ติดอันดับ

ผู้เขียน: โครงการ “เมืองปลอดภัย” ของหัวเว่ยไม่ปลอดภัยสำหรับลูกค้า

รายงานฉบับใหม่ระบุว่า ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนกำลังหลอกล่อลูกค้าให้เข้าร่วมโครงการเฝ้าระวังทางดิจิทัล โดยมีการกล่าวอ้างเกี่ยวกับระบบของโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างเกินจริง แม้อาจทำให้ลูกค้าต้องยอมรับภาระหนี้ที่ไม่อาจจัดการได้

โครงการ “เมืองปลอดภัย” ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับโลกของ บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด ให้บริการเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าและแผ่นป้ายทะเบียน การตรวจสอบทางสื่อสังคมออนไลน์ และความสามารถในการเฝ้าระวังอื่น ๆ ศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาดำเนินการตรวจสอบข้อตกลงของโครงการเมืองปลอดภัย 73 ฉบับในประเทศ 52 ประเทศ และพบว่าข้ออ้างเกี่ยวกับการลดอาชญากรรมที่หัวเว่ยทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมการขายมีลักษณะย้อนแย้งกับข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ (ภาพ: จอโทรทัศน์ในเขตบริษัทหัวเว่ยที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน นำเสนอเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าและปัญญาประดิษฐ์ของบริษัท)

ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาระบุในรายงานเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ว่าผลประโยชน์ที่ได้จากโซลูชันเมืองปลอดภัยของหัวเว่ย “ยากที่จะตรวจสอบ และดูเหมือนว่าเกินจริงไปมากในบางกรณี” งานนำเสนอของหัวเว่ยฉบับหนึ่งอ้างถึงเมืองที่ไม่เปิดเผยชื่อซึ่งมีอัตราการก่ออาชญากรรมร้ายแรงลดลงร้อยละ 15 อัตราการสะสางคดีเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 เวลาในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินลดลงจาก 10 นาทีเหลือ 4.5 นาที และความพึงพอใจของพลเมืองเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60.2 เป็น 98.3 “แน่นอนว่าการกล่าวอ้างข้างต้นไม่อาจตรวจสอบได้” รายงานระบุ

นอกจากนี้ การกล่าวอ้างดังกล่าวยังขัดแย้งกับสถิติอาชญากรรมสาธารณะด้วย หัวเว่ยโฆษณาว่าใน พ.ศ. 2558 ภูมิภาคต่าง ๆ ของเคนย่าที่ใช้ระบบการเฝ้าระวังของหัวเว่ยมีอาชญากรรมลดลงถึงร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ใน พ.ศ. 2558 สำนักงานตำรวจแห่งชาติเคนย่ารายงานว่ามีอัตราอาชญากรรมลดลงเพียงเล็กน้อยในกรุงไนโรบี และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในมอมบาซา โดยทั้งสองเมืองมีอุปกรณ์ของหัวเว่ยติดตั้งใน พ.ศ. 2557 อีกทั้งยังพบว่ากรุงไนโรบีมีรายงานอาชญากรรมเพิ่มขึ้นใน พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าก่อนการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว

รายงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 จากบลูมเบิร์ก บิสสิเนสวีค พบข้อแตกต่างที่คล้ายคลึงกัน ในกรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน ศูนย์บัญชาการฉุกเฉินมีผนังวิดีโอที่ติดตั้งกล้องวงจรปิด 1,950 ตัวในจอภาพ 72 จอ บลูมเบิร์กรายงานว่า โครงการเมืองปลอดภัยของหัวเว่ยดำเนินการแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2559 โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3 พันล้านบาท)

แม้ว่าจะมีการเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น แต่ใน พ.ศ. 2561 กลับมีอัตราการลักขโมย การลักพาตัว และการฆาตกรรมพุ่งสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว และอาชญากรรมโดยรวมมากขึ้นถึงร้อยละ 33 ตามรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติปากีสถาน คณะกรรมการนิติบัญญัติระบุว่า เหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้คือกล้องวงจรปิดครึ่งหนึ่งไม่ทำงาน

ตามรายงานของศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาระบุว่า ลูกค้าประมาณร้อยละ 60 ของโครงการเมืองปลอดภัยของหัวเว่ยอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและแอฟริกา ซึ่งได้รับคำเตือนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและบำรุงรักษา “ประเทศต่าง ๆ อาจต้องวนเวียนอยู่กับค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอะไหล่หลังจากนำอุปกรณ์ของหัวเว่ยเข้ามาใช้” รายงานดังกล่าวระบุ

รายงานจากศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาชี้ให้เห็นถึงข้อกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเผยแพร่แนวคิดแบบเผด็จการของจีน โดยระบุว่าข้อตกลงโครงการเมืองปลอดภัยของหัวเว่ยร้อยละ 71 ดำเนินการในประเทศที่ได้รับคะแนนด้านสิทธิมนุษยชนจากฟรีดอมเฮาส์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในสหรัฐฯ ว่า “มีเสรีภาพบางส่วน” (ร้อยละ 44) และ “ไม่มีเสรีภาพ” (ร้อยละ 27)

การสูญเสียความเป็นส่วนตัวที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีการเฝ้าระวังรวมกับผลตอบแทนจากการลงทุนที่มีพิรุธ อาจเป็นสัญญาณเตือนผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้าในอนาคต ตามที่ผู้เขียนคนหนึ่งในรายงานของศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาระบุ “เมื่อใดที่รัฐบาลและพลเมืองยอมมอบความเป็นส่วนตัวและจ่ายเงินให้กับระบบพวกนี้ ทั้งรัฐบาลและพลเมืองก็ควรยืนกรานที่จะให้มีการตรวจสอบจากสาธารณะ เพื่อติดตามว่าระบบดังกล่าวให้ความปลอดภัยและความมั่นคงอย่างที่สัญญาไว้หรือไม่” นายโจนาธาน แฮมิลตัน นักวิจัยอาวุโสของศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาและนักเขียนร่วมของรายงานฉบับนี้กล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button