ข่าวผู้ก่อการร้ายแผนก

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มกำลังต่อสู้กับภัยคุกคามด้านสงคราม “ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน”

เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส | ภาพโดย เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งแสวงหาการต่อสู้กับภัยคุกคามที่ใช้ความรุนแรง ได้ตกลงที่จะแบ่งปันข่าวกรองร่วมกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์กล่าวขณะแจ้งเตือนเกี่ยวกับอันตราย “ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน” ในภูมิภาคแห่งนี้

นายอึ้ง เอ็ง เฮน กล่าวหลังจากเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเมื่อปลาย พ.ศ. 2561 ว่า กว่าหนึ่งปีแล้วหลังจากนักรบซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐอิสลามยึดเมืองมาราวีทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ภัยคุกคามด้านการก่อการร้ายมีศักยภาพมากขึ้นกว่าที่เคย

“ช่างโชคร้าย แม้สถานการณ์ในอิรักและซีเรียจะดีขึ้น แต่เราก็เชื่อว่าจะมีนักรบต่างชาติเข้าร่วมเส้นทางนี้มีมากขึ้น” นายอึ้งกล่าวเพิ่มเติม

นายอึ้งระบุว่ารัฐมนตรีทั้ง 18 คนที่เข้าร่วมการประชุมในสิงคโปร์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพันธมิตรหลักจากนอกภูมิภาคต่างมองว่า “การก่อการร้ายเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน”

นายอึ้งกล่าวเพิ่มเติมว่า คณะผู้แทนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ใช้แพลตฟอร์มการแบ่งปันข้อมูลที่เรียกว่า “อาวร์อายส์” ซึ่งจะใช้เพื่อแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองตามเวลาจริงเพื่อสามารถดำเนินการรับมือได้ทันที

แพลตฟอร์มแบ่งปันข้อมูลเกิดขึ้นหลังจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตระหนักว่าตนประเมินภัยคุกคามดังกล่าวต่ำเกินไปก่อนเกิดการโจมตีที่เมืองมาราวี ซึ่งความพยายามในการฟื้นฟูบ้านเรือนอาจมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) นายอึ้งกล่าว

แพลตฟอร์มดังกล่าวนำเสนอโดยอินโดนีเซีย มีรากฐานมาจากพันธมิตรแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองที่จัดตั้งโดยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศอื่นอีกสามประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อติดตามตรวจสอบอดีตสหภาพโซเวียต

ผู้แทนสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียนจำนวน 10 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมด้านความมั่นคงนี้ ตลอดจนนายจิม แมตทิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในขณะนั้นและเจ้าหน้าที่จากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งออสเตรเลีย จีน อินเดีย และรัสเซีย

ระหว่างการโจมตีเมืองมาราวีเมื่อ พ.ศ. 2560 กลุ่มติดอาวุธนับร้อยคนที่มีนักรบรัฐอิสลามหนุนหลัง เข้าโจมตีและยึดครองเมืองแห่งนี้ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม โดยพยายามที่จะจัดตั้งฐานทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กองทัพฟิลิปปินส์พร้อมทั้งเครื่องบินลาดตระเวนที่ผ่านสมรภูมิมามากซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ขับไล่ศัตรูไปได้หลังจากการต่อสู้อย่างหนักหน่วงเป็นเวลาห้าเดือน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 รายและทั้งเมืองเหลือเพียงซากปรักหักพัง

ทหารจากประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีส่วนร่วมในการต่อสู้ครั้งนี้

ผู้เข้าร่วมการประชุม “เห็นว่าสงครามเช่นนี้ต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำกับเมืองใด ๆ ในอาเซียน” นายอึ้งกล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button