ติดอันดับ

แปซิฟิกพาทเวย์ พ.ศ. 2563 มีการหมุนเวียนกำลังพลไปยังประเทศหมู่เกาะมากขึ้น

ติดอันดับ | Feb 16, 2020:

หนังสือพิมพ์โฮโนลูลู สตาร์-แอดเวอร์ไทเซอร์รายงานว่า บุคลากรทางการทหารของสหรัฐฯ จะหมุนเวียนกันไปยังประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิกอย่างติมอร์-เลสเต ปาปัวนิวกินี ตองงา ฟิจิ ปาเลา และแยป ในระหว่างการหมุนเวียนกำลังพลในโครงการแปซิฟิกพาทเวย์ พ.ศ. 2563

เป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่มระยะเวลาการหมุนเวียนกำลังพลไปยังหมู่เกาะแปซิฟิกในโครงการแปซิฟิกพาทเวย์ จากการที่สหรัฐฯ สร้างความเป็นพันธมิตรอย่างแข็งแกร่งในแปซิฟิก

แปซิฟิกพาทเวย์เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2557 เป็นโครงการที่สนับสนุนความจำเป็นและโอกาสการฝึกอบรมระดับทวิภาคี ระหว่างกองทัพบกสหรัฐฯ ฝ่ายพันธมิตรและหุ้นส่วนในภูมิภาคแห่งนี้ การหมุนเวียนกำลังพลซึ่งครั้งหนึ่งเคยดำเนินการอย่างคร่าว ๆ ประมาณสามเดือนตลอดทั้งปี ได้เปลี่ยนเป็นการหมุนเวียนกำลังพลที่ยาวนานขึ้นในบางประเทศ ซึ่งทำให้สหรัฐฯ สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นผ่านการแลกเปลี่ยนทางทหารและวัฒนธรรม

แปซิฟิกพาทเวย์ 2.0 ซึ่งเป็นชื่อที่มักใช้เรียกรูปแบบใหม่นี้ จะประกอบด้วยการหมุนเวียนกำลังพลนานสี่ถึงห้าเดือน (ภาพ: ส.ท. คริสเตียน แลแธม แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ (ซ้าย) และ ส.อ. โลเวน เซรู แห่งกองทัพบกฟิจิ เข้าร่วมการซ้อมรบในพื้นที่ป่าที่หมู่บ้านนาปูกา ประเทศฟิจิ)

“กองทัพบกกำลังตอกย้ำการมีตัวตนและจุดประสงค์ของเราในแปซิฟิก” นายไรอัน แมกคาร์ธี อธิบดีกระทรวงทหารบก กล่าวเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ที่สถาบันบรูกกิงส์ซึ่งไม่แสวงหาผลกำไร “เนิ่นนานก่อนที่สภาพการณ์ต่าง ๆ จะบานปลายไปสู่สงคราม จะมีการต่อสู้ด้านแนวคิด ซึ่งนี่คือสงครามอีกรูปแบบหนึ่ง และการตัดสินใจต่าง ๆ จะหยั่งลึกในหัวใจของผู้คน เราต้องแสดงตัวเพื่อนำเสนอทางเลือกอื่น”

คำกล่าวของนายแมกคาร์ธีบ่งบอกถึงความพยายามของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จะร่วมมือกับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก โดยการทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจและการทูตที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างล้นหลามต่อจีน ซึ่งทิ้งหนี้ก้อนโตให้ประเทศเจ้าภาพในท้ายที่สุด

“มีการต่อสู้เพื่อสร้างอิทธิพลในภูมิภาคอย่างหนัก โดยการเข้าถึงและการมีบทบาทเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง” นายแมกคาร์ธีกล่าวที่บูกกิงส์ “พันธมิตรมีความสำคัญ แต่ประเภทของพันธมิตรสำคัญที่สุด จีนใช้เศรษฐศาสตร์แบบบีบบังคับ และหลายประเทศต้องให้ความร่วมมือด้วยความจำเป็น ซึ่งนับว่าเป็นจุดเสี่ยงอย่างใหญ่หลวง”

ยุทธศาสตร์กลาโหมแห่งชาติของสหรัฐฯ จัดให้จีนเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ระยะยาว แปซิฟิกพาทเวย์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่กองทัพสหรัฐฯ ใช้ต่อสู้ในการแข่งขันดังกล่าว

“ในพื้นที่ที่มีการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจเช่นนี้ จีนจะผงาดขึ้นมาเป็นภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา” นายแมกคาร์ธีกล่าว “การมีกองทัพบกสหรัฐฯ อยู่ในภูมิภาคพร้อมอาวุธที่ทันสมัยเคียงข้างกองทัพบกของเรา จะเปลี่ยนวิธีการตัดสินใจและก่อให้เกิดอุปสรรคแก่ผู้ที่อาจเป็นศัตรูได้” นอกจากนี้ การมีกองทัพบกสหรัฐฯ อยู่ในภูมิภาคยังช่วยเสริมสร้างจุดยืนของสหรัฐฯ ในการดำเนินการค้าทั่วโลก สร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน และการแข่งขันทางเศรษฐกิจ”

ความร่วมมือของกองทัพบกสหรัฐฯ ยังมาพร้อมกับเครื่องไม้เครื่องมือและการฝึกอบรมที่ทันสมัย ซึ่งสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างต่อเนื่อง นายแมกคาร์ธีกล่าว

“และความมุ่งมั่นจะยับยั้งไม่ให้เกิดความล้มเหลว เพราะเป็นพันธมิตรปัจจุบันด้านกองกำลังรบที่ดีที่สุดในโลก” นายแมกคาร์ธีกล่าวเสริม “จีนอาจเป็นพันธมิตรที่บีบบังคับ แต่กองทัพบกสหรัฐฯ จะเป็นพันธมิตรที่ให้ทางเลือก”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button