ติดอันดับ

อินเดียและสหรัฐฯ เพิ่มการแบ่งปันเทคโนโลยีกลาโหม

การพัฒนาที่สำคัญสองโครงการซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลอินเดีย เป็นการปูทางไปสู่การผลิตยุทโธปกรณ์กลาโหมในอินเดียด้วยเทคโนโลยีของสหรัฐฯ

ข้อตกลงความร่วมมือในการสื่อสารทางทหารและความมั่นคงที่ทั้งสองประเทศลงนามเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 เปิดทางให้สหรัฐฯ และอินเดียแบ่งปันข้อมูลที่ละเอียดอ่อน รวมทั้งทำให้อินเดียได้รับความเห็นชอบให้ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ปลอดภัยและข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา หลังจากข้อตกลงดังกล่าวที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายอนุญาต “สถานภาพการอนุญาตทางการค้าเชิงยุทธศาสตร์ 1” ซึ่งอำนวยความสะดวกให้การค้าเชิงกลาโหมระหว่างอินเดียและสหรัฐฯ รวมทั้งการบูรณาการห่วงโซ่อุปทานการผลิตในเชิงกลาโหมของทั้งสองประเทศ

“ในเอกสาร สถานภาพการอนุญาตทางการค้าเชิงยุทธศาสตร์ 1 จะช่วยให้อินเดียเข้าถึงเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยโดยใช้ใบอนุญาตน้อยลง เช่นเดียวกับที่ชาติสมาชิกนาโตได้รับในปัจจุบัน” นายประทีก โจชิ ผู้ช่วยวิจัยที่มูลนิธินานาชาติวิเวกอนันดา ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในกรุงนิวเดลีกล่าวกับ ฟอรัม“กล่าวอย่างกว้าง ๆ รายการนี้ประกอบด้วยอุปกรณ์สำหรับการสื่อสาร เทคโนโลยีอวกาศ การนำทาง เซ็นเซอร์ ฯลฯ แต่อาจยังมีความแตกต่างระหว่างเทคโนโลยีเฉพาะเจาะจงที่ชาวอินเดียกำลังมองหากับสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการแบ่งปัน”

ก่อนการลงนามในข้อตกลงดังกล่าว นายโจชิอธิบายว่าสหรัฐฯ ไม่ได้มอบเทคโนโลยีการสื่อสารบางส่วนของตนให้กับอินเดียในการซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารสหรัฐฯ ครั้งที่ผ่านมา เช่น การขายเครื่องบินอเนกประสงค์ทางทะเลระยะไกล โบอิ้ง พี-8ไอ (ภาพ) จำนวน 8 ลำให้กับกองทัพเรืออินเดียเมื่อ พ.ศ. 2552 “ตอนนี้แพลตฟอร์มเหล่านี้จะสามารถเข้าถึงได้ และจะช่วยให้ทำงานได้ในระดับที่เหมาะสม”

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 กระทรวงกลาโหมอินเดียประกาศจัดซื้อเครื่องบิน พี-8ไอ เพิ่มเติมอีก 10 รายการ

การซื้อครั้งต่อ ๆ ไปคาดว่าจะสอดคล้องกับโครงการริเริ่ม “ผลิตในอินเดีย” ของนายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรี นายโมทีประกาศนโยบายดังกล่าวใน พ.ศ. 2557 เพื่อส่งเสริมการผลิตภายในประเทศโดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีชั้นสูง

นายโจชิกล่าวว่า “การจัดซื้อจัดจ้างของอินเดียตามนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงกลาโหม ขยายความเงื่อนไขในการถ่ายโอนอย่างชัดเจน จากนโยบายดังกล่าว ไม่ว่าเมื่อใดที่มีการจัดซื้อยุทโธปกรณ์กลาโหม จะต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีทั้งหมดภายในเวลาที่ยุทโธปกรณ์ล่าสุดมาถึง”

นายเบน ชวาร์ตซ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลาโหมและอวกาศที่สภาธุรกิจระหว่างสหรัฐฯ และอินเดียอธิบายว่า บรรยากาศการแบ่งปันเช่นนี้เป็นนิมิตหมายอันดีของทั้งสองประเทศ นายชวาร์ตซ์กล่าวว่าสหรัฐฯ ได้รับการกระตุ้นจากโอกาสในการเข้าร่วมโครงการเรือบรรทุกเครื่องบินที่ต่อเนื่องของอินเดีย ทั้งสองประเทศจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันใน พ.ศ. 2558 เพื่อดำเนินการตามแผนของอินเดียสำหรับเรือบรรทุกเครื่องบินผลิตในประเทศที่ชื่อว่า ไอเอ็นเอส วิศาล

ผู้ผลิตอากาศยานของสหรัฐฯ 2 แห่งกำลังร่วมเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทการบินต่าง ๆ ของอินเดีย โดยหวังที่จะผลิตเครื่องบินขับไล่บนผืนแผ่นดินอินเดีย ตามรายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก โดยโบอิ้งร่วมมือกับบริษัทฮินดูสถาน แอโรโนติกส์ จำกัด และบริษัทมหินทรา ดีเฟนส์ ซิสเท็มส์ จำกัด ที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินกิจการ เพื่อผลิตเครื่องบินรุ่น เอฟ/เอ-18 ในขณะเดียวกัน ล็อกฮีดก็วางแผนประมูลร่วมกับทาทากรุ๊ปของอินเดีย เพื่อผลิตเครื่องบินขับไล่ เอฟ-21

นายชวาร์ตซ์กล่าวว่า “ข้อเสนอเครื่องบินขับไล่ทุกลำมีส่วนประกอบที่ผลิตในอินเดีย รวมทั้งมีข้อตกลงที่คล้ายกันในงานด้านยุทโธปกรณ์ทางกลาโหมอื่น ๆ”

สภาธุรกิจระหว่างสหรัฐฯ และอินเดีย ต้นสังกัดของนายชวาร์ตซ์ เป็นเจ้าภาพจัดงานเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ที่กรุงนิวเดลี เกี่ยวกับสถานภาพการอนุญาตทางการค้าเชิงยุทธศาสตร์ 1 ของอินเดียและผลจากการได้มาซึ่งเทคโนโลยีขั้นสูง นายโจชิหวังว่าบรรยากาศใหม่ ๆ ทางการค้าเชิงกลาโหม จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของอินเดีย

“อย่างน้อย การร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาอเมริกันจะทำให้อินเดียได้สัมผัสกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของอเมริกาโดยตรง ซึ่งจะซึมซับเข้าสู่สถาบันต่าง ๆ ของอินเดีย ทั้งผ่านความก้าวหน้าทางเทคนิคและเส้นโค้งแห่งการเรียนรู้” นายโจชิกล่าว

นายมันดีป ซิงห์ เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button