ประเทืองปัญญาแผนก

ชีวิตในเขตสงคราม ผลกระทบต่อ สุขภาพจิต

องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า หนึ่งในห้าของผู้คนในเขตสงครามมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ความเครียดหลังการบาดเจ็บ โรคไบโพลาร์ หรือโรคจิตเภท โดยการป่วยทางจิตเหล่านี้มีอาการที่รุนแรงหลายรูปแบบ
องค์การสาธารณสุขแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า ผลการวิจัยเน้นย้ำถึงผลกระทบระยะยาวของวิกฤตที่เกิดจากสงครามในประเทศต่าง ๆ เช่น อัฟกานิสถาน อิรัก ซูดานใต้ ซีเรีย และเยเมน โดยมีจำนวนสูงกว่าประชากรในภาวะปกติอย่างมาก ซึ่งมีเพียง 1 ใน 14 คนที่ป่วยทางจิต

“ด้วยความต้องการของผู้คนจำนวนมากและความจำเป็นด้านมนุษยธรรมในการลดความความเจ็บปวด จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องยื่นมือช่วยเหลือด้านปัญหาสุขภาพจิตที่ปรับเปลี่ยนได้ เพื่อแก้ไขภาระนี้” ทีมวิจัยกล่าว
นายมาร์ก ฟาน ออมเมเรน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตในทีมองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ผลการวิจัยดังกล่าว “ยังเพิ่มน้ำหนักให้ข้อโต้แย้งเรื่องการลงทุนที่รวดเร็วและยั่งยืน เพื่อให้การสนับสนุนด้านจิตใจและจิตสังคมพร้อมสำหรับทุกคนที่ต้องการอยู่รอดภายใต้ความขัดแย้งและผลพวงจากความขัดแย้งนั้น”

ใน พ.ศ. 2559 จำนวนความขัดแย้งที่ใช้อาวุธที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 53 ครั้งใน 37 ประเทศ และร้อยละ 12 ของประชากรทั่วโลกอาศัยอยู่ในเขตที่กำลังมีสงคราม ตามข้อมูลตัวเลขขององค์การสหประชาชาติ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ประชากรทั่วโลกเกือบ 69 ล้านคนถูกบีบบังคับให้หลบหนีจากสงครามและความรุนแรง

การศึกษาด้านสุขภาพจิตจากความขัดแย้งขององค์การอนามัยโลกที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ เดอะแลนเซต ดำเนินการโดยทีมนักวิจัยจากองค์การอนามัยโลก มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย สถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐอเมริกา

ทีมวิจัยดังกล่าววิเคราะห์การวิจัยจากงานวิจัย 129 ฉบับและข้อมูลจาก 39 ประเทศที่ตีพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2523 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560

โดยมีการรวมภูมิภาคที่พบความขัดแย้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และมีการจัดประเภทอาการป่วยทางจิตเป็น ไม่รุนแรง ปานกลาง หรือรุนแรง แต่ไม่รวมภัยพิบัติทางธรรมชาติและภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เช่น การระบาดของโรคอีโบลา

โดยรวมแล้ว ในเขตสงครามมีความชุกเฉลี่ยสูงสุดของภาวะสุขภาพจิตที่ไม่รุนแรงอยู่ที่ร้อยละ 13 ประมาณร้อยละ 4 ของผู้คนที่อาศัยอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่ใช้อาวุธมีการป่วยทางสุขภาพจิตในระดับปานกลาง และในภาวะรุนแรงมีความชุกของโรคอยู่ที่ร้อยละ 5

การศึกษายังพบว่า อัตราการซึมเศร้าและความวิตกกังวลในสถานการณ์ความขัดแย้งดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นตามอายุ และภาวะซึมเศร้าพบได้บ่อยในกลุ่มผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

การศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก กระทรวงสาธารณสุขควีนส์แลนด์ และมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ รอยเตอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button