เรื่องเด่น

เงินทุนอุดหนุนสำหรับ แม่น้ำโขง

ญี่ปุ่นมีบทบาททางการเงินที่โดดเด่น ในด้านการพัฒนาและการอนุรักษ์ในภูมิภาค

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

แม่น้ำโขงอันงดงามที่ทอดยาวมากกว่า 4,800 กิโลเมตรจากจีนไหลผ่านห้าประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ พม่า กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนามก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร น้ำ และการคมนาคมแก่ประชาชนมากกว่า 60 ล้านชีวิต ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่ยากที่สุดของอินโดแปซิฟิก ด้วยน้ำตกที่เรียงรายและเชี่ยวกราก แม่น้ำโขงจึงมีภูมิทัศน์ที่โดดเด่นสำหรับการลงทุนและเป็นสนามรบรูปแบบใหม่ในการต่อสู้เพื่ออิทธิพล

ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเต็มไปด้วยการลงทุนที่หลากหลายจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นเป็นประเทศลงทุนที่โดดเด่นในพม่า กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม

ผู้คนที่พึ่งพาอาศัยแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิต เช่น คู่สามีภรรยาในจังหวัดกันดาลของประเทศกัมพูชาคู่นี้ถูกคุกคามจากการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่ได้รับเงินทุนจากจีน
เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

“จริง ๆ แล้วมีแง่มุมการแข่งขันด้านการลงทุนในแม่น้ำโขงของญี่ปุ่นที่เผชิญหน้ากับจีน” ดร. เย่-ควง เหิง ศาสตราจารย์จากบัณฑิตวิทยาลัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยโตเกียว กล่าวกับ ฟอรัม “ญี่ปุ่นมักใช้คำว่า ‘โครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ’ ซึ่งเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่าเป็นวิธีแยกโครงการของญี่ปุ่นจากโครงการขนาดใหญ่ของจีน ซึ่งถูกมองว่ามีคุณภาพต่ำกว่าและมีความยั่งยืนน้อยกว่าในด้านงบประมาณและสิ่งแวดล้อม จากความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการทูตกับดักหนี้ในประเทศผู้รับ” ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน “ญี่ปุ่นอาจได้รับการมองเป็นผู้เล่นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ”

ญี่ปุ่นกำลังสร้างผลงานที่สำคัญด้านเงินทุนสาธารณะ เพื่อสนับสนุนด้านเงินกู้ภาคเอกชนและเสริมสร้างภาพลักษณ์ในฐานะพันธมิตรทางการเงินที่น่าเชื่อถือ เพียงในช่วงสามปีที่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นได้ลงทุนในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเทียบเท่าประมาณ 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.5 แสนล้านบาท) ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะสเตรตส์ไทมส์ หนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษในสิงคโปร์ ตอนนี้ ญี่ปุ่นกำลังขยายขอบเขตเศรษฐกิจในฐานะส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์โตเกียว พ.ศ. 2561 ด้านความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับแม่น้ำโขง ในการประชุมกับผู้นำลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2561 ญี่ปุ่นให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนเงินทุนในโครงการอีก 150 โครงการในช่วงสามปีข้างหน้า เพื่อปรับปรุงการเชื่อมต่อในภูมิภาคและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวในระหว่างการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงโตเกียวเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 ว่า “บันทึกการติดตามการสนับสนุนดังกล่าวระบุว่า เพื่อให้การลงทุนภาคเอกชนบรรลุผลมากกว่าเดิม ญี่ปุ่นจะใช้ประโยชน์จากเงินทุนสาธารณะ รวมถึงสินเชื่อต่างประเทศ การลงทุน และความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ”

ดร. เหิง กล่าวว่าการลงทุนในแม่น้ำโขงของญี่ปุ่นเกิดขึ้นก่อนการริเริ่มโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน แม้ว่าขณะนี้การลงทุนดังกล่าวจะเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของนาย อาเบะ และมุ่งมั่นในการปรับปรุงมากขึ้นเพื่อต่อต้านอิทธิพลของจีน

วิสัยทัศน์ทางเลือก

ก่อนการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น นายอาเบะได้จัดการประชุมกับผู้นำของกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนามเป็นรายบุคคล ในการประชุมดังกล่าว นายอาเบะได้ยื่นข้อเสนอที่ขัดแย้งกับโครงการของจีนอย่างสิ้นเชิง เช่น ในกรณีของเขื่อนกระแสไฟฟ้าที่มีการกล่าวโทษว่าทำให้สิ่งแวดล้อมในภูมิภาคนี้เสียหาย

นายอาเบะให้คำมั่นว่าจะมอบความช่วยเหลือแก่ลาวสูงถึง 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 245 ล้านบาท) เพื่อเร่งทำลายและกำจัดสรรพาวุธที่ยังไม่ระเบิด ในประเทศลาว เศษซากระเบิดนับล้านชิ้นที่หลงเหลือจากความขัดแย้งของเวียดนาม ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการทำเกษตรกรรมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเนื่องจากยังไม่มีการกำจัดทิ้ง

หญิงชาวเวียดนามขายผักและผลไม้จากตลาดน้ำที่แม่น้ำโขง แม่น้ำโขงมีชื่อเสียงว่าเป็นตลาดน้ำที่ช่วยให้เกษตรกรค้าขายสินค้ากับพ่อค้าคนกลางในท้องถิ่น ไอสต็อก

นายทองลุน สีสุลิด กล่าวว่า “เราขอชื่นชมความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นอย่างสูง” ตามรายงานของเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว “ซึ่งนี่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของลาว”

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังเสนอเงินกู้ยืมให้กัมพูชาสูงถึง 31.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 968 ล้านบาท) เพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านชลประทานในพื้นที่โตนเลสาบ ซึ่งเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ให้ผลผลิตปลา 3.9 ล้านเมตริกตันต่อปีโดยมีมูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 9.1 หมื่นล้านบาท) วงจรน้ำท่วมจะทำให้มีพื้นที่ซึ่งเหมาะแก่การทำเกษตรกรรมเมื่อน้ำลด และทะเลสาบจะขยายบริเวณเป็นห้าเท่าในช่วงฤดูน้ำหลาก สิ่งอำนวยความสะดวกด้านชลประทานคาดว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิตในการทำนาข้าวได้ถึงสามเท่า

ญี่ปุ่นวางแผน 150 โครงการสำหรับภูมิภาคนี้ ซึ่งแบ่งการมุ่งเน้นออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างความเชื่อมโยง เช่น การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสนามบินในลาว และการตัดถนนสายใหม่ในพม่า การสร้างสังคมที่มุ่งเน้นผู้คน เช่น การใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการดูแลสุขภาพ และการจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ เช่น โครงการชลประทานในกัมพูชา ญี่ปุ่นยังไม่ได้กำหนดมูลค่าเงินทุนของ 150 โครงการนี้

แม้ว่าจะทำธุรกิจกับจีนบ่อยครั้ง แต่กลุ่มผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงก็ให้การสนับสนุนยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของนายอาเบะ ซึ่งส่งเสริมเสรีภาพการเดินเรือในทะเลจีนใต้และการจัดตั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ แม้ว่าศาลระหว่างประเทศจะปฏิเสธหลักฐานยืนยันของจีน แต่จีนก็ยังอ้างสิทธิ์ในพื้นที่แนวปะการังและสิ่งปลูกสร้างในทะเลจีนใต้ ซึ่งเวียดนาม หนึ่งในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอ้างว่าเป็นอาณาเขตของตนเช่นกัน ในขณะที่กลุ่มผู้นำไม่ได้ระบุชื่อประเทศใดประเทศหนึ่ง ได้พาดพิงถึงจีนในแถลงการณ์ร่วม ณ ที่ประชุมในโตเกียว โดยกล่าวว่าโครงการปรับปรุงที่ดินและกิจกรรมอื่น ๆ “ได้บั่นทอนความไว้วางใจและความเชื่อมั่น ทั้งยังเพิ่มความตึงเครียด รวมทั้งอาจทำลายสันติภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคงในภูมิภาค”

นักลงทุนลุ่มแม่น้ำโขงในระยะยาว

ขณะที่โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอันกว้างขวางของจีน ก่อให้เกิดความสนใจในระดับนานาชาติเมื่อไม่นานมานี้ ญี่ปุ่นได้ลงทุนในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

“ควรตั้งข้อสังเกตว่าญี่ปุ่นให้การสนับสนุนและพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงที่หลากหลาย เช่น ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ก่อนที่จะมีโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน” ดร. เหิง กล่าว “รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ใช่ผู้เล่นหน้าใหม่ในกลุ่มนี้ และด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานของโครงการความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการหลัง พ.ศ. 2488 ญี่ปุ่นจึงมีประสบการณ์และทักษะมากมาย”

นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นต้อนรับนางอองซาน ซูจี ผู้นำพม่าขณะเดินทางมาถึงการประชุมกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 10 ณ กรุงโตเกียวในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 รอยเตอร์

ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเป็นระบบบูรณาการถนน ทางรถไฟ และท่าเรือที่เชื่อมโยงประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออกและตะวันตกมุ่งเน้นที่การก่อสร้างสะพานและทางหลวงแผ่นดินที่เชื่อมโยงพม่า ลาว ไทย และเวียดนาม หนึ่งในโครงการต่าง ๆ คือการยกระดับท่าเรือดานังในเวียดนาม นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีโครงการความเชื่อมโยงทางการเงินในระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ที่เชื่อมโยงกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ดร. เหิง กล่าวพร้อมเสริมว่า

แรงจูงใจของญี่ปุ่นในการลงทุนนั้นมีมากกว่าการแข่งขันกับจีนเพียงอย่างเดียว “อย่างไรก็ตาม ความปรารถนาของญี่ปุ่นที่จะมีบทบาทมากขึ้นในระดับภูมิภาคนั้นขับเคลื่อนจากการพิจารณาภายในประเทศ ซึ่งนับเป็นพื้นฐานสำคัญ” ดร. เหิง กล่าว “เช่น นายอาเบะ นายกรัฐมนตรีอ้างมานานแล้วว่า ‘ญี่ปุ่นกลับมาแล้ว’ และจะไม่เป็นสองรองใครอีกต่อไป ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ อีกทั้งโครงการริเริ่มด้านการเชื่อมโยงและกรอบการทำงานพหุภาคีที่มีมาอย่างยาวนานในภูมิภาคนี้และอื่น ๆ ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่นายอาเบะนำมาใช้เพื่อยกระดับประเทศญี่ปุ่นในเวทีสากล”

ดร. เหิงกล่าวว่า นอกจากการลงทุนในลุ่มแม่น้ำโขงแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังใช้การประชุมนานาชาติโตเกียวว่าด้วยการพัฒนาแอฟริกาและการประชุมผู้นำเกาะแปซิฟิก เพื่อประกาศการสนับสนุนโครงการริเริ่มด้านการเชื่อมโยงและยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกอย่างครอบคลุม

การแข่งขันอันดุเดือด

ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงกับจีนในการดึงดูดพันธมิตรทางธุรกิจในลุ่มแม่น้ำโขง ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จีนได้ปล่อยสินเชื่อสัมปทานและการลงทุนมูลค่าหลายพันล้าน จากการริเริ่มกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง จีนได้ให้คำมั่นกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ พม่า กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนามว่าจะให้เงินกู้ยืมประมาณ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท) และให้เครดิต 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 306 แสนล้านบาท) ใน พ.ศ. 2559 แต่เพียงปีเดียว ในปีต่อมา กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างทำสัญญาสินเชื่อสัมปทานรัฐบาลมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท) และเครดิตมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 153 ล้านบาท) สำหรับ 45 โครงการ ตามรายงานที่เขียนโดยนายเหงียน คัก เกียง นักวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและนโยบายเวียดนาม มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม กรุงฮานอย ชื่อของความพยายามร่วมกันระหว่างจีนและแม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดจากชื่อของแม่น้ำ ซึ่งเรียกว่าล้านช้างในจีน และลำน้ำโขงถัดลงมา

แม้ว่าการลงทุนของจีนเป็นเรื่องยากที่จะติดตามเนื่องจากขาดความโปร่งใส แต่จีนก็เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนรายใหญ่ซึ่งให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการในแม่น้ำโขง ตามรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นองค์กรจาก 36 ประเทศที่มุ่งเน้นกระตุ้นความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการเป็นคำที่ตั้งขึ้นโดยองค์การ เพื่อแสดงถึงกระแสการช่วยเหลือระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงเงินกู้ยืมและเงินทุนสนับสนุนด้วย

นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (ขวา) มองนายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามซึ่งกำลังสวมกอดนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาระหว่างการประชุมสุดยอดที่กรุงโตเกียว รอยเตอร์

ในฐานะประเทศที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานความโปร่งใสขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการที่ใหญ่ที่สุดในลุ่มแม่น้ำโขง และเกาหลีใต้อยู่ในห้าอันดับแรก เกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในเวียดนาม ซึ่งเพิ่งแซงหน้าญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2561 ในฐานะนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุด

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านการเงินและการค้าทำให้ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงบางประเทศแสดงความกังวลว่า ตนจะถูกบังคับให้เลือกระหว่างประเทศมหาอำนาจผู้เข้าแข่งขัน ผู้นำระดับภูมิภาคกล่าวถึงข้อกังวลเหล่านี้ในการประชุมญี่ปุ่น-แม่โขง ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 ตามรายงานของนิกเคอิ เอเชียน รีวิว

ที่การประชุม นายเคนทาโร่ โซโนะอุระ ที่ปรึกษาพิเศษของนายอาเบะตอบว่ายุทธศาสตร์ใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังมุ่งหน้าสนับสนุนสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ในด้านยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกที่กว้างขึ้น ญี่ปุ่นต้องการรวมสองทวีปและมหาสมุทรผ่านการเชื่อมโยงด้านการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน และต้องการส่งเสริมการเชื่อมโยงเพิ่มเติมผ่านการค้าเสรี หลักนิติธรรม และความมั่นคงที่เพิ่มขึ้น “เราคิดว่าเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกับประเทศใดก็ตามที่ยึดตามหลักการของยุทธศาสตร์ดังกล่าว” นายโซโนะอุระกล่าว

รัฐมนตรีอาเซียน ตลอดจนสายงานที่คล้ายกันได้ปรับใช้สิ่งที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่ง “เปิดกว้าง โปร่งใส ครอบคลุม และอยู่บนกฎระเบียบ”

แม่น้ำโขงสีเขียว

หนึ่งในเสาหลักของยุทธศาสตร์กรุงโตเกียวในการร่วมมือกับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือสิ่งที่เรียกว่า “การตระหนักถึงแม่น้ำโขงสีเขียว” ยุทธศาสตร์ดังกล่าวรวมถึงมาตรการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษทางทะเล การจัดการทรัพยากรน้ำ และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ญี่ปุ่นมีความได้เปรียบ

เมื่อพูดถึงการลงทุนของจีนในภูมิภาคนี้ ผู้ปกป้องสิ่งแวดล้อมคือนักวิจารณ์ที่เสียงกึกก้องที่สุด งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์มากมายสรุปได้ว่า ความต้องการของจีนที่จะใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าพลังงานน้ำและควบคุมน้ำท่วมตามลุ่มแม่น้ำโขงกำลังทำลายความมั่นคงด้านอาหารของภูมิภาค และสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

นักสิ่งแวดล้อมวิจารณ์ว่าเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าที่ได้รับเงินทุนจากจีน เช่น เขื่อนจังหวัดสตึงแตรงของประเทศกัมพูชาแห่งนี้เป็นภัยต่อประชากรสัตว์น้ำจืดซึ่งเป็นแหล่งอาหารของภูมิภาคนี้ เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

“ข้อเสียที่อาจเกิดกับจลนวิสัยของอุทกภัยในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างเนื่องจากการควบคุมการไหลบริเวณต้นน้ำ” ซึ่งเป็นงานวิจัยล่าสุดกล่าวว่าเขื่อนมากมายที่จีนสร้างขึ้นในภูมิภาคทำให้ระบบนิเวศลุ่มน้ำขาดแคลนสารอาหารที่จำเป็นอย่างมากในการรักษาความแข็งแรงของประชากรสัตว์น้ำ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกนตีพิมพ์งานวิจัยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 ในวารสารวิทยาศาสตร์นานาชาติชื่อ เนเจอร์

“ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใด ๆ ของจังหวะตามฤดูกาลอาจเปลี่ยนแปลงจลนวิสัยของที่ราบน้ำท่วมถึงในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย” นายยาดู พอเครล ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิศวกรรมโยธาและวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกนซึ่งเป็นผู้เขียนหลักกล่าว “ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศในวงกว้าง และทำลายความมั่นคงทางอาหารของภูมิภาค”

เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในแม่น้ำโขงซึ่งวางแผนไว้นั้นเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาด 620 ตารางกิโลเมตรในกัมพูชา เขื่อนแห่งนี้ออกแบบโดยบริษัทไชน่า เซาท์เทิร์น พาวเวอร์ กริด ซึ่งจะเพิ่มการผลิตกระแสไฟฟ้า “แต่อาจเป็นบ่อนทำลายการประมงในลุ่มแม่น้ำโขง และสร้างความเป็นปฏิปักษ์กับเวียดนามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ตามรายงานของผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันมรดกแห่งชาติในนามของรัฐบาลกัมพูชา

เขื่อนที่ได้รับการนำเสนอนี้อาจปิดกั้นเส้นทางอพยพของฝูงปลาหลายพันตัวต่อชั่วโมง ซึ่งว่ายทวนกระแสน้ำไปยังแหล่งน้ำสายย่อยของต้นน้ำเพื่อวางไข่ หรือว่ายตามกระแสน้ำไปยังแหล่งอนุบาลตัวอ่อนและแหล่งประมงในโตนเลสาบและดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ท้ายที่สุดแล้วปลาเหล่านั้นก็จะเข้าสู่ดินดอนสามเหลี่ยมเวียดนาม ซึ่งได้ประสบกับน้ำท่วมและการสูญเสียผืนดินเนื่องจากน้ำทะเลมีระดับสูงขึ้นอยู่แล้ว

ผลประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์

ญี่ปุ่นมองว่าภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งมีประชากรรวมกัน 238 ล้านคน และมูลค่าผลิตภัณฑ์ภายในประเทศรวม 7.81 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 23 ล้านล้านบาท) ใน พ.ศ. 2560 ถือเป็นตลาดที่มีความหวังและจุดหมายปลายทางที่สำคัญสำหรับการส่งออกโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทญี่ปุ่น นอกจากนี้ ทางการญี่ปุ่นยังพิจารณาว่าแม่น้ำโขงมีความสำคัญอย่างยิ่งจากมุมมองทางทหารและภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องด้วยแม่น้ำสายนี้ตั้งอยู่ระหว่างจีนและอินเดีย ทั้งยังบรรจบกับเส้นทางเดินเรือที่สำคัญในทะเลจีนใต้ ตามรายงานของสำนักข่าวเกียวโดเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561

ผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงหลายคนกล่าวในการประชุมที่กรุงโตเกียวว่า ความร่วมมือของญี่ปุ่นนำมาซึ่งผลประโยชน์เชิงบวก ไม่เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่เพื่อสันติภาพด้วย นางอองซาน ซูจี ผู้นำพม่ากล่าวว่าประเทศของตนได้รับผลประโยชน์อย่างมากจากการลงทุนของญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศในภูมิภาคนี้ด้วย

“โดยรวมแล้ว ฉันคิดว่าทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น เป็นเรื่องราวแห่งความสำเร็จ” นางซูจีกล่าว ตามรายงานของสื่อต่าง ๆ “และเรามั่นใจว่าเราจะใช้ความร่วมมือนี้ต่อไป ไม่เพียงเพื่อผลประโยชน์ด้านความเจริญรุ่งเรือง แต่ยังรวมไปถึงสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคด้วย”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button