เรื่องเด่น

หน่วยบัญชาการที่ ปรับตัวได้

การรักษาสันติภาพและความมั่นคงในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

นางแคทริน บอตโต ภาพโดย ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

กองทัพสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในสาธารณรัฐเกาหลีมาเป็นเวลานานกว่า 67 ปี โดยผ่านทางส่วนบัญชาการทางทหาร 3 ส่วน ได้แก่ กองบัญชาการสหประชาชาติ กองกำลังสหรัฐฯ ในเกาหลี และหน่วยบัญชาการกองกำลังผสม ส่วนบัญชาการดังกล่าวแต่ละส่วนนี้ บางช่วงเวลาในอดีตต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางสภาพแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ที่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนภารกิจหรือขอบเขตการทำงาน และกลายเป็นความท้าทายที่ส่วนบัญชาการแต่ละส่วนต้องเผชิญ ความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของกองทัพสหรัฐฯ ในเกาหลีตลอดช่วงระยะเวลาอันยาวนานนี้เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดแจ้งถึงความยืดหยุ่นของสถาบันเหล่านี้ ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการตอบสนองต่อภัยคุกคามที่ซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เงื่อนไขที่อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งส่วนบัญชาการแต่ละส่วนทำให้เข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า เหตุใดสาธารณรัฐเกาหลีจึงเป็นเพียงประเทศประชาธิปไตยที่มั่นคงประเทศเดียวที่มีกองกำลังในยามสงครามอยู่ภายใต้การควบคุมการปฏิบัติการของผู้บัญชาการสหรัฐฯ เป็นที่ตั้งเพียงแห่งเดียวของกองกำลังผสมระหว่างสองประเทศของสหรัฐฯ และเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการสหประชาชาติซึ่งนำโดยสหรัฐฯ

กองบัญชาการสหประชาชาติ

การปรากฏตัวของกองทัพสหรัฐฯ ในเกาหลีเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง โดยตั้งใจจะให้เป็นมาตรการชั่วคราวที่ไม่เข้มงวดในการรักษาเสถียรภาพของเกาหลีใต้ และต่อต้านการขยายอิทธิพลของโซเวียตที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น แม้ว่าแต่เดิมจะวางแผนทำหน้าที่ผู้พิทักษ์เป็นระยะเวลาห้าปี แต่กลับกลายเป็นว่าต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลทหารโดยกองทัพบกสหรัฐฯ ในเกาหลี รัฐบาลทหารดังกล่าวสิ้นสุดวาระในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2491 โดยมีการเลือกตั้งให้นายอี ซึงมัน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี และรัฐบาลทหารนั้นก็เปลี่ยนบทบาทไปเป็นคณะที่ปรึกษาทางทหาร หลังจากที่นายอี ซึงมัน ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดี สหรัฐฯ ได้เริ่มถอนกองกำลังออกจากสาธารณรัฐเกาหลี ในขณะเดียวกัน เกาหลีก็เหนือก็เริ่มวางแผนรุกรานเกาหลีใต้ และเริ่มกระทำการดังกล่าวในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2493

หลังจากที่สงครามเกาหลีปะทุขึ้น ความสนใจของสหรัฐฯ ในเอเชียคือการต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีน เกาหลีเหนือและสหภาพโซเวียตในภูมิภาคนี้ นายแฮร์รี เอส. ทรูแมน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศอย่างชัดเจนทั้งที่เป็นส่วนตัวและต่อสาธาณะว่า ความกังวลหลัก ๆ ของตนเกี่ยวกับเกาหลีคือข้อสงสัยที่ว่าสหภาพโซเวียตจะเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้ง ในช่วงแรก ๆ ของสงคราม รัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อว่าการบุกรุกเกาหลีใต้โดยเกาหลีเหนืออาจเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรุกในระดับภูมิภาคของสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต การดำเนินการขั้นแรกของสหรัฐฯ คือการส่งกองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ ไปปกป้องสาธารณรัฐจีน (ปัจจุบันคือไต้หวัน) เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ถูกรุกรานด้วยเช่นกัน ตามบันทึกของทบวงทหารบกสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันทำให้ประธานาธิบดีทรูแมนมีความกังวลมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามอันแข็งกล้าของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่แผ่ขยายในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการเข้าสู่สงครามกลางเมืองจีนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนและการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งแรกของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตใน พ.ศ. 2492 ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนทำให้ประธานาธิบดีทรูแมนตัดสินใจขยายการช่วยเหลือไปยังเกาหลีใต้ภายใต้การอุปถัมภ์ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อยับยั้งการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในต่างประเทศและสนับสนุนจุดยืนในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ภายในประเทศ

ทหารเกาหลีใต้และทหารสหรัฐฯ ยืนรักษาการณ์ในระหว่างพิธีเนื่องในวันครบรอบ 63 ปีของการลงนามในข้อตกลงสงบศึกเกาหลี ที่หมู่บ้านพักรบปันมุนจอม ประเทศเกาหลีใต้ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559

เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ สหรัฐฯ จึงขอการรับรองจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การจัดตั้งกองบัญชาการสหประชาชาติตามข้อมติที่ 84 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 เป็นการอนุมัติให้สหรัฐฯ ดำเนินการได้ ข้อมติดังกล่าวระบุให้สหรัฐฯ แต่งตั้งผู้บัญชาการของหน่วยบัญชาการรวมภายใต้ธงขององค์การสหประชาชาติเพื่อ “ช่วยเหลือสาธารณรัฐเกาหลีในการป้องกันตนเองจากการโจมตีด้วยอาวุธ และเพื่อฟื้นฟูสันติภาพระหว่างประเทศและความมั่นคงภายในพื้นที่” ชาติตะวันตกต่าง ๆ มองว่าการดำเนินการของกองบัญชาการสหประชาชาติคือการต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ที่อาจส่งผลกระทบต่อภูมิภาคและต่อทั่วโลก และได้รับความเห็นชอบจากนานาชาติโดยจะเห็นได้จากการสนับสนุนในวงกว้าง การลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็นผลมาจากการที่นายโจเซฟ สตาลิน ผู้นำของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตตัดสินใจที่จะไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมที่เป็นการอนุมัติให้กองบัญชาการสหประชาชาติเข้าร่วมในสงครามเกาหลี หากสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตคัดค้านข้อมติดังกล่าว ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจนว่าการมีส่วนร่วมในเกาหลีจะได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอในรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อจะเข้าไปดำเนินการโดยฝ่ายเดียวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติคือสิ่งที่ทำให้กองทัพสหรัฐฯ ออกไปปฏิบัติการนอกประเทศได้โดยไม่ต้องมีการประกาศสงครามโดยรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งยังคงเป็นมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

หลังจากการสู้รบดำเนินไปได้ปีกว่า ๆ สหรัฐฯ (โดยกองบัญชาการสหประชาชาติ) สาธารณรัฐประชาชนจีนและเกาหลีเหนือได้สนับสนุนการเริ่มต้นการเจรจาสงบศึกเพื่อยุติความขัดแย้งโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีอี ซึงมัน เห็นว่าการลงนามในข้อตกลงสงบศึกคือการปฏิเสธโอกาสในการรวมชาติเกาหลีภายใต้รัฐบาลเกาหลีใต้ และจะเป็นเหตุให้นำมาซึ่งภัยคุกคามต่อความมั่นคงของเกาหลีใต้ ในจดหมายที่เขียนถึงประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีอีระบุว่า การลงนามในข้อตกลงที่เป็นการยินยอมให้กองกำลังคอมมิวนิสต์จีนอยู่ในเกาหลีเหนือต่อไปเป็น “การยอมรับโทษประหารชีวิตโดยไม่มีการคัดค้าน”

หลังจากการเจรจาดำเนินไปได้สองปีและมีการเสนอให้จัดทำสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกัน ประธานาธิบดียังคงคัดค้านการสงบศึกและปฏิเสธที่จะลงนาม ในท้ายที่สุด ข้อตกลงสงบศึกก็มีผู้ลงนามห้าคน ได้แก่ ผู้นำอเมริกันสองคนจากกองบัญชาการสหประชาชาติ ผู้นำสองคนจากเกาหลีเหนือและหนึ่งคนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

จากความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาที่มีมาเป็นเวลานานในระหว่างการเจรจาสงบศึก ข้อตกลงสงบศึกเกาหลีจึงกำหนดให้มีการประชุมทางการเมืองที่กรุงเจนีวาเพื่อเจรจาเรื่องการยุติ “ปัญหาเกาหลี” และการถอนกองกำลังต่างชาติออกจากเกาหลี ความแน่วแน่ของนายอี ซึงมัน และเป้าหมายที่แตกต่างกันของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ทำให้มีความเป็นไปได้เพียงเล็กน้อยที่การประชุมดังกล่าวจะบรรลุผลสำเร็จ นายอีเศร้าใจกับเงื่อนไขของการประชุมและได้ถามเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ว่า ตนต้องรออีกนานเท่าไรพันธมิตรต่าง ๆ ถึงจะตระหนักว่าการประชุมนี้เป็นเพียงกลยุทธ์ในการถ่วงเวลา จะไม่มีการถอนกองกำลังคอมมิวนิสต์จีนออกจากเกาหลีได้อย่างสันติ และการรวมชาติจะไม่เกิดขึ้นด้วยวิธีการเลือกตั้งเสรีที่กำกับดูแลโดยองค์การสหประชาติ การประชุมดังกล่าวไม่สามารถสร้างข้อตกลงในการแก้ปัญหาเกาหลีได้ แต่กลับส่งผลให้มีการกำหนดให้เส้นขนานที่ 38 เป็นแนวชายแดนโดยพฤตินัยระหว่างสองประเทศ และดำรงการสงบศึกที่ยั่งยืนแทนการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ เนื่องจากข้อตกลงสงบศึกนี้ลงนามโดยผู้บัญชาการกองบัญชาการสหประชาชาติ และกำหนดให้กองบัญชาการสหประชาชาติเป็นผู้กำกับดูแลพื้นที่ครึ่งใต้ของเขตปลอดทหาร การปรากฎตัวของกองบัญชาการสหประชาชาติในคาบสมุทรเกาหลีในฐานะผู้พิทักษ์สันติภาพและความมั่นคงในพื้นที่จึงคงอยู่ยืนยาวด้วยเช่นกัน

กองกำลังสหรัฐฯ ในเกาหลี

ขณะที่การจัดตั้งกองบัญชาการสหประชาชาติมีเป้าหมายในเชิงกลยุทธ์ในภูมิภาค การจัดตั้งกองกำลังสหรัฐฯ ในเกาหลีและการปรากฏตัวอย่างต่อเนื่องในคาบสมุทรเกาหลีเริ่มแรกนั้นคือการตอบสนองต่อความไม่ไว้วางใจกันระหว่างสหรัฐฯ และสาธารณรัฐเกาหลี ขณะที่การเจรจาสงบศึกทำให้บทบาทของกองบัญชาการสหประชาชาติยังคงอยู่อย่างต่อเนื่องในคาบสมุทรเกาหลี แผนการของนายอี ซึงมัน และเป้าหมายในการรวมชาติก็เป็นตัวขัดขวางความรวดเร็วในการแก้ไขความขัดแย้งของเกาหลี เมื่อสงครามเกาหลีใกล้จะสิ้นสุดลง สหรัฐฯ ต้องมุ่งเน้นการส่งเสริมเสถียรภาพในเกาหลีใต้พร้อมกับสนับสนุนให้สาธาณรัฐเกาหลีมีความยับยั้งชั่งใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือ และได้เสนอให้จัดทำสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันเพื่อเป็นหลักประกันให้กับสาธาณรัฐเกาหลี แม้ว่าการเคลื่อนไหวนี้จะเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อนายอี แต่ความสำคัญของการดำรงไว้ซึ่งพันธมิตรที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเข้มแข็งในแปซิฟิกก็ยังคงเป็นเหตุผลอันสมควรในการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในสาธาณรัฐเกาหลีเช่นกัน

ทหารผ่านศึกชาวเกาหลีใต้ที่เคยเข้าร่วมในสงครามเกาหลีทำท่าวันทยาหัตถ์เพื่อแสดงความเคารพในระหว่างพิธีเนื่องในวันครบรอบ 64 ปีของข้อตกลงสงบศึกเกาหลี เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 ที่กรุงโซล

แต่แรกนั้น ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เกี่ยวกับเกาหลีและสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นเรื่องในระดับภูมิภาคเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่จัดตั้งกองบัญชาการสหประชาชาติ ความจริงแล้ว ข้อความในสนธิสัญญามุ่งเน้นที่ “การเสริมสร้างสันติภาพในพื้นที่แปซิฟิก” ให้มีความแข็งแกร่ง สาธารณรัฐเกาหลีถูกกล่าวถึงเป็นส่วนใหญ่ในเรื่องบทบาทในฐานะภาคีแห่งสนธิสัญญา ในขณะที่ “พื้นที่แปซิฟิก” นั้นถูกเรียกอย่างต่อเนื่องว่าเป็นเป้าหมายของการปกป้องตามสนธิสัญญานี้ ความมุ่งหมายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อยู่เบื้องหลังสนธิสัญญานี้คือความเป็นไปได้ที่จะเกิดความร่วมมือแบบพหุภาคีระหว่างพันธมิตรต่าง ๆ ที่ทำสนธิสัญญาทวิภาคีในเอเชีย ซึ่งประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์และวุฒิสมาชิกบางรายเรียกว่า “นาโต (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) แห่งแปซิฟิก” ตามที่ระบุไว้ในเอกสารคำให้การของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้จะมีสนธิสัญญาทวิภาคีอื่น ๆ ในแปซิฟิกและการให้ความสำคัญกับสนธิสัญญาในระดับภูมิภาค แต่ พล.อ. แมตทิว ริดจ์เวย์ แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ และนายจอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็มองว่าประเทศต่าง ๆ ในเอเชียนั้นมีความแตกต่างกันมากเกินกว่าที่จะสามารถจัดตั้งพันธมิตรแบบเดียวกับนาโตได้

การคัดค้านอย่างรุนแรงของประธานาธิบดีอี ซึงมัน ต่อข้อตกลงสงบศึกเป็นหนึ่งในเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ยอมเห็นด้วยกับความคิดในเรื่องสนธิสัญญาป้องกันร่วมกัน นายอีข่มขู่อยู่บ่อยครั้งว่าจะกระทำการโดยลำพังฝ่ายเดียวเพื่อต่อต้านเกาหลีเหนือในระหว่างการเจรจา ใน พ.ศ. 2496 นายอีได้ปล่อยเชลยศึกชาวจีนและชาวเกาหลีเหนือราว 25,000 คนที่ต้องการจะอยู่ในเกาหลีใต้ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทำให้จีน เกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกาประหลาดใจเป็นอย่างมาก การได้มาซึ่งการสนับสนุนของนายอีเป็นเรื่องยากจนถึงขนาดที่สหรัฐฯ ต้องมีแผนเผชิญเหตุที่เรียกว่า “แผนการปฏิบัติการพร้อมใช้งาน” เพื่อเป็นวิธีการที่อาจจะเอาชนะการคัดค้านของนายอีต่อบางส่วนของข้อตกลงสงบศึกที่เสนอ แผนบางชุดประกอบด้วยการเตรียมการในการลดอำนาจและหาคนมาแทนที่นายอี ข้อเสนอในการจัดทำสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันมีจุดมุ่งหมายเพื่อยับยั้งไม่ให้นายอีกระทำการโดยลำพังฝ่ายเดียวเพื่อต่อต้านเกาหลีเหนือ และเพื่อให้นายอีเห็นด้วยกับการสงบศึกแทนที่จะกลับไปสู่ความขัดแย้ง สนธิสัญญาป้องกันร่วมกันช่วยบรรเทาความกังวลของนายอีได้มากและนายอีได้ยินยอมให้มีการเจรจาเพื่อหาข้อยุติ แต่นายอียังคงปฏิเสธที่จะลงนามในข้อตกลงสงบศึก

หน่วยบัญชาการกองกำลังผสม

หน่วยบัญชาการกองกำลังผสมเป็นส่วนบัญชาการแรกที่มีการจัดตั้งขึ้นเพื่อตอบโต้โดยตรงต่อขีดความสามารถของเกาหลีเหนือแทนที่จะเป็นการจัดการกับความกังวลในระดับภูมิภาค อย่างไรก็ตาม หน่วยบัญชาการนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับส่วนบัญชาการอื่น ๆ ที่จะมีการปรับเปลี่ยนขอบเขตการทำงานและภารกิจเพื่อรองรับเหตุการณ์ต่างๆ ความจริงแล้ว หน่วยบัญชาการกองกำลังผสมได้รับการจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2521 เพื่อสนับสนุนการถอนกองกำลังสหรัฐฯ ออกจากสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นโครงการหลักของนายจิมมี คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ใน พ.ศ. 2524 คำสั่งยกเลิกแผนเดิมของนายเรแกนเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่มีการเปิดเผยในช่วงที่รัฐบาลของนายคาร์เตอร์ยังคงบริหารประเทศว่า ขีดความสามารถของเกาหลีเหนือนั้นได้พัฒนาไปมากกว่าที่คิด ก่อนที่จะยกเลิกแผนเดิม การควบคุมการปฏิบัติการของกองกำลังสาธารณรัฐเกาหลีได้ถูกถ่ายโอนจากกองบัญชาการสหประชาชาติไปยังหน่วยบัญชาการกองกำลังผสม และมีการเปลี่ยนแปลงขอบเขตของงานสำหรับผู้บัญชาการกองบัญชาการสหประชาชาติใน พ.ศ. 2526 เพื่อตอบสนองต่อการมีอยู่ของหน่วยบัญชาการกองกำลังผสมในฐานะ “หน่วยงานทางทหารและกฎหมายที่แยกเป็นเอกเทศจากกองบัญชาการสหประชาชาติ”

พล.อ.วินเซนต์ บรูกส์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการกองกำลังผสมและกองกำลังสหรัฐฯ ในเกาหลี (กลาง) นายพลคิม บยองจู ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการกองกำลังผสมในขณะนั้น (ที่สองจากซ้าย) และนายพลลีม โฮยอง ผู้บัญชาการที่กำลังจะพ้นวาระ (ขวา) ออกตรวจแถวทหารในระหว่างพิธีผลัดเปลี่ยนผู้นำที่ศูนย์บัญชาการกองทัพบกสหรัฐฯ ในเขตยองซาน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560

แนวคิดในเรื่องการจัดตั้งหน่วยบัญชาการกองกำลังผสมเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1970 (พ.ศ. 2513-2522) เมื่อการเปลี่ยนแปลงพลวัตในภูมิภาคได้กระตุ้นให้มีการพิจารณายกเลิกกองบัญชาการสหประชาชาติเพื่อผ่อนคลายความตึงครียดกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และเพื่อให้เกิดสนธิสัญญาสันติภาพกับเกาหลีเหนือ ทั้งสาธารณรัฐเกาหลีและสหรัฐฯ สนับสนุนการยกเลิกกองบัญชาการสหประชาชาติแต่ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน สำหรับสหรัฐฯ นั้น การยกเลิกกองบัญชาการสหประชาชาติจะช่วยส่งเสริมความพยายามของตนในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนให้กลับมาเป็นปกติ บันทึกภายในของสภาความมั่นคงแห่งชาติระบุว่า สหรัฐฯ มีความตั้งใจที่จะ “ทำงานไปพร้อมกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นหลัก ทั้งเพื่อสนับสนุนและยับยั้งพันธมิตรเกาหลีของแต่ละฝ่ายตามความจำเป็น” ในการเจรจา นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางรายระบุว่า เป้าหมายตามหลักนิยมของนายริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะให้ชาติพันธมิตรควบคุมดูแลการป้องกันประเทศเอง ก็เป็นเหตุผลหนึ่งในการยกเลิกกองบัญชาการสหประชาชาติ ซึ่ง ณ จุดนี้ยังคงควบคุมการปฏิบัติการของกองกำลังสาธารณรัฐเกาหลีอยู่ หน่วยบัญชาการกองกำลังผสมน่าจะช่วยสนับสนุนการถ่ายโอนการควบคุมการปฏิบัติการให้กับสาธารณรัฐเกาหลีตามแนวคิดนี้

ความต้องการที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและหลักนิยมของนายนิกสันที่เป็นแรงจูงใจในการยกเลิกกองบัญชาการสหประชาชาติถูกสาธารณรัฐเกาหลีมองไปอีกทางหนึ่ง นายพัก ชองฮี ประธานาธิบดีเกาหลีใต้กลัวว่าสาธารณรัฐเกาหลีอาจไม่ได้รับการเหลียวแลเมื่อสหรัฐฯ และสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น และสหรัฐฯ อาจพยายามสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือด้วยเช่นกัน ตามเรื่องราวที่ตีพิมพ์โดยศูนย์วิลสัน นายพักหาทางที่จะให้มีการเจรจากันระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เพื่อให้ได้มาซึ่งหลักประกันความมั่นคงในคาบสมุทรในกรณีที่สหรัฐฯ ถอนกองกำลังออกไป ดังนั้น การพูดถึงการยกเลิกกองบัญชาการสหประชาชาติได้กลายเป็นปัจจัยที่ช่วยให้มีการเจรจากันระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สหรัฐฯ ได้พิจารณาที่จะขยายความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือในช่วงเวลานี้จริง แต่ก็อยากจะรอจนกว่าการยกเลิกกองบัญชาการสหประชาชาติจะเสร็จสิ้น มิฉะนั้น อาจเป็นการกระตุ้นให้เกาหลีเหนือ “เกิดความดื้อแพ่ง” และทำให้การเจรจาเป็นไปได้ยากขึ้น ตามที่ระบุไว้ในบันทึกของสภาความมั่นคงแห่งชาติ

การเจรจาเหล่านี้ไม่บรรลุผลสำเร็จในเรื่องการยกเลิกกองบัญชาการสหประชาชาติ ส่วนใหญ่เป็นเพราะเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ไม่สามารถตกลงกันได้ มิใช่เพราะความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทั้งสหรัฐฯ และสาธารณรัฐประชาชนจีนแสดงความต้องการที่จะมีส่วนร่วมเพื่อดำรงการสงบศึก อย่างไรก็ตาม ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อแก้ไขความขัดแย้งต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่เป็นประเด็นเกี่ยวกับกองบัญชาการสหประชาชาติใน พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ข้อเสนอของเกาหลีเหนือเกี่ยวกับปัญหาเกาหลีได้รับการอภิปรายในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ เนื่องจากเกาหลีเหนือเพิ่งเริ่มเข้าร่วมกับองค์การสหประชาชาติหลังจากที่มีการยกเลิกคณะกรรมาธิการสหประชาชาติเพื่อการรวมชาติและการสมานฉันท์ของเกาหลี ตามที่ระบุในบันทึกของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเพื่อแก้ไขความขัดแย้งของเกาหลีเหนือต้องการให้มีการถอนกองกำลังสหรัฐฯ ออกจากคาบสมุทรจนหมดสิ้น ขณะที่ข้อเสนอของสาธารณรัฐเกาหลีนั้นต้องการให้มีการยกเลิกกองบัญชาการสหประชาชาติแต่ยังคงกองกำลังสหรัฐฯ ไว้ในเกาหลีใต้ ผู้เชี่ยวชาญระบุ สุดท้ายแล้ว ความต้องการในการแก้ปัญหาของทั้งสองประเทศก็ไม่ลงรอยกัน กองบัญชาการสหประชาชาติก็ยังไม่ถูกยกเลิก และความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ก็ไม่คืบหน้า

พล.ต. ลี ซังโช ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงนามในข้อตกลงสงบศึกเกาหลีจากฝั่งคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ ขึ้นรถจี๊ปไปพร้อมกับผู้ร่วมเจรจาอื่น ๆ หลังการประชุมที่ปันมุนจอม ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2496 การลงนามในข้อตกลงดังกล่าวที่มีขึ้นสามวันต่อมาได้ช่วยขจัดอุปสรรคสุดท้ายในการแลกเปลี่ยนผู้บาดเจ็บคอมมิวนิสต์หลายพันคนต่อเชลยศึกชาวอเมริกัน 120 คน และเชลยศึกจากสหประชาชาติ 480 คน

ในระหว่างการเจรจาเพื่อยกเลิกกองบัญชาการสหประชาชาติ สหรัฐฯ ได้มองหาวิธีการต่าง ๆ ในการดำรงการควบคุมการปฏิบัติการของกองกำลังสาธารณรัฐเกาหลี นายเฮนรี คิสซิงเกอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า “วิธีการที่ใช้ได้จริงที่สุด และทางเลือกที่มั่นใจที่สุดสำหรับชาวเกาหลีใต้ในการหาหน่วยมาทดแทนกองบัญชาการสหประชาชาติ” น่าจะเป็นวิธีการควบคุมการปฏิบัติการโดยหน่วยบัญชาการกองกำลังผสมระหว่างสหรัฐฯ และสาธารณรัฐเกาหลีที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ เป็นผู้นำหน่วย ภาวะชะงักงัน ณ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการตัดสินชะตากรรมกองบัญชาการสหประชาชาติใน พ.ศ. 2518 ทำให้หมดความต้องการที่จะจัดตั้งหน่วยบัญชาการกองกำลังผสมจนกระทั่งมันกลายมาเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนนโยบายการถอนกองกำลังของนายคาร์เตอร์

ความมุ่งมั่นของนายคาร์เตอร์ในการถอนกองกำลังออกจากเกาหลีใต้เริ่มจากนโยบายที่สัญญาไว้ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นจากความไม่เต็มใจที่จะสนับสนุนให้มีกองกำลังภาคพื้นดินที่ประจำการระยะยาวในต่างประเทศ ประวัติในเรื่องสิทธิมนุษยชนของนายพัก ชองฮี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในขณะนั้น ตลอดจนความหวาดกลัวต่อสิ่งที่เรียกว่าการตกกระไดพลอยโจน หรือการที่ทหารเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการสู้รบโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินของชุมชนข่าวกรองในขณะนั้นได้บ่งชี้ถึงหลักฐานอันแน่นหนาที่แสดงว่ากองทัพเกาหลีเหนือมีความแข็งแกร่งมากกว่าที่เคยคิดไว้ รัฐบาลของนายคาร์เตอร์ไม่ใส่ใจต่อคำแนะนำของชุมชนข่าวกรองและผลักดันให้มีการตัดสินใจที่จะถอนกองกำลัง จนกระทั่งมีการยืนยันข้อมูลข่าวกรองมากถึงขนาดที่คาร์เตอร์ถูกกดดันให้ปรับเปลี่ยนจุดยืน นายคาร์เตอร์ประกาศว่านโยบายถอนกองกำลังจะถูกนำมาพิจารณาใหม่อีกครั้งใน พ.ศ. 2524 แต่นายคาร์เตอร์ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีอีก และนโยบายนี้ก็ถูกยกเลิกในทันทีโดยนายเรแกน แต่หน่วยบัญชาการกองกำลังผสมก็ยังคงอยู่

ความยืดหยุ่นคล่องตัวที่มีเหมือนกัน

ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนบัญชาการทั้งสามส่วนนี้ได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนภารกิจ สำหรับกองบัญชาการสหประชาชาติ นี่คือความล้มเหลวของการประชุมเจนีวา ซึ่งส่งผลให้กองบัญชาการสหประชาชาติกลายเป็นสถาบันถาวรที่ดำรงไว้ซึ่งการสงบศึกในคาบสมุทร เจตจำนงของนายอี ซึงมัน ที่แสดงออกอย่างชัดเจนในการยั่วยุเกาหลีเหนือ เช่น การปล่อยตัวเชลยศึก ได้กระตุ้นให้สหรัฐฯ พิจารณาแนวทางใหม่ในภูมิภาคนี้ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งกองกำลังสหรัฐฯ ในเกาหลี สำหรับหน่วยบัญชาการกองกำลังผสม การค้นพบว่าขีดความสามารถของเกาหลีเหนือนั้นพัฒนาไปมากกว่าที่คิดผลักดันให้สหรัฐฯ ต้องตรวจสอบข้อผูกพันของตนต่อสาธารณรัฐเกาหลีใหม่อีกครั้ง แทนที่จะถูกครอบงำโดยเหตุการณ์ต่าง ๆ ส่วนบัญชาการทั้งสามส่วนนี้กลับพิสูจน์ให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและความสามารถในการพัฒนาและการจัดการกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่เพิ่มมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button