ติดอันดับ

การกระทำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนขัดแย้งกับข้อร้องเรียนของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการแทรกแซงจากภายนอก

ข้อร้องเรียนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนเกี่ยวกับอำนาจรัฐภายนอกที่เข้ามาก้าวก่ายกิจการภายในของจีน แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนหน้าไหว้หลังหลอกอย่างมาก

สาธารณรัฐประชาชนจีนมีประวัติการแทรกซึมเข้าไปในกิจการของต่างประเทศ เพื่อใช้อิทธิพลทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ แม้กระทั่งการแทรกแซงการปกครองของประเทศอธิปไตย ความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการทำให้ตัวเองเป็นเหยื่อนั้นเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่ประชนทั่วไปได้เห็นจากจีน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เป็นระบบและดึงดันในฐานะผู้บงการต่างชาติที่ก้าวร้าว

หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ ระบุเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 ว่า “รัฐบาลจีนอ้างนโยบายต่างประเทศว่าด้วยการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น แต่มีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่าไม่เป็นความจริง” “อันที่จริง พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ขยายการแทรกแซงอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก โดยตั้งใจที่จะทำลายสถาบันประชาธิปไตยของประเทศเหล่านั้น สร้างการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ และขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ต่อรัฐบาลจีน”

หลักฐานที่เพิ่มขึ้นนี้ เห็นได้จากการกระตุ้นสงครามแย่งชิงอิทธิพลในแปซิฟิกระหว่างจีนกับออสเตรเลีย

นานหลายทศวรรษที่ออสเตรเลียยังคงเป็นผู้บริจาคเงินช่วยเหลือรายใหญ่ที่สุดให้กับเพื่อนบ้านแถบภูมิภาคแปซิฟิก ในเมลานีเซีย ไมโครนีเซีย และโพลีนีเซีย แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จีนพยายามเพิ่มอิทธิพลในบรรดาประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ ในแปซิฟิก ผ่านคำสัญญาด้านการลงทุน ซึ่งมักมาพร้อมพันธะที่ผูกมัดเงินกับชัยชนะของจีน รวมถึงการสูญเสียอำนาจอธิปไตยและสิทธิอื่น ๆ ของประเทศเจ้าบ้าน

ประเด็นล่าสุดอีกประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างสองอำนาจ คือเมื่อหน่วยข่าวกรองออสเตรเลียสรุปว่า จีนเป็นต้นเหตุของการโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับรัฐสภาและพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุด 3 พรรคของออสเตรเลีย ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ตามรายงานของรอยเตอร์เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อกล่าวกับรอยเตอร์ว่า การโจมตีครั้งนี้สร้างความกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงการเลือกตั้ง แต่ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าแฮกเกอร์ได้ข้อมูลไปหรือใช้ข้อมูลแต่อย่างใด

รอยเตอร์ยังรายงานอีกว่า กระทรวงการต่างประเทศจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และเผยแพร่แถลงการณ์บางส่วนที่ระบุว่า “เราต้องการเน้นย้ำว่าจีนยังเป็นเหยื่อของการโจมตีทางอินเทอร์เน็ต”

จีนเป็นพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียเลือกปกปิดสิ่งที่เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของตนรู้เห็นไว้เป็นความลับนานหลายเดือน เพราะหวั่นเกรงว่าท่าทีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะสั่นคลอนความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี

ความกังวลดังกล่าวอยู่ใกล้กว่าที่คิด เป็นที่ทราบกันว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนตัดความสัมพันธ์กับหน่วยงานที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ หรือล้อเลียนนโยบายหรือมุมมองของตน หรือกล่าวหาว่าจีนกระทำผิด

เมื่อพิจารณาจากกรณีที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ของสมาคมบาสเกตบอลแห่งชาติ หรือเอ็นบีเอ ที่ได้ประโยชน์จากจีนจำนวน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท) ตกอยู่ในความเสี่ยง เมื่อนายแดริล มอเรย์ ผู้จัดการทั่วไปของทีมบาสเกตบอล ฮุสตัน รอกเก็ตส์ ได้ทวีตสนับสนุนผู้ประท้วงฮ่องกงที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ (ภาพ: ผู้ชุมนุมถือป้ายเพื่อสนับสนุนนายแดริล มอเรย์ ผู้จัดการทั่วไปของ ฮุสตัน รอกเก็ตส์ ระหว่างการชุมนุมที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2562)

ซีเอ็นเอ็น บิสซิเนส รายงานเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ว่า ทวีตของนายมอเรย์จุดชนวนให้เกิดการโต้กลับเกือบจะทันที โดยร้านค้าออนไลน์ของจีนลบสินค้าของ ฮุสตัน รอกเก็ตส์ ออกจากเว็บไซต์ของตน และสมาคมบาสเกตบอลจีนประกาศว่าจะระงับความร่วมมือกับทีม นอกจากนี้ บริษัทเทนเซ็นต์ของจีนยังประกาศว่าจะงดออกอากาศการแข่งขันของ ฮุสตัน รอกเก็ตส์ จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป

กลยุทธ์การกดขี่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพื่อบังคับใช้การเซ็นเซอร์ผ่านวิธีการทางการเงินและทางสังคม เปิดเผยให้เห็นในเหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ที่เกี่ยวเนื่องกับซีรีส์อนิเมชันทางโทรทัศน์เรื่องเซาธ์พาร์ค

ในซีรีส์ตอนที่ 300 มีตัวละครพูดจาล้อเลียนรัฐบาลจีน โดยในตอนก่อนหน้านี้ มีตัวละครหนึ่งต้องเข้ามาอยู่ในค่ายแรงงานจีน หลังพยายามขยายกิจการของเขาในประเทศจีน

และในตอนเดียวกัน วงดนตรีของจีน ได้ล้อเลียนดิสนีย์และเอ็นบีเอ ที่ทำธุรกิจกับจีน รวมถึงล้อเลียนการเซ็นเซอร์ตัวละครหมี วินนี่เดอะพูห์ ซึ่งบางคนได้นำไปเปรียบเทียบกับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

นอกจากนี้ จีนยังผลักดันอิทธิพลของตนเองเข้ามาใกล้บ้านมากขึ้น โดยกดดันประเทศเพื่อนบ้านอย่างปากีสถาน เพื่อเพิ่มความมั่นคงในการปกป้องแรงงานจีนนับพันคนในประเทศดังกล่าว แรงงานจีนเหล่านั้นกำลังสร้างโครงข่ายถนน ทางรถไฟ และท่อส่งน้ำในปากีสถาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท) ของจีน

แหล่งข่าวของอินเดียระบุว่า จีนกดดันให้กองทัพปากีสถานสร้างกองบัญชาการกองกำลังใหม่เพื่อประสานงานความริเริ่มด้านความมั่นคงให้ดียิ่งขึ้น และให้ปากีสถานทำตามความต้องการของจีนต่อไป

แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อกล่าวในเว็บไซต์ข่าว ThePrint.in ของอินเดีย ว่า “ปากีสถานทราบดีว่าการโจมตีใด ๆ ต่อจีนจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศ โดยเฉพาะกองทัพที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการนี้”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button