สื่อและวิทยาการแผนก

การปฏิวัติด้านอาหาร ของสิงคโปร์

สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือสถานที่ที่ไม่น่าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรได้

ด้วยบ่อปลาแบบชั้น แปลงผักบนดาดฟ้าอาคารสำนักงาน และเนื้อกุ้งที่สังเคราะห์ขึ้นในห้องแล็บ เกาะแห่งนี้มีเป้าหมายเพิ่มการผลิตอาหารด้วยตนเองและลดการพึ่งพาการนำเข้าเพื่อเลี้ยงผู้คน 5.6 ล้านคน

สิงคโปร์ผลิตอาหารเองประมาณร้อยละ 10 แต่มีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็นร้อยละ 30 ภายใน พ.ศ. 2573 ภายใต้แผนที่เรียกว่า 30 ต่อ 30

พื้นที่ว่างคือความท้าทาย สิงคโปร์มีพื้นที่ทำการเกษตรเพียงร้อยละ 1 จากที่ดิน 724 ตารางกิโลเมตร อีกทั้งมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าที่อื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แรงกดดันจึงตกอยู่ที่เกษตรกรรุ่นใหม่ในเมืองซึ่งต้องตอบสนองต่อการเรียกร้องให้ “ปลูกมากขึ้นด้วยต้นทุนที่น้อยลง” ของรัฐบาล

“เมื่อใดก็ตามที่ผมพูดถึงความมั่นคงทางอาหารในสิงคโปร์ ผมบอกคนทั่วไปว่าอย่านึกถึงที่ดินแต่ให้นึกถึงพื้นที่ว่าง เพราะคุณสามารถขึ้นไปข้างบนและไปด้านข้างได้” นายพอล เต็ง ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางกล่าว

ซัสเทเนียร์อะกริคัลเจอร์เป็นหนึ่งในฟาร์มเกษตรแนวตั้งกว่า 30 แห่งในสิงคโปร์ ซึ่งเห็นได้ว่าในระยะเวลาสามปี มีฟาร์มที่เรียกว่าฟาร์มลอยฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

ฟาร์มไฮโดรโปนิกแห่งนี้ปลูกพืชพันธุ์ต่างถิ่น เช่น ผักเคล มะเขือเทศราชินี และสตรอว์เบอร์รีในร่มใต้แสงประดิษฐ์ แล้วขายผลผลิตให้ซูเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่และร้านออนไลน์

ใน พ.ศ. 2561 ซัสเทเนียร์ระดมทุนได้ 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 400 ล้านบาท) จากผู้สนับสนุน ได้แก่ เทมาเส็ก ผู้ลงทุนจากรัฐบาลสิงคโปร์และ กร็อกเวนเจอร์ส ของออสเตรเลีย ซึ่งเงินทุนนี้จะนำไปใช้เพื่อการขยายธุรกิจในสิงคโปร์และเปิดตัวธุรกิจในฮ่องกง

เทมาเส็กยังมอบทุนแก่ อะพอลโล อะควาคัลเจอร์ กรุ๊ป ซึ่งกำลังก่อสร้างฟาร์มปลาแปดชั้นที่ใช้ระบบอัตโนมัติเกือบทั้งหมด อะพอลโลกล่าวว่า ฟาร์มแห่งใหม่นี้จะเพิ่มผลผลิตมากกว่ายี่สิบเท่าของจำนวนปลาที่ผลิตได้เป็น 110 เมตริกตันต่อปี

ทั้งนี้ สิงคโปร์ไม่ได้ระบุจำนวนเงินทุนทั้งหมดของแผน 30 ต่อ 30 ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 แต่มีแบบแผนการระดมทุนที่หลากหลาย นอกเหนือจากเงินทุนจากเทมาเส็กแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ยังให้งบจำนวน 106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.2 พันล้านบาท) เพื่อการวิจัยและพัฒนาอาหาร และอีก 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.3 พันล้านบาท) แก่บริษัทด้านการเกษตรเพื่อใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิต รวมทั้งได้วางแผนก่อสร้างสถานที่เพื่อการเกษตรและอาหารขนาด 18 เฮกตาร์ (ประมาณ 180,000 ตารางเมตร) ที่โรงงานปลูกพืชในร่มและฟาร์มแมลงภายใน พ.ศ. 2564 รอยเตอร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button