ติดอันดับ

จริยธรรมการวิจัยที่น่าสงสัยของจีน

เหตุการณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ทำให้เกิดคำถามอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความรับผิดชอบด้านโครงการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งดำเนินการโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนทั้งในและต่างประเทศ

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ดร.เหอ เจียนกุย นักวิทยาศาสตร์ชาวจีน (ภาพ) กล่าวอ้างในการประชุมที่ฮ่องกงว่าตนได้ใช้เทคนิคการปรับแก้พันธุกรรม หรือที่รู้จักกันในชื่อ คริสเปอร์ เพื่อสร้างทารกที่มีการปรับแก้พันธุกรรมครั้งแรกของโลก โดยทารกฝาแฝดเกิดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน จากมารดาที่ได้รับการดัดแปลงตัวอ่อนฝังเข้าในมดลูก สื่อหลายสำนักรายงาน

เมื่อการวิจัยสำเร็จ เทคนิคคริสเปอร์จะสามารถใช้เพื่อรักษาการกลายพันธ์ุที่เป็นอันตรายถึงชีวิตและรักษาภาวะโรคต่าง ๆ แต่เทคนิคดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงกลุ่มพันธุกรรมอย่างถาวร และทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในพันธุกรรมอื่น ๆ โดยไม่ได้ตั้งใจ รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพและทางสังคมที่ไม่อาจคาดเดาได้ กระบวนการดังกล่าวไม่เพียงเป็นที่ถกเถียงอย่างแพร่หลาย แต่ยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ อีกหลายแห่ง ดร.เหอท้าทายบรรทัดฐานและการคุ้มครองที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติด้วยการพยายามอ้างว่าจะสร้างฝาแฝดที่ทนต่อเชื้อเอชไอวี งานวิจัยของดร.เหอซึ่งยังไม่มีการเผยแพร่หรือพิสูจน์ยืนยันนั้น มีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้หลายชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยง นอกเหนือไปจากทารกทั้งสองในงานวิจัย

นักวิทยาศาสตร์หลายคนทั่วโลกต่างกังวลว่าความไม่รับผิดชอบของดร.เหอและจีน อาจเป็นอุปสรรคต่อการวิจัยการปรับแก้พันธุกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย งานวิจัยดังกล่าว “ไร้สำนึก เป็นการทดลองกับมนุษย์ที่ไม่สามารถปกป้องตัวเองทั้งทางศีลธรรมหรือจริยธรรม” ดร.คีรัน มูโซนูรุ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับแก้พันธุกรรมแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียกล่าวกับ ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

“หากความผิดพลาดทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่ดังกล่าวดำเนินต่อไป เทคโนโลยีที่มีคำมั่นสัญญาใหญ่โตในการป้องกันและรักษาโรคจะตกอยู่ภายใต้ความโกรธแค้น ความหวาดกลัว และความรังเกียจจากสาธารณชนโดยชอบด้วยเหตุผล” ดร.ฟรานซิส คอลลินส์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวกับหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์

“ผมคิดว่าดร.เหอ เจียนกุย คงทำไม่ได้ถ้าไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไป” ด้วยความทะเยอทะยานที่มีเดิมพันสูงเช่นนั้น นายจิง เปา นี นักชีวจริยธรรมแห่งมหาวิทยาลัยโอตาโกที่นิวซีแลนด์กล่าวกับสแตต ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ด้านชีววิทยาศาสตร์และการแพทย์ของ บอสตันโกลบทั้งนี้ การโคลนนิ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศจีน แต่การปรับแก้พันธุกรรมไม่ผิดกฎหมาย ตามรายงานของเอพี

แม้รัฐบาลจีนจะปฏิเสธการมีส่วนร่วมและมีประกาศเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับการไล่ดร.เหอออกจากตำแหน่งนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซาเทิร์นในมณฑลกวางตุ้ง แต่เอกสารหลายฉบับกลับเปิดเผยว่าอาจมีหน่วยงานของรัฐบาลอย่างน้อยสามแห่งในจีนที่ช่วยให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยนี้ อันประกอบด้วยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน คณะกรรมาธิการนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซินเจิ้น รวมถึงนายจ้างในเวลานั้นของดร.เหอ จากการรายงานของสแตตในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

“จีนต้องการให้ดร.เหอกลายเป็นแพะรับบาป เพื่อให้คนอื่น ๆ รอดตัวไปได้” นายนีกล่าว “แต่เรื่องนี้อาจเป็นการกลบเกลื่อนความล้มเหลวของสถาบันอย่างร้ายแรง”

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์จีนหลายรายยังได้ประณามงานวิจัยของดร.เหอ

ในทำนองเดียวกัน การนำยานอวกาศลงจอดที่อีกฟากหนึ่งของดวงจันทร์สำเร็จเป็นครั้งแรกของจีนเมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 สะท้อนให้เห็นความทะเยอทะยานของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดี ที่มีต่อกิจการด้านวิทยาศาสตร์ของชาติ นอกจากนี้ การลงจอดดังกล่าวยังเน้นย้ำถึงความเป็นจริงที่ว่าการวิจัยของจีนอีกมากยังคงถูกปกปิดเป็นความลับ ตามการยืนยันของนักวิเคราะห์บางราย

“ความกลัวเสียหน้าจากความล้มเหลว รวมทั้งความอ่อนไหวทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ทำให้รัฐบาลจีนไม่เต็มใจจะหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ของจีน เมื่อเทียบกับการค่อนข้างเปิดกว้างของนาซาและโครงการด้านอวกาศอื่น ๆ” เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 “ก่อนการลงจอดดังกล่าว มีรายงานเกี่ยวกับยานฉางเอ๋อ-4 ค่อนข้างน้อย ทำให้ผู้เชี่ยวชาญและมือสมัครเล่นด้านดาราศาสตร์ต้องค้นคว้าหาข้อมูลกันเอง”

จีนมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานเรื่องการเป็นตัวแสดงที่ไร้จรรยาบรรณในชุมชนการวิจัยนานาชาติ ทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการแพทย์ ตามการวิเคราะห์ของนิตยสาร เดอะไซเอนทิสต์ในพ.ศ. 2559 ในช่วงทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533-2542) และต้นทศวรรษ 2000 (พ.ศ. 2543-2552) ล้วนต็มไปด้วยกรณีโด่งดังเกี่ยวกับการคัดลอกผลงานผู้อื่นและการจงใจสร้างข้อมูลเท็จของจีนเอกสารการวิจัยส่วนใหญ่ที่ถูกเพิกถอนในช่วงเวลานี้มาจากนักวิจัยจีน เช่น เมื่อ พ.ศ. 2549 นายจิน เฉิน นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จีนที่ได้รับการเชิดชูให้เป็นวีรบุรุษชาวจีนจากการออกแบบไมโครชิปซึ่งเทียบได้กับผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ กลับถูกพบว่าเป็นเรื่องหลอกลวง โดยนายจินนำชิปมาจากบริษัทโมโตโรลาและติดฉลากใหม่ด้วยแบรนด์ของตนเอง เดอะไซเอนทิสต์รายงาน

แม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะมีโครงการจากรัฐบาลจีนและสถาบันการศึกษาเพื่อกำหนดนโยบายด้านจริยธรรมและปรับปรุงระบบ แต่ก็ยังมีกรณีการประพฤติมิชอบที่สำคัญอย่างต่อเนื่องข่าวอื้อฉาวของจีนมีตั้งแต่การสร้างข้อมูลเท็จที่รุนแรงเกี่ยวกับการใช้ยาใหม่ ไปจนถึงการให้วัคซีนและผลิตภัณฑ์โลหิตที่ปนเปื้อนแก่เด็ก

นักวิทยาศาสตร์จีนกว่าร้อยละ 90 ที่ได้รับการสำรวจใน พ.ศ. 2558 โดยเนเจอร์พับลิชชิงกรุ๊ป กล่าวว่าสถาบันของจีนควรดำเนินการตรวจจับ ป้องกัน และลงโทษการประพฤติมิชอบให้มากขึ้น “รวมถึงเพิ่มการเฝ้าระวัง มีบทลงโทษที่สอดคล้องกันมากขึ้นสำหรับผู้ที่พบว่ากระทำผิดเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบ และการจัดการสอบสวนอย่างโปร่งใสต่อการประพฤติมิชอบที่ถูกกล่าวหา” รายงานระบุ

ความล้มเหลวของการกำกับดูแลด้านวิทยาศาสตร์ของจีนเกิดจาก “ความไม่มั่นคงทางสังคมการเมือง” นางจอย วาย. จาง อาจารย์อาวุโสด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเคนต์อธิบายในบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ Conversation.com เมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2562

นางจางเขียนว่าจีนไม่เพียงกลัวความล้มเหลวเท่านั้น แต่ไม่ต้องการให้สาธารณชนตรวจสอบสิ่งที่จีนเห็นว่าเป็นความก้าวหน้า

“ในระดับสถาบัน มีการยึดถือลัทธิปฏิบัตินิยมในการควบคุมดูแลงานวิจัย จุดมุ่งหมายหลักกลายเป็นการลดความกังวลของประชาชน โดยใช้การแก้ไขทางเทคโนโลยีกับปัญหาสังคมแทนการสร้างความตื่นตระหนัก ดังนั้น หากไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมของการกระทำผิด หน่วยงานกำกับดูแลของจีนจะจำกัดการปฏิสัมพันธ์กับประชาชนและชุมชนวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วในทางปฏิบัติ แต่น่าเสียดายที่วิธีนี้ไม่ได้ช่วยป้องกันการเกิดปัญหาขึ้นตั้งแต่แรก”

“วัฒนธรรมลับ ๆ ภายในวงการวิทยาศาสตร์จีนโดยพื้นฐานแล้วจึงไม่ได้เป็นเรื่องของการปกปิดอย่างแข็งขัน แต่จะคล้ายกับกลยุทธ์การรับมือร่วมกันในระบบที่เน้นความสำคัญต่อการทำงานให้สำเร็จมากเกินไป และไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอต่อการพิจารณาไตร่ตรองร่วมกัน”

นักวิทยาศาสตร์ทั้งในและนอกประเทศจีนหลายรายยืนกรานว่าต้องมีความโปร่งใสมากขึ้น เพื่อที่การสอบสวนและความซื่อตรงทางวิทยาศาสตร์ในจีนจะก้าวหน้าได้ ในกรณีของคริสเปอร์ “ไม่น่าเป็นไปได้ที่ดร.เหอจะดำเนินการเพียงลำพัง” นายเหล่ย เล่าเผิง ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์เพื่อชีวจริยธรรม มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวจงในมณฑลอู่ฮั่นกล่าวกับสแตต “ผมหวังว่าการสืบสวนอย่างต่อเนื่องจะช่วยแก้ปัญหาด้านสถาบันที่ส่งผลจนถึงจุดสูงสุดในเหตุการณ์นี้ มิฉะนั้น จะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดเรื่องอื้อฉาวที่คล้ายกัน”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button