส์ออฟอินเดีย ระบุว่า รัฐบาลอินเดียได้สรุปแผนการซื้อเครื่องบินควบคุมระยะไกลติดอาวุธ 30 ลำจากสหรัฐฯ ที่ชื่อ ซีการ์เดียน เครื่องบินนี้เป็นรุ่นดัดแปลงสำหรับการใช้งานทางทะเลจากเครื่องบิน เอ็มคิว-9บี สกายการ์เดียน ซึ่งเดินทางด้วยความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และบินได้นาน 14 ชั่วโมงเพื่อทำภารกิจตรวจการณ์หรือลาดตระเวนที่ไกลถึง 1,800 กิโลเมตรจากฐานทัพ เครื่องบินซีการ์เดียนจะส่งภาพไปยังห้องควบคุม ซึ่งช่วยขับเคลื่อนเครื่องบินโดยใช้การเชื่อมโยงข้อมูลสองทาง

และการขายเครื่องบินเพิ่มเติมอยู่ระหว่างดำเนินการ ใน พ.ศ. 2558 กองทัพเรืออินเดียเปิดตัวฝูงบิน พี-8ไอ เนปจูน เป็นครั้งแรก โดยเครื่องบินจากฝูงบินดังกล่าวเป็นเครื่องบินรบปราบปรามเรือดำน้ำ ดัดแปลงมาจาก พี-8เอ โพไซดอน ที่กองทัพเรือสหรัฐฯ ใช้ ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 สหรัฐยังได้อนุมัติการขายเฮลิคอปเตอร์ล่าเรือดำน้ำ เอ็มเอช-60อาร์ ซีฮอว์กจำนวน 24 ลำให้กับอินเดียด้วยมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท) เฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวซึ่งออกแบบให้ทำงานจากเรือลาดตระเวน เรือพิฆาต เรือฟริเกต และเรือบรรทุกเครื่องบิน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของอินเดียในการสงครามผิวน้ำและการสงครามปราบปรามเรือดำน้ำ นอกจากการล่าเรือดำน้ำแล้ว ซีฮอว์กยังสามารถทำให้เรือใช้การไม่ได้ รวมทั้งดำเนินปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยในทะเล

ก่อนการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการสื่อสาร ความเข้ากันได้ และความมั่นคง อินเดียจัดซื้อเครื่องบิน ซี-17 โกลบมาสเตอร์ 2 และเฮลิคอปเตอร์โจมตี เอเอช-64 อาปาเช่ จากสหรัฐฯ มาเรียบร้อยแล้ว

เครื่องบินตรวจการณ์และลาดตระเวน พี-8เอ โพไซดอน จากกองทัพเรือสหรัฐฯ เข้าร่วมการฝึกล่าเรือดำน้ำกับกองทัพเรืออินเดียเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 จ.อ. ไบรอัน นีเกิล/กองทัพเรือสหรัฐฯ

การแผ่ขยายกองเรือดำน้ำของจีน

ขณะนี้ จีนมีกองเรือดำน้ำขีปนาวุธที่สามารถโจมตีด้วยนิวเคลียร์ ทำให้มีสมรรถภาพที่จะตอบโต้การโจมตีที่น่าเชื่อถือมากขึ้น หากคลังนิวเคลียร์ภาคพื้นดินของจีนถูกโจมตี ในรายงานประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่าขณะนี้กองทัพจีนได้ขยายกองเรือดำน้ำของตนให้เป็นเครื่องมือขัดขวางนิวเคลียร์ภาคพื้นทะเล “ที่ใช้การได้”

จีนยังคงเดินหน้าขยายคลังเรือดำน้ำต่อไป แม้จะครอบครองกองเรือขนาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้แล้วก็ตาม ปัจจุบัน จีนมีเรือดำน้ำขีปนาวุธพลังงานนิวเคลียร์ 4 ลำ เรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ 5 ลำ และเรือดำน้ำโจมตีพลังงานดีเซล 47 ลำตามรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ภายใน พ.ศ. 2563 กองเรือนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนขึ้นโดยมีเรือดำน้ำอยู่ระหว่าง 69 ถึง 78 ลำ

สื่อต่าง ๆ ในอินเดียรายงานเมื่อ พ.ศ. 2562 ว่า เจ้าหน้าที่กองทัพเรืออินเดียเริ่มกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่จีนลาดตระเวนมหาสมุทรอินเดียด้วยเรือดำน้ำบ่อยครั้ง การกล่าวถึงกิจกรรมดังกล่าวแก่สาธารณะครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2556 เมื่อจีนยืนยันว่าหนึ่งในเรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ของตนกำลังเดินทางผ่านมหาสมุทรอินเดีย เพื่อปฏิบัติภารกิจปราบปรามโจรสลัดในอ่าวเอเดน จากนั้น มีการกล่าวถึงอีกสองครั้งใน พ.ศ. 2561 เมื่อเรือดำน้ำของจีนจอดเทียบบริเวณท่าเรือที่ได้รับเงินสนับสนุนจากจีนในโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา

อินเดียต้องพึ่งพาการค้าขายทางทะเลเป็นพิเศษ เนื่องจากภูมิ ประเทศทางทิศตะวันตกมีปากีสถานและทางทิศเหนือมีเทือกเขาหิมา ลัยปิดกั้นอยู่ ทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันร้อยละ 80 ผ่านทางมหาสมุทรอินเดีย และการค้าขายของอินเดียร้อยละ 95 ต้องล่องเรือผ่านน่านน้ำเหล่านั้น โดยมูลค่าการค้าคิดเป็นร้อยละ 55 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอินเดีย ส่วนจีน ซึ่งมีมูลค่าการค้าคิดเป็นเกือบร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ต้องพึ่งพาการขนส่งทางทะเลร้อยละ 85 ของมูลค่าการค้าดังกล่าว นอกจากนี้ การนำเข้าน้ำมันร้อยละ 80 ของจีนขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา “ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองประเทศจึงมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการปิดกั้นเส้นทางที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเรือดำน้ำจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมอำนาจบีบบังคับ” ตามรายงานจากนิตยสารเนชันแนลอินเทอเรสต์

การเผชิญความท้าทาย

การยกระดับความร่วมมือด้านปฏิบัติการระหว่างพันธมิตรทางการทหารทั้งสอง มีความสำคัญยิ่งต่อการรักษาอินโดแปซิฟิกให้เป็นภูมิภาคที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งเสรีภาพในการเดินเรือและสิทธิทางอาณาเขตได้รับการคุ้มครอง ตามรายงานจากเอเชียน นิวส์ อินเตอร์เนชั่นแนล นางนีร์มาลา สิทธารามัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดียในขณะนั้น เน้นย้ำถึงจุดนี้โดยระบุว่า “ข้อตกลงว่าด้วยการสื่อสาร ความเข้ากันได้ และความมั่นคง เป็นความก้าวหน้าครั้งประวัติศาสตร์ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ”

นายเคนเนธ จัสเตอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอินเดียระบุว่า
ความสัมพันธ์ดังกล่าวกำลังเติบโตในด้านสำคัญอื่น ๆ รวมถึงการต่อต้านการก่อการร้าย การค้า และพลังงาน นายจัสเตอร์กล่าวกับหอการค้าอินโด-อเมริกันแห่งเกรเทอร์ฮูสตัน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ นั้น “กินความกว้าง ซับซ้อน และเต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีต่าง ๆ ในโลก” “โดยครอบคลุมประเด็นทุกมิติด้านกิจการระหว่างประเทศ” นายจัสเตอร์กล่าว ตามรายงานของ เพรสทรัสต์ออฟอินเดีย ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

“เรายังมีซอฟต์แวร์และเครือข่ายแบบบูรณาการที่จำเป็นสำหรับการป้องกันประเทศ” นายจัสเตอร์กล่าวกับมวลชน “ความร่วมมือระหว่างกองทัพและข้อตกลงทางกลาโหมกับอินเดีย รวมถึงข้อตกลงว่าด้วยการสื่อสาร ความเข้ากันได้ และความมั่นคง จะเพิ่มการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างกองทัพของเรา และทำให้มั่นใจว่ามีการใช้งานซอฟต์แวร์และระบบที่ทันสมัยที่สุดของสหรัฐฯ ในอินเดีย”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button