ติดอันดับ

เจ้าหน้าที่ทหารเตือนให้เตรียมรับมือกับภัยคุกคามจากสภาพภูมิอากาศ

รอยเตอร์

กองทัพต้องเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น ความขัดแย้งใหม่ ๆ และความเสี่ยงอื่น ๆ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วขึ้นจะมาพร้อมกับภัยคุกคาม ซึ่งทำให้มีกองกำลังทหารเข้ามาช่วยเหลือทั้งจากในและต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายกลาโหมกล่าว

“ภัยคุกคามนี้กำลังจะเกิดขึ้นจริง เราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และภัยคุกคามจะลุกลามเนื่องจากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น” นายเจมส์ เคลย์เดน จากกระทรวงกลาโหมเนเธอร์แลนด์กล่าวเตือนในที่ประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและความมั่นคง ณ กรุงเฮก เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ตัวอย่างหนึ่งคือ มีคำสั่งเรียกทหารดัตช์ราวหนึ่งพันนายออกไปให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและความมั่นคงเป็นเวลาหนึ่งเดือน เมื่อพายุเฮอริเคนเออร์มาที่รุนแรงเคลื่อนตัวถล่มเกาะซินต์มาร์เติน ซึ่งเป็นเกาะของเนเธอร์แลนด์ในทะเลแคริบเบียน ใน พ.ศ. 2560

เหตุการณ์ครั้งนั้นจัดการได้ แต่เมื่อภัยพิบัติจากพายุเฮอริเคนเกิดขึ้นบ่อยครั้งและก่อความเสียหายรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากน้ำอุ่นในมหาสมุทรทำให้เกิดพายุขนาดใหญ่ขึ้น แรงกดดันด้านกองกำลังทางทหารจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งงบประมาณค่าใช้จ่าย นายเคลย์เดนกล่าว

นางเจน นีลสัน นักวิเคราะห์นโยบายอาวุโสของกระทรวงกลาโหมนิวซีแลนด์ กล่าวว่ากองทัพนิวซีแลนด์ได้เข้าไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในแถบเกาะแปซิฟิกใต้ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนและภัยพิบัติอื่น ๆ อยู่เป็นประจำ

เจ้าหน้าที่ของนิวซีแลนด์กังวลว่ากองกำลังของประเทศที่มีค่อนข้างน้อยจะสามารถต่อสู้เพื่อรับมือกับภัยพิบัติหรือภัยคุกคามที่ใหญ่ขึ้น รุนแรงขึ้น และบ่อยขึ้นจากวิกฤตหลาย ๆ ครั้งในคราวเดียวได้ไม่ไหว

นางเจนกล่าวว่า “ฝันร้ายที่แย่ที่สุดของเรา” คือการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้งในนิวซีแลนด์ เช่นเดียวกับพายุเฮอริเคนระดับ 5 ที่ส่งผลกระทบต่อแปซิฟิกใต้

“กองทัพทั่วโลกจะทำงานหนักขึ้นด้วยปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศ” นางเจนกล่าว โดยเรียกการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศว่าคือ “ภัยคุกคามใหญ่หลวงอย่างเดียวต่อความมั่นคง การดำรงชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในแถบแปซิฟิก”

สำหรับหลายประเทศ ภัยคุกคามในประเทศยังเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน กรุงเฮกตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 3 เมตร โดยมีการป้องกันด้วยระบบเขื่อนกั้นน้ำหลายชั้นและมีสถานีสูบน้ำอีกหลายสถานี พล.อ. ทอม มิดเดนดอร์ป อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมดัตช์ที่เกษียณอายุราชการแล้วกล่าว

กองกำลังดัตช์ใช้ความพยายามไปแล้วกว่าร้อยละ 25 ในการสนับสนุนหน่วยงานพลเรือน รวมถึงการปกป้องระบบป้องกันน้ำท่วม พล.อ. มิดเดนดอร์ปกล่าว

หากจนถึงช่วงปลายศตวรรษระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยสูงขึ้นอีกหนึ่งเมตรหรือมากกว่าภายใต้สถานการณ์บางอย่าง “ลองจินตนาการถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กองทัพจำเป็นที่จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์เช่นนั้น” พล.อ. มิดเดนดอร์ปกล่าว

“สิ่งสำคัญอย่างยิ่งในประเทศใดก็ตามคือการที่ผู้ให้ความช่วยเหลือแก่พลเรือนและทหารต้องร่วมมือกัน รวมทั้งดำเนินการวิเคราะห์ความเสี่ยง ประเมินวิธีการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน และแปรให้เป็นแนวทางปฏิบัติ” พล.อ. มิดเดนดอร์ปกล่าว

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่ทำให้เกิดความรุนแรงและความขัดแย้ง ซึ่งอาจทะลักข้ามพรมแดนหรือดึงประเทศอื่น ๆ ให้เข้าร่วม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนำมาซึ่งการขาดแคลนอาหารและน้ำที่เลวร้ายลง รวมทั้งการอพยพและแรงกดดันอื่น ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น พล.อ. มิดเดนดอร์ปกล่าว

นายเคลย์เดนจากกระทรวงกลาโหมเนเธอร์แลนด์พุ่งประเด็นไปที่อียิปต์ โดยกล่าวว่าจะต้องเผชิญการสูญเสียดินแดนเนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางน้ำที่เพิ่มขึ้นในสภาพทางการเมืองที่เปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

“จะเกิดอะไรขึ้นที่นั่น เราไม่อาจทราบได้ แล้วเรามีมาตรการรับมือที่พร้อมแล้วหรือยัง ไม่ เราไม่มี ในฐานะกระทรวงกลาโหม เรากำลังต่อสู้กับปัญหาปัจจุบัน ซึ่งสำหรับเราคือเวเนซุเอลา” นายเคลย์เดนกล่าว

“เราทราบว่ามันเป็นปัญหา เราทราบว่าจะส่งผลต่อสถานการณ์ความมั่นคง แต่เราไม่ได้จัดการมัน” นายเคลย์เดนกล่าว

พล.อ. มิดเดนดอร์ปกล่าวว่าตนเห็นความเสี่ยงที่คล้ายกันในหลากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะแอฟริกาและตะวันออกกลาง “ที่แม่น้ำใหญ่หลายสายกำลังแห้งขอดลง ประชากรเพิ่มจำนวน ความต้องการก็กำลังเพิ่มมากขึ้น แต่เราไม่สามารถจัดหาน้ำและอาหารได้อย่างเพียงพอ” พล.อ. มิดเดนดอร์ปกล่าว

บางประเทศ “ยังมีรัฐบาลที่อ่อนแอ ความตึงเครียดภายใน ความมั่นคงที่ด้อยประสิทธิภาพ” พล.อ. มิดเดนดอร์ปกล่าว “สิ่งเหล่านี้เป็นเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดความตึงเครียด ขับเคลื่อนการหลั่งไหลของการอพยพ สร้างพื้นที่สำหรับผู้ก่อการร้ายและลัทธิหัวรุนแรง”

นายอัสซัม อัลวอช ผู้ก่อตั้งชาวอิรักและประธานกรรมการบริหารของเนเจอร์อิรัก ซึ่งให้คำแนะนำในการฟื้นฟูบึงทางตอนใต้หลายแห่งของอิรัก กล่าวว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในประเทศอิรัก ประกอบกับการเกษตรที่เสียหายเนื่องจากความแห้งแล้งที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนรายได้จากน้ำมันที่ไม่แน่นอน ทำให้การอพยพไปยังยุโรปมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

“หากคุณคิดว่าคลื่นผู้อพยพเมื่อ พ.ศ. 2559 – 2560 เป็นสิ่งย่ำแย่แล้ว รอดูต่อไปจนกว่าจะถึง พ.ศ. 2573 ซึ่งนั่นใกล้เข้ามาแล้ว” นายอัลวอชกล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button