การร่วมมือในภูมิภาค อย่างมียุทธศาสตร์
อินเดียและอินโดนีเซียสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเพื่อความมั่นคง
วินัย เการา
แม้ว่าอินเดียและอินโดนีเซียจะมีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน แต่ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ก็เป็นพัฒนาการล่าสุด สองประเทศนี้มีข้อกังวลหลายประการ หนึ่งในนั้นเกี่ยวข้องกับการผงาดขึ้นอย่างรวดเร็วของสาธารณรัฐประชาชนจีนและเจตนาในสมรภูมิทางทะเลแห่งนี้ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2557 รัฐบาลของนายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย พยายามเร่งสร้างสัมพันธ์ของอินเดียกับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะส่วนหนึ่งของนโยบายปฏิบัติการตะวันออก ซึ่งปรากฏอย่างชัดเจนในการเยือนอินโดนีเซียเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ก่อนการปราศรัยครั้งแรกที่การประชุมแชงกรีล่าในสิงคโปร์
อินเดียไม่พึงพอใจแค่การมองไปทางตะวันออกอีกแล้ว แต่ต้องการเป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันต่อดุลอำนาจในภูมิภาคโดยการทำหน้าที่ในตะวันออก แม้การกำหนดลักษณะและขอบเขตของความร่วมมือในอินโดแปซิฟิกจะไม่ใช่หน้าที่ของอินเดีย แต่จากการอภิปรายและการทดลอง อินเดียก็สามารถหาพื้นที่ซึ่งความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นจะให้ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงร่วมกันได้ ตามคำกล่าวของนายลูหัต ปันด์จายตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการทางทะเลของอินโดนีเซีย “ความสัมพันธ์ของอินเดียและอินโดนีเซียมีความสำคัญต่อดุลอำนาจในเอเชีย” เห็นได้ชัดว่าอินโดนีเซียมีความกระตือรือร้นพอ ๆ กัน เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพไม่ให้จีนเดินหน้าในวิถีที่เป็นปรปักษ์กันในปัจจุบัน
ความพยายามของรัฐบาลนายโมทีที่จะเชื่อมอินเดียเข้ากับกลุ่มเพื่อนบ้านทางทะเลดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดแปซิฟิก มีจุดมุ่งหมายที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศแบบเสรีนิยมตามกฎเกณฑ์ โดยทำให้แน่ใจว่าการเคลื่อนไหวของผู้คน สินค้า และบริการต่าง ๆ ผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางการขนส่งที่คึกคักที่สุดระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นจะเป็นไปโดยเสรี เสรีภาพในการเดินเรือ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือ และการเข้าถึงตลาดโดยไม่มีอุปสรรคเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับวัตถุประสงค์นี้ ดังนั้น จุดสำคัญของการเยือนอินโดนีเซียของนายโมที คือเพื่อเน้นย้ำว่าทั้งสองประเทศเป็นเพื่อนบ้านทางทะเลที่ใกล้ชิดกัน นายโมทีและนายโจโก “โจโกวี” วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เห็นพ้องกันในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับอินโดนีเซีย ให้เป็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม แถลงการณ์ของทั้งสองย้ำถึง “ความสำคัญของการสร้างภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรี เปิดกว้าง โปร่งใส อิงกฎเกณฑ์ สงบสุข เจริญรุ่งเรือง และไม่แบ่งแยก” ซึ่งจะยึดถือ “อำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน กฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล อิสรภาพในการเดินเรือ การบินข้ามน่านฟ้า และการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ในขณะเดียวกัน นายโจโกวีพยายามที่จะเปลี่ยนอินโดนีเซียให้มีอำนาจทางทะเล และมุ่งมั่นในด้านอำนาจอธิปไตยทางทะเลสำหรับประเทศของตน ดังนั้น การยืนยันซ้ำถึงการปกป้องอิสรภาพในการเดินเรือจึงมุ่งเป้าอย่างชัดเจนไปที่จีน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในข้อพิพาทด้านอาณาเขตที่มีการโต้แย้งกันอย่างดุเดือดในทะเลจีนใต้และตะวันออก รัฐบาลอินโดนีเซียอ้างว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทด้านอาณาเขตใด ๆ กับรัฐบาลจีนในทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียไม่ลังเลที่จะปะทะกับจีนในเรื่องสิทธิ์การทำประมงเกินขนาดบริเวณรอบหมู่เกาะนาทูนา มีการมองว่าท่าทีที่น่าทึ่งของนายโจโกวีในการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีบนเรือรบนอกหมู่เกาะนาทูนา เพียงไม่กี่วันหลังจากที่การปะทะกันทางเรือระหว่างจีนกับอินโดนีเซียใน พ.ศ. 2559 เป็นการแสดงออกถึงความแน่วแน่ที่มีต่อจีน
อินโดนีเซียไม่ได้ต่อต้านนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่นำโดยจีนมากเท่าอินเดีย แต่อินโดนีเซียก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนมากอย่างที่จีนคาดหวัง หลังจากการประชุม นายโมทีพยายามเชื่อมโยงนโยบายปฏิบัติการตะวันออกของอินเดีย รวมถึงความมั่นคงและความก้าวหน้าสำหรับทุกคนในภูมิภาคเข้ากับนโยบายจุดศูนย์กลางทางทะเลอันเปี่ยมความมุ่งมั่นของนายโจโกวี
ในอดีต ความร่วมมือทางทะเลของอินเดียและอินโดนีเซียส่วนใหญ่จำกัดอยู่ที่การลาดตระเวนแบบทวิภาคี การลาดตระเวนต่อต้านโจรสลัด และการฝึกซ้อมค้นหาและกู้ภัยร่วมกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทั้งสองประเทศที่จะเดินหน้าสู่การมีส่วนร่วมที่เข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากการร่วมมือกันจะทำให้ควบคุมจุดทางเข้าจากอ่าวเบงกอลไปยังช่องแคบมะละกาได้ ในบริบทนี้จะเห็นได้ว่าอินเดียมีความสนใจในการเข้าร่วมหน่วยลาดตระเวนช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นการจัดการของสี่ประเทศประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของอินเดียเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก การประชุมระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 ที่บาหลีมีการสำรวจประเด็นดังกล่าว แต่ไม่นานก็พบว่าทางฝั่งอินเดียยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการดำเนินงานของหน่วยลาดตระเวนช่องแคบมะละกาอย่างครบถ้วน ในเมื่อการเดินหน้าดูจะเป็นไปไม่ได้ แถลงการณ์ร่วมของนายโมทีและนายโจโกวีจึงเป็นเพียงข้อสังเกตว่าการประชุมในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 เป็นการ “สำรวจแนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือทางเทคนิคเชิงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเล”
อินโดนีเซียเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของเอเชีย เนื่องจากสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงในภูมิภาคนี้แย่ลงเรื่อย ๆ จากการแข่งขันของสหรัฐอเมริกาและจีน รัฐบาลอินโดนีเซียจึงต้องการให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของแนวความคิดรวบยอดและวิวัฒนาการของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก นายโจโกวีกล่าวถึงแนวคิดของอินโดแปซิฟิกว่า “เปิดกว้าง โปร่งใสและไม่แบ่งแยก ส่งเสริมนิสัยในการเจรจา ส่งเสริมความร่วมมือและความเป็นมิตร รวมทั้งการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ” ซึ่งวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอินโดแปซิฟิกของนายโมทีฟังดูคล้ายกันอย่างน่าทึ่ง โดยระบุว่าอินเดียมีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์โครงสร้างความมั่นคงในภูมิภาคที่เสรีและเปิดกว้างในเอเชียโดยมี “อาเซียนเป็นศูนย์กลาง” และแม้จะไม่มีผู้นำอเมริกันก็ตาม
รัฐบาลอินเดียทุ่มเททำงานอย่างหนักร่วมกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลียเพื่อถ่วงดุลการคุกคามทางภูมิเศรษฐศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ของจีนที่เพิ่มสูงขึ้น อินเดียยังคงดำเนินการตามแนวทางป้องกันความเสี่ยงในการแสวงหาการปรับดุลอำนาจใหม่ในอินโดแปซิฟิก โดยการเข้าหาจีนโดยตรงรวมทั้งหาทางยับยั้งพฤติกรรมของจีน
ในทางยุทธศาสตร์ อินโดนีเซียมีความสำคัญเทียบเท่าสหรัฐฯ และจีน เพราะประเทศอินโดนีเซียคร่อมอยู่บนจุดแออัดที่สำคัญของอินโดแปซิฟิก รัฐบาลอินโดนีเซียรับประกันการลงทุนของจีนโดยไม่แสดงหลักฐานใด ๆ ว่าเข้าข้างจีน การเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในภูมิภาคที่มีความสามารถและความน่าเชื่อถือในการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญในการต่อต้านการคุกคามของจีน ทำให้ขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซียถือว่ารัฐบาลอินเดียเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อถือได้
นายโมทีลงนามในข้อตกลงร่วมกับนายโจโกวี โดยอนุญาตให้อินเดียเข้าถึงท่าเรือซาบังทางตอนเหนือของสุมาตรา ทำให้อินเดียเดินหน้าแสดงบทบาทของตนต่อไปได้ในช่องแคบมะละกา ทั้งนี้จีนไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ก่อนการเดินทางไปยังอินโดนีเซียของนายโมทีหนึ่งวัน หนังสือพิมพ์ โกลบอลไทม์ส ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาลจีนระบุว่า จีนจะไม่ “ทำเป็นมองไม่เห็น” หากรัฐบาลอินเดียต้องการ “ให้กองทัพเข้าถึงเกาะทางยุทธศาสตร์ซาบัง” และแนะนำให้อินเดียไม่ “ทำให้ตัวเองตกหลุมพรางที่ผิดพลาดจนนำไปสู่การแข่งขันทางยุทธศาสตร์กับจีนและทำให้ตนเองเสียใจในที่สุด”
จากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่อาจย้อนคืน อินโดแปซิฟิกได้กลายเป็นหนึ่งในที่บ่มเพาะอำนาจสำคัญของการเมืองโลกไปแล้ว การเห็นพ้องต้องกันระหว่างอินเดียและอินโดนีเซีย ตามที่สะท้อนให้เห็นในการยกระดับความสัมพันธ์ไปเป็นระดับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม สามารถเป็นพื้นฐานสำหรับการมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อพัฒนาแนวคิดของอินโดแปซิฟิกต่อไป รัฐบาลอินเดียและรัฐบาลอินโดนีเซียเห็นพ้องที่จะดำเนินการตามขั้นตอนที่เป็นรูปธรรม เพื่อเร่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาคทางทะเลดังกล่าว การสร้างความตระหนักขึ้นมาใหม่ว่าทั้งสองประเทศเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด ซึ่งแบ่งปันความท้าทายร่วมกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการใช้มหาสมุทรอย่างยั่งยืน ทำให้ทั้งสองประเทศจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการรักษาความมั่นคงระดับภูมิภาคในอินโดแปซิฟิกมากขึ้น ความท้าทายสำหรับนายโมทีและนายโจโกวีคือการสร้างความร่วมมือทางทะเลให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป เพื่อให้เป็นอินโดแปซิฟิกที่เป็นเสรี เปิดกว้าง และไม่แบ่งแยกอย่างแท้จริง
นายวินัย เการา เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกิจการระหว่างประเทศและการศึกษาด้านความมั่นคง รวมทั้งเป็นผู้ประสานงานของศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้งที่มหาวิทยาลัยตำรวจ ความมั่นคง และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซาร์ดาร์พาเทล ในรัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิกบูลเลททิน ฉบับที่ 437 ซึ่งจัดทำโดยศูนย์ตะวันออกและตะวันตก มุมมองที่แสดงออกในทีนี้เป็นของผู้เขียนเพียงผู้เดียว และไม่ได้สะท้อนถึงนโยบายหรือจุดยืนของศูนย์ตะวันออกและตะวันตกหรือองค์กร
ใด ๆ ที่ผู้เขียนสังกัด บทความนี้มีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ ฟอรัม