ติดอันดับ

เทคโนโลยีไร้คนขับได้รับการมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันภัยคุกคามจากเรือดำน้ำ

เทคโนโลยีเรือและยานพาหนะไร้คนขับ ได้รับความสนใจอย่างมากในงานแสดงสินค้าและสัมมนาด้านระบบและเทคโนโลยีทางทะเล/อากาศเอเชีย พ.ศ. 2562 ในกรุงโตเกียว เมื่อผู้บรรยายกล่าวถึงภัยคุกคามจากเรือดำน้ำที่เกิดขึ้นใหม่ในภูมิภาคแห่งนี้

ผู้นำเสนอจากออสเตรเลีย ยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา อภิปรายถึงความสำคัญของเทคโนโลยีไร้คนขับในการต่อต้านเรือดำน้ำเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 พร้อมทั้งให้ความหวังถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น การชาร์จแบบไร้สายและทดแทนได้ การสื่อสารใต้น้ำ ระบบการสั่งการและควบคุม รวมถึงการเฝ้าระวังโครงสร้างพื้นฐานทางทะเลแบบไร้คนบังคับ

“ในอีก 10 ถึง 15 ปีนับจากนี้จะได้เห็นเรือดำน้ำแบบธรรมดารุ่นใหม่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคของเรา” นายทิม เคน ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคระบบใต้น้ำของทาเลสออสเตรเลียกล่าวกับผู้เข้าร่วมการสัมมนา เมื่อเขาขึ้นนำเสนอเรื่องบทบาทของเรือผิวน้ำไร้คนขับในการปราบปรามเรือดำน้ำ “มหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกจะได้เห็นปฏิบัติการเรือดำน้ำเคลื่อนที่เงียบเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เรือเหล่านั้นมองหาลู่ทางปฏิบัติการนอกแนวชายฝั่งของตัวเอง และแสดงความสนใจเชิงยุทธศาสตร์ภายในภูมิภาค”

เทคโนโลยีเกิดใหม่นี้ช่วยให้เรือดำน้ำล่องหนอยู่ใต้ผิวได้นานขึ้น ในปฏิบัติการที่มีระยะทางไกลมากขึ้น นายเคนระบุ เรือผิวน้ำไร้คนขับจะเป็นกุญแจสำคัญในการตรวจจับเรือเหล่านี้ และปราบปรามภัยคุกคามใด ๆ ที่ปรากฏ

นายเคนกล่าวว่า “การจะส่งมอบผลลัพธ์การปราบปรามเรือดำน้ำที่ระดับเขตสงคราม อาจต้องผสานรวมกองเรือผิวน้ำไร้คนขับประเภทต่าง ๆ เหล่านี้”

(ภาพ: ผู้เข้าร่วมพูดคุยกันในงานระบบและเทคโนโลยีทางทะเล/อากาศเอเชีย พ.ศ. 2562 ในกรุงโตเกียว)

ขณะเดียวกัน ยานพาหนะใต้น้ำไร้คนขับก็คาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทโธปกรณ์ในการปราบปรามเรือดำน้ำ “เพื่อรวบรวมข้อมูลใต้ทะเลในพื้นที่ที่ได้รับการคุกคาม” นายทัตสึยะ คุมาซาวะและนายโกคิ โอคาเบะอธิบายกับสำนักงานการจัดซื้อจัดจ้าง เทคโนโลยี และการส่งกำลังบำรุง หรือ เอทีแอลเอ ของกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ทั้งคู่กล่าวเสริมว่าญี่ปุ่นกำลังก่อสร้างสถานที่ทดสอบแห่งใหม่ สำหรับการทดสอบและประเมินยานพาหนะใต้น้ำไร้คนขับบนบกในเมืองอิวาคุนิ

เอทีแอลเอได้ทำงานร่วมกับกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมของออสเตรเลียมาตั้งแต่ พ.ศ. 2558 เพื่อทำการวิจัยที่เกี่ยวกับอุทกพลศาสตร์ของยานพาหนะใต้น้ำไร้คนขับ ซึ่งจะปรับปรุงและเพิ่มขีดความสามารถของยานพาหนะใต้น้ำไร้คนขับ นายเดวิด พุก นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอทีของออสเตรเลียกล่าว

การสร้างเครือข่ายการสื่อสารดิจิทัลใต้น้ำขนาดใหญ่โดยใช้สัญญาณอะคูสติกเพื่อแบ่งปันข้อมูลระหว่างเรือดำน้ำ เรือพิฆาต ยานพาหนะใต้น้ำไร้คนขับที่ดำอยู่ใต้น้ำ และยุทโธปกรณ์ใต้น้ำอื่น ๆ เป็นอีกโครงการหนึ่งของเอทีแอลเอ นายทาคาฮิโระ คุโด เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคกลาโหมของสำนักงานดังกล่าวอธิบาย

“ยานพาหนะไร้คนขับและขับเคลื่อนอิสระ เป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจและสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่ง ซึ่งนำไปใช้ได้หลากหลายประเภท” นายมาซัตสึกุ โอกาวะ นักวิจัยหลักของเอ็นอีซีคอร์ปอเรชันของญี่ปุ่นกล่าว

นายโอกาวะยังเสริมว่ายานพาหนะเหล่านี้มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของมนุษย์ โดยขยายขอบเขตการปฏิบัติงานไปยังด้านที่มนุษย์ปฏิบัติงานได้ยากหรือเป็นอันตราย ซึ่งอาจรวมไปถึงการปฏิบัติงานที่มีความลึกใต้ทะเลมากบนแท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่ง หรือท่อส่งก๊าซธรรมชาติ หรือท้องน้ำที่มีระเบิดจมอยู่

เอ็นอีซีได้พัฒนาอัลกอริทึมควบคุมอิสระและปรับตัวได้ เพื่อเพิ่มความสามารถของยานพาหนะใต้น้ำไร้คนขับในการรับมือกับภารกิจที่ซับซ้อนซึ่งมีหลายเป้าหมาย นายโอกาวะระบุ นอกจากนี้ เอ็นอีซียังพัฒนาสายอากาศใต้น้ำเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ของยานพาหนะใต้น้ำไร้คนขับอีกด้วย การชาร์จดังกล่าวอาจได้จากพลังงานคลื่นที่ทดแทนได้ นายทาคาโอะ ซูซูกิ ผู้จัดการของบริษัทมิตซุย อีแอนด์เอส ชิปบิลดิ้งกล่าว พร้อมเสริมว่าบริษัทมิตซุยได้สาธิตความสามารถนี้โดยการทดสอบ “ทุ่นพลังงานคลื่น” ใกล้กับเกาะโคซุของญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2560

นายฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัมรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button