ติดอันดับ

การลาดตระเวนทางอากาศและทางทะเลแบบไตรภาคีลดการลักพาตัว

ทอม แอบกี

การลาดตระเวนทางอากาศและทางทะเลที่ดำเนินการโดยอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ในทะเลซูลูและทะเลเซเลเบสได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าประสบความสำเร็จนับตั้งแต่เริ่มต้นใน พ.ศ. 2560 หน่วยลาดตระเวนลดการลักพาตัวโดยกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งอะบูซัยยาฟ และนำไปสู่การช่วยเหลือตัวประกันนับสิบคน

หน่วยลาดตระเวนมีชื่อว่าอินโดมาลฟิ ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่ผสานชื่อของประเทศพันธมิตรเข้าด้วยกัน การลาดตระเวนนี้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการร่วมมือด้านกลาโหมในการต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรง อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ล่าสุดที่ตัวประกัน 2 ใน 3 คนเสียชีวิตขณะพยายามหลบหนีจากกลุ่มอะบูซัยยาฟ แสดงให้เห็นว่าต้องทำงานมากขึ้นและยังคงต้องมีการลาดตระเวนอยู่ เจ้าหน้าที่ทหารกล่าว

กองกำลังความมั่นคงของฟิลิปปินส์ได้ช่วยเหลือนายเฮริ อาร์เดียนส์ยาห์ ชาวประมงอินโดนีเซียอายุ 18 ปี (ภาพ) เมื่อต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 เขาถูกจับตัวไปโดยกลุ่มอะบูซัยยาฟ ซึ่งจู่โจมเรือประมงที่เขาใช้ร่วมกับเพื่อนชาวอินโดนีเซียและมาเลเซีย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะจาการ์ตาโพสต์นายเฮริลอยคออยู่เป็นเวลา 22 ชั่วโมงในน่านน้ำระหว่างเกาะสิมิซาและบานาเลาของทะเลซูลู หลังจากการเผชิญหน้าด้วยอาวุธระหว่างกองกำลังรักษาความมั่นคงและกลุ่มหัวรุนแรง เพื่อนของเขาหลายคนหายสาบสูญไปจากการดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด

การลักพาตัวชาวประมงอินโดนีเซีย 10 ครั้งก่อนหน้านี้ใน พ.ศ. 2559 ทำให้รัฐมนตรีจากทั้งสามประเทศลงนามในข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคีเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 ซึ่งริเริ่มการลาดตระเวนทางทะเลและทางอากาศ การแบ่งปันข่าวกรอง และการจัดตั้งศูนย์บัญชาการทางทะเลในภูมิภาคทะเลซูลู ตามรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในกรุงมะนิลา เอเชียแปซิฟิกพาทเวย์ ต่อบริษัทโพรเกรส ฟาวน์เดชั่น

“โครงการริเริ่มนี้ให้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยกรณีการลักพาตัวและคดีการปล้นรอบน่านน้ำซาบาห์ของมาเลเซียและทะเลซูลูมีจำนวนลดลงนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการ” ผู้บัญญัติกฎหมายชาวมาเลเซียกล่าวในแถลงการณ์ฉบับทางการของรัฐสภาตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562

หนังสือพิมพ์โพสต์ระบุเพิ่มเติมว่า ปฏิบัติการลาดตระเวนในช่วงสามปีแรกพบเห็นชาวประมงอินโดนีเซีย 36 คนถูกลักพาตัวไปโดยกลุ่มอะบูซัยยาฟหรือกลุ่มในเครือ ยกเว้นหนึ่งรายเท่านั้น ที่เหลือทั้งหมดได้รับการช่วยเหลือสำเร็จ

“มีการลาดตระเวนอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปีทั้งทางทะเลและทางอากาศ โดยใช้เครื่องมือหลักและระบบอาวุธของทั้งสามประเทศ เช่น เรือ อากาศยาน และบุคลากร” พล.จ. ซิสเรียดี โฆษกกองทัพอินโดนีเซียกล่าวกับ ฟอรัมมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองระหว่างทั้งสามประเทศผ่านทาง ศูนย์บัญชาการทางทะเลซึ่งตั้งอยู่ในเมืองตาเวาที่ประเทศมาเลเซีย เมืองทะวี-ทะวีที่ประเทศฟิลิปปินส์ และเมืองตารากันที่ประเทศอินโดนิเซีย พื้นที่หลักของการลาดตระเวนคือน่านน้ำชายแดนของสามประเทศ โดยมุ่งเน้นที่ทะเลซูลู

“มีการประสานงานด้านความรับผิดชอบของแต่ละประเทศผ่านการประชุมคณะทำงานร่วม ซึ่งดำเนินการเป็นประจำเพื่อเป็นเวทีสำหรับการประเมินผลและแบ่งงานตามความคืบหน้าของสถานการณ์ในภาคสนาม” พล.จ. ซิสเรียดี ผู้ใช้ชื่อเพียงอย่างเดียว กล่าว “ภารกิจหลักคือการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคเพื่อต่อต้านภัยคุกคามของโจรสลัด การลักพาตัว การก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ”

ทั้งสามประเทศสนับสนุนเรือรบและอากาศยานในการลาดตระเวน เขากล่าว

การฝึกซ้อมการลาดตระเวนทางทะเลไตรภาคีนั้นจัดขึ้นเป็นประจำโดยหมุนเวียนกันในศูนย์บัญชาการทางทะเลแต่ละแห่ง เขากล่าวว่า การฝึกซ้อมประกอบไปด้วยการฝึกอบรมความร่วมมือทางทะเล การฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ และกิจกรรมอื่น ๆ การฝึกไตรภาคีอื่น ๆ ภายในกรอบข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคีได้รวมถึงการฝึกซ้อมรบทางบกและการแลกเปลี่ยนทางทะเล

“ในอนาคต อินโดมาลฟี จะพัฒนาประสิทธิภาพของกิจกรรมต่อไป ทั้งในหน่วยลาดตระเวนทางทะเลไตรภาคีและหน่วยลาดตระเวนทางอากาศไตรภาคี รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ผ่านการเยี่ยมชมท่าเรือ การฝึกซ้อม และการเรียนรู้ร่วมกัน” พล.จ. ซิสเรียดีกล่าวสรุป

นายทอม แอบกี เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากประเทศสิงคโปร์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button