ติดอันดับ

ญี่ปุ่นปรับยุทธศาสตร์ทางกลาโหมให้เข้ากับความท้าทายใหม่ ๆ

เนื่องจากการเผชิญหน้ากับการขยายอาณาเขตทางทะเล การอ้างสิทธิ์ทางอาณาเขตที่กว้างขวางของสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งภัยคุกคามเกิดใหม่ที่มาจากเทคโนโลยีแบบใหม่ ญี่ปุ่นจึงปรับยุทธศาสตร์ทางกลาโหมเพื่อจัดการกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ

รัฐบาลญี่ปุ่นนอกจากจะมุ่งมั่นเป็นพันธมิตรด้านกลาโหมกับสหรัฐฯ แล้ว ยังดำเนินการเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกลาโหมของตนเองผ่านการจัดหายุทโธปกรณ์ทางทหารใหม่ ๆ และกำหนดนิยามใหม่ให้กองทัพเป็นกองกำลัง “ข้ามพื้นที่” ผ่านความร่วมมือด้านความมั่นคงกับเพื่อนบ้านในอินโดแปซิฟิก

มีการประเมินใหม่ที่ดำเนินการโดยสถาบันวิชาการป้องกันประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวงกลาโหมของประเทศ ในรายงานหัวข้อ “ญี่ปุ่น: แนวทางปฏิบัติสำหรับโครงการด้านกลาโหมแห่งชาติฉบับใหม่” เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 นายโทโมฮิโกะ ซาตาเกะ และนายยูจิ มาเอดะ ผู้เขียนรายงานอธิบายว่า “ปัจจัยสนับสนุนหลัก” ที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องทบทวนยุทธศาสตร์ทางกลาโหมคือ “การผงาดขึ้นของจีน”

“ระดับอำนาจของจีนที่เพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณทำให้ญี่ปุ่นต้องมีการตอบโต้เชิงนโยบายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” รายงานดังกล่าวระบุ

การใช้จ่ายด้านกลาโหมของรัฐบาลจีนแต่ละปีเพิ่มขึ้นราวสองเท่าระหว่าง พ.ศ. 2553 ถึง พ.ศ. 2560 โดยมีมูลค่าแตะ 150,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.6 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นสามเท่าของญี่ปุ่นและเป็นหนึ่งในสี่เท่าของจำนวนที่สหรัฐอเมริกาใช้จ่าย นายซาตาเกะและนายมาเอดะระบุเพิ่มเติมทั้งนี้ รัฐบาลจีนใช้จ่ายเงินส่วนใหญ่ไปกับการปรับปรุงความทันสมัยของกองทัพปลดปล่อยประชาชนและกองทัพเรือกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีน ซึ่งเป็นการทำให้สอดคล้องไปกับ “การเมืองเชิงอำนาจ” แบบใหม่ของรัฐบาลจีน เช่นการอ้างสิทธิ์ในอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ทั้งหมด การขยายอำนาจไปยังทะเลจีนตะวันออกโดยการอ้างสิทธิ์ในหมู่เกาะเซ็งกะกุของญี่ปุ่นที่เป็นข้อพิพาท

สำหรับญี่ปุ่น “สิ่งที่สำคัญเป็นพิเศษในการป้องกันเส้นทางการสื่อสารทางทะเลและหมู่เกาะที่อยู่ห่างไกล คือการรักษาความปลอดภัยทางอากาศ ทางทะเล และความเหนือชั้นด้านข้อมูล” ผู้เขียนรายงานตั้งข้อสังเกต กรณีดังกล่าวผลักดันให้เกิดกองกำลังข้ามพื้นที่ซึ่งจับคู่ขีดความสามารถภาคพื้นดิน ทางอากาศ และทางทะเลที่แข็งแกร่งรูปแบบเดิมเข้ากับรูปแบบใหม่ โดยรวมเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าไปด้วย

รายงานดังกล่าวยืนยันแถลงการณ์ที่นายทาเคชิ อิวายะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น (ภาพ) ให้สัมภาษณ์กับศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562

“ญี่ปุ่นจะเน้นย้ำถึงความพยายามในการจัดหาและเสริมสร้างขีดความสามารถของเราในพื้นที่ใหม่ ๆ ทางอวกาศ โลกไซเบอร์ และสเปกตรัมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า” นายอิวายะกล่าว “ที่สุดแล้ว เป้าหมายของเราคือการบูรณาการขีดความสามารถในทุกด้านให้เป็นไปโดยธรรมชาติ ทั้งในพื้นที่แบบใหม่และแบบเดิม เพื่อส่งเสริมการประสานกำลังและขยายความแข็งแกร่งโดยรวม”

นายอิวายะกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะใช้เงินจำนวน 2.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.6 ล้านล้านบาท) เพื่อพัฒนาด้านกลาโหมในช่วงห้าปีข้างหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในช่วงที่ผ่านมา

ญี่ปุ่นจะเพิ่มเครื่องบินขับไล่เอฟ-35 ลำใหม่จำนวน 105 ลำ ซึ่ง 42 ลำในจำนวนนี้จะสามารถบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งระยะสั้นได้ เพื่อให้สามารถบรรทุกลงในเรือพิฆาตชั้นอิซึโมะที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ นายอิวายะกล่าว จะมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการทางอวกาศขึ้นภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และหน่วยป้องกันทางไซเบอร์ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของรัฐมนตรีกลาโหมภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังจะเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในอินโดแปซิฟิกภายใต้วิสัยทัศน์การบริหารของนายอาเบะเพื่อ “อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” ซึ่งระบุในรายงานของสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ โดยยังคงให้ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาและ “ประเทศที่เป็นมิตรในภูมิภาค และมีบทบาทมากขึ้นในด้านการฝึกและซ้อมรบร่วม ความร่วมมือในอุปกรณ์และเทคโนโลยีด้านกลาโหม ความช่วยเหลือด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม/การบรรเทาภัยพิบัติ ฯลฯ”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button