ติดอันดับ

ฟิลิปปินส์มองหาความช่วยเหลือจากภายในเพื่อแก้ปัญหาความต้องการด้านการผลิตทางกลาโหม

ติดอันดับ | Jan 13, 2020:

มันดีป ซิงห์

ขณะที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย ฝ่ายนิติบัญญัติในกรุงมะนิลาก็กำลังดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าอุตสาหกรรมกลาโหมของประเทศจะเป็นผู้ได้ผลประโยชน์หลักจากความพยายามนี้

กระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ระบุว่า กองทัพฟิลิปปินส์ได้เริ่มโครงการปรับปรุงให้ทันสมัย 15 ปีขึ้นใน พ.ศ. 2555 ซึ่งคาดว่าค่าใช้จ่ายของโครงการนี้จะสูงถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) และจะรวมถึงการซื้อเครื่องบิน ยานพาหนะไร้คนขับ ระบบข่าวกรองและระบบเฝ้าระวัง การสื่อสาร อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และระบบอาวุธ

นายราล์ฟ เร็กโต้ ประธานวุฒิสภาของฟิลิปปินส์กล่าวในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ว่า “ควรมีการจ่ายเงินปันผลในท้องถิ่นที่มาจากการซื้ออุปกรณ์เหล่านี้”

เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของนายเร็กโต้ คณะกรรมการของรัฐสภากำลังพิจารณากรอบกฎหมายเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการจ่ายเงินปันผลดังกล่าว

พระราชบัญญัติการพัฒนาอุตสาหกรรมกลาโหมของฟิลิปปินส์ที่เสนอใน พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพึ่งพาตนเองในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ผ่านมาตรการจูงใจและการควบคุมที่ส่งเสริมผู้ผลิตในประเทศ รวมถึงโดยการสร้างสำนักงานแห่งใหม่ของปลัดกระทรวงการวิจัยเทคโนโลยีกลาโหมและการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อกำกับดูแลและให้เงินทุนแก่ความพยายามเหล่านี้ นายเร็กโตกล่าวว่า “สิ่งแรกที่ต้องทำคือการกำหนดนโยบายว่า เมื่อมีเทคโนโลยีท้องถิ่น อุปกรณ์นั้นจะต้องมีส่วนประกอบที่มาจากท้องถิ่น”

ซึ่งจะมีการมอบสิทธิพิเศษนี้ให้กับองค์กรภายในประเทศและทรัพยากรท้องถิ่นรวมถึงวัตถุดิบ สำหรับการพัฒนาความสามารถด้านกลาโหมภายใต้พระราชบัญญัติที่เสนอไป โดยจะมีการจัดหาสินค้าด้านกลาโหมเฉพาะในกรณีที่ “ไม่สามารถผลิต ประดิษฐ์ หรือสร้างขึ้นได้ในท้องถิ่น”

พระราชบัญญัติระบุว่า เมื่อมีการใช้ผู้ผลิตจากต่างประเทศ ปลัดกระทรวงจะทำงานเพื่อให้แน่ใจว่ามีการถ่ายโอนเทคโนโลยีไปยังฟิลิปปินส์ และมีการจ้างงานในท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ เมื่อกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ยอมรับการเสนอราคาจากผู้ผลิตทั้งจากประเทศและต่างประเทศเพื่อการประมูลราคาด้านกลาโหมนั้น พระราชบัญญัติที่มีการเสนอไปกำหนดว่าผู้เสนอราคาท้องถิ่นจะชนะ เว้นเสียแต่ว่าการเสนอราคาต่างประเทศจะมีราคาต่ำกว่าร้อยละ 15

นายเร็กโต้มั่นใจในความสามารถของผู้ผลิตในฟิลิปปินส์ สำหรับการตอบสนองความต้องการด้านกลาโหมของประเทศ โดยอ้างถึงคุณภาพของอาวุธปืนที่ผลิตในท้องถิ่น เช่นเดียวกับเรือลาดตระเวนชายฝั่ง เรือลำเลียงพล เรือโรงพยาบาล และเรือตำรวจ

“สิ่งเหล่านี้สร้างได้ในเซบู สถานที่ซึ่งเรามีอุตสาหกรรมการต่อเรือระดับโลก” นายเร็กโต้กล่าว โดยอ้างถึงจังหวัดในภาคกลางของฟิลิปปินส์ (ในภาพ)

นายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวอย่างชัดเจนว่า การส่งเสริมการพึ่งพาตนเองในด้านอุตสาหกรรมกลาโหมนั้น เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตนสั่งการให้เปลี่ยนผู้ควบคุมโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาการบินของฟิลิปปินส์ ไปเป็นกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ ในคำสั่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 นายดูแตร์เตกล่าวถึง “ความจำเป็นในการรับมือกับภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกที่เกิดขึ้นใหม่ การสัมฤทธิ์ผลการพึ่งพาตนเองในด้านอุปกรณ์ทางกลาโหม และส่งเสริมการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากประเทศเพื่อนบ้าน” เพื่ออธิบายถึงการที่กระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์เข้าครอบครององค์กรการบินรัฐวิสาหกิจดังกล่าว

นายธรูวา ไจชานการ์ นักวิเคราะห์ ระบุในรายงานที่เขียนให้กับสถาบันบรูกกิงส์ในอินเดียเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ว่า การส่งเสริมการพึ่งพาตนเองในอุตสาหกรรมด้านกลาโหมเป็นผลดีต่อนโยบายการป้องกันประเทศโดยรวม

“รัฐบาลต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อความมั่นคงของประเทศ” นายไจชานการ์กล่าวย้ำ “ความสามารถในการตั้งกองกำลังติดอาวุธ โดยใช้ขีดความสามารถทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของตนเองนั้นมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดการหยุดชะงักในสายการผลิต มาตรการคว่ำบาตรที่อาจเกิดขึ้นจากผู้จัดหาอาวุธ และคำสั่งเร่งด่วนด้านอาวุธยุทธภัณฑ์ โดยอุตสาหกรรมกลาโหมที่ประสบความสำเร็จยังช่วยเพิ่มอำนาจเชิงยุทธศาสตร์ให้กับประเทศอื่น ๆ รวมถึงในฐานะผู้จัดหาที่มีศักยภาพสำหรับประเทศเพื่อนบ้านที่อาจหันไปหาคู่แข่ง”

นายมันดีป ซิงห์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button