ติดอันดับ

ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นร่วมมือกันฟื้นฟูฐานทัพเรือในอดีตขึ้นมาใหม่

ติดอันดับ | Feb 18, 2020:

อ่าวซูบิกในแซมบาเลส ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือสหรัฐฯ ที่สำคัญที่สุดนอกทวีปอเมริกา จะมีการพัฒนาใหม่ในไม่ช้าเพื่อใช้เป็นฐานทัพเรือดำน้ำและโครงการพาณิชย์ของฟิลิปปินส์ โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น

นายคาร์ลอส โดมินเกซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฟิลิปปินส์ และนายโทชิมิตสึ โมเทกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ประกาศแผนการหลังจากการประชุมที่กรุงมะนิลาเมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 นายอาร์มานโด เฮเรเดีย นักวิเคราะห์ด้านกิจการความมั่นคงของอินโดแปซิฟิกกล่าวกับ ฟอรัม ว่า ข้อเสนอขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น “สามารถให้ความช่วยเหลือด้านแผนพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่เท่านั้น รวมถึงอู่ต่อเรือร้างฮันจิน” “รัฐบาลฟิลิปปินส์จำเป็นต้องจัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในด้านกลาโหมโดยเฉพาะ จนถึงตอนนี้ ประกาศจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียวก็คือการพัฒนาอู่ต่อเรือสำหรับโครงการเรือดำน้ำ”

กองทัพเรือฟิลิปปินส์กำลังวางแผนสร้างฐานทัพเรือดำน้ำภายในอู่ต่อเรือ ฮันจิน เฮฟวี อินดัสตรีส์ แอนด์ คอนสตรัคชัน ขนาดพื้นที่ 300 เฮกตาร์ในอ่าวซูบิก (ในภาพ) กองทัพเรือจะใช้สถานที่ส่วนหนึ่งของฮันจินเพื่อเป็นฐานทัพเรือดำน้ำเมื่อมีการลงนามข้อตกลง พล.ร.ท. โรเบิร์ต เอมเพดราด ผู้บัญชาการกองทัพเรือฟิลิปปินส์ อธิบายกับสำนักข่าวฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นสำนักข่าวของรัฐบาลฟิลิปปินส์ พล.ร.ท. เอมเพดราด กล่าวว่า กองทัพเรือจะสร้าง “ท่าเรือที่ยื่นออกไปในทะเล” เพื่อจอดเรือดำน้ำ เนื่องจากระดับน้ำมีความลึกมากพอที่จะยึดเรือดำน้ำไว้

สำนักข่าวฟิลิปปินส์รายงานว่า กองทัพฟิลิปปินส์หวังที่จะซื้อเรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้าสองลำ โดยเชื่อว่าเรือดำน้ำชั้นสกอร์ปิเน่ของฝรั่งเศสน่าจะเป็นตัวเลือกที่มีแนวโน้มมากที่สุดสำหรับสัญญานี้

รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังคงพิจารณาการใช้สถานที่ดังกล่าวเพื่อกลาโหมเพิ่มเติม เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต มีคำสั่งให้กระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือฟิลิปปินส์ศึกษาวัตถุประสงค์ทางทหารสำหรับสถานที่ดังกล่าว ตามรายงานของเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว ของญี่ปุ่น เรือรบฟิลิปปินส์ลำแรกมาถึงเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562

นายเจ. เบิร์กไชร์ มิลเลอร์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันด้านกิจการระหว่างประเทศของญี่ปุ่นกล่าวว่า การพัฒนาอ่าวซูบิกขึ้นใหม่นั้นเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้ นายมิลเลอร์กล่าวว่า “แผนการของรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับซูบิกสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และตรงกับความปรารถนาที่จะยกระดับความตระหนักและขีดความสามารถด้านขอบเขตทางทะเลของรัฐชายฝั่ง”

หลายคนมองว่าแผนความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับฟิลิปปินส์เป็นการตอบโต้ความสนใจของนักลงทุนจีนที่มีให้กับอู่ต่อเรือแห่งนี้ แม้จะมีข้อพิพาททางทะเลระหว่างฟิลิปปินส์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับอาณาเขตในทะเลจีนใต้ แต่นักลงทุนจีนก็รุกเข้ามายังหมู่เกาะดังกล่าว ซึ่งรวมถึงทางรถไฟขนส่งสินค้าระยะทาง 71 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อคลาร์กฟรีพอร์ทเข้ากับอ่าวซูบิกมูลค่า 987 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.08 หมื่นล้านบาท) ที่ได้รับเงินทุนจากจีน นายมิลเลอร์ระบุว่า อย่างไรก็ตาม ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของสถานที่ในอ่าวซูบิก ได้สะท้อนถึงความปรารถนาของฟิลิปปินส์ที่จะรักษาความเป็นเจ้าของไม่ให้ตกอยู่ในมือของจีน

หนังสือพิมพ์สตาร์แอนด์สไตรป์ รายงานว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ ประกาศเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 ว่า “กำลังสำรวจความสามารถของอู่ต่อเรือในอ่าวซูบิก เพื่ออาจใช้เป็นสถานที่ซ่อมแซมและบำรุงรักษา” ความตั้งใจของรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับอ่าวซูบิกมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเชิงพาณิชย์

อ่าวซูบิกพัฒนาขึ้นครั้งแรกโดยกองทัพเรือสเปนก่อนสงครามฟิลิปปินส์-สหรัฐฯ และกองทัพเรือสหรัฐฯ ใช้พื้นที่นี้อย่างต่อเนื่องในความขัดแย้งหลายครั้ง รวมถึงสงครามเวียดนาม ก่อนที่ฟิลิปปินส์จะยึดพื้นที่คืนได้เมื่อ พ.ศ. 2535 อดีตฐานทัพเรือสหรัฐฯ แห่งนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของทหารเรือสหรัฐฯ และครอบครัวนับพันคน ซึ่งสถานที่นี้ยังใช้เป็นท่าเรือสำหรับประสานงานโดยเรือรบของสหรัฐฯ และเป็นสนามสำหรับการฝึกของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ในบางโอกาส

โจเซฟ แฮมมอนด์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button