เรื่องเด่น

การเพิ่มขึ้นของ อำนาจที่แหลมคม

ประเทศระบอบเผด็จการจีนและรัสเซียทำการครอบงำ กดขี่ เเละเบี่ยงความสนใจ เพื่อเดินหน้าวาระของตนในประเทศประชาธิปไตย

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

สาธารณรัฐประชาชนจีนและรัฐบาลรัสเซียกำลังขับเคี่ยวรูปแบบใหม่ของสงครามข้อมูลที่พึ่งพาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต่อสิ่งที่กำลังกลายเป็นที่รู้จักในนาม “sharp power” (อำนาจที่แหลมคม) คำนี้คิดขึ้นโดยนักวิจัยชื่อ นายคริสโตเฟอร์ วอล์คเกอร์ และนางเจสสิก้า ลุดวิก ในรายงานฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ของกองทุนแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย

ประเทศเผด็จการทั้งสองใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อครอบงำประชาธิปไตยในวิธีเกินล้ำแนวคิดแบบดั้งเดิมของโครงการจูงใจหรือการโฆษณาชวนเชื่อ ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ต้องการกำหนดวิธีการที่โลกมองประเทศตน แต่สองประเทศนี้ใช้ยุทธวิธีการบีบบังคับ ผู้เขียนเปิดเผยในรายงานจำนวน 156 หน้า ซึ่งมีหัวข้อว่า “อำนาจที่แหลมคม : อิทธิพลอำนาจเผด็จการที่เพิ่มขึ้น” ซึ่งตีพิมพ์โดยมูลนิธิและสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

“สิ่งที่เราเข้าใจมาตลอดจนถึงปัจจุบันว่าเป็นระบอบเผด็จการ ‘อำนาจอ่อน’ นั้น ควรจัดอยู่ในหมวดหมู่ ‘อำนาจที่แหลมคม’ มากกว่า เพราะมันเจาะ แทรกซึม หรือทะลวงสภาพแวดล้อมทางการเมืองและสารสนเทศในประเทศที่เป็นเป้าหมาย ในการแข่งขันใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐเผด็จการและรัฐประชาธิปไตย เราควรพิจารณากลวิธี “อำนาจที่แหลมคม” ของระบอบที่กดขี่ว่าเป็นปลายกริชหรือเป็นเหมือนเข็มฉีดยา” นายวอล์คเกอร์และนางลุดวิกเขียน นายวอล์คเกอร์เป็นรองประธานด้านการศึกษาและการวิเคราะห์ที่มูลนิธิ ขณะที่นางลุดวิกเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยและนักการประชุม

ป้ายแสดงภาพศิลปินชาวดัตช์ วินเซนต์ แวน โก๊ะ นอกสถานทูตเนเธอร์แลนด์ในเคียฟ ประเทศยูเครน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 นักเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ชาวดัตช์เพิกเฉยต่อโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย ก่อนที่จะมีข้อตกลงสมาคมสหภาพดัตช์ ยูเครน และยุโรป ซึ่งท้ายที่สุดรัฐสภาดัตช์ก็ยอมรับข้อตกลงใน พ.ศ. 2560 รอยเตอร์

“อิทธิพลอำนาจเผด็จการนี้ โดยหลักการแล้วไม่ได้เกี่ยวกับการดึงดูดหรือแม้แต่การโน้มน้าว ในทางกลับกันกลับมุ่งเน้นสิ่งที่ทำให้ไขว้เขวและการครอบงำ รัฐเผด็จการที่มีความทะเยอทะยานซึ่งปราบปรามพหุนิยมทางการเมืองและการแสดงออกอย่างเสรีในประเทศอย่างเป็นระบบ กำลังพยายามใช้หลักการที่คล้ายกันในระดับสากลมากขึ้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง” ผู้เขียนระบุ

“อำนาจที่แหลมคม ซึ่งคือการใช้ข้อมูลในทางหลอกลวง เป็นอำนาจแข็งรูปแบบหนึ่ง” นายโจเซฟ ไนย์ อธิบายไว้ในการวิเคราะห์ของรายงานที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ใน ฟอรีนแอฟแฟร์ส นายไนย์เป็นนักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงชาวสหรัฐฯ แนะนำให้โลกรู้จักคำว่า “อำนาจอ่อน” ในหนังสือเมื่อ พ.ศ. 2533 แม้ว่าจีนใช้วัฒนธรรม วีซ่า เงินอุดหนุน เเละการลงทุนต่าง ๆ เพื่อเอาชนะใจเเละความคิดของต่างชาติเหมือนหลาย ๆ ประเทศ แต่กิจกรรมของจีนยิ่งบ่อนทำลายเเละแพร่หลายมากขึ้น

ในการให้สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2560 กับนิตยสาร ดิอีโคโนมิสต์ นางแอน-มารี เบรดี แห่งมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรีในนิวซีแลนด์ ได้อธิบายถึงการโฆษณาที่บิดเบือนข้อมูลเชิงรุกของสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าเป็น “การต่อสู้ใหม่ระดับโลก” เพื่อ “ชี้นำ ซื้อ หรือบีบบังคับอิทธิพลทางการเมือง”

นายวอล์คเกอร์และนางลุดวิกแย้งว่ารัฐบาลประชาธิปไตยและสังคมต้องทบทวนวิธีตอบสนองต่อยุทธวิธีอำนาจที่แหลมคมนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากจำนวน ลักษณะ และความเร็วของข้อมูลที่เคลื่อนที่ทางออนไลน์และผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ระบอบประชาธิปไตยไม่ควรเพียง “ป้องกันตนเองจากอิทธิพลอำนาจเผด็จการที่ชั่วร้าย” แต่ยังต้อง “หนักแน่นมากขึ้นในนามของหลักการของตนเอง” ทั้งสองให้เหตุผลในรายงาน

ในรายงานนี้ผู้เขียนทั้งสองได้วิเคราะห์กรณีศึกษาของกิจกรรมของสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัสเซียที่อาร์เจนตินาเเละเปรูในอเมริกาใต้ รวมถึงที่โปแลนด์และสโลวาเกียในยุโรปกลาง นอกจากนี้ ผู้เขียนยังตรวจสอบหลักฐานของวิธีที่มีเงื่อนงำ ซึ่งประเทศเผด็จการกำลังกรอกหูเรื่องราวทางการเมืองให้กับประเทศระบอบประชาธิปไตยอื่น ๆ ตั้งแต่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ไปจนถึงยุโรปและแอฟริกา

“เมื่อแยกเป็นส่วน ๆ ความพยายามของอิทธิพลอำนาจเผด็จการในบางประเทศอาจดูไม่ค่อยมีพิษสงหรือไม่มีประสิทธิภาพ แต่เมื่อรวมกิจกรรมที่ดูแตกต่างกันของรัสเซียและจีนในทั่วโลกเข้าด้วยกันแล้ว ก็จะเห็นภาพที่น่ากังวลมากขึ้น” ทั้งสองสรุป

การใช้ประโยชน์จากความไม่สมดุล

แม้ว่าจีนและรัสเซียจะใช้วิธีการที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองใช้ประโยชน์จากการเปิดกว้างของประเทศประชาธิปไตย ในขณะที่ปิดกั้นพรมแดนของตนทั้งที่เป็นพรมแดนจริงและเสมือนจริงต่ออิทธิพลจากภายนอก นายวอล์คเกอร์และนางลุดวิกอธิบาย

โดยหลัก ๆ แล้ว จีนใช้อำนาจที่แหลมคมเพื่อขจัดอุปสรรคที่มีต่อการการนำเสนอระบอบการปกครองของตนเอง โดยการครอบงำเเละตรวจพิจารณาการส่งข้อความและพฤติกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เขียนระบุ “รัฐบาลจีนมักตั้งเป้าหมายโดยการแสดงออกว่าตนเป็นอิทธิพลต่างประเทศที่มีเมตตา หรือเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาเศรษฐกิจโดยปราศจากสถาบันทางการเมืองแบบประชาธิปไตย” นอกจากนี้ “สิ่งที่แอบแฝงมากับการโฆษณาของจีนเพื่อปกป้องและส่งเสริมระบบพรรคเดียวของประเทศนั้น คือการวิจารณ์ประชาธิปไตยโดยนัยว่าไม่มีประสิทธิภาพ ยุ่งเหยิง และเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ไม่ดีสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ”

ร้านลอตเต้มาร์ทในกรุงปักกิ่งซึ่งมีชั้นวางสินค้าว่างเปล่า หลังจากวันที่บริษัทลอตเต้กรุ๊ปของเกาหลีใต้ตกลงให้ที่ดินทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้ เพื่อติดตั้งยุทธภัณฑ์ระบบป้องกันขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง การถูกโจมตีทางไซเบอร์โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ลอตเต้ดิวตี้ฟรีอ้างถึง ทำให้เว็บไซต์ซื้อของของลอตเต้ใช้งานไม่ได้นานกว่าหกชั่วโมงไม่กี่วันหลังจากมีการลงนามในข้อตกลง ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

จีนใช้วิธีการแบบดั้งเดิมที่หลากหลายของสังคมประชาธิปไตยเพื่อส่งมอบโครงการอำนาจที่แหลมคมของตน และสร้างระบอบพรรคการเมืองเดียวให้ดูเป็นที่น่าพอใจยิ่งขึ้นสำหรับประเทศที่เพิ่งเป็นระบอบประชาธิปไตยได้ไม่นาน โดยใช้ศูนย์วิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ช่องทางสื่อต่าง ๆ นำเสนอการฝึกอบรมภาษาผ่านสถาบันขงจื๊อ เเละการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลเพื่อชักนำเหล่านักการเมือง ผู้สื่อข่าว นักวิชาการประเทศที่เป็นประชาธิปไตยได้ไม่นานในละตินอเมริกาและที่อื่น ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายและจูงใจผู้สนับสนุนที่ครอบคลุมขึ้น ตัวอย่างหนึ่งคือในประเทศออสเตรเลีย หน่วยงานของจีนได้บริจาคเงินให้กับพรรคการเมือง ผู้สมัครรายบุคคล และมหาวิทยาลัย ซื้อพื้นที่ในหนังสือพิมพ์เพื่อโฆษณามุมมองของรัฐ และระงับการถกเถียงในวิทยาเขตของออสเตรเลียด้วยการควบคุมนักเรียนจีน ตามรายงานข่าวต่าง ๆ

ในทางตรงกันข้าม ภายในภาคประชาสังคมของจีนและรัสเซียที่หลายฝ่ายในประเทศประชาธิปไตยที่ใหม่กว่าไม่ทราบนั้น กลับปิดกั้นช่องทางดังกล่าวสำหรับประชาชนของตนเอง “ความพยายามเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่ใหญ่กว่าของรัฐบาลรัสเซียและรัฐบาลจีน ในการเข้าไปภายในระบอบประชาธิปไตยเพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและลบล้างการวิจารณ์ระบอบเผด็จการ” ผู้เขียนอธิบาย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เขียนพบว่าจีนมักกดดันพันธมิตรท้องถิ่น ซึ่งโดยทั่วไปจะรวมถึงประชากรผู้อพยพชาวจีนที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้สอดแนมมาโดยตลอด เพื่อควบคุมและปิดปากความคิดเห็นและการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์
อำนาจที่แหลมคม “พยายามการแทรกเเซงและล้มล้างการเมือง สื่อ และสถาบันการศึกษา ลักลอบโฆษณาภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ รวมถึงให้ข้อมูลผิด ๆ และบิดเบือนข้อมูลเพื่อปราบปรามการคัดค้านและการโต้แย้ง” นายไนย์อธิบายเพิ่มเติมในการวิเคราะห์ใน ฟอรีนแอฟแฟร์ส “อำนาจที่แหลมคมของจีนมีลักษณะเด่นสามประการคือ แพร่กระจายโดยทั่วไป บ่มเพาะการตรวจพิจารณาตัวเอง และยากที่จะพิสูจน์ว่าเป็นการทำงานของรัฐบาลจีน”

การมีสัมพันธ์ทางการเงิน

ในรายงานของกองทุนแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ผู้เขียนยังพบว่าประเทศเผด็จการรวมการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเข้ากับอำนาจที่แหลมคมเพื่อส่งเสริมวาระทางการเมืองของตนเอง “จีนมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนี้ โดยการใช้แรงกดดันที่มีความเข้มข้นแตกต่างกันและผ่านช่องทางอ้อมที่อาจไม่ชัดเจนเสมอไป เว้นแต่จะตรวจสอบกิจกรรมอื่น ๆ ทางธุรกิจของจีนควบคู่กับความพยายามสร้างอิทธิพลอื่น ๆ ของรัฐบาลจีน”

เงินเป็นเครื่องมือสร้างอำนาจที่แหลมคมของจีนทั่วละตินอเมริกา ตามที่นายฮวน คาร์โลส คาร์ดิแนล นักวิจัยแห่งศูนย์การเปิดและการพัฒนาละตินอเมริกา ผู้เขียนบทรายงานเกี่ยวกับละตินอเมริการะบุ ในช่วงปลาย พ.ศ. 2559 นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้คำมั่นว่าจีนจะฝึกอบรมชาวละตินอเมริกาจำนวน 10,000 คนภายใน พ.ศ. 2563 นายคาร์ดิแนลระบุว่า การมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนกับประชาชน เช่น การฝึกอบรมฟรี โครงการแลกเปลี่ยน และทุนการศึกษาในประเทศจีน ได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงในการชนะใจภูมิภาคละตินอเมริกา

จีนใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับหลายประเภททั่วโลก จากข้อมูลของนายอีวาน ไฟเกนบอม นักวิชาการอาวุโสที่การประชุมเอเชียฟอรัมของกองทุนคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีนใช้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในการกำหนดกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานในประเทศอื่น ๆ เพื่อให้ยกย่องจีน ในแอฟริกา จีนบังคับให้ประเทศต่าง ๆ แปลงหนี้ของตนเองเป็นหุ้นทุนในจีน ซื้อและจ้างแรงงานชาวจีน ปรับใช้มาตรฐานทางเทคนิคและวิศวกรรมของจีน รวมถึงกติกาการจัดซื้อ นายไฟเกนบอมเขียนในบทความที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 บนเว็บไซต์ของมูลนิธิ

สาธารณรัฐประชาชนจีนยังใช้แรงกดดันทางเศรษฐกิจ โดยการจำกัดการเข้าถึงตลาดภายในประเทศ เช่น จีนปิดบริษัท ลอตเต้ กรุ๊ป ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ผลิตหมากฝรั่งและผู้ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ หลังจากให้ที่ดินแก่รัฐบาลเกาหลีใต้เพื่อติดตั้งยุทธภัณฑ์ระบบป้องกันขีปนาวุธในบริเวณพิกัดตำแหน่งสูง รอยเตอร์รายงานว่าภายในเวลาไม่กี่เดือนหลังจากการลงนามในสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 หน่วยงานกำกับดูแลของจีนปิดร้านค้าลอตเต้ มาร์ท จำนวน 112 ร้านในประเทศจีนเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าละเมิดประมวลกฎหมายอัคคีภัย

จีนใช้แนวทางการลงโทษได้เช่นกัน ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 มองโกเลียอนุญาตให้องค์ดาไลลามะมาเยือนเมืองหลวงอูลานบาตาร์ จีนจึงใช้การเก็บค่าธรรมเนียมภาษีข้ามพรมแดนในการส่งออกสินค้าของมองโกเลียเป็นการตอบโต้ นายไฟเกนบอมกล่าว จากนั้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 นายหวัง ยี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า รัฐบาลจีนหวังว่ามองโกเลียจะได้ “เรียนรู้บทเรียน” และจะไม่เชิญองค์ดาไลลามะกลับมาอีก ตามรายงานของ เดอะยูบีโพสต์ สำนักข่าวภาษาอังกฤษของมองโกเลีย

กลยุทธ์ของรัสเซีย

ในขณะเดียวกัน วิธีการของรัสเซียในการใช้อำนาจที่แหลมคมคือการมุ่งตรงไปที่การบ่อนทำลายความแข็งแรงและความน่าเชื่อถือของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย

“ในขณะที่รัฐบาลจีนพยายามทำตัวให้เป็นที่รู้จักและขยายอำนาจส่วนใหญ่ผ่านการลงทุนเชิงรุก การโน้มน้าว และเทคนิคการขายที่ไม่สุจริต รัฐบาลรัสเซียกลับหวังยกระดับสนามแข่งขันโดยการลากคู่ต่อสู้ที่เป็นประชาธิปไตยลงมา ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์หรือในความเป็นจริง” ผู้เขียนรายงานอธิบาย
รัสเซียหาผลประโยชน์จากความคับข้องใจและลัทธิความเกลียดชังมนุษย์ที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นเพื่อปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบและฉ้อโกงนโยบายสาธารณะ ตามข้อมูลจากนายจาเซค คูชาร์ซิก ประธานสถาบันกิจการสาธารณะ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในประเทศโปแลนด์ นายคูชาร์ซิกเขียนบทความหนึ่งในรายงานกองทุนแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง การแบ่งแยกทางการเมืองเป็นสองขั้วอำนาจในโปแลนด์

รัสเซียใช้กลยุทธ์แบบเดียวกันกับที่จีนใช้เพื่อบ่อนทำลายศัตรูในประชาคมนานาชาติ รัฐบาลรัสเซียได้ทำงานเพื่อทำลายการสนับสนุนของโปแลนด์ในการช่วยเหลือรัฐบาลประชาธิปไตยใหม่ของยูเครน โดยการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความตึงเครียดทางประวัติศาสตร์ระหว่างสองประเทศที่ยังคงมีอยู่ นายคูชาร์ซิกระบุ รัฐบาลรัสเซียยังมุ่งทำลายความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทวีปยุโรปและประชาคมทรานส์แอตแลนติกของโปเเลนด์และสโลวาเกีย รวมทั้งการปกครองระบอบประชาธิปไตยของทั้งสองประเทศ รายงานระบุ

ผู้ประท้วงชาวเยอรมันถือป้ายนอกสถานกงสุลในเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 ที่เขียนว่า “วันนี้ลูกของฉัน พรุ่งนี้ลูกของคุณ” หลังจากสื่อรัสเซียเผยแพร่เรื่องราวอันเป็นเท็จเกี่ยวกับชายมุสลิมสามคนข่มขืนเด็กหญิงลูกครึ่งรัสเซียเยอรมันในกรุงเบอร์ลิน เพื่อปลุกปั่นความระส่ำระสายทางการเมือง ซึ่งตำรวจเยอรมันออกมาระบุอย่างรวดเร็วว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ รัสเซียยังเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน เอเอฟพี/เก็ตตี้อิมเมจ

“มีความเป็นอันตรายหลายอย่างที่สัมพันธ์กับเรื่องราวทางการเมืองเฉพาะที่ใช้โดยประชานิยมพื้นบ้านและโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย รวมถึงความพยายามอย่างรอบคอบของจีนในการสร้างภาพตนเองว่าเป็นประเทศล้ำสมัย ใช้อำนาจเชิงเมตตาที่มีระบอบการเมืองแบบเผด็จการ ซึ่งสามารถฟูมฟักการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าประชาธิปไตยเสรีนิยม” นายคูชาร์ซิกเขียน

ยิ่งไปกว่าจีนคือรัสเซียได้ขยายสื่อของรัฐในระดับสากลและเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนไปสู่ประเทศอื่น ๆ รวมถึงความพยายามในการแทรกแซงการเลือกตั้งของต่างประเทศ อย่างเช่นในโปแลนด์ เว็บไซต์ของภายนอกมักจะรายงานเรื่องราวจากสื่อรัสเซีย ทำให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นสำหรับประชากรในท้องถิ่นซึ่งมีแนวโน้มที่จะเชื่อสื่อรัสเซียน้อยกว่า นายคูชาร์ซิกอธิบาย ในขณะเดียวกัน รัฐเผด็จการและโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งยังตรวจพิจารณาข่าวและเนื้อหาออนไลน์ของประชาชน ด้วยวิธีนี้ ระบอบเผด็จการจะใช้ประโยชน์จากความเป็นโลกาภิวัตน์ แต่ปฏิเสธหลักการแลกเปลี่ยนที่เสรี เปิดกว้าง และโปร่งใสภายในเขตแดนของตน

ยิ่งไปกว่านั้น การที่จีนและรัสเซียมุ่งเป้าไปที่ประเทศที่เพิ่งเป็นประชาธิปไตยซึ่งอ่อนไหวมากกว่านั้นเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงคุณค่าเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศเหล่านี้ต่อระบอบประชาธิปไตย นายวอล์คเกอร์และนางลุดวิกสรุป

สหรัฐอเมริการวมถึงพันธมิตรและหุ้นส่วน ต้องใช้มาตรการและเครื่องมือใหม่ที่สร้างขึ้นโดยอิงจากค่านิยมประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านจีนและรัสเซียในการโฆษณาระดับนานาชาติเพื่อควบคุมข้อมูลและความคิด ผู้เขียนเตือนว่าหาก “ประเทศประชาธิปไตยทรงอำนาจไม่รับคำท้านี้ เท่ากับว่าประเทศเหล่านี้สละบทบาทความเป็นผู้นำ ละทิ้งพันธมิตร และไม่สนใจความมั่นคงในระยะยาวของตนเอง”

“หากประเทศเหล่านี้และระบอบเผด็จการอื่น ๆ ที่มีความพร้อมยังคงรักษาแรงผลักดันปัจจุบันในอนาคตที่คาดการณ์ได้ ความพยายามของประเทศเหล่านี้สามารถสร้างความเสียหายอันใหญ่หลวงต่อบูรณภาพของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยได้ไม่นาน ซึ่งจะเป็นการทำลายล้างความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่อิงกฎเกณฑ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างรากฐานความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองทั่วโลก” ผู้เขียนทั้งสองกล่าวเตือน


วิธีการสำคัญห้าขั้นตอนเพื่อต่อต้านความพยายามบีบบังคับระบอบประชาธิปไตย โดยระบอบการปกครองของจีนและรัสเซีย

ปัญหาการขาดแคลนข้อมูลเกี่ยวกับจีนและรัสเซีย ในสี่ประเทศประชาธิปไตยที่ทำการตรวจสอบพบว่า ข้อมูลเกี่ยวกับระบบการเมืองของจีนและกลยุทธ์นโยบายต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะถูกจำกัดมาก มีนักข่าว บรรณาธิการ และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเพียงไม่กี่คนที่มีความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับจีนและสามารถแบ่งปันความรู้ของตนเองกับคนอื่น ๆ ในสังคมได้ เช่นเดียวกับความรู้เกี่ยวกับรัสเซียในหลาย ๆ ที่ เช่น ละตินอเมริกา แต่ยุโรปกลางมีความรู้เกี่ยวกับรัสเซียในปัจจุบันมากกว่า

เปิดโปงอิทธิพลอำนาจเผด็จการ ความพยายามในการใช้อำนาจที่แหลมคมของจีนและรัสเซียต้องพึ่งพาการลวงตาเป็นส่วนใหญ่ เช่น การอำพรางโครงการที่รัฐควบคุมว่าเป็นงานของสื่อเชิงพาณิชย์หรือสมาคมระดับรากหญ้า หรือใช้ภาคส่วนท้องถิ่นเป็นสื่อกลางในการโฆษณาชวนเชื่อจากต่างประเทศและเป็นเครื่องมือครอบงำต่างประเทศ ผู้สังเกตการณ์ในระบอบประชาธิปไตยควรมุ่งเป้าความสนใจและทำการวิเคราะห์อย่างครอบคลุมเพื่อต่อสู้กับความพยายามในการนำทางผิด ๆ เหล่านี้

ป้องกันสังคมประชาธิปไตยจากอิทธิพลอำนาจเผด็จการที่ชั่วร้าย เมื่อธาตุแท้และเทคนิคของอิทธิพลอำนาจเผด็จการถูกเปิดเผย ประเทศประชาธิปไตยควรสร้างการป้องกันภายในของตนเอง การริเริ่มด้านเผด็จการจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีตำแหน่งสูงทางการเมือง ผู้นำทางความคิด และผู้รักษาข้อมูลอื่น ๆ ของสังคมประชาธิปไตย รัฐบาลรัสเซียและรัฐบาลจีนตั้งเป้าที่จะเจาะเข้าระบบประชาธิปไตยเพื่อชนะใจผู้สนับสนุนและลบล้างคำวิจารณ์เกี่ยวกับระบอบเผด็จการของตน

ยืนยันการสนับสนุนค่านิยมและอุดมการณ์ประชาธิปไตยหากเป้าหมายอย่างหนึ่งของอำนาจที่แหลมคมของเผด็จการคือการทำให้รูปแบบการปกครองแบบเผด็จการถูกกฎหมาย เป้าหมายนั้นก็จะมีประสิทธิภาพเฉพาะในขอบเขตที่ประเทศประชาธิปไตยและพลเมืองสูญเสียวิสัยทัศน์ของหลักการของตนเอง ผู้นำระดับสูงในระบอบประชาธิปไตยต้องกล่าวอย่างชัดเจนและสม่ำเสมอในนามของอุดมการณ์ประชาธิปไตย และกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรฐานที่ยอมรับได้ของพฤติกรรมประชาธิปไตย

สร้างแนวคิดใหม่ของ “อำนาจอ่อน”สุดท้าย นักข่าว กลุ่มคณะนักวิเคราะห์ และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายอื่น ๆ ต้องตระหนักถึงอิทธิพลอำนาจเผด็จการในขอบเขตของแนวคิดในแบบของมัน นั่นคือ การเป็นเครื่องมือ “อำนาจที่แหลมคม” ที่สามารถกัดกร่อนและบ่อนทำลาย ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างแท้จริงต่อสังคมประชาธิปไตยที่ตกเป็นเป้า คำศัพท์เชิงแนวคิดที่ใช้มาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นนี้ ดูไม่เพียงพอที่จะอธิบายสถานการณ์ร่วมสมัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button