ติดอันดับ

เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์กระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหม

การมาเยือนเพื่อกระชับไมตรีเมื่อวันที่ 2 – 4 กันยายน พ.ศ. 2562 โดยการส่งเรือรบสองลำของสาธารณรัฐเกาหลีไปยังฟิลิปปินส์ ส่งสัญญาณถึงความสัมพันธ์ด้านกลาโหมที่พัฒนาขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ล่าสุดในความสัมพันธ์ที่แสดงให้เห็นชัดจากการมอบเรือลาดตระเวนปราบปรามเรือดำน้ำจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 รวมถึงการขายเครื่องบินรบเอฟเอ-50 ของเกาหลีใต้ให้กับฟิลิปปินส์ก่อนหน้านี้

พลเรือจัตวาเรย์ เดลา ครูซ ผู้บัญชาการกองทัพเรือฟิลิปปินส์กล่าวถึงการมาเยือนของเรือพิฆาตมุนมู เดอะ เกรท (ดีดีเอช-976) และเรือสนับสนุนการรบเคลื่อนที่เร็วฮวาชอน (เอโออี-59) ว่าเป็นการตอกย้ำ “ความพยายามอย่างต่อเนื่องของฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ ในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและกองทัพเรือของทั้งสองประเทศ” ตามรายงานของสำนักข่าวฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นสำนักข่าวรัฐบาลของฟิลิปปินส์

สำนักข่าวฟิลิปปินส์รายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ทหารและลูกเรือของเรือสาธารณรัฐเกาหลีใต้ทั้งสองลำ ได้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างความเชื่อมั่นกับบุคลากรของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ รวมถึงการสำรวจเรือ กิจกรรมกีฬาและวัฒนธรรม ตลอดจนการฝึกซ้อมการสื่อสาร

บีอาร์พี คอนราโด ยัป (ภาพ) เดินทางถึงกรุงมะนิลาเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เรือดังกล่าวเป็นเรือลาดตระเวนชั้นโพฮังที่ต่อขึ้นในเกาหลีใต้ และติดตั้งอุปกรณ์สำหรับทำสงครามปราบปรามเรือดำน้ำ ตามรายงานของสำนักข่าวฟิลิปปินส์ เรือที่ได้รับมอบมานี้ตั้งชื่อตามนายคอนราโด ยัป เจ้าหน้าที่ทหารชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในกองกำลังสำรวจฟิลิปปินส์ในสงครามเกาหลี เมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1950 (พ.ศ. 2493 – 2502) นายฮัน ดงมัน เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำกรุงมะนิลา อธิบายในบทความแสดงความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์ฟิลิปปินส์สตาร์เมื่อวันที่ 5 กันยายนพ.ศ. 2562

เรือลำดังกล่าวจะเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการปราบปรามเรือผิวน้ำ การปราบปรามเรือดำน้ำ และการปราบปรามอากาศยานของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ นายฮันระบุ โดย “มีความสามารถทางด้านอาวุธและความเร็วที่ไม่มีใครเทียบได้” ทั้งยังมาพร้อมระบบเฝ้าระวังเรดาร์และโซนาร์ ปืนกลโอโตเมลารา 76 มม. 2 กระบอก ปืนใหญ่เบาโอโตเบรดา 40 มม. 2 กระบอก และท่อยิงตอร์ปิโดแบบสามลูก 2 ท่อ

นายฮันระบุว่า “ด้วยความรู้สึกขอบคุณอย่างสูง รัฐบาลเกาหลีใต้ได้พยายามตอบแทนความเสียสละอย่างสมเกียรติของสมาชิกกองกำลังสำรวจฟิลิปปินส์ที่มีต่อเกาหลีในหลาย ๆ ด้าน เพื่อเป็นการแสดงความชื่นชมในความเสียสละและการอุทิศตนเพื่อปกป้องเกาหลีใต้ในช่วงสงครามเกาหลี”

ทั้งนี้ กองทัพเรือฟิลิปปินส์หวังจะได้รับเรือชั้นโพฮังอีก 2 ลำจากรัฐบาลเกาหลีใต้ น.อ. เฮนรี ควินโต โฆษกกองทัพเรือฟิลิปปินส์ กล่าวกับสำนักข่าวฟิลิปปินส์ว่า “เพื่อให้แน่ใจว่าเรือลำหนึ่งทำการลาดตระเวนอยู่ตลอด ในขณะที่เรืออีกลำหนึ่งทำการฝึกกับลูกเรือและกำลังสำรอง”

เรือฟริเกต 3 ลำของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ จะได้รับการปรับปรุงโดยอู่ต่อเรือของสาธารณรัฐเกาหลีใต้ในไม่ช้า นายฮันระบุ ตามสัญญาที่ลงนามเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ก่อนหน้านี้กองกำลังรักษาชายฝั่งสหรัฐฯ ใช้เรือลาดตระเวนนอกชายฝั่งชั้นเดล พิลาร์นี้ในฐานะเรือยามฝั่งทนทะเลสูงชั้นแฮมิลตัน

ข้อตกลงเรือฟริเกตมีที่มาจากการประชุมสุดยอดซึ่งมีรัฐมนตรีกลาโหมของทั้งสองประเทศเข้าร่วม โดยจัดขึ้นในกรุงโซลเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 ซึ่งทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาอาวุธ ตามรายงานของสำนักข่าวฟิลิปปินส์

กลุ่มเครื่องบินขับไล่เอฟเอ-50พีเอช ของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ที่สร้างขึ้นโดยเกาหลีใต้ ได้รับการยกย่องจากการช่วยให้ได้รับชัยชนะเหนือกลุ่มอาบูไซยาฟที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐอิสลาม ในระหว่างการยึดเมืองมาราวีทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์เป็นระยะเวลา 5 เดือนเมื่อ พ.ศ. 2560 พล.อ. การ์ลิโต กาลเวซ ที่เกษียณอายุแล้ว ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพฟิลิปปินส์ ณ ขณะนั้น เรียกเครื่องบินไอพ่นว่าเป็น “การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” ที่ป้องกันการสูญเสียชีวิตในหมู่กองกำลังภาคพื้นดินฟิลิปปินส์ ในการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยเมืองจากกลุ่มอาบูไซยาฟ

เครื่องบินเอฟเอ-50 ทั้ง 12 ลำผลิตโดยบริษัท โคเรีย แอร์โรสเปซ อินดัสตรี จำกัดของเกาหลีใต้ ตามรายงานของยอนฮัป สำนักข่าวในเครือของรัฐบาลเกาหลีใต้ โดยคำสั่งซื้อมูลค่า 420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.27 หมื่นล้านบาท) บรรลุผลสำเร็จในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 เดิมออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องบินขับไล่สำหรับฝึกหัด แต่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีเบา

นอกจากการถ่ายโอนสินทรัพย์ทางกลาโหมแล้ว ยังจัดการสัมมนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกลาโหมฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ พ.ศ. 2562 ที่กรุงมะนิลาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 เพื่อผลักดัน “ความร่วมมือด้านกลาโหมไปสู่อีกระดับ” นายฮันกล่าว

นายฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button