วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมแผนก

ชายหนุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากขยะแห่งกัมพูชา

เขาเปิดโรงเรียนโดยที่มีเด็กจ่ายค่าเล่าเรียนสำหรับการศึกษาด้วยวัสดุที่นำมารีไซเคิล

เรื่องโดย เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส
ภาพโดย เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

เด็กชายโรอึน บุนทอน นักเรียนชาวกัมพูชาซึ่งนั่งอยู่ในอาคารที่ทำด้วยยางที่ใช้แล้ว ขวดพลาสติก และขยะรีไซเคิลอื่น ๆ จดบันทึกอย่างรวดเร็วระหว่างเรียนภาษาอังกฤษที่ “โรงเรียนจากขยะ” ซึ่งจ่ายค่าเล่าเรียนเป็นขยะแทนเงิน

ในทางกลับกัน เด็กยากไร้อย่างเด็กชายบุนทอนที่เคยเป็นขอทานข้างถนน สามารถเข้าชั้นเรียนคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ และภาษา รวมถึงได้เรียนรู้คุณค่าการลดขยะในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องมลพิษและแทบไม่มีการรีไซเคิล

“ผมเลิกเป็นขอทาน… เหมือนผมมีโอกาสได้เริ่มชีวิตใหม่” เด็กชายบุนทอนผู้จ่ายค่าเรียนของเขาด้วยฝาขวดทิ้งแล้วหนึ่งถุงกล่าว

โรงเรียนโคโคนัทที่สร้างจากขยะรีไซเคิลเกือบทั้งหมดตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติที่เขียวชอุ่มแห่งนี้ เป็นความคิดของนาย อูก แวนเดย์ ฉายา “ชายหนุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากขยะ” อดีตผู้จัดการโรงแรมที่ฝันอยากให้กัมพูชาปราศจากขยะ

นักเรียนโรงเรียนโคโคนัทเก็บขวดน้ำพลาสติกใช้แล้วและของที่รีไซเคิลได้อื่น ๆ ที่ลานสาธารณะ

โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนราว 65 คน ผนังห้องเรียนทำจากยางรถยนต์ทาสี และทางเข้าประดับด้วยภาพศิลปะบนผนังรูปธงชาติกัมพูชาที่ทำด้วยฝาขวดสีต่าง ๆ

ขยะส่วนใหญ่ได้มาจากนักเรียนในรูปแบบของค่าเทอม

“ผมใช้ขยะเพื่อให้การศึกษาแก่เด็ก โดยเปลี่ยนขยะให้เป็นห้องเรียน เพื่อให้เด็กเข้าใจคุณค่าของการเปลี่ยนขยะให้เป็นประโยชน์ นายแวนเดย์ วัย 34 ปีกล่าวที่โรงเรียนซึ่งเปิดในปี พ.ศ. 2560 อยู่ห่างจากกรุงพนมเปญมาทางตะวันตกประมาณ 115 กิโลเมตร

เขาตั้งใจที่จะขยายชั้นเรียนให้คนยากจนในกำปงสปือ จังหวัดแห่งการเกษตร เพื่อรองรับเด็ก 200 คนในระดับชั้นอนุบาลที่จะเปิดสอนในปี พ.ศ. 2562 และมีผนังที่ทำด้วยขวดพลาสติก เขาเป็นคนหนุ่มที่มองโลกในแง่ดีและเป็นตัวแทนของสิ่งแวดล้อม

“เราหวังว่าเด็ก ๆ จะเป็นนักกิจกรรมหน้าใหม่ในกัมพูชา ที่เข้าใจการใช้ การจัดการ และการรีไซเคิลขยะ” นายแวนเดย์กล่าว

นายแวนเดย์ได้แรงบัลดาลใจหลังจากเดินทางไปทั่วกัมพูชาและได้เห็นสถานที่ท่องเที่ยวมีแต่ขยะ จากปัญหานี้ เขาตั้งโครงการนำร่องในกรุงพนมเปญเมื่อปี พ.ศ. 2556 ก่อนขยับขยายไปสถานที่ที่สองในอุทยานแห่งชาติ

นายแวนเดย์มีวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นอย่างแรงกล้าให้กัมพูชาใส่ใจเรื่องขยะ ในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีคนทิ้งถุงและขวดพลาสติกโดยไม่ยั้งคิด หลายแห่งกลายเป็นเมืองขยะล้นหรือชายหาดขยะซึ่งครั้งหนึ่งเคยงดงาม

กัมพูชามีขยะมูลฝอยสะสมถึง 3.6 ล้านตันต่อปีใน พ.ศ. 2560 ตามที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมระบุ

ขยะได้รับการรีไซเคิลเพียงร้อยละ 11 ขณะที่อีกเกือบครึ่งนำไปเผาหรือโยนทิ้งแม่น้ำ ทำให้เกิดมลพิษแพร่กระจาย นายเนตร พักตรา โฆษกกระทรวงกล่าว

นายอูก แวนเดย์ สอนนักเรียนในชั้นเรียน ในห้องที่มีผนังทำด้วยยางทาสี

ขยะส่วนที่เหลือบรรทุกไปทิ้งที่หลุมฝังกลบและสถานที่ฝังกลบที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกองขยะที่ปล่อยก๊าซมีเทนอาจทำให้เกิดไฟไหม้ รวมทั้งเพิ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

เหตุการณ์ร้ายแรงเหล่านี้ผลักดันให้นายแวนเดย์สร้างโรงเรียนโคโคนัท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการบริจาคและครูอาสาสมัคร เพื่อสอนเด็ก ๆ ที่ในโรงเรียนภาคปกติของรัฐได้รับการอบรมบ่มนิสัยด้านสิ่งแวดล้อมเพียงน้อยนิด

นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสช่วยเด็กที่ไม่มีทุนทรัพย์ในการเข้าติวหลังเลิกเรียน ซึ่งกลายเป็นเรื่องธรรมดาของเด็ก ๆ ทั่วกัมพูชา

กฎหมายกำหนดให้ประชาชนเข้าถึงระบบการศึกษาของรัฐโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ชั้นเรียน “เสริม” ภาษาอังกฤษหรือวิชานอกหลักสูตรมีค่าใช้จ่ายพิเศษตั้งแต่ 5 ดอลลาร์หสรัฐ (ประมาณ 150 บาท) ไปจนถึงหลายร้อยดอลลาร์ (ประมาณ 3,000 บาท) ขึ้นอยู่กับโรงเรียนและสถานที่ ซึ่งอาจเป็นการลงทุนที่สูงลิ่วในประเทศที่รายได้เฉลี่ยต่อคนน้อยกว่า 1,400 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 42,000 บาท) ต่อปี

สำหรับครอบครัวที่ยากจนกว่านั้นในพื้นที่ห่างไกล เด็ก ๆ จะถูกส่งให้ไปขอทานหาเงินเพื่อจุนเจือครอบครัว ในการจ่ายเงินสำหรับชั้นเรียนพิเศษจึงเป็นเรื่องที่ตัดสินใจยาก ที่โรงเรียนแห่งนี้ นายแวนเดย์อยากให้วัฏจักรเลวร้ายนี้สิ้นสุดลง ซึ่งทำได้สำเร็จในบางส่วนแล้ว

“ครูภาษาอังกฤษของผมไม่อนุญาตให้ผมขอทานหรือเล่นพนัน” เด็กชายซัน เซรย์โดว์ วัย 10 ขวบ ผู้เคยเป็นขอทาน กล่าว “ผมดีใจ โตขึ้นผมอยากเป็นหมอ”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button