ติดอันดับ

อินเดีย ญี่ปุ่น และศรีลังกา ตกลงพัฒนาท่าเรือโคลอมโบเพื่อตอบโต้จีน

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 อินเดีย ญี่ปุ่น และศรีลังกาได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อร่วมกันพัฒนาส่วนใต้ของท่าเรือโคลอมโบ ซึ่งเรียกว่าท่าขนถ่ายตู้สินค้าฝั่งตะวันออก ตามรายงานของสื่อ

การเคลื่อนไหวนี้จะเพิ่มปริมาณตู้สินค้าที่ขนส่งผ่านท่าเรือ และปรับปรุงการขนส่งทางทะเลในภูมิภาค นอกจากนี้ ข้อตกลงพหุภาคีดังกล่าวยังส่งเสริมภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง รวมทั้งเป็นการตอบโต้ต่อการขยายนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน วารสารนิกเคอิ เอเชียน รีวิวรายงาน

โดยจะมีการพัฒนาท่าขนถ่ายตู้สินค้ากลางทะเลลึกถัดจากสะพานขนถ่ายตู้สินค้ามูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.58 หมื่นล้านบาท) ที่ยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่ในที่จอดเรือโคลัมโบซึ่งควบคุมโดยจีน และรู้จักกันในนามท่าขนถ่ายตู้สินค้านานาชาติโคลอมโบ ตามรายงานของเอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส

จีนถือครองท่าขนถ่ายตู้สินค้านานาชาติโคลอมโบอยู่กว่าร้อยละ 85 ซึ่งดำเนินการใน พ.ศ. 2556 และการท่าเรือศรีลังกาถือครองอยู่เพียงร้อยละ 15 เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส รายงาน

ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับข้อตกลงของจีน ในข้อตกลงของการท่าเรือศรีลังกากับอินเดียและญี่ปุ่น การท่าเรือศรีลังกาจะยังคงเป็นเจ้าของอาคารท่าเทียบเรือฝั่งตะวันออกและร้อยละ 51 ของบริษัทที่จะดำเนินการบริหารท่าเทียบเรือตู้สินค้าฝั่งตะวันออก โดยอินเดียและญี่ปุ่นจะถือครองร้อยละ 49 ที่เหลือ รอยเตอร์ รายงาน ส่วนเงื่อนไขในข้อตกลงดังกล่าวจะสามารถสรุปได้ในการประชุมคณะทำงานร่วมที่กำลังจะมาถึง หนังสือพิมพ์ เดอะฮินดูรายงาน

ญี่ปุ่นจะจัดหาเงินทุนให้โครงการนี้ซึ่งคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.58 หมื่นล้านบาท) ด้วยเงินกู้ผ่อนปรนระยะยาวที่มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 และระยะปลอดดอกเบี้ย 10 ปี ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

“ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสามารถของศรีลังกาในการรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ของประเทศ ควบคู่ไปกับการให้ความร่วมมือกับพันธมิตรระหว่างประเทศ” การท่าเรือศรีลังการะบุในแถลงการณ์ “โครงการร่วมนี้สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาดีและความร่วมมืออันยาวนานของทั้งสามประเทศ”

มากกว่าร้อยละ 70 ของการเปลี่ยนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรือโคลอมโบ (ภาพ) ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดและคึกคักที่สุดของศรีลังกา เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกของอินเดีย ตามรายงานของ เดอะฮินดู

ข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเต็มใจของอินเดียที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่น สหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ในอินโดแปซิฟิก นายคอนสแตนติโน ซาเวียร์ เจ้าหน้าที่นโยบายต่างประเทศของบริษัทบรูคกิงส์อินเดีย กล่าวกับหนังสือพิมพ์ เดอะอีโคโนมิกไทมส์“การลงทุนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนในภูมิภาคเอเชียใต้และมหาสมุทรอินเดีย บีบให้รัฐบาลอินเดียต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้นในการนำเสนอทางเลือกที่เชื่อถือได้เพื่อสวนกระแสการเติบโตทางอำนาจเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน”

ข้อตกลงล่าสุดของจีนกับศรีลังกาได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นอันตรายต่อประเทศเจ้าบ้าน เช่น ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ศรีลังกามอบท่าเรือแฮมบันโตตาให้กับบริษัทของจีนที่ดำเนินการโดยภาครัฐ หลังจากที่ประเทศศรีลังกาไม่สามารถชำระหนี้จำนวนมหาศาลคืนให้แก่จีน ตามข้อมูลจากสำนักข่าวหลายแห่ง ข้อตกลงมูลค่า 1.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3.55 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเปิดเผยเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 ทำให้ศรีลังกาเกือบจะพ่ายแพ้ในทันทีต่อการล่อลวงที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ภายในหนึ่งปีครึ่ง ศรีลังกาถูกบังคับให้อนุญาตบริษัทจีนเช่าเพื่อดำเนินงานท่าเรือ ซึ่งอยู่ห่างจากโคลอมโบไปทางใต้ 240 กิโลเมตรเป็นเวลา 99 ปี

นักวิเคราะห์กล่าวว่า จีนกำลังใช้ยุทธศาสตร์กับดักหนี้ที่คล้ายกันเพื่อควบคุมโครงการอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น โครงการในมัลดีฟส์

หลายประเทศรวมทั้งอินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาไม่เพียงกังวลเกี่ยวกับความพยายามของจีนที่จะเปลี่ยนประเทศเหล่านี้ให้เป็นรัฐบริวาร แต่ยังมีความกังวลว่าจีนอาจจัดกำลังทางทหารที่ท่าเรือดังกล่าวในอนาคต โดยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงการบีบบังคับ การควบคุม และการขยายตัวของจีนมากกว่าความช่วยเหลือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่มีอันตราย นักวิเคราะห์กล่าว

ใน พ.ศ. 2557 ภายในหนึ่งปีหลังจากการลงนามในข้อตกลงการพัฒนาท่าเรือโคลัมโบ เรือดำน้ำของจีนแล่นเข้าไปยังท่าเรือขนถ่ายตู้สินค้านานาชาติโคลอมโบที่ดำเนินงานโดยจีน กระตุ้นให้เกินการประท้วงจากอินเดีย ตามรายงานของรอยเตอร์ ในการเรียกขอครั้งที่สอง ทางศรีลังกาไม่ได้อนุญาตให้เรือดำน้ำของจีนแล่นเข้าไปยังท่าเรือดังกล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button