ติดอันดับ

เร่งรัดให้ลาวยกเลิกการสร้างเขื่อนล่าสุดบนแม่น้ำโขงสายประธาน

กลุ่มสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมหลายกลุ่มเรียกร้องให้ลาวยกเลิกการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำโครงการล่าสุด ซึ่งมีการอนุมัติให้สร้างในบริเวณแม่น้ำโขง โดยเตือนถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดกับประชาชนที่อาศัยลำน้ำดังกล่าวเป็นแหล่งทำกิน

“กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า” ระยะเวลาหกเดือนเกี่ยวกับเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เปิดโอกาสให้พันธมิตรของลาวในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ไทย และเวียดนาม ทบทวนแผนโครงการและแสดงข้อกังวล กลุ่มสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่า ชุมชนที่ทำการเกษตรและการประมง ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบขนานใหญ่จากเขื่อน รู้สึกหมดความเชื่อมั่นเพราะการปรึกษาหารือล่วงหน้าครั้งก่อน ๆ ได้อนุมัติโครงการเหล่านั้น และคาดว่าผลลัพธ์ครั้งนี้จะออกมาเป็นเช่นเดิม

เขื่อนหลวงพระบางเป็นเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธานเขื่อนที่ห้า ซึ่งลาวจะนำไปผ่านกระบวนการปรึกษาหารือ และด้วยศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1,460 เมกะวัตต์ จะทำให้เป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้ โดยเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนแรก มีกำหนดเริ่มการผลิตไฟฟ้าในช่วงปลายเดือนตุลาคม (ภาพ: ภาพทิวทัศน์ทางอากาศแสดงให้เห็นเมืองหลวงพระบางที่อยู่ระหว่างแม่น้ำคานกับแม่น้ำโขง)

“กระบวนการปรึกษาหารือสี่ครั้งที่เราได้ดำเนินการก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นช่องโหว่ขนาดใหญ่และการกีดกันชุมชนที่ได้รับผลกระทบออกจากกระบวนการดังกล่าว” นางสาวเพียรพร ดีเทศ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ซึ่งสนับสนุนการจัดการแม่น้ำอย่างยั่งยืน กล่าว

“กระบวนการปรึกษาหารือนี้ โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันมองว่าเป็นการทำพอเป็นพิธีเพื่อให้โครงการได้รับอนุมัติ” นางสาวเพียรพรกล่าว

สมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงไม่สามารถยับยั้งแผนการสำหรับแม่โขงของอีกฝ่ายระหว่างการปรึกษาหารือ ทำได้เพียงทักท้วงและเรียกร้องเท่านั้น

เพื่อเป็นการตอบสนองข้อกังวลเกี่ยวกับเขื่อนไซยะบุรี รัฐบาลลาวและบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเขื่อน ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยให้ตะกอนและฝูงปลาอพยพสามารถผ่านไปได้ อย่างไรก็ตาม นักวิจัยและกลุ่มสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า การปรับปรุงดังกล่าวอาจไม่ได้สร้างความแตกต่างมากนัก เนื่องจากเขื่อนบางส่วนสร้างขึ้นบนแม่น้ำซึ่งมีสภาพที่แตกต่างกัน เลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกล่าวว่า ไม่สามารถบอกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะช่วยได้มากน้อยเพียงใด เพราะบริษัทให้ข้อมูลไม่เพียงพอ

กลุ่มสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าการปรึกษาหารือดังกล่าวล้มเหลว

พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มพลเมืองที่มีความกังวลและกลุ่มเอกชนทั่วทั้งลุ่มน้ำ กำลังเร่งรัดให้ลาวยกเลิกการสร้างเขื่อนหลวงพระบางและเขื่อนอื่น ๆ ที่มีแผนจะสร้างบนแม่น้ำโขงสายประธาน

“มีข้อบ่งชี้เพียงน้อยนิดว่ากระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าครั้งใหม่สำหรับเขื่อนหลวงพระบางจะมีความแตกต่างจากอดีต หรือจะสามารถรับรองมาตรฐานความโปร่งใสและความรับผิดชอบขั้นต่ำ แต่ยังไม่รวมการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป” พันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขงระบุในแถลงการณ์

“แทนที่จะเริ่มต้นกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าที่มีข้อบกพร่องอีกครั้ง เรากระตุ้นให้รัฐบาลของประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่างและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแก้ไขข้อกังวลสำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำสายประธานและดำเนินการประเมินทางเลือกอย่างรอบด้านเพื่อศึกษาทางเลือกอื่น ๆ” กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขงระบุเพิ่มเติม

จากการศึกษาเป็นเวลาหกปีของเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พบว่าผลกระทบสะสมของเขื่อน 11 แห่งที่มีแผนจะสร้างบนแม่น้ำโขงสายประธานทางตอนใต้ของจีนภายใน พ.ศ. 2583 ซึ่งประกอบด้วยเขื่อนเก้าแห่งในลาว และสองแห่งในกัมพูชา เป็นการคุกคามความมั่นคงทางเศรษฐกิจและอาหารของทั้งภูมิภาค โดยการศึกษาดังกล่าวระบุว่าจำนวนสัตว์น้ำอาจลดลงทั่วทั้งลุ่มน้ำเป็นอย่างน้อยร้อยละ 40 หรืออาจมากเป็นสองเท่า

สำหรับการประเมินผลกระทบของเขื่อนหลวงพระบางเอง ระบุว่าเขื่อนนี้จะทำให้ปลาที่อพยพว่ายไปยังต้นน้ำได้ลำบากขึ้น และปลาที่อพยพขึ้นไปสำเร็จจะพบว่ามีการวางไข่น้อยลง โดยเสริมว่าการศึกษาบางส่วนซึ่งเป็นไปเพื่อทำให้การต่อต้านเบาบางลงจะตามมาเมื่อโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างแล้ว

ลาวกำลังมุ่งหน้าตามแผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงอย่างเร่งรีบ เพื่อจะเป็น “แบตเตอรี่ของเอเชีย” แม้จะมีคำเตือนออกมาก็ตาม

กลุ่มสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่าจากการคาดการณ์ด้านการใช้พลังงาน กระแสไฟฟ้าที่จะผลิตจากเขื่อนดังกล่าวยังไม่มีความจำเป็นกับประเทศเพื่อนบ้าน และยังมีทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าอีกมากมาย

“ดังนั้น จึงต้องมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับสาเหตุของโครงการการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง และคำถามนี้ต้องได้รับคำตอบจากผู้ที่ทำการตัดสินใจ ว่าเหตุใดทรัพยากรที่สำคัญของลุ่มน้ำแห่งนี้จึงถูกตักตวงผลประโยชน์มากขึ้นเรื่อย ๆ จากบริษัทก่อสร้างร่วมกับธนาคาร ร่วมกับผู้พัฒนา ขณะที่ผลกระทบที่มีอยู่ของโครงการกลับถูกมองข้าม” นางสาวเพียรพรแห่งองค์กรแม่น้ำนานาชาติกล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button