ติดอันดับ

กองทัพญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายอันสูงส่งเพื่ออิสรภาพด้านพลังงาน

ติดอันดับ | Jan 20, 2020:

ฟีลิกซ์ คิม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นอยากเห็นกองอำนวยการด้านกลาโหมทั้งหมดของประเทศใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และส่งเสริมอิสรภาพด้านพลังงาน

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2562 นายทาโร โคโนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ทางกระทรวงได้มีคำสั่งให้ตรวจสอบการจัดหาพลังงานของกองอำนวยการทั้งหมดที่อยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหมและกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น “เราเพิ่งสั่งการไปที่สำนักงานเพื่อให้กองอำนวยการทั้งหมดสามารถผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนในสัดส่วนที่สูงที่สุด” นายโคโนะกล่าว

นายโคโนะกล่าวว่ากระทรวงต้อง “พยายามอย่างซื่อสัตย์” เพื่อเพิ่มปริมาณพลังงานทดแทนที่ใช้ “สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว แม้แต่กับกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น” นายโคโนะกล่าว “และในอนาคต ผมอยากทำอีกหลายอย่างที่กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นทำได้”

กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นจ้างบุคลากร 250,000 นายพร้อมกองอำนวยการทั่วญี่ปุ่น นายโคโนะกล่าวย้ำ ขณะที่การเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนทั้งหมดเป็นเป้าหมายหลักของกระทรวงกลาโหม ยังมีเป้าหมายอื่น ๆ อีกเช่นกัน รวมถึงการรักษาแหล่งพลังงานที่มีเสถียรภาพ การรักษาความสามารถการแข่งขันในการจัดหา การลดต้นทุนลง และการเป็นพันธมิตรกับบริษัทพลังงานในท้องถิ่น

“ในปัจจุบัน มีระบบที่สามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำขนาดเล็ก และพลังงานหลากหลายประเภท” ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วญี่ปุ่น นายโคโนะกล่าว “ในฐานะเพื่อนบ้านที่ดีที่ดำเนินการในภูมิภาคเหล่านี้ เราต้องการจัดหาจากผู้ผลิตพลังงานที่ดำเนินงานอยู่ในพื้นที่นั้น”

นายโคโนะได้รวมเชื้อเพลิงชีวภาพไว้ในแหล่งพลังงานทดแทนร่วมของเขา โดยกล่าวว่าบริษัทบางแห่งในญี่ปุ่นกำลังทำงานร่วมกันเพื่อใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน “ดังนั้น ด้วยความร่วมมือกับบริษัทดังกล่าว หากมีสถานที่ที่กองกำลังป้องกันตนเองสามารถให้การสนับสนุนที่จำเป็นได้ เราจะพิจารณาลงมือทำ”

แถลงการณ์ของนายโคโนะมีขึ้นเนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในทุกภาคส่วน รวมถึงการปรับโครงข่ายพลังงานชาติและโครงการกำหนดราคาใหม่ โดยนโยบายพลังงานล่าสุดของประเทศ ซึ่งมีการปรับปรุงทุกสามปี ตั้งเป้าให้พลังงานหมุนเวียนคิดเป็นร้อยละ 22 ถึงร้อยละ 24 ของการใช้พลังงานในประเทศภายใน พ.ศ. 2573 (ภาพ: โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำในเมืองอิจิฮาระ ประเทศญี่ปุ่น คือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีแผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ 50,904 แผงที่ผลิตไฟฟ้าได้ 16,170 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ญี่ปุ่นยกเลิกโครงการจูงใจปี 2555 เพื่อส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทน เนื่องจากส่งผลดีต่อผู้ผลิตและส่งผลให้ผู้บริโภคมีต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น โดยการใช้พลังงานทดแทนเป็นโครงการตามแบบแผนยุโรป ซึ่งกำหนดให้ผู้ผลิตขายในตลาดขายส่งพลังงานเพื่อให้ได้ราคาที่ต่ำลง

นายโคโนะได้ปฏิเสธแนวคิดที่ว่าพลังงานทดแทนมีราคาแพง โดยกล่าวในแง่ของต้นทุนต่อโลกว่า “พลังงานทดแทนมีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์หลายชนิด”

ตามรายงานของสมาคมนิวเคลียร์โลก ปัจจุบัน ญี่ปุ่นพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงเพื่อจัดหาพลังงานประมาณร้อยละ 80 ของความต้องการพลังงาน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเนื่องจากการขาดแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และการปิดโรงงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นภายหลังภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ พ.ศ. 2554 ดังนั้น จึงมองว่าพลังงานหมุนเวียนเป็นเส้นทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่ออิสรภาพด้านพลังงานที่มากขึ้น นายโคโนะกล่าวว่า “ท้ายที่สุดแล้ว พลังงานทดแทนก็คือพลังงานในประเทศ ดังนั้น หากกระทรวงกลาโหม/กองกำลังป้องกันตนเองไม่พึ่งพาพลังงานนำเข้า สิ่งนี้ก็จะนำไปสู่การฟื้นฟูที่มั่นคง”

ฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button