เรื่องเด่น

ปฏิบัติการ แบบหลายมิติ

ขยับมาที่มหานครซึ่งอยู่ใกล้คุณ

เจ้าหน้าที่ฟอรัม

ในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า กองทัพในอินโดแปซิฟิกจะมีส่วนร่วมกับปฏิบัติการในเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 10 ล้านคน ภารกิจที่ซับซ้อนเหล่านี้ อาจจะฟื้นคืนพื้นที่ปฏิบัติการและกองกำลังต่าง ๆ ทั้งหมดขึ้นมาในคราวเดียว เพื่อคงไว้ซึ่งข้อได้เปรียบเหนือภัยคุกคามต่าง ๆ ทั้งจากธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคดังกล่าว ตามที่ พล.อ. สตีเฟน ทาวน์เซนด์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการฝึกและกำหนดหลักนิยมของกองทัพบกสหรัฐฯ ระบุ

“คงเป็นไปไม่ได้ที่จะหลีกเลี่ยงการต่อสู้ในเมืองขนาดใหญ่และมหานครในอนาคต” พล.อ. ทาวน์เซนด์กล่าวระหว่างการนำเสนองานผ่านดาวเทียมไปยังการประชุมและนิทรรศการของกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิกประจำปีครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ถึง 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ที่เมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย การประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,600 คนจากกองทัพและภาคอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ รวมถึงผู้นำทางทหารจากประเทศในอินโดแปซิฟิก 26 ประเทศ เพื่อหารือถึงความท้าทายในอนาคต

ภายใต้แนวคิดการปฏิบัติการแบบหลายมิติ กองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรต่าง ๆ จะปฏิบัติการและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกพื้นที่ ทั้งทางบก ทางอากาศ ทางทะเล ทางไซเบอร์ และอวกาศ พร้อมด้วยหน่วยทหารทั้งหมด ทั้งกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ นาวิกโยธิน และกองกำลังรักษาชายฝั่ง เพื่อป้องปรามและเอาชนะข้าศึกที่มีศักยภาพมากขึ้น ตลอดจนจัดการปัญหาด้านความมั่นคงอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แสงจันทร์ส่องประกาย ณ เส้นขอบฟ้าของกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ภายใน พ.ศ. 2573 ประชากรสองในสามของโลกจะอาศัยอยู่ในเมืองขนาดใหญ่ ตามข้อมูลของฝ่ายเศรษฐกิจและสังคมขององค์การสหประชาชาติ จำนวนมหานครจะเพิ่มขึ้นจาก 33 เป็น 43 แห่ง และจำนวนเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรระหว่าง 5 ล้านถึง 10 ล้านคนจะเพิ่มจาก 45 เป็น 63 แห่ง ด้วยเหตุนี้ จะพบว่ามหานครมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกอยู่ในอินโดแปซิฟิก โตเกียวมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยจำนวนผู้อยู่อาศัยถึง 37 ล้านคน รองลงมาคือนิวเดลี 29 ล้านคน และเซี่ยงไฮ้ 26 ล้านคน ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติใน พ.ศ. 2561 มุมไบ ปักกิ่ง และธากา แต่ละแห่งมีผู้อยู่อาศัยเกือบ 20 ล้านคน

“ความซับซ้อนที่เกิดขึ้นในระดับนี้เป็นเรื่องที่นึกภาพไม่ออกเลย” พล.ท. เจมส์ ดูบิค (เกษียณอายุ) นักวิจัยอาวุโสของสมาคมกองทัพบกสหรัฐฯ กล่าวที่การประชุมกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิก

ความซับซ้อนที่มากขึ้นของพลวัตในภูมิภาคนี้ คือการที่ประเทศชั้นนำหลายประเทศตั้งอยู่ในวงล้อมที่เต็มไปด้วยภัยธรรมชาติ เป็นแอ่งกว้างใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เกิดแผ่นดินไหวและเหตุจากภูเขาไฟเป็นประจำ และประเทศเหล่านั้นมักประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความถี่มากกว่าส่วนอื่น ๆ ในโลก ภูมิภาคนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณร้อยละ 57 จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 ล้านคนนับตั้งแต่ พ.ศ. 2513 โดยส่วนใหญ่เกิดจากแผ่นดินไหว พายุ และน้ำท่วม อ้างอิงจากบทวิเคราะห์ล่าสุดขององค์การสหประชาชาติ “รายงานภัยพิบัติในเอเชียแปซิฟิก พ.ศ. 2560 ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ความซับซ้อนไม่เพียงมีหลักสำคัญที่วิธีการต่อสู้ในสภาพแวดล้อมแบบมหานคร แต่รวมถึงวิธีการดำเนินการรณรงค์ที่ไม่ใช่การต่อสู้ในมหานครเหล่านั้นด้วย เป็นเหตุให้กองทัพบกสหรัฐฯ ขยายแนวคิดการต่อสู้แบบหลายมิติ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าปฏิบัติการมากมายในอนาคตที่ใช้หลักการที่เปลี่ยนไป จะเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ตลอดจนการช่วยเหลือและบริการที่ไม่ใช่การต่อสู้ในรูปแบบอื่น ๆ

จุดอ่อนของเมืองที่มีจำนวนคนหนาแน่น

มหานครมีความโดดเด่นด้วยจำนวนผู้อยู่อาศัย 10 ล้านคนหรือมากกว่านั้น มหานครมีนิยามว่าเป็น “เขตเมืองที่มีจำนวนประชากรมากเป็นพิเศษ มีการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ ความซับซ้อนทางกายภาพและสังคม รวมทั้งลักษณะพิเศษในทำนองเดียวกัน โดยรวมเอาอิทธิพลที่มีขอบเขตอย่างน้อยในระดับนานาชาติและระดับภูมิภาคในวงกว้างเอาไว้” ดร. รัสเซลล์ เกลนน์ ผู้อำนวยการแผนงานและนโยบายด้านข่าวกรองประจำกองบัญชาการฝึกและกำหนดหลักนิยมของสหรัฐฯ อธิบายที่การประชุมกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิก

มหานครมีความแตกต่างกัน “เพราะอิทธิพลที่มีมากเกินกว่าเมืองอื่น ๆ ในประเทศหรือในภูมิภาค” ดร. เกลนน์กล่าว

เมื่อพิจารณาโตเกียว เมืองนี้ไม่เพียงมีจำนวนประชากรเมืองมากที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลมากที่สุดภายในประเทศญี่ปุ่นด้วย เขตเมืองของโตเกียวทอดยาวไปถึง 3,925 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรถึงร้อยละ 30 ของประชากรในประเทศ คิดเป็น 37 ล้านคนหรือประมาณ 8,790 คนต่อตารางกิโลเมตร เมืองแห่งนี้สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศให้กับญี่ปุ่นเกือบร้อยละ 35 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของโตเกียวมีขนาดใหญ่กว่าของสเปน และเท่ากับของรัฐเท็กซัส ครึ่งหนึ่งของบริษัทขนาดใหญ่และร้อยละ 84 ของบริษัทต่างชาติที่ดำเนินการในญี่ปุ่นตั้งอยู่ในเมืองนี้

พล.อ. สตีเฟน ทาวน์เซนด์ แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ (ขวา) พูดคุยกับนายทหารชาวอิรักนายหนึ่งระหว่างการเดินทางเยือนกรุงแบกแดดในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

หากมีอันตรายเกิดขึ้นในโตเกียว เศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้อาจได้รับผล กระทบไปด้วย ลองจินตนาการถึงความท้าทายด้านการส่งกำลังบำรุงที่เกี่ยวข้อง หากญี่ปุ่นจำเป็นต้องอพยพคนทั้งเมือง การหาที่พักสำหรับผู้คนมากกว่า 37 ล้านคนในชั่วข้ามคืนคงเป็นภารกิจที่น่าหวาดหวั่น

“ดังนั้น เมื่อนึกถึงเวลาที่เราต้องปฏิบัติการในมหานคร ไม่ว่าจะในช่วงเวลาที่มีสงคราม หรือเพราะภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือเหตุการณ์อื่น องค์ประกอบด้านการสั่งการและการควบคุมการส่งกำลังบำรุงจะต้องมีลักษณะที่ตรงไปตรงมาและเรียบง่าย” ดร.
เกลนน์กล่าว “ความท้าทายของมหานครไม่เหมือนกับสิ่งที่เราเคยต้องรับมือในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา”

ในความขัดแย้งก่อนหน้านี้ เช่น สงครามโลกครั้งที่สอง หรือสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม กองทัพไม่เคยต้องปฏิบัติการในระดับที่ใกล้เคียงกับระดับนี้มาก่อน เช่น ในช่วงสงครามเกาหลี ขณะนั้นโซลมีประชากรเพียง 1 ล้านคน ปัจจุบัน โซลรองรับการขยายของเมืองโดยมีประชากรมากกว่า 25 ล้านคน หากนับรวมภูมิภาคปริมณฑลโดยรอบเป็นปัจจัยหนึ่ง

การกลายเป็นมหานครมีแต่จะขยายตัวและหนาแน่นมากขึ้น “การสร้างเมืองเริ่มขึ้นในยุคอุตสาหกรรม โดยมียุคอุตสาหกรรมเป็นตัวเร่ง และปัจจุบันในยุคสารสนเทศก็ยิ่งเร่งให้เร็วขึ้นอย่างมากด้วยเหตุผลเดียวกันและเหตุผลที่แตกต่างกันหลายประการ” พล.ท. ดูบิคกล่าว ซึ่งเขาเป็นอดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการเปลี่ยนผ่านความมั่นคงข้ามชาติอิรักด้วย

ปฏิบัติการรบ

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนในการประชุมกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิกเตือนว่าการต่อสู้ในมหานครจะมีความท้าทายเป็นพิเศษ

“การต่อสู้ในเขตเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหานครจะมีความรุนแรงมากเป็นพิเศษและเกิดความเสียหายมากเป็นพิเศษต่อกองกำลังด้านความมั่นคงทั้งฝ่ายเราและศัตรูของเรา รวมถึงผู้คนที่ยังคงอยู่ที่นั่น” พล.อ. ทาวน์เซนด์กล่าว

ปฏิบัติการที่มีระยะเวลานานเก้าเดือนในโมซูล ประเทศอิรัก นับตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลอิรักและพันธมิตรเพื่อปลดปล่อยเมืองและภูมิภาคจากรัฐอิสลามซีเรียและอิรัก หรือ ไอซิส แสดงให้เห็นถึงเสี้ยวหนึ่งของสิ่งที่จะเกิดขึ้น

“เซ็นเซอร์ของเราจะด้อยลงในสภาพแวดล้อมที่เป็นเมือง พิสัยของเซ็นเซอร์จะด้อยลง พิสัยของอาวุธของเราจะด้อยลง ผลกระทบของอาวุธของเราจะด้อยลง” พล.อ. ทาวน์ เซนด์กล่าว

และยังระบุว่า “ถึงระบบการบังคับบัญชาภารกิจของเราจะทรงพลัง แต่ทั้งหมดก็มีความท้าทายจากสภาพแวดล้อม กล่าวคือภูมิประเทศที่ซับซ้อนที่เป็นเมือง… เมืองสมัยใหม่” “คุณไม่สามารถลงไปลึกได้มากกว่าหนึ่งชั้นโดยไม่ขาดการสื่อสารกับทุกคนที่อยู่บนพื้นด้านบน… ดังนั้นแนวคิดทั้งหมดนี้ในการถ่ายทอดเจตนารมณ์ของผู้บัญชาการและการเพิ่มอำนาจให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา… เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ของผู้บัญชาการ และการไว้ใจให้พวกเขาทำเช่นนั้นคือวิธีที่เราจะต้องใช้ต่อสู้แม้ในเมืองเล็ก ๆ

“กองทัพบกของเราซึ่งเป็นกองกำลังแนวร่วม ถ้าทำการต่อสู้ยุทธการโมซูลก็คงดำเนินการได้อย่างรวดเร็วกว่าและมีความเสียหายน้อยกว่า รวมทั้งอาจจะมีผู้บาดเจ็บน้อยกว่า แต่ถึงกระนั้น โมซุลก็เป็นปัญหาที่ยากลำบากมากสำหรับเราเช่นกัน” พล.อ. ทาวน์เซนด์กล่าว

โมซูลมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับมหานครเกิดใหม่หลายแห่งในโลก ในช่วงเวลาที่การต่อสู้เริ่มขึ้น โมซูลมีประชากรของราว 1.5 ล้านคน มีทหารน้อยกว่า 150,000 นายเข้าร่วมในการสู้รบดังกล่าว และมีผู้บาดเจ็บประมาณ 15,000 คน

พลเรือนอิรักที่กำลังหลบหนีเดินผ่านซาก มัสยิดอัลนูรี ขณะที่กองกำลังอิรักยังคงเดินหน้าต่อต้านรัฐอิสลามซีเรียและอิรักในเมืองโบราณของโมซูลเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560
ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

“ทั้งศัตรู ไอซิส ภัยคุกคามที่ทวีความรุนแรงขึ้นของโลก และประเทศต่าง ๆ ล้วนเห็นเหตุการณ์โมซูลแล้ว “ผมคิดว่าพวกเขาจะตั้งใจไปยังเมืองต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบการต่อสู้อย่างละเอียด เพราะได้ชิงเอาข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีของเราไปมากมาย” พล.อ. ทาวน์เซนด์กล่าว “เราจะได้เห็นการต่อสู้ในมหานคร และมีหนทางเพียงน้อยนิดที่จะหลีกเลี่ยง”

พล.ท. ไมเคิล บิลส์ ผู้บัญชาการกองทัพร่วมเกาหลีกล่าวในการประชุมกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิกว่า “ภูมิประเทศแบบเมืองเป็นสิ่งที่สร้างความเท่าเทียมกันได้ดีเมื่อเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ที่เด็ดเดี่ยว” “มหานครจะเสริมอานุภาพให้กับกองทัพ และลดข้อได้เปรียบของผู้รุกรานในด้านอาวุธและการเคลื่อนกำลังพล”

เมื่อพิจารณาความท้าทายต่าง ๆ ในการปกป้องกรุงโซลในปัจจุบัน เช่น สถานที่ซึ่งมีรถไฟใต้ดินยาวหลายร้อยกิโลเมตรและสถานีรถไฟใต้ดินหลายร้อยสถานี อีกทั้งห้างสรรพสินค้าที่สร้างอยู่ใต้เมือง แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในด้านระบบการสื่อสาร เช่น อุปกรณ์ขยายสัญญาณที่มีขนาดเท่าลูกยางฮอกกี้น้ำแข็งสำหรับใช้ในอุโมงค์ แต่การก่อสร้างร่วมสมัยจะจำกัดกิจกรรมต่าง ๆ พล.ท. บิลส์กล่าว

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ปฏิบัติการแบบหลายมิติจะมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภารกิจในมหานคร ผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมกองกำลังภาคพื้นดินแปซิฟิก

ปฏิบัติการแบบหลายมิติเป็นการเสนอตัวเลือกที่มากขึ้นให้กับผู้นำทางทหารเพื่อแก้ไขภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้น หลักการใหม่นี้มุ่งมั่นเพื่อผสานความสามารถจากกองกำลังต่าง ๆ และกองทัพพันธมิตรจากประเทศอื่น ๆ เพื่อเอาชนะศัตรู ยกตัวอย่างประเทศอย่างเจาะจง เช่น ออสเตรเลียสามารถตรวจพบภัยคุกคาม เกาหลีใต้สามารถติดตาม และญี่ปุ่นสามารถกำจัดภัยคุกคามดังกล่าว

ผ่านการทดสอบภาคสนาม

กองทัพบกสหรัฐฯ นำแนวคิดการปฏิบัติการแบบหลายมิติมาปฏิบัติเป็นครั้งแรกเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ระหว่างการฝึก ริม ออฟ เดอะ แปซิฟิก หรือ ริมแพค ซึ่งเป็นการฝึกทางทะเลระหว่างประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้เข้าร่วม 25 ประเทศ เรือ 46 ลำ เรือดำน้ำ 5 ลำ อากาศยานประมาณ 200 ลำ และบุคลากร 25,000 คนเข้าร่วมการฝึกริมแพคตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายนจนถึง 2 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ภายในและรอบ ๆ บริเวณหมู่เกาะฮาวายและแคลิฟอร์เนียตอนใต้

ในระหว่างการฝึกจมเรือในปฏิบัติการแบบหลายมิติของริมแพค กองกำลังร่วมของสหรัฐฯ พร้อมด้วยบุคลากรจากกองกำลังของญี่ปุ่นและออสเตรเลียได้ดำเนินการโจมตีด้วยความแม่นยำโดยมีการประสานงานทางบก ทางทะเล และทางอากาศที่เชื่อมโยงกองกำลังทั้งหมดทั่วพื้นที่ โดยเล็งเป้าและจมเรือยูเอสเอส เรซีน ซึ่งเป็นเรือของกองทัพเรือที่ปลดประจำการแล้ว ลงสู่ก้นมหาสมุทรแปซิฟิก

ผู้โดยสารที่สถานีรถไฟใต้ดินกรุงโซลมองดูเจ้าหน้าที่ตำรวจเกาหลีใต้ ในระหว่างการฝึกซ้อมต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมภายใต้รหัส อุลชี ฟรีดอม การ์เดียน เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560
ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

กองทัพข้ามชาติดังกล่าวโจมตียานสะเทินน้ำสะเทินบกด้วยปืนใหญ่ระยะไกล การโจมตีทางอากาศและฐานย่อย รวมทั้งขีปนาวุธบนฝั่งตามเวลาจริง ตามรายงานของสื่อมวลชนหลายแห่ง เช่น กองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่นยิงขีปนาวุธภาคพื้นดินสู่เรือไทป์ 12 ที่เดินทางด้วยความเร็วสูงด้วยระยะทางกว่า 100 ไมล์ทะเล

“ปฏิบัติการแบบหลายมิติต้องพึ่งพาการกำหนดเป้าหมายแบบหลายมิติ” พ.อ. คริสโตเฟอร์ เวนด์แลนด์ ผู้บัญชาการกองพลน้อยทหารปืนใหญ่ภาคที่ 17 ซึ่งเข้าร่วมในการฝึกจมเรืออธิบาย กองพลน้อยสร้างหลักการพื้นฐานของหน่วยเฉพาะกิจแบบหลายมิติ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อทดสอบหลักการแบบหลายมิติในภาคสนาม

“เป้าหมายของเราคือการสร้างการทำงานร่วมกันเพื่อให้สามารถป้องปรามศัตรูของเราทั่วทุกพื้นที่” พล.อ. เวนด์แลนด์กล่าว

ปฏิบัติการนี้จำเป็นต้องมีการประสานงานเพื่อสังเคราะห์ข้อมูลจากพื้นที่ทั้งหมด เพื่อระบุและโจมตีเป้าหมายในเวลาที่เหมาะสม

ปฏิบัติการแบบหลายมิติต้องการเอาชนะการปฏิเสธภัยคุกคามที่เข้าถึงจากศัตรูในระดับเดียวกัน โดยบูรณาการและประสานความสามารถ เช่น ยุทโธปกรณ์ด้านการเฝ้าระวังแบบไร้คนบังคับ การบิน ปืนใหญ่ระยะไกล การป้องกันทางอากาศ สงครามอิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางไซเบอร์และอวกาศ

พล.อ. คริสโตเฟอร์ การ์เวอร์ (เกษียณอายุ) ซึ่งเป็นโฆษกกองทัพบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิกในขณะนั้นกล่าวว่า ปฏิบัติการแบบหลายมิติสร้างขึ้นจากความพยายามในการใช้สรรพาวุธผสมในอดีต โดยเพิ่มพื้นที่ทางไซเบอร์และอวกาศเข้ามา

“สิ่งที่ทหารภาคพื้นดินจะได้เห็นในอนาคตคือการเข้าถึงโดยตรงมากขึ้น ด้วยระดับที่ต่ำลงในพื้นที่ทั้งห้าแห่ง” พล.อ. การ์เวอร์กล่าว

ความท้าทายของระบบเมืองขนาดใหญ่

ในอดีต กองทัพสหรัฐฯ เคยพยายามล้อม แยกตัว หรือหลีกเลี่ยงเมืองขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้กองทัพต้องเรียนรู้วิธีต่อสู้ในและบริเวณรอบ ๆ มหานคร แม้การล้อมโมซูลจะยังเป็นไปได้ แต่การล้อมเมืองที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคนเป็นไปไม่ได้ พล.ท. บิลส์กล่าว

“คุณไม่สามารถล้อมมหานครและไม่สามารถหลีกเลี่ยงมหานคร หากต้องการปะทะกับศูนย์กลางแรงดึงดูดของภูมิประเทศมนุษย์ในอนาคต คุณจะต้องเข้าไปและปฏิบัติการภายในเมืองนั้น”

นอกเหนือจากขนาดของมหานคร ยังมีความท้าทายอื่น ๆ แม้การเคลื่อนไหวของกองทัพจะกระทำแบบแยกตัวได้ในพื้นที่ชนบท แต่มีแนวโน้มจะเกิดผลกระทบเป็นทอด ๆ หรือเป็นระลอกได้ในพื้นที่เมือง

“ทุกการกระทำที่เกิดขึ้นในเมืองจะมีผลสะท้อนต่อเนื่อง” พ.อ. ทาวน์เซนด์กล่าว

นอกจากนี้ ผู้นำทางทหารยังต้องแบ่งผลกระทบของการกระทำในมหานครในภูมิภาคออกเป็นปัจจัย

“มหานครเป็นระบบที่ประกอบด้วยระบบย่อยหลายระบบ แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ใหญ่กว่ามากที่สามารถขยายไปทั่วโลก”
ดร. เกลนน์อธิบาย

มีแหล่งอำนาจอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการรวมทั้งภัยคุกคามแฝง

“โครงสร้างทางสังคมอาจสำคัญกว่าสภาพทางกายภาพ… ภูมิประเทศที่แน่ชัดอาจไม่ใช่พื้นดินหรืออาจไม่ได้อยู่ในเขตเมืองด้วยซ้ำไป”

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ “มหานครมีแนวโน้มที่จะได้เปรียบทางยุทธศาสตร์มากยิ่งกว่าได้เปรียบทางทหาร” พล.ท. บิลส์กล่าว

นอกจากนี้ วิกฤติและความขัดแย้งยังเป็นตัวขัดขวางกระแสปกติของเมืองใหญ่รวมทั้งสร้างกระแสใหม่ขึ้น การทำความเข้าใจกระแสที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองจะเป็นหนึ่งในความท้าทายอันดับต้น ๆ สำหรับผู้นำทางทหาร นอกจากนี้ ความกังวลทางด้านพลเมือง เช่น การมีการปกครองที่ดี และความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การปกป้องน้ำและแหล่งจ่ายไฟ จะจำกัดกิจกรรมต่าง ๆ อีกด้วย

มหานครไม่เพียงเปลี่ยนแปลงแบบช่วงตึกต่อช่วงตึก แต่ยังเปลี่ยนแปลงแบบวันต่อวันด้วย “ภูมิทัศน์เมืองเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว” พล.อ. ทาวน์เซนด์กล่าว เช่น ในโมซูล “ระบบซี 2 ของเรา ระบบเล็งเป้าหมายของเรา… ตกยุคอย่างรวดเร็ว เพราะภูมิทัศน์เมืองเปลี่ยนแปลงเร็วเกินกว่าที่เราจะปรับมโนภาพได้ทัน”

นอกจากนี้ การเติบโตของเมืองยังมีการเปลี่ยนแปลงทางพลวัตอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาสงบ “เขตลงจอดกลายเป็นห้างสรรพสินค้าหรือลานจอดรถในชั่วข้ามคืน” พล.ท. บิลส์กล่าว

ปฏิบัติการด้านข้อมูล ทางไซเบอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นหลักสำคัญในปฏิบัติการแบบหลายมิติในมหานครต่าง ๆ แต่ขนาดของข้อมูลและการวิเคราะห์ที่จำเป็นเพื่อรักษาไว้ซึ่งความตระหนักเกี่ยวกับสถานการณ์เพียงอย่างเดียวก็เป็นเรื่องน่าหวาดหวั่นแล้ว นอกจากนี้ ความคล่องแคล่วทางภาษาและวัฒนธรรมยังเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการจัดการปฏิบัติการและการตอบโต้ด้วย

“เราไม่ได้อยู่อย่างสุขสบายเป็นเดือนเป็นปีในมหานคร ดังนั้น เราจึงต้องถามพลเมืองว่าปกติแล้วสิ่งใดที่ควรฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ” พล.ท. บิลส์กล่าว

ผู้นำระดับสูงกล่าวว่าการสร้างความสัมพันธ์ แบ่งปันข้อมูล และการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเข้าใจความซับซ้อนของการเป็นพันธมิตรจะเป็นหลักสำคัญสำหรับความสำเร็จ ด้วยการใช้ “ข้อได้เปรียบจากความสัมพันธ์ทางทหารและพลเรือนเหล่านั้น ที่จะทำให้เราเข้าใจสภาพแวดล้อมที่เราทำงานอยู่อย่างถ่องแท้” ดร. เกลนน์อธิบาย

การทำงานร่วมกันที่ตกทอดมา

การเปลี่ยนแปลงของประชากรหมายความว่าภัยพิบัติและความขัดแย้งมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในมหานครในอนาคต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดแปซิฟิก เนื่องจากภูมิภาคนี้เอื้อต่อภัยทั้งสองอยู่แล้ว นอกจากนี้ ปฏิบัติการในมหานครจะเพิ่มความต้องการในทุกมิติทั่วทั้งหน่วยทางทหารและท้าทายพันธมิตร ผู้นำอาวุโสกล่าว

“มีศัตรูที่จะสร้างความขัดแย้งกับความร่วมมือต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ และเราต้องดำเนินการสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับความท้าทายเหล่านี้และความร่วมมือของเราต่อไป” พล.อ. ทาวน์เซนด์กล่าวกับผู้เข้าร่วมการประชุมกองกำลังภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งได้รับการยกย่องจากหลายประเทศ ตั้งแต่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มองโกเลีย เนปาล ไต้หวัน จนถึงฟิจิและวานูอาตู

“เราจะต้องการความช่วยเหลือจากคุณในการพัฒนาแนวคิดนี้ ซึ่งเราเรียกว่าปฏิบัติการแบบหลายมิติ เราจะต้องการความช่วยเหลือจากคุณ และเมื่อเรามองไปยังการต่อสู้ในมหานคร เราจะต้องการความช่วยเหลือจากคุณ” พล.อ. ทาวน์เซนด์กล่าวกับผู้นำกองทัพ “สำหรับการต่อสู้ในมหานคร คุณสามารถวางใจให้สหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตร และเราหวังว่าจะได้ปรับปรุงการทำงานร่วมกันของเรา”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button