ติดอันดับ

การเจรจาด้านกลาโหมพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ

ติดอันดับ | Jan 21, 2020:

มันดีป สิงห์

ประเด็นด้านกลาโหมและความมั่นคงส่อให้เห็นถึงเค้าลางมากยิ่งขึ้น จากการที่เจ้าหน้าที่การทูตและเจ้าหน้าที่กลาโหมระดับสูงจากอินเดียและสหรัฐฯ ได้พบปะกันในการประชุมคณะรัฐมนตรี 2+2 ระหว่างสหรัฐอเมริกากีบอินเดียประจำปีครั้งที่สอง ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2562 และร่วมมือกันเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ เช่น ความมั่นคงทางทะเล ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึงการบรรเทาภัยพิบัติ การต่อต้านการก่อการร้าย และความมั่นคงทางไซเบอร์

นายศรี ราชนาถ สิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินเดีย และนายมาร์ค ที. เอสเปอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาเห็นพ้องกันว่าการเจรจาดังกล่าวได้บ่มเพาะความสัมพันธ์ด้านกลาโหมที่พัฒนาขึ้น นายสิงห์กล่าวในการแถลงข่าวหลังจากการประชุมว่า “การประชุม 2+2 ในวันนี้มีความหมายอย่างยิ่ง และประสบความสำเร็จในการรักษาแรงผลักดันและความคืบหน้าของความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสหรัฐอเมริกา”

โดยผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในแถลงการณ์ร่วมเพื่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่ “เสรี เปิดกว้าง ครอบคลุม สงบสุข และรุ่งเรือง” ซึ่งวิสัยทัศน์ดังกล่าวนั้นหมายรวมถึง การสนับสนุนซึ่งกันและกันของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กฎหมาย เสรีภาพในการเดินเรือ การแก้ปัญหาข้อพิพาทอย่างสันติ รวมถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและโปร่งใส

โดยทั้งสองฝ่ายต่างยกย่องความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยเฉพาะระดับการทำงานร่วมกันที่แสดงออกในการฝึกมาลาบาร์ ซึ่งเป็นการฝึกของกองทัพเรือระดับทวิภาคีที่จัดขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 และ “ขอบเขตการเติบโตและความซับซ้อนของความร่วมมือทางทหาร” ที่แสดงให้เห็นในการซ้อมรบไทเกอร์ไทรอัมพ์ การซ้อมรบทวิภาคีสะเทินน้ำสะเทินบกของสามเหล่าทัพ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ซึ่งเหล่าผู้นำประกาศในการเจรจาว่าจะดำเนินการซ้อมรบไทเกอร์ไทรอัมพ์เป็นประจำทุกปี

แถลงการณ์ร่วมยังระบุเพื่มเติมอีกว่า อินเดียยังยอมรับการตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่จะเข้าร่วมโครงการความร่วมมือสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือกับภัยพิบัติเพื่อบรรเทาภัยธรรมชาติที่คุกคามเพิ่มขึ้น

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแสดงความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างการมีปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือการให้บริการทวิภาคีระหว่างกัน รวมถึงกองทัพบกกับกองทัพบก และกองทัพอากาศกับกองทัพอากาศให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงระหว่างหน่วยปฏิบัติการพิเศษอีกด้วย “ความร่วมมือกันระหว่างทหารของเรานั้นได้ขยายตัวเพิ่ม และการฝึกซ้อมทางทหารก็เติบโตขึ้นในด้านขนาด สัดส่วน และความซับซ้อน” นายสิงห์กล่าว โดยเน้นย้ำความสนใจในการขยายขอบเขตความร่วมมือด้านกลาโหมกับสหรัฐอเมริกาเพื่อรวมตะวันออกกลางและแอฟริกา

โดยผู้นำจากทั้งสองประเทศเน้นย้ำความสำคัญของข้อตกลงด้านกลาโหมล่าสุดสองประการในข้อตกลงความเข้ากันได้ของระบบสื่อสารและความมั่นคง ซึ่งช่วยรับประกันความสามารถในการสื่อสารระหว่างกองทัพของประเทศต่าง ๆ และข้อตกลงการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือพื้นฐานเพื่อช่วยในการแบ่งปันข้อมูลเชิงพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนำทั้งสองฝ่ายไปสู่ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศทวิภาคีที่ยกระดับขึ้น ตลอดจนข้อตกลงเพิ่มเติม ซึ่งได้มีการประกาศเมื่อสิ้นสุดการเจรจา

รัฐมนตรีเอสเปอร์กล่าวในการแถลงข่าววว่า “วันนี้ เราภาคภูมิใจที่จะสรุปการผนวกความมั่นคงทางอุตสาหกรรมซึ่งจะเอื้อต่อความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของเรา โดยการสนับสนุนการถ่ายโอนข้อมูลและเทคโนโลยีสำคัญอย่างปลอดภัย” “นอกจากนี้ เรายังสรุปข้อตกลงสามประการภายใต้โครงการเทคโนโลยีและการค้าด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งจะเสริมสร้างความสามารถในการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญร่วมกัน”

โดยทั้งสองฝ่ายประณามการก่อการร้ายทุกรูปแบบ และร่วมกันเรียกร้องให้มีการดำเนินการกับเครือข่ายก่อการร้ายดังกล่าว เช่น อัลกออิดะฮ์ และรัฐอิสลาม พร้อมด้วยกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่ง โดยเฉพาะที่มีบทบาทในเอเชียใต้ ซึ่งรวมถึงลัชการ์-อี-ไทบา จาอิช-อี-โมฮัมหมัด เครือข่ายฮักกานี และฮิซบัลมุจญาฮิดีน

มีการกล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ โดยได้รับการยอมรับว่า การประชุมเมื่อเร็วๆ นี้ระหว่างคณะทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทางไซเบอร์ของอินเดียและสหรัฐฯนั้นประสบความสำเร็จ “เราได้จัดให้มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นระดับทวิภาคีและระดับโลก” นายสิงห์กล่าวในคำกล่าวปิดท้ายการประชุม “เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทราบว่า ในฐานะประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรามีมุมมองเกี่ยวกับประชาธิปไตยส่วนใหญ่ที่ตรงกัน”

นายมันดีป สิงห์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button