มาตรการ ยืดหยุ่น
อินเดียปรับปรุงกฏหมายของประเทศ กระบวนการฝึกทหาร และกลยุทธ์การปกครองเพื่อสู้กับภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เจ้าหน้าที่ฟอรัม
มื่อพูดถึงการจัดอันดับ การเลื่อนขึ้นอันดับของการเป็นสถานที่ที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของผู้ก่อการร้าย เป็นตำแหน่งที่ไม่มีประเทศใดอยากครอบครอง
แต่กระนั้น อินเดียประสบกับสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศรายงานในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 ว่าอินเดียเลื่อนขึ้นสู่อันดับที่ 3 แทนที่ปากีสถานและตามหลังเพียงอิรักและอัฟกานิสถาน โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า จากจำนวนการก่อการร้ายทั่วโลกทั้งหมด 11,072 ครั้งใน พ.ศ. 2559 มีการก่อการร้ายในอินเดีย 927 ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวเลขเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จาก พ.ศ. 2558
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียไม่ได้นิ่งเฉยกับแนวโน้มนี้
“อินเดียมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการก่อการร้ายทั่วโลกอย่างแน่วแน่ และได้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายอย่างสิ้นเชิง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.ดร.วี เค ซิงห์ (เกษียณอายุ) ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 26 กล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560
แม้จะมีอัตราการเสียชีวิตมากขึ้นจากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้น แต่อินเดียยังคงพยายามอย่างไม่ลดละเพื่อจัดทำกฎหมาย เครื่องมือ และการฝึกอบรมสำหรับรัฐบาล กองทัพ และหน่วยงานที่มีอำนาจอื่น ๆ เพื่อพลิกแนวโน้มดังกล่าว
เมื่อ พ.ศ. 2559 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าอินเดียพยายามปรับปรุงการแลกเปลี่ยนข้อมูลการคัดกรองการก่อการร้ายและปรับปรุงความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายในรายกรณี และยังร่วมมือกับบังกลาเทศด้านกระบวนการ ๆ เพื่อปรับปรุงการส่งตัวผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายและขบวนการอาชญากรรมข้ามแดน ตลอดจนกำหนดให้สถาบันการวิจัยอิสลามของนายซากิร ไนก์ นักบวชหัวรุนแรง ว่าเป็น “องค์กรผิดกฎหมาย”
นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2559 นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรี ประกาศเลิกใช้ธนบัตรมูลค่า 500 และ 1000 รูปี ซึ่งเป็นการทำตามคำมั่นสัญญาก่อนการเลือกตั้งว่าจะแก้ปัญหาการทุจริตและการหนีภาษี การทำเช่นนี้ส่งผลให้เงินนอกกระแสถูกเปิดโปง ซึ่งกระทบต่อกิจกรรมและการระดมทุนของผู้ก่อการร้าย
“รัฐบาลอินเดียรุดหน้าในการพยายามตอบโต้ลัทธิสุดโต่ง ให้การสนับสนุนอย่างเป็นนัย ๆ สำหรับความพยายามของประชาสังคมเพื่อตอบโต้ลัทธิสุดโต่ง ริเริ่มสานต่อการให้ “การศึกษาที่มีคุณภาพและทันสมัย” ในมัดดารอซะฮ์ และดำรงไว้ซึ่งโครงการต่าง ๆ เพื่อบำบัดจิตใจและนำอดีตผู้ก่อการร้ายและผู้ก่อความไม่สงบกลับเข้าสู่สังคม” ข้อมูลตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ “โครงการเหล่านี้มุ่งเป้าไปที่ภาคส่วนสังคมอินเดียที่มีความคิดต่อต้าน ซึ่งเป็นแหล่งการก่อความไม่สงบโดยใช้ความรุนแรง”
รายงานดังกล่าวระบุว่า หน่วยงานภาครัฐของอินเดียยังคงเป็นกังวลเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรหาสมาชิก ปลูกฝังความคิดหัวรุนแรง และกระตุ้นความตึงเครียดระหว่างศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของรัฐอิสลามอิรักและซีเรีย (ไอซิส) ในการสรรหาสมาชิกทางออนไลน์ ซึ่งเป็นผลให้ชาวอินเดียถูกชักจูงเข้าร่วมหรือสนับสนุนกลุ่มดังกล่าว ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 เจ้าหน้าที่ทหารอินเดียรายหนึ่งเรียกร้องให้เพิ่มข้อจำกัดทางอินเทอร์เน็ตเพื่อต่อสู้กับไอซิสและกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ ในพื้นที่ดิจิทัล
“การตรวจสอบและการควบคุมอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ที่องค์กรก่อการร้ายใช้งานเป็นประจำ” เป็นสิ่งจำเป็นต่อความปลอดภัยและความมั่นคง พล.อ. บิปิน ราวัต ผู้บัญชาการทหารบกอินเดียกล่าว ตามรายงานของ India.com “ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ประชาชนจะไม่ชอบการทำเช่นนี้ แต่เราต้องตัดสินใจว่าจะเลือกสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยและมั่นคง หรือจะเต็มใจยอมรับการควบคุมชั่วคราวเพื่อให้สามารถรับมือกับการก่อการร้ายได้”
กลุ่มก่อการร้ายมีทั้งกองกำลังติดอาวุธและกระบอกเสียงทางการเมือง พล.อ. ราวัตกล่าว เราต้องต่อสู้กับกลยุทธ์แบบอำนาจอ่อนด้วยการส่งสารต่อต้านในทุกขั้นตอน รวมทั้งต้องระงับและยับยั้งการเผยแพร่สารของกลุ่มดังกล่าวเมื่อใดก็ตามที่สามารถทำได้
เพื่อการยุติปัญหานี้ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 สื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ และไมโครซอฟต์ ประกาศจัดตั้งคณะทำงานระดับโลกเพื่อช่วยกันถอดเนื้อหาการก่อการร้ายออกจากระบบของตน ดังนั้น ฟอรัมอินเทอร์เน็ตระดับโลกเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายจึงได้รับการจัดตั้งขึ้น โดยในขณะนี้บริษัทอื่น ๆ อย่าง อินสตาแกรรม ลิงก
ต์อิน และสแนปแชทก็เข้าร่วมด้วยเช่นกัน
“การแบ่งปันความรู้ของฟอรัมอินเทอร์เน็ตระดับโลกเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายเติบโตอย่างรวดเร็วในวงกว้าง เพราะบริษัทต่าง ๆ ตระหนักว่าในการต่อต้านการก่อการร้ายออนไลน์นั้น เราต้องเผชิญความท้าทายที่เหมือน ๆ กันหลายประการ” กลุ่มบริษัทระบุในการรายงานข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 “แม้บริษัทต่าง ๆ จะแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายมาตลอดระยะเวลาหลายปีแล้ว แต่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ฟอรัมอินเทอร์เน็ตระดับโลกเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายยังนำเสนอโครงสร้างที่เป็นทางการมากกว่าเดิมเพื่อเร่งและเพิ่มความเข้มแข็งของงานนี้”
กลุ่มดังกล่าวยังระบุต่อไปว่า “เรารู้ว่างานของเรายังเหลือหนทางอีกยาวไกล แต่เรามั่นใจว่าเรามาถูกทางแล้ว เราจะคอยให้ข้อมูลล่าสุดขณะที่เราร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ ๆ และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในการเผชิญกับความท้าทายระดับโลกนี้”
พล.อ. ราวัตกล่าวเน้นความสำคัญในการร่วมมือดังกล่าวว่าเป็นการขยายสมรภูมิในปัจจุบันให้เกินกว่าขอบเขตทางกายภาพ
“เราควรเริ่มเตรียมการสำหรับสงครามในรูปแบบต่อ ๆ ไป ซึ่งคือสงครามไซเบอร์และข้อมูล” พล.อ. ราวัตกล่าวในเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ตามรายงานในหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวส์ อินเตอร์เนชันแนล ของปากีสถาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายราชนาถ ซิงห์ กล่าวสนับสนุนให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับยุทธวิธีใหม่เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามการก่อการร้ายที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 นายซิงห์เรียกร้องให้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย โดยเน้นไปที่ผู้ก่อการร้ายที่ลงมือคนเดียว และผู้ที่ “ประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นเอง”
นอกจากนี้ นักวิจัยของกระทรวงมหาดไทยยังเริ่มโครงการเพื่อหาเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการปลูกฝังแนวคิดหัวรุนแรงในคนหนุ่มสาว และหนทางการตอบโต้คตินิยมทางศาสนาแบบสุดโต่งในอินเดีย เว็บไซต์ข่าวอินเดียเฟิร์สโพสต์รายงานเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 หน่วยงานกำกับดูแลอธิบายโครงการนี้ที่เรียกว่า “แรด แอนด์ ดีแรด” เป็น “ความบากบั่นอันมีค่ายิ่ง” เพื่อเข้าใจอย่างเจาะลึกถึงการปลูกฝังแนวคิดหัวรุนแรงและคตินิยมแบบสุดโต่ง
การปรับใช้แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด
เจ้าหน้าที่อินเดียต้องการเลียนแบบกลไกแบบหลายชั้นและการมีโครงสร้างที่เป็นระบบของสิงคโปร์ เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากคนหนุ่มสาวหัวรุนแรงและไอซิส
“สำหรับสถาพการณ์ของอินเดีย ในบรรดาโครงการต่อต้านการปลูกฝังความคิดแบบหัวรุนแรงต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยนานาประเทศนั้น แบบปฏิบัติของสิงคโปร์ซึ่งเป็นการผสานรวมมาตรการรักษาความปลอดภัยอันแน่นหนา พร้อมด้วยกฎหมายที่เคร่งครัดและความร่วมมือจากชุมชน เป็นสิ่งที่มีความเหมาะสมมากที่สุด ดังนั้น เราจึงค่อย ๆ พัฒนาระบบเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของอินเดีย” เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยในระดับอาวุโสที่ไม่ปรากฏนามกล่าวอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ตามรายงานของสำนักข่าวหลายแห่ง
เจ้าหน้าที่กระทรวงต้องการให้มีกระบวนการดำเนินงานมาตรฐานเพื่อรับมือกับบทความด้านความรุนแรงที่โพสต์บนโลกออนไลน์ สำนักงานข่าวกรองได้จัดเตรียมระบบให้คำปรึกษาสามระดับตามคำร้องของกระทรวง โดยประกอบไปด้วยครอบครัว นักบวช และผู้เชี่ยวชาญสำหรับการกำจัดแนวคิดหัวรุนแรงในเยาวชนและกลุ่ม
อื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ ยูไนเต็ด นิวส์ ออฟ อินเดีย รายงานเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2561
“หน่วยงานรัฐบาลทุกหน่วยและตัวแทนชุมชนมุสลิมทั้งหมด จะสนับสนุนชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้คำปรึกษาแก่เยาวชนที่ได้รับผลกระทบ” ผู้ให้ข้อมูลในกระทรวงที่ไม่ประสงค์ออกนามกล่าว ตามรายงานของยูไนเต็ด นิวส์ ออฟ อินเดีย “ด้วยกลไกการตรวจตราล่าสุดเพื่อสอดส่องผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในเว็บไซต์ต่าง ๆ เกี่ยวกับญิฮาด ขณะนี้จึงกำลังมีการจัดเตรียมระบบหลายภาษาที่ประสานงานกันทั่วประเทศตลอดเวลาโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน สำหรับการเผยแพร่ข้อความต่อต้านการกระจายข่าวที่จัดทำขึ้นอย่างดีและมีความเหมาะสม”
แบบปฏิบัติของสิงคโปร์ยังกำหนดบทบาทของครอบครัว ครู และเพื่อนบ้านในชุมชนของผู้ที่เข้ารับการกำจัดแนวคิดหัวรุนแรงด้วยเช่นกัน
นักบวชจะมีบทบาทสำคัญในแบบปฏิบัติของอินเดีย รัฐบาลมีแผนการที่จะสรรหาผู้นำทางศาสนาเพื่อนำเสนอแนวทางที่เชื่อถือได้ในการต่อต้านเรื่องเล่าปลุกระดม และเป็นทางเลือกเสริมเพื่อไม่ให้ผู้คนไปเข้าร่วมกับองค์กรผู้ก่อการร้าย
สิ่งที่นอกเหนือจากการฝึกขั้นพื้นฐาน
รูปแบบการสู้รบกับข้าศึกตามตำรายังใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย แต่สำหรับภัยคุกคามของการก่อการร้ายที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลานั้น หมายความว่าการฝึกทางทหารก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน
กองทัพบกอินเดียได้ปรับปรุงแนวทางการฝึกทหารใหม่โดยเพิ่มการฝึกด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและหลักสูตรการระบุถึงภัยคุกคามด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์
“หลักสูตรการฝึกทหารใหม่ได้รับการพัฒนาอย่างรอบคอบเพื่อตอบสนองความท้าทายในแง่ของการสงครามนอกแบบ ซึ่งมักเป็นปฏิบัติการที่มีอัตราความรุนแรงในระดับต่ำ เช่น ปฏิบัติการต่อต้านผู้ก่อการร้าย ปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบ และอาจมีปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มนักซาไลต์ในกรณีที่จำเป็น” พล.จ. โกวินด์ คาลวัด กล่าวเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ ดิ อินเดียน เอกซ์เพรส (นักซาไลต์ เป็นคำที่ใช้เรียกสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ของอินเดีย หรือลัทธิเหมา) พล.จ. คาลวัดชี้แจงว่ากองทัพบกไม่ได้ละทิ้งแนวทางการฝึกกำลังพลขั้นพื้นฐาน หากแต่เป็นการพัฒนาให้ทันตามยุคสมัยเท่านั้น
“สำหรับทหารที่ผ่านการฝึกขั้นพื้นฐานแล้ว ขั้นต่อไปจะเป็นหลักสูตรครอบคลุมเกี่ยวกับการเผชิญหน้ากับสถานการณ์การรบนอกแบบ” พล.จ. คาลวัดกล่าว ตามรายงานของ ดิ อินเดียน เอกซ์เพรส “กล่าวคือ ทหารที่ผ่านการฝึกภาคปกติจะได้หยุดพัก และเมื่อถึงเวลากลับเข้าประจำการ ทหารเหล่านั้นจะถูกส่งไปยังค่ายที่ใช้ฝึกการเผชิญหน้ากับสถานการณ์การรบในสงครามนอกแบบ ฉะนั้น เมื่อฝึกฝนเสร็จสิ้นแล้ว ทหารทุกนายจะพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ในรัฐชัมมูและกัศมีร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือการต่อสู้กับนักซาไลต์ หากได้รับคำสั่ง”
ในแต่ละปี ทหารอินเดียเสียชีวิตมากกว่า 70 คนในการปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบและปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย ตามรายงายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะไทมส์ออฟอินเดีย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 พล.จ. คาลวัดชี้แจงว่า ทหารใหม่จะได้ซ้อมรบในสถานการณ์จำลองตามเหตุการณ์จริงมากขึ้นในหลักสูตรการฝึกขั้นสูง เพื่อลดโอกาสการสูญเสียกำลังพล
ปัจจุบัน หลักสูตรการฝึกของกองทัพบกอินเดียส่วนหนึ่งกำหนดอุปสรรค 22 ประการในสภาพภูมิประเทศต่าง ๆ รวมถึงในป่าทึบ ตามการรายงานของ เดอะไทมส์ออฟอินเดีย ทหารแต่ละกลุ่มมีประมาณ 30 ถึง 50 นาย โดยแต่ละกลุ่มจะได้รับการฝึกภายใต้ “สถานการณ์ความตึงเครียดสูง” พล.จ. คาลวัดกล่าว
นอกจากนี้ กองทัพบกอินเดียยังใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในการฝึก โดยจะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์วัดความแม่นยำในการยิงปืนของทหารแทนการตรวจสอบแบบปกติ
“ความท้าทายในอนาคตยังคงเรียกร้องให้กองทัพบกอินเดียมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นต่อไป” พล.อ. ราวัต กล่าวในเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ตามรายงานของสำนักข่าวอินโดเอเชียน นิวส์ เซอร์วิส
ผู้นำที่ทรงพลัง
สหรัฐอเมริกามองว่าอินเดียเป็น “มหาอำนาจแนวหน้า” ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ตามที่เอกสารยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ฉบับล่าสุดระบุไว้ว่าอินเดียมีบทบาทที่น่าจับตามองมากขึ้นในฐานะ “พันธมิตรทางการทหารที่สำคัญ”
“อินโดแปซิฟิกเป็นสนามชิงชัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างกลุ่มแนวคิดระเบียบโลกแบบเสรีนิยมและแบบจำกัดสิทธิ โดยภูมิภาคที่ทอดยาวตั้งแต่คาบสมุทรตะวันตกของอินเดียไปจนถึงชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกานี้ เป็นแหล่งที่มีประชากรมากที่สุดเป็นเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายมากที่สุดของโลก” ตามรายงานของเอกสารยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ
ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต้องการให้อินเดียเพิ่มบทบาทในฐานะพันธมิตรด้านความมั่นคงและมีเสถียรภาพของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และอินเดียได้แสดงให้เห็นแล้วว่ายินดีที่จะก้าวเข้าสู่บทบาทนี้
รายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะ มะนิลา ไทมส์ ระบุว่า ในระหว่างเหตุการณ์การการยึดครองมาราวีในฟิลิปปินส์เมื่อ พ.ศ. 2560 อินเดียสนับสนุนงบประมาณมูลค่าห้าแสนเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 16.2 ล้านบาท) ในปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นเงินสนับสนุนมูลค่ามหาศาลเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย รวมถึงจีนที่มอบเงินสนับสนุนมูลค่า 300,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 9.7 ล้านบาท) ตามรายงานของ เดอะ มะนิลา ไทมส์
การปรับมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายให้เข้มแข็ง และกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง เป็นประเด็นสำคัญในการประชุมระหว่างอินเดียและอาเซียนเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2561
นายปรีติ สราญ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย (ฝ่ายกิจการตะวันออก) กล่าวเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ว่า “จากปฏิสัมพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้เราทราบว่านานาประเทศในอาเซียนต่างเรียกร้องให้อินเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ให้ความร่วมมือมากขึ้น และมีการผสานรวมมากขึ้น ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และในแง่ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองของอินเดียและพลเมืองของประเทศในอาเซียน” จากการรายงานของเฟิสต์โพสต์
ผู้นำในหลายอุตสาหกรรมต่างจับตามองสถานะการเติบโตของอินเดีย
นายจันทรจิต บาเนอร์จี อธิบดีสมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดีย ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจไม่แสวงผลกำไรกล่าวว่า “อินเดียกำลังอยู่ในเวทีศูนย์กลางระดับโลก” “ความคาดหวังต่าง ๆ ล้วนอยู่ในระดับสูง ทั่วโลกชื่นชมในความมุ่งมั่นของอินเดียและต้องการมีส่วนร่วม”