เรื่องเด่น

คอบร้า โกลด์ 2561

การฝึกระดับนานาชาติประกอบด้วยการฝึกด้วยกระสุนจริง การช่วยเหลือพลเมือง และการบรรเทาภัยพิบัติ

ทหารเข้าร่วมการฝึกด้วยกระสุนจริง โดยเข้าบุกหาดระหว่างที่มีอากาศยานโจมตีคอยคุ้มกัน อีกทั้งยังได้ทดสอบทักษะการเอาชีวิตรอดในป่าดิบชื้นของไทยโดยการดื่มเลือดงู

แม้ว่าแบบฝึกหัดจะมีความหลากหลายมากพอ ๆ กับกลุ่มประเทศที่เข้าร่วม แต่สิ่งที่ได้รับจากการฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2561 ที่ยืนยาวที่สุดไม่ใช่การโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกที่ไร้ที่ติ การยิงปืนครกอย่างแม่นยำ หรือแม้แต่การสร้างอาคารโรงเรียนให้กับชุมชนของไทย สิ่งที่สำคัญที่สุดจากการฝึกคอบร้าโกลด์ทุกครั้งคือมิตรภาพอันยืนยาวระหว่างกองทัพของประเทศหุ้นส่วนต่าง ๆ

“ความท้าทายด้านความมั่นคงทั่วโลกต้องอาศัยวิธีการรับมือจากทั่วโลกเช่นกัน” พล.ร.อ. แฮรี บี. แฮร์ริส จูเนียร์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐอเมริกาภาคพื้นอินโดแปซิฟิกในขณะนั้นกล่าวระหว่างพิธีปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นการฝึกทางทหารระดับนานาประเทศที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก “ผมได้รับแรงบันดาลใจจากความเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับประเทศไทย และมุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือกับประเทศที่มีแนวคิดในทางเดียวกัน โดยเราจะทำงานร่วมกันเพื่อรักษาความมั่นคงของภูมิภาคแห่งนี้ และเพื่อให้ภูมิภาคนี้มีความเจริญรุ่งเรืองและความสงบสุขต่อไป”

ทหารไทยติดธงที่พิธีเปิดของการฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2561 ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จังหวัดระยอง ประเทศไทย ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

การฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2561 ซึ่งไทยและสหรัฐฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 มีประเทศเข้าร่วม 29 ประเทศ โดยเจ็ดประเทศที่เข้าร่วมการฝึกอย่างเต็มรูปแบบโดยการจัดหาบุคลากรและยุทโธปกรณ์ให้กับการฝึกครั้งนี้ ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไทยและสหรัฐฯ ทหารไทยนายหนึ่งที่เคยผ่านการฝึกคอบร้าโกลด์มาแล้วเห็นด้วยกับพล.ร.อ. แฮริส ว่าการสร้างเสริมความสัมพันธ์เป็นข้อบ่งชี้ของความสำเร็จที่สำคัญที่สุด

“การฝึกนี้ช่วยพัฒนาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างประเทศที่เข้าร่วมทั้งเจ็ดประเทศ” พ.อ. ขจรศักดิ์ พูลโพธิ์ทอง หรือ “จร” ผู้บัญชาการกองควบคุมการฝึกของกองทัพไทยกล่าว “คอบร้าโกลด์พัฒนาขึ้นทุกปี”
พ.ท. จรกล่าวต่อ ฟอรัม ว่าความสัมพันธ์ที่พัฒนาขึ้นระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ครั้งก่อน ๆ ได้เป็นประโยชน์เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวในเนปาลเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 9,000 คนและผู้บาดเจ็บ 22,000 คน เนื่องจากกองทัพไทยเคยทำงานร่วมกับมาเลเซียกับสิงคโปร์ระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ครั้งผ่าน ๆ มา ทั้งสามประเทศจึงสามารถจัดตั้งหน่วยบรรเทาทุกข์ขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อไปถึงเนปาล “เราไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์” พ.ท.จรกล่าว “เราเชื่อใจซึ่งกันและกัน”

นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศเจ้าภาพยังส่งเสริมความมั่นคงระดับภูมิภาค “กองทัพบกไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์มาเป็นเวลานาน ซึ่งส่งเสริมความมั่นคงและเสถียรภาพภายในภูมิภาค” พ.อ. แอนโธนี ลูโก ผู้บัญชาการคณะทำงานกองพลน้อยทหารราบที่ 2 หน่วยทหารราบที่ 25 กล่าว “การฝึกร่วมที่จัดขึ้นในวันนี้จะรับรองว่ากองทัพของเราทั้งสองมีความพร้อมในการเคลื่อนกำลังพลอย่างรวดเร็วเพื่อตอบโต้วิกฤตในภูมิภาคในวันพรุ่งนี้”

การบุกหาด

ด้วยความลงตัวของกองเรือ เรือยกพลขึ้นบก และอากาศยานโจมตี นาวิกโยธินจากเกาหลีใต้ ไทย และสหรัฐอเมริกาดำเนินการฝึกโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกที่หาดยาวในไทยเป็นปฏิบัติการแรกของการฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2561 การจำลองการโจมตีเริ่มจากบริเวณที่ห่างจากชายฝั่ง 3.2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นบริเวณที่เรือสะเทินน้ำสะเทินบกปล่อยเรือยกพลขึ้นบกพร้อมกับปฏิบัติการบิน ซึ่งการทำงานร่วมกันที่ราบรื่นนี้ไม่ใช่ความบังเอิญ

“การโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกเป็นผลลัพธ์จากการวางแผนมาเป็นเวลานานหลายเดือน ผมภูมิใจในการปฏิบัติงานอย่างปลอดภัยและดีเด่นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” พล.ร.ต. แบรด คูเปอร์ ผู้บัญชาการกองเรือสะเทินน้ำสะเทินบกที่ 7 ของกองทัพเรือสหรัฐฯ และรองผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจสะเทินน้ำสะเทินบกคอบร้าโกลด์กล่าว “จากมุมมองจากกองทัพเรือไปสู่กองทัพเรือ ความสัมพันธ์ของเรากับไทยแข็งแกร่งมาตลอด และการฝึกในครั้งนี้เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความสามารถของเราในการปฏิบัติการร่วมกันในรูปแบบกองกำลังผสม”

นาวิกโยธินสาธารณรัฐเกาหลีเข้าร่วมการฝึกโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกที่จังหวัดชลบุรีในประเทศไทย รอยเตอร์

บุคลากรที่อยู่บนเรือ เรือยกพลขึ้นบกและอากาศยานใช้เวลาหลายวันในการฝึกซ้อมการโจมตีเพื่อรับรองว่าจังหวะของแต่ละกลุ่มเป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีเจ้าหน้าที่ประสานงานประจำอยู่บนเรือแต่ละลำเพื่อให้มั่นใจว่ามีความเข้าใจอันดีในความตั้งใจของแต่ละประเทศ

“การทำงานร่วมกันเช่นนี้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงความเป็นพันธมิตรที่เรามีร่วมกัน” พ.ท. ยังวอน คิม เจ้าหน้าที่กองทัพเรือสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งปฏิบัติหน้าที่บนเรือโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก ยูเอสเอส บอนฮอมม์ ริชาร์ดกล่าว ตามบทความที่ได้รับการตีพิมพ์โดยนาวิกโยธินสหรัฐฯ

การรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ

มีปัญหาเกิดขึ้นอยู่เสมอในทวีปสมมติแปซิฟิกา ในแผนที่ที่มีลักษณะคล้ายกับทางตะวันตกของสหรัฐฯ ประเทศสมมติอย่างโซโนราและโมฮาวีกำลังเผชิญกับความขัดแย้งอีกครั้ง หลังจากที่โซโนราเข้าบุกรุกโมฮาวี ผู้นำการฝึกปัญหาที่บังคับการของคอบร้าโกลด์ได้จัดเตรียมเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหลายเหตุการณ์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการฝึกได้มีโอกาสประเมินว่าจะจัดการกับกำลังบำรุงอย่างไรไม่ให้ขาดตก ตลอดจนการรวบรวมข่าวกรอง กักตัวพลรบของข้าศึก และรักษาสันติภาพ

เหตุการณ์สมมตินี้ได้แบบอย่างมาจากการบุกรุกคูเวตของอิรักเมื่อ พ.ศ. 2533 นอกเหนือจากการดูแลจัดการปฏิบัติการรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติแล้ว บุคลากรทางทหารยังได้ดูแลการอพยพพลเมือง เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่พยายามรักษาความสงบ ผู้เข้าร่วมต้องเผชิญกับการระเบิดจำลองที่โรงพยาบาลโมฮาวีซึ่งส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย ในระหว่างนี้ โซโนราได้กล่าวโทษหน่วยเฉพาะกิจผสมนานาชาติว่าเป็นต้นเหตุของระเบิด ในขณะที่หน่วยเฉพาะกิจต้องระบุแหล่งที่มาของการระเบิด

นอกจากนี้ การฝึกยังได้ท้าทายผู้บัญชาการให้แก้ปัญหาด้านมนุษยธรรมที่ซับซ้อน ดังนั้นผู้เข้าร่วมการฝึกจึงได้รับการชี้แนะจากตัวแทนของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศและข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ

ยานพาหนะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกของสาธารณรัฐเกาหลีสร้างควันเมื่อเคลื่อนเข้ามายังหาดยาวระหว่างการฝึกคอบร้าโกลด์ พ.ศ. 2561 ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

“การจัดสถานการณ์ให้สมจริงทำให้เกิดการสนทนาและเกิดความเข้าใจอันดียิ่งขึ้นระหว่างองค์กรต่าง ๆ” นายพอล เบเกอร์ ตัวแทนจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศเพื่อทหารและกลุ่มติดอาวุธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “การที่กองกำลังต่าง ๆ เข้าใจบทบาทของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศในสถานการณ์ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ผู้จัดได้มอบโอกาสให้เรามีบทบาทในการฝึกครั้งนี้ด้วย”
พ.ท. (หญิง) นอร์ฮายาติ ฮาสซัน แห่งศูนย์บัญชาการกองกำลังร่วมมาเลเซียกล่าวว่า การฝึกปัญหาที่บังคับการได้มอบประสบการณ์ใหม่ให้แก่เจ้าหน้าที่มาเลเซียที่ยังไม่เคยเข้าร่วมปฏิบัติการระดับพหุชาติ

“ในห้องบัญชาการสงครามร่วมกับเหล่าทัพอื่น ๆ เราจะได้รับการสนับสนุนซึ่งกันและกันในการแบ่งปันขีดความสามารถและศักยภาพ” พ.ท. ฮาสซันกล่าวและเสริมว่า การฝึกคอบร้าโกลด์ได้เปิดมุมมองของทหารในกองทัพมาเลเซีย “ทหารเหล่านี้ไม่คุ้นเคยกับการฝึกร่วม” พ.ท. ฮาสซันกล่าว “และนี่คือกองกำลังผสม”

การเตรียมความพร้อมสำหรับภัยพิบัติ

ในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติสูงสุดในโลก ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่ง หลายประเทศที่ต้องต่อสู้กับแผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น ดินถล่มและน้ำท่วม ได้ทำงานร่วมกันในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ประกอบด้วยการกู้ภัย การอพยพ และการรักษาทางการแพทย์ฉุกเฉิน

ณ ศูนย์ฝึกบรรเทาสาธารณภัยขนาด 123.97ไร่ (123.97 ไร่) ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา หน่วยปฏิบัติการบรรเทาภัยพิบัติโรยตัวลงมาจากเฮลิคอปเตอร์เพื่อเข้าไปยังพื้นที่ภัยพิบัติจำลอง เจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าตรวจค้นซากปรักหักพังของตึกที่ถล่มลงมาเพื่อค้นหาเหยื่อของภัยพิบัติและนำตัวไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อรับการประเมิน

“แพทย์จากนานาประเทศทำงานร่วมกันในโรงพยาบาลในพื้นที่ โดยมีการคัดแยกและประเมินผู้ป่วยที่ได้รับการบาดเจ็บจากเหตุตึกถล่ม” พ.ต. โรเบิร์ต แอล. แวนเดอร์ทูน แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจร่วมระหว่างพลเรือน-ทหารในการฝึกคอบร้าโกลด์อธิบาย

ทหารของกองทัพบกสหรัฐฯ และกองทัพบกไทยดำเนินการฝึกทหารช่างระหว่างการฝึกซ้อมด้วยกระสุนจริง จ.ส.ต. เดวิด เอ็น. เบ็คสตอร์ม/กองทัพบกสหรัฐฯ

หนึ่งในประสบการณ์ที่ประเมินค่าไม่ได้คือโอกาสในการประเมินขีดความสามารถของประเทศหุ้นส่วนเพื่อที่จะสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่เมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้นจริง พ.ต. แวนเดอร์ทูนกล่าว
“ข้อดีของการทำงานร่วมกับกองกำลังนานาชาติเหล่านี้คือการทำความเข้าใจว่าแต่ละประเทศสามารถช่วยอะไรได้บ้างเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ” พ.ต. แวนเดอร์ทูนกล่าว

พ.อ. เธียรทรรศน์ ภาม่วงเลี่ยม รองผู้อำนวยการศูนย์ฝึกบรรเทาสาธารณภัยของไทยกล่าวว่า ศูนย์ฝึกแห่งนี้ มีอายุสองปี และสามารถจำลองทุกสถานการณ์ตั้งแต่การกู้ภัยบนภูเขาไปจนถึงน้ำท่วมฉับพลันและตึกถล่ม
“นี่คือสถานที่ที่เราได้เรียนรู้ และเราแบ่งปันทุกสิ่งที่เราได้เรียนรู้” พ.อ. เธียรทรรศน์กล่าว

นอกเหนือจากการจำลองการกู้ภัยแล้ว การฝึกคอบร้าโกลด์ยังมีปฏิบัติการอพยพพลเรือน ซึ่งจะเป็นคำสั่งจากรัฐบาลเมื่อพลเมืองของตนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยในต่างแดน ปฏิบัติการเหล่านี้มักเป็นผลสืบเนื่องมาจากภัยธรรมชาติหรือสถานการณ์ความมั่นคงที่ถดถอยลง กลุ่มผู้ฝึกได้จำลองการลงทะเบียนชาวญี่ปุ่นที่อยู่ระหว่างการอพยพจากต่างประเทศ ชาวญี่ปุ่นที่เข้าร่วมการฝึกครั้งนี้บางคนต้องทำเป็นลืมเอกสารสำคัญไว้ ส่วนอีกกลุ่มได้รับมอบหมายให้แสดงอาการทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการประเมิน

หลังจากตรวจหนังสือเดินทางแล้ว ผู้อพยพต้องผ่านการตรวจค้นร่างกายก่อนที่จะเคลื่อนย้ายไปสู่พื้นที่รับรอง ในส่วนของพื้นที่รับรองนั้น ผู้อพยพจะได้รับการจำแนกตามสัญชาติและขอให้แสดงเอกสารที่เหมาะสม และจะได้รับการเคลื่อนย้ายไปยังอากาศยานซี-130 ในที่สุด เพื่อบินออกไปเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนลงจอดที่ท่าอากาศยานเดิม

ของที่ระลึก

ผลกระทบที่การฝึกคอบร้าโกลด์มีต่อไทยขยายไปไกลเกินกว่าความตื่นเต้นในการมีกองทัพจากหลายประเทศมารวมตัวกันภายในประเทศ การช่วยเหลือพลเมืองเป็นหนึ่งในปฏิบัติการหลักของการฝึกคอบร้าโกลด์มาเสมอ และการฝึกที่จัดขึ้นใน พ.ศ. 2561 ครั้งนี้ก็เช่นกัน เหล่าทหารช่างได้สร้างโครงการพัฒนาโรงเรียนหกแห่งทั่วประเทศ เมื่อถึงเวลาที่การฝึกคอบร้าโกลด์สิ้นสุดลง กองทัพต่าง ๆ ได้ตอกเสาหลักกว่า 124 เสาและวางอิฐคอนกรีตกว่า 15,000 ก้อน ที่ตึกของโรงเรียนแห่งหนึ่งที่บ้านทุ่งส่อหงษาในไทย ทหารจากอินโดนีเซีย ไทยและสหรัฐฯ ได้รวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมพิธียกเสาเอก โดยเสาเอกดังกล่าวได้รับการพรมน้ำมนต์จากพระสงฆ์

รถถัง เอ็ม60เอ1 ของกองทัพไทยเคลื่อนที่เข้าหาเป้าหมายในระหว่างการฝึกซ้อมรบด้วยกระสุนจริง
ส.อ. รีเบคก้า แอล ฟลอร์โต/
นาวิกโยธินสหรัฐฯ

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีที่มีการสร้างอาคารนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนไทย” นายวันชิง กูลหกูล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งส่อหงษากล่าว “อาคารนี้จะเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ในระดับอนุบาล และจะสามารถรองรับนักเรียนได้กว่า 40 คน”

หลังจากการมอบอาคารโรงเรียนอีกแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่กองทัพบกไทยระดับสูงนายหนึ่งกล่าวต่อ ฟอรัม ว่าโครงการด้านวิศวกรรมต่าง ๆ ได้สร้างแรงสนับสนุนจากสาธารณชนให้แก่กองทัพ

“เราต้องใช้สนามเพื่อการฝึกทางทหาร และแต่ก่อนนี้เราอาจทำลายพืชผลในบางครั้ง” พล.อ. พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกล่าว “เมื่อกองทัพบกดำเนินการฝึก เราจะมีสิ่งตอบแทนเพื่อชดเชยสิ่งที่เราอาจทำลายไป”
ขณะนี้เป้าหมายนั้นได้ขยายออกไปนอกเหนือการทดแทนทรัพย์สมบัติที่เสียหาย โดยเป็นเรื่องของการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างพลเรือนและทหาร “ปัจจุบันเราได้เปลี่ยนแปลงหลักการของเราแล้ว” พล.อ. พรพิพัฒน์กล่าว “กองทัพบกไทยต้องมีพลเรือนอยู่เคียงข้าง”

การฝึกในพื้นที่ป่า

ส่วนแบ่งอาหารและน้ำได้รับการบริโภคไปแล้ว และยังเหลือเวลาอีกหลายวันกว่ากำลังบำรุงจะมาถึง พระอาทิตย์ยังคงสาดส่องลงมาที่ป่าดิบชื้นของไทย ซึ่งเป็นบริเวณที่นาวิกโยธินของเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกากำลังได้รับการฝึกจากผู้เชี่ยวชาญชาวไทยเกี่ยวกับทักษะการเอาชีวิตรอดในป่า

พลเอกพรพิพัฒน์ เบญจศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพไทย อธิบายว่าธรรมเนียมการสร้างอาคารอเนกประสงค์ของคอบร้าโกลด์ที่โรงเรียนในท้องถิ่นช่วยสร้างความสามัคคีระหว่างประชาชนและกองทัพไทยได้อย่างไร ส.ท. จัสติน ฮัฟตี้/นาวิกโยธินสหรัฐฯ

“การเอาชีวิตรอดเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับทหารทุกคนที่ต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารที่อาจมีเพียงประสบการณ์การรบในเมืองเท่านั้น แต่ไม่มีประสบการณ์การเอาชีวิตรอดในป่า” จ.ส.อ. ไพโรจน์ ประสานสาย นาวิกโยธินไทยและผู้ฝึกสอนด้านการเอาชีวิตรอดในป่ากล่าว

การฝึกนี้สอนให้นาวิกโยธินได้เรียนรู้วิธีการหาแหล่งน้ำ ก่อไฟ แยกแยะระหว่างพืชที่รับประทานได้กับพืชที่เป็นอันตราย และแม้กระทั่งเรียนรู้ว่าแมลงชนิดใดสามารถรับประทานได้ แต่มีกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้การฝึกนี้เป็นที่รู้จักมากที่สุด
“ในป่าเราสามารถดื่มเลือดงูเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ” จ.ส.อ. ไพโรจน์กล่าวต่อกลุ่มนาวิกโยธินพร้อมกับหยิบงูเห่าขึ้นมา “งูสามารถเป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งน้ำที่จำเป็นต่อการเอาชีวิตรอด”หลังจากที่เตรียมงูแล้ว นักเรียนก็ได้รับโอกาสในการดื่มเลือดงูเห่า

นาวิกโยธินสหรัฐฯ ดื่มเลือดงูเห่าในระหว่างการฝึกเอาชีวิตรอดในป่า รอยเตอร์

“รสชาติเหมือนเลือดที่มีกลิ่นคาวของปลาเล็กน้อย” ส.อ. คริสโตเฟอร์ ไฟฟ์ฟี นาวิกโยธินสหรัฐฯ กล่าว ตามรายงานที่ได้รับการเปิดเผยโดยนาวิกโยธินสหรัฐฯ นักเรียนหลายคนกล่าวว่าตนได้รับความรู้ที่มีค่าจากการฝึกในครั้งนี้
“ผมไม่เคยทำอะไรอย่างนี้มาก่อน และผมไม่เคยทราบมาก่อนว่าเราสามารถรับประทานพืชเหล่านั้นได้” ส.อ. วิลเลียม ซิงเกิลตัน นาวิกโยธินสหรัฐฯ กล่าว “การได้เห็นสัตว์ต่าง ๆ ที่เราสามารถรับประทานได้เป็นสิ่งที่แปลกใหม่อย่างยิ่ง การฝึกครั้งนี้จะช่วยให้เราหาแหล่งอาหารที่รับประทานได้ง่ายขึ้นเมื่ออยู่ในป่า”

ผลประโยชน์ระยะยาว

“ปีนี้เป็นครั้งที่ 37 ของการฝึกคอบร้าโกลด์ ซึ่งเป็นการฝึกเชิงปฏิบัติการด้านความมั่นคงในยุทธบริเวณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยมีเกือบ 30 ประเทศเข้าร่วมในกิจกรรมการฝึกที่หลากหลาย การเข้าร่วมทางทหารในระดับนี้” พล.ร.อ. แฮร์ริสกล่าว “แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการทำงานหนักและเพิ่มการทำงานร่วมกับระหว่างกองทัพของแต่ละประเทศในขณะนี้ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าต้องทำอย่างไรเมื่อเกิดวิกฤตขึ้น”

การย้ำการฝึกหลาย ๆ ครั้งและการต่อยอดประสบการณ์เหล่านั้นจะมีประโยชน์เมื่อประเทศหุ้นส่วนต้องเผชิญกับวิกฤตหรือความขัดแย้งทางทหารร่วมกัน “ความรู้จากโบราณกาลเป็นพื้นฐานของสิ่งที่ประสบการณ์ในปัจจุบันยืนยัน” พล.ร.อ. แฮร์ริสกล่าว “เราไม่ได้ทะยานขึ้นสู่ระดับการคาดหวังของเรา แต่เราตกไปสู่ระดับของการฝึกของเรา”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button