ข่าวรอบโลกแผนก

แอนตาร์กติกา: โดรนสำรวจใต้น้ำลึก

นักวิจัยมหาวิทยาลัยวอชิงตันได้โยนหุ่นยนต์ติดเซ็นเซอร์มูลค่าครึ่งล้านเหรียญสหรัฐฯ ลงในน้ำที่หนาวเหน็บนอกชายฝั่งแอนตาร์กติกา และหวังว่าจะได้ประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว

หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี โดรนก็จะเก็บรวบรวมการรังวัดที่ครบถ้วนมากที่สุดที่เคยมีจากไหล่น้ำแข็งฝั่งตะวันตกที่กว้างใหญ่และเปราะบางใต้ทวีป หากเกิดสิ่งผิดพลาดขึ้น หุ่นยนต์อาจจะหายไปในเขาวงกตของถ้ำและรอยแยกใต้น้ำแข็ง และก็จะไม่มีใครได้ข่าวอีก
“สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องยากลำบากและห่างไกลอย่างที่สุด” นายเครก ลี นักสมุทรศาสตร์จากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในนครซีแอตเทิลกล่าว “มันมีความเสี่ยงสูงมาก”

เป้าหมายคือการตอบหนึ่งในคำถามที่สำคัญที่สุดในการศึกษาสภาพภูมิอากาศ นั่นคือ ระดับน้ำทะเลที่เกิดจากการละลายของชั้นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาจะมีปริมาณเท่าใดและจะน้ำขึ้นเร็วขนาดไหน

โอกาสและความเป็นไปได้ที่ไม่แน่นอนของความสำเร็จทำให้โครงการนี้หาเงินทุนสนับสนุนวิจัยจากรัฐบาลกลางยาก นายพอล อัลเลน เศรษฐีพันล้านแห่งซีแอตเทิลเป็นผู้สนับสนุนการสำรวจนี้ โดยนายอัลเลนเป็นคนที่มีชื่อเสียงด้านการให้เงินสนับสนุนแก่โครงการวิจัยที่มีความเสี่ยงที่อาจสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่

มูลนิธิ พอล จี. อัลเลน ฟิแลนโทรปีส์ สนับสนุนเงิน 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 58.5 ล้านบาท) สำหรับการทดสอบในพื้นที่แอนตาร์กติกา เพื่อดูว่าหุ่นยนต์สามารถแล่นบนพื้นที่ขรุขระที่ไหล่น้ำแข็งและมหาสมุทรมาบรรจบกันเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและส่งต่อไปยังนครซีแอตเทิลได้หรือไม่

หากงานทดลองนี้เข้าเกณฑ์มาตรฐาน เราก็จะสามารถส่งอุปกรณ์ที่ไม่แพงมากนักในอนาคตเพื่อทำการวัดในระยะยาวถึงกระแสน้ำในมหาสมุทร อุณหภูมิของน้ำ และอัตราการละลายของน้ำแข็ง

“นี่จะเป็นความสำเร็จด้านเทคโนโลยีหากเราสามารถทำได้สำเร็จ” นายสเปนเซอร์ รีดเดอร์ ผู้อำนวยการด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานสำหรับพอล จี. อัลเลน ฟิแลนโทรปีส์กล่าว “เราพร้อมที่จะรองรับความเสี่ยงในขั้นแรก และหากเราสามารถสาธิตว่ามันทำได้ คนอื่นก็จะได้ทำการสำรวจตามมา”

การคาดการณ์ปัจจุบันของการขึ้นสูงของระดับน้ำทะเลภายใน พ.ศ. 2643 แตกต่างกันอย่างมาก ตั้งแต่ 0.3 เมตรจนถึงเกือบ 2 เมตร ส่วนใหญ่เพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถคาดการณ์ถึงชะตาของชั้นน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ปกคลุมแอนตาร์กติกาและกรีนแลนด์ แอนตาร์
ติกาตะวันตกเพียงพื้นที่เดียวก็มีน้ำแข็งเพียงพอที่จะเพิ่มระดับน้ำทะเลโลกได้ถึงเกือบ 3 เมตร

“เราไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้” นายนุต คริสเตียนซัน ผู้เชี่ยวชาญธารนำ้แข็งจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันกล่าว “แต่หากเราสูญเสียแม้แต่เพียงเสี้ยวเดียวของน้ำแข็งนั้นก็อาจสร้างความท้าทายครั้งสำคัญสำหรับชุมชนชายฝั่ง”

“ธารน้ำแข็งที่ปกคลุมแอนตาร์ติกาลอยตัวได้ด้วยไหล่น้ำแข็งที่หนาประมาณครึ่งกิโลเมตร” หากภาวะโลกร้อนทำให้ไหล่น้ำแข็งทรุดตัวลงหรือละลาย ธารน้ำแข็งก็อาจไหลลงสู่มหาสมุทรอย่างรวดเร็วและเร่งการขึ้นสูงของระดับน้ำทะเล

คณะทำงานจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันวางแผนที่จะเน้นการศึกษาธารน้ำแข็งของเกาะไพน์ ซึ่งเป็นชั้นน้ำแข็งในแอนตาร์ติกาที่ละลายเร็วที่สุด และมีการแตกของภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา การไหลของธารน้ำแข็งเร่งตัวขึ้นร้อยละ 75 ในช่วง 40 ปี ที่ผ่านมา โดยน่าจะมีสาเหตุจากความหนาของไหล่น้ำแข็งลอยตัวที่ลดลง แอสโซซิเอทเต็ด เพรส

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button