เรื่องเด่น

การค้ามนุษย์

ประเทศในภูมิภาค เริ่มใช้กฎหมายและโครงการต่าง ๆ เพื่อจัดการกับการค้ามนุษย์ที่ผิดกฎหมาย

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

สถิติการค้ามนุษย์ในอินโดแปซิฟิกมีทั้งขึ้นและลง แม้ว่าจะเป็นแหล่งของผู้กระทำความผิดที่เลวร้ายที่สุด รวมไปถึงเกาหลีเหนือและพม่า แต่ภูมิภาคนี้ก็ยังมีเรื่องราวความสำเร็จ ด้วยมีหลาย ๆ ประเทศที่ใช้กฎหมายและแผนงานล่าสุดเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมที่น่ากลัวเหล่านี้

“การค้ามนุษย์เป็นปรากฏการณ์ระดับโลกซึ่งไม่มีประเทศใดป้องกันได้” ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ใน พ.ศ. 2561 เหยื่อของการค้าทาสยุคใหม่ถูกเอาเปรียบในทุกภูมิภาคของโลก ถูกบังคับให้ใช้แรงงานหรือค้าประเวณีทั้งในโลกอุตสาหกรรมจริงและในหน้าอินเทอร์เน็ต ปัญหาอันใหญ่หลวงนี้จำเป็นต้องมีการพัฒนาการตอบสนองที่เป็นหนึ่งเดียวและครอบคลุมจากผู้นำของโลก เพื่อรวมกลุ่มแก้ปัญหาอาชญากรรมที่ท้าทายอำนาจทุกพรมแดน”

ข้อมูลดังกล่าวมีความผันผวนทุกปีเนื่องจากลักษณะที่ซ่อนอยู่ของอาชญากรรมการค้ามนุษย์ การเปลี่ยนแปลงในความพยายามของรัฐบาล และการขาดความสม่ำเสมอในโครงสร้างการรายงาน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่าผู้คนกว่า 36 ล้านคนทั่วโลกตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ เกือบสองในสามของคนที่ตกเป็นเหยื่อมีความเชื่อมโยงกับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

“การค้ามนุษย์คือหนึ่งในปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่น่าสลดใจมากที่สุดในเวลานี้” นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ณ ตอนนั้นกล่าวในจดหมายที่ระบุถึงการเปิดเผยรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ใน พ.ศ. 2560 “ซึ่งทำให้ครอบครัวแตกแยก บิดเบือนตลาดโลก บ่อนทำลายกฎหมาย และกระตุ้นกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติอื่น ๆ ทั้งยังคุกคามความปลอดภัยสาธารณะและความมั่นคงของชาติ แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือ อาชญากรรมนี้ทำให้มนุษย์สูญเสียเสรีภาพและศักดิ์ศรีของตนเอง จึงเป็นสาเหตุที่เราต้องยุติหายนะจากการค้ามนุษย์”

องค์กรพหุภาคีและองค์กรภูมิภาคต่างทำงานเพื่อส่งเสริมฉันทามติในการสร้างเป้าหมาย ความมุ่งมั่น และบรรทัดฐานร่วมกันเพื่อต่อสู้กับการค้ามนุษย์ ตัวอย่างหนึ่งคือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ได้ร่วมมือกันสร้างงานวิจัยและวิธีการเก็บข้อมูลที่เป็นมาตรฐานในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค โดยมีอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตามกฎหมายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560

การประชุมอาเซียนซึ่งจัดให้มีการดำเนินการเฉพาะภายในกฎหมายและนโยบายภายในประเทศของแต่ละประเทศสมาชิก รวมถึงพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการกับความท้าทายระดับภูมิภาคในการป้องกันการค้ามนุษย์ การคุ้มครองผู้เสียหาย การบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีอาชญากรรมการค้ามนุษย์ และความร่วมมือและการประสานงานระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ
แผนดังกล่าวเจาะจงเรียกร้องให้มีการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เพื่อให้ความรู้แก่สังคมทุกระดับเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ รวมถึงปรับปรุงความร่วมมือข้ามพรมแดน และการแบ่งปันความรู้และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อขัดขวางการดำเนินการค้ามนุษย์ เป็นต้น

“ในขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศถือว่าเป็นประเทศปลายทาง ประเทศอื่น ๆ ได้รับการพิจารณาว่าเป็นประเทศต้นทางและทางผ่าน” ตามแผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก “ความท้าทาย ลำดับความสำคัญระดับชาติ และกลยุทธ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นประเทศต้นทาง ทางผ่าน หรือปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นแบบใด ก็ล้วนมีความสนใจและความมุ่งมั่นร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์”

บี มาย โพรเทคเทอร์

องค์กรนอกภาครัฐสองแห่งของมาเลเซียเปิดตัวแอปพลิเคชันมือถือในรูปแบบนี้เป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 ซึ่งออกแบบมาเพื่อรายงานกรณีที่สงสัยว่าอาจเป็นการค้ามนุษย์

แอปพลิเคชันนี้ชื่อว่า “บี มาย โพรเทคเทอร์” อนุญาตให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือบุคคลใด ๆ ที่ระบุว่ามีแนวโน้มเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ทำการอัปโหลดภาพ อธิบายสถานการณ์ และระบุความรุนแรง เทนากานิตา และ เชนจ์ ยัวร์ เวิลด์ เป็นองค์กรนอกภาครัฐสองแห่งที่อยู่เบื้องหลังแอปพลิเคชันดังกล่าว จะดำเนินการสอบสวนเบื้องต้นแล้วจึงส่งรายละเอียดให้ตำรวจและหน่วยงานอื่นตามความจำเป็นต่อไป การสอบสวนขององค์กรนอกภาครัฐจะเริ่มภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับการร้องเรียน นักพัฒนาแอปพลิเคชันคาดว่าจะมีการดาวน์โหลด 100,000 ครั้งภายในสิ้น พ.ศ. 2561 และมีการดาวน์โหลด 1 ล้านครั้งภายใน พ.ศ. 2566

ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐบาลมาเลเซียได้เพิ่มการดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยว่าทำการมนุษย์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ใน พ.ศ. 2560 ทางการดำเนินคดีกับผู้ค้ามนุษย์ 282 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับ 131 รายใน พ.ศ. 2559 และ 26 รายใน พ.ศ. 2558 ตามรายงานของเบนาร์นิวส์

ใน พ.ศ. 2560 มาเลเซียได้รับเลื่อนระดับเป็นระดับ 2 เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้นในการปราบปรามการค้ามนุษย์ เมื่อเทียบกับรายงานในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในรายงาน พ.ศ. 2561 มาเลเซียถูกปรับลดระดับเล็กน้อยเป็นรายการเฝ้าระวังระดับ 2 รายงานทั้งสองฉบับเรียกร้องให้ทางการดำเนินการมากขึ้นเพื่อระบุตัวและปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์

“นี่เป็นปัญหาใหญ่เพราะเรามีแรงงานอพยพจำนวนมากที่นี่ และมาเลเซียจะวัดระดับแบบสากลตามวิธีที่เราปฏิบัติต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์” นางฮันนา เยโอ อดีตประธานสภานิติบัญญัติรัฐเซอลาโงร์ เบนาร์นิวส์รายงาน

เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ความสนใจนั้นในการพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ดีขึ้น ทางการมาเลเซียคาดหวังว่าจะปฏิบัติตามมาตรฐานการค้ามนุษย์ขั้นต่ำของสหรัฐอเมริกาโดยสมบูรณ์ภายใน พ.ศ. 2563
ต่อต้านการท่องเที่ยวสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า

เด็ก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักถูกพรากจากบ้านและนำไปไว้ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุบายการขอรับเงินบริจาค การหลอกลวงดังกล่าวเรียกว่า “การท่องเที่ยวสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า” และประเทศต่าง ๆ อย่างออสเตรเลียก็กล่าวว่าหมดความอดทนกับเรื่องนี้แล้ว

“เราได้สร้างปัญหาให้กับภูมิภาค ตอนนี้เราจึงต้องทำงานร่วมกับประเทศอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้” นางลินดา เรย์โนลด์ส วุฒิสมาชิกออสเตรเลียกล่าว “เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา และเราไม่รีรอที่จะลงมือทำ”

เด็กที่ตกเป็นเหยื่อเหล่านี้มักถูกทอดทิ้งจากครอบครัว และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ใช้เด็ก ๆ ในการหลอกลวงเพื่อขอเงินและการสนับสนุนแบบอื่น ชาวออสเตรเลียเคยเป็นหนึ่งในผู้บริจาคอันดับต้น ๆ สำหรับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในภูมิภาคนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

“อาสาสมัครของเรา ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวและนักเรียนจำนวนมาก ได้มีส่วนร่วมในการค้ามนุษย์โดยไม่รู้ตัว โดยจ่ายเงินสูงถึง 2,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 44,000 บาท) เพื่อบริจาค” นางจูลี่ บิชอป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียกล่าว “เราไม่ต้องการเพิ่มความทุกข์ยากให้กับเด็ก ๆ ในภูมิภาค เราต้องจัดการกับหายนะนี้”

ออสเตรเลียเปิดตัวโครงการ “อาสาสมัครอัจฉริยะ” เพื่อขัดขวางประชาชนจากการเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครระยะสั้นที่ไร้ทักษะในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในต่างประเทศ

รอยเตอร์รายงานว่ากัมพูชากำลังมีจำนวนสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้น จำนวนที่เพิ่มขึ้นนั้นกระตุ้นความสนใจจากชาวออสเตรเลียและคนอื่น ๆ ที่คิดว่าตนกำลังทำความดี แต่แท้จริงแล้วกำลังถูกหลอกลวง
ประมาณสามในสี่ของเด็กในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในกัมพูชามีพ่อแม่อย่างน้อยหนึ่งคน ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ

“สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่เลวร้ายที่สุดหน่วงเหนี่ยวและใช้ประโยชน์จากเด็กโดยมีจุดประสงค์ในการหาเงิน สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าควรเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับเด็ก ๆ” นางบิชอปกล่าว ตามรายงานของรอยเตอร์

พลเมืองออสเตรเลียก็ประสบกับปัญหาดังกล่าวเช่นกัน กระทรวงมหาดไทยประมาณการว่ามีชาวออสเตรเลียกว่า 4,000 คนที่ตกเป็นเหยื่อของการค้าทาสยุคใหม่ทั่วโลก โดยทำงานในเหมือง โรงงาน ซ่องโสเภณี สถานที่ก่อสร้าง และฟาร์ม

“การแสวงหาผลประโยชน์ของพวกนี้ประกอบด้วยอาชญากรรมที่ร้ายแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมถึงทำให้สินค้าและบริการที่เราใช้อยู่ ทุก ๆ วันมีมลทิน” นายอเล็กซ์ ฮอว์ค ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการมหาดไทยกล่าว ตามรายงานของ 9 นิวส์ สำนักข่าวออสเตรเลีย

ร่างกฎหมายการค้าทาส พ.ศ. 2561 ได้รับการเสนอต่อรัฐสภาออสเตรเลียเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2561 หากผ่าน ร่างกฎหมายจะเพิ่มการรายงานเกี่ยวกับการดำเนินการค้าทาสยุคใหม่ในทางอาญาภายใต้กฎหมายเครือจักรภพ แต่ไม่ได้จัดให้มีการลงโทษทางการเงินสำหรับการไม่รายงาน

ทำงานร่วมกันเพื่อกวาดล้าง

ทางการคาดว่าเมืองแอนเจลิสของฟิลิปปินส์เป็นแหล่งค้ามนุษย์ที่ชุกชุมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตำรวจ อัยการ หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ

รวมถึงองค์กรนอกภาครัฐ ได้ร่วมมือกันให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และเพื่อช่วยระบุผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นเหยื่อ

“เราจำเป็นต้องดำเนินการเชิงรุก และให้ความสำคัญที่การป้องกันเพื่อหยุดวงจรการค้ามนุษย์” นางเซซิเลีย ฟลอเรส-โอเบแบนดา ผู้ก่อตั้งและหัวหน้ามูลนิธิการต่อต้านการค้ามนุษย์

วิสายัญฟอรัมฟาวน์เดชัน ที่ตั้งอยู่ในกรุงมะนิลา ตามการรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ “เราเห็นการบุกตรวจค้นและการช่วยเหลือมากมาย แต่วัฒนธรรมดังกล่าวยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และผู้คนต้องระวังอาชญากรรมนี้”

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศเดียวในอินโดแปซิฟิกที่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของรัฐบาลสหรัฐฯ จัดให้อยู่ในอันดับสูงสุดเป็นเวลาสองปีติดต่อกัน สำหรับความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์ แต่ประชากรเกือบ 400,000 คนหรือ 1 ใน 250 ของประชากรทั้งหมด ตกเป็นเหยื่อของการค้าทาสยุคใหม่ ตามการรายงานดัชนีการค้าทาสทั่วโลกประจำ พ.ศ. 2559 โดยมูลนิธิวอล์คฟรี ฟาวน์เดชัน
ส่วนหนึ่งของการสนทนาเรื่องการค้ามนุษย์ที่เสนอให้ความช่วยเหลือคือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเอง

ผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์บางคนที่ได้ทำงานกับการรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ของหน่วยบรรเทาทุกข์กล่าวว่า การได้รับการศึกษา การฝึกอบรม และงานสามารถช่วยให้พวกเขาสร้างชีวิตขึ้นมาใหม่และเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นได้

“ผู้นำกลุ่มผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์ สามารถให้ความหวังแก่ผู้ที่เริ่มต้นการเดินทางสู่อิสรภาพ โดยนำเสนอตัวอย่างของสิ่งที่เป็นไปได้ในอนาคต” นางแดง ผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์ที่ผันตัวมาเป็นนักกิจกรรมซึ่งเคยถูกขายเพื่อให้บริการทางเพศในวัยเด็ก กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์

อินเดียจัดหางานการผลิตเสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์ให้แก่ผู้รอดชีวิตจากการค้ามนุษย์ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาเสนองานบริการจัดทำอาหารและงานเขียนโปรแกรม ประเทศต่าง ๆ

ทั่วโลกแสวงหาวิธีเพิ่มมากขึ้นที่จะช่วยให้ผู้รอดชีวิตจากการค้าทาสมีงานทำเมื่อพวกเขาเริ่มต้นชีวิตใหม่

การเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ รัฐบาล องค์กรนอกภาครัฐ และชุมชนเอง ต้องได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องเพื่อทำลายวงจรดังกล่าว

“ในยุคของตลาดที่เชื่อมต่อถึงกันในระดับสากล แรงงานเคลื่อนที่ และการสื่อสารแบบดิจิทัล ผู้ค้ามนุษย์กำลังพัฒนาวิธีการใหม่ ๆ และซับซ้อนมากขึ้นในการใช้ประโยชน์จากเหยื่อ ผู้ค้ามนุษย์มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการระบุและบ่มเพาะความอ่อนไหวในผู้ที่ตนแสวงหาผลประโยชน์ ฉวยโอกาสจากสถานการณ์ที่ยากลำบากและไม่มั่นคง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากนโยบายและกิจกรรมของรัฐบาลในรูปแบบที่ไม่คาดคิด” จากการสรุปของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ พ.ศ. 2561 “ไม่ว่านโยบายระดับชาติจะมีประสิทธิภาพเพียงใดในการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ รัฐบาลควรตรวจสอบและทดสอบนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีช่องโหว่ที่เอื้อต่อผู้ค้ามนุษย์ หรือนำไปสู่การค้ามนุษย์ในวิธีอื่น”

รายงานระบุว่าหากปราศจากมาตรการดังกล่าว การค้ามนุษย์จะยังคงรุ่งเรืองต่อไป “การแสวงหาความมั่นคงและเสถียรภาพในระดับภูมิภาคของรัฐบาลบางประเทศ อาจทำให้เกิดการค้ามนุษย์โดยอ้อม บางครั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลและการประสานงานด้านปฏิบัติการกับทหารและกลุ่มต่าง ๆ เป็นการให้ขีดความสามารถแก่ผู้ค้ามนุษย์โดยไม่เจตนาในการใช้ประโยชน์จากคนผ่านการสรรหาบุคลากรแบบบีบบังคับให้เข้ากลุ่มติดอาวุธ การสรรหาบุคลากรและการใช้เด็ก หรือการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ” ตามที่ระบุในรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

“รัฐบาลที่สนับสนุนกองทัพและกลุ่มติดอาวุธควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเข้าใจขอบเขตทั้งหมดของกิจกรรมขององค์กรดังกล่าว และวิธีที่กลุ่มเหล่านี้นำทรัพยากรของรัฐไปใช้ในการปฏิบัติงาน รัฐบาลควรส่งเสริมให้ประชาชนรายงานการล่วงละเมิด สร้างกระบวนการที่โปร่งใสเพื่อทบทวนข้อกล่าวหาและดำเนินการอย่างเหมาะสม รวมถึงให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบ และยุติการสนับสนุนและประสานงานกับกลุ่มดังกล่าวในที่สุด”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button