กระบอกเสียงแผนก

ความสัมพันธ์ระหว่าง เวียดนามและจีน

เวียดนามมีวิธีการปฏิบัติที่เป็นสูตรสำเร็จสำหรับจีนหรือไม่

เรื่องโดย เฮือง เล ดร.ทู/ภาพโดย ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเวียดนามมีความผกผันไปมาอยู่หลายรอบระหว่างความสัมพันธ์แบบปกติและความสัมพันธ์ที่ถดถอย ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ติดกันของจีนและเวียดนาม และประวัติศาสตร์อันยาวนานในเรื่องการรุกรานและการยึดครองของจีน ตลอดจนความคล้ายคลึงกันทางอุดมการณ์และการเมืองของทั้งสองประเทศในปัจจุบัน แนวทางการพัฒนาที่คล้ายกัน การพึ่งพาทางเศรษฐกิจและข้อพิพาททางทะเล ทั้งหมดนี้ทำให้ความสัมพันธ์แบบอสมมาตรของเวียดนามและจีนมีความซับซ้อนโดยแท้จริง 

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อต้องเผชิญกับความแข็งกร้าวของจีนในภูมิภาคนี้ เวียดนามดูเหมือนจะเป็นประเทศที่มีกลยุทธ์มากที่สุดในหมู่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอาจจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิงคโปร์ เวียดนามมีปัจจัยที่สำคัญสามข้อที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ได้แก่ ประสบการณ์ในการรับมือกับความก้าวร้าวของจีน ที่ตั้งอันเหมาะสมทางยุทธศาสตร์ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับพรมแดนทางตอนใต้ของจีน และอิทธิพลทางการทูตที่อาจทำให้จีนต้องใช้ความพยายามอย่างมากทั้งในทางการเมืองและทางกลยุทธ์ในการขยายอิทธิพล

ปัจจัยข้อแรก  ประสบการณ์ของเวียดนามในเรื่องความก้าวร้าวของจีนนำมาซึ่งการเรียนรู้ ในอดีต เวียดนามเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของแผนการของจักรวรรดิจีนที่จะขยายอิทธิพลไปทางใต้ แม้ว่าจีนจะปกครองเวียดนามมาเป็นเวลา 1,000 ปีจนถึง พ.ศ. 1481 แต่จีนก็ประสบความล้มเหลวในช่วงสหัสวรรษต่อมาในการผนวกเวียดนามเข้ากับดินแดนของตน ด้วยสงครามที่ดำเนินมาหลายศตวรรษ ทำให้เวียดนามดำรงอัตลักษณ์ของชาติเอาไว้และปลูกฝังความต้องการที่แน่วแน่ในการต่อต้านการครอบงำของจีน ความพ่ายแพ้ต่อประเทศที่มีขนาดเล็กกว่ามากทำให้จีนมองว่าเวียดนามเป็น “แนวเขตทางกายภาพอันแข็งแกร่งทางตอนใต้ของตน” เวียดนามเคยถูกลงโทษอย่างรุนแรงเมื่อแนวทางทางการเมืองของรัฐบาลเวียดนามไม่สอดคล้องกับเจตจำนงของรัฐบาลจีน ทั้งในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้จากอดีตที่ผ่านมาเมื่อไม่นานนี้ หลังจากสงครามนองเลือดอันยาวนานกับสหรัฐอเมริกาและความขัดแย้งกับเขมรแดงในกัมพูชาที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน เวียดนามก็ตกอยู่ในภาวะถูกตัดขาด แต่เมื่อมีการพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนและกับสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา เวียดนามก็หลุดพ้นจากการตัดขาดทางการทูตและความยากจน

รากฐานความสัมพันธ์แบบทวิภาคีในปัจจุบันเป็นผลมาจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์จนกลับมาเป็นปกติกับรัฐบาลจีนใน พ.ศ. 2534 ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับจีนเคยอยู่ในภาวะย่ำแย่อันเนื่องมาจากสงครามชายแดนที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ แต่มีความรุนแรงใน พ.ศ. 2522 การพัฒนาความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นไปโดยปราศจากผลกระทบต่อรัฐบาลเวียดนาม เพราะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เวียดนามก็ต้องใช้ “หลักการสามข้อ” ในนโยบายการป้องกันประเทศ ซึ่งได้แก่การไม่มีพันธมิตรทางทหาร การไม่มีฐานทัพทหารต่างชาติในเวียดนาม และการไม่พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งเพื่อต่อสู้กับอีกประเทศหนึ่ง เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับรัฐบาลจีนว่าเวียดนามจะไม่สร้างพันธมิตรเพื่อต่อต้านจีน

นายเจิ่น ดั่ย กวาง ประธานาธิบดีเวียดนาม ตรวจแถวกองทหารเกียรติยศของจีนในระหว่างพิธีต้อนรับที่ศาลาประชาคมในกรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนพฤษภาคมปีพ. ศ. 2560

การดำเนินกลยุทธ์ของเวียดนามถูกจำกัดโดยหลักการดังกล่าว ทำให้รัฐบาลเวียดนามคาดหวังว่ารัฐบาลจีนจะรักษาสัญญาว่าจะเป็นเพื่อนบ้านที่ดีและเป็นมิตรที่ดี ภายใต้คติพจน์ “การให้ความร่วมมือในขณะที่ต้องดิ้นรน” ทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องใช้ความพยายามอย่างหนักหน่วงเพื่อให้ประเทศเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่แห่งนี้พอใจในขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องอธิปไตยของตนเอง รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้วางรากฐานเพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารแบบทวิภาคี ซึ่งมีตั้งแต่การเจรจาระหว่างสองประเทศและการประชุมทางกลาโหมที่มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ไปจนถึงการจัดทำสายด่วนเพื่อให้ผู้นำประเทศสามารถติดต่อสื่อสารกันโดยตรงอย่างทันทีทันใดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทะเลจีนใต้

ปัจจัยข้อที่สอง ที่ตั้งของเวียดนามที่มีอาณาเขตติดต่อกับพรมแดนทางตอนใต้ของจีน ทำให้เวียดนามเป็นที่มั่นอันเหมาะสมในทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ แม้ว่าความใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีขนาดใหญ่กว่ามากแห่งนี้จะทำให้เวียดนามมีความเสี่ยงต่อการรุกรานของจีน แต่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศก็ทำให้มีข้อได้เปรียบเช่นกัน เวียดนามมีแนวชายฝั่งติดทะเลจีนใต้ที่มีความยาว 3,260 กิโลเมตร ซึ่งทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ นับตั้งแต่ที่นายหู จิ่นเทา อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนกล่าวอย่างชัดเจนในการที่จะทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลใน พ.ศ. 2555 ความต้องการของจีนในการครอบครองทะเลจีนใต้ก็ปรากฏให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเวียดนามจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปรารถนาของรัฐบาลจีน และประเทศมหาอำนาจขนาดใหญ่และขนาดกลางหลายประเทศก็พยายามที่จะขัดขวาง ดังนั้น ข้อพิพาททางทะเลของระหว่างเวียดนามกับจีนจึงได้รับความสนใจมากกว่ากรณีอื่น ๆ

ตัวอย่างเช่น เมื่อบริษัท ไชน่า เนชันนัล ออฟชอร์ ออยล์ คอร์เปอเรชัน ได้นำแท่นขุดเจาะน้ำมันไห่หยาง ฉือโหยว 981 เข้าไปติดตั้งในเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่อ้างสิทธิโดยเวียดนามในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2557 ความเคลื่อนไหวนี้สุ่มเสี่ยงต่อการที่ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น ความทะเยอทะยานในเชิงกลยุทธ์ของจีนถูกขัดขวาง แต่ในขณะเดียวกันก็ได้รับแรงกระตุ้นจากบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของชาติมหาอำนาจต่าง ๆ จากภายนอกภูมิภาคในทะเลจีนใต้ เมื่อมีแนวโน้มว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในฟิลิปปินส์ภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เต จุดยืนของเวียดนามในทะเลจีนใต้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากยิ่งขึ้นต่อกรณีพิพาทต่าง ๆ ในภูมิภาค

สิ่งนี้นำไปสู่ปัจจัยข้อที่สาม นั่นก็คือ อิทธิพลทางการทูตและความร่วมมือทางกลาโหมที่เพิ่มขึ้นของเวียดนาม ดุลแห่งอำนาจคือมิตรหรือตัวช่วยที่ดีที่สุดของประเทศขนาดเล็ก ในเรื่องผลกระทบที่เกิดกับประเทศขนาดเล็กจากการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจนั้น คงไม่มีตัวอย่างไหนที่เป็นเครื่องเตือนใจได้ดีไปกว่าเวียดนาม ซึ่งคำนี้ครั้งหนึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่าสงครามในโลกตะวันตก ไม่ใช่ชื่อของประเทศ ขณะนี้ เวียดนามพยายามใช้ประโยชน์จากการแข่งขันของชาติมหาอำนาจเพื่อรักษาสันติภาพและปกป้องอธิปไตยของตน แทนที่จะเข้าไปพัวพันกับการเผชิญหน้ากับพวกยักษ์ใหญ่ นับตั้งแต่เหตุการณ์แท่นขุดเจาะน้ำมันไห่หยาง ฉือโหยว 981 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเวียดนามกับรัฐบาลสหรัฐฯ รัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลอินเดียก็เพิ่มขึ้นและขยายไปสู่ความร่วมมือระหว่างกองทัพโดยเน้นเรื่องความมั่นคงทางทะเลเป็นพิเศษ การกระชับความสัมพันธ์ที่น่าสนใจระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ และการพัฒนาความสัมพันธ์อย่างจริงจังกับชาติมหาอำนาจอื่น ๆ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการลดภัยคุกคามจากจีน การไปเยือนกรุงฮานอยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 ของนาย บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น และการยกเลิกมาตรการที่มีมานานหลายสิบปีในการห้ามขายอาวุธให้กับเวียดนามถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และเป็นการปูทางให้กับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในยุคใหม่ ตามที่ข้าพเจ้าเคยบอกไว้ในที่อื่น ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนามในปัจจุบันอยู่ในสถานะที่ดีที่สุดเมื่อดูจากประวัติศาสตร์ที่เป็นมาของทั้งสองประเทศ

การที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเวียดนามและรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เริ่มจะมีเสถียรภาพนั้นจะยั่งยืนต่อไปหรือไม่ หนึ่งในการตัดสินใจข้อแรก ๆ ของนายทรัมป์หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคือการถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งเป็นเป็นความตกลงทางการค้าแบบพหุภาคีที่เวียดนามคาดหวังว่าจะได้รับประโยชน์ แม้จะมีความผิดหวังในขั้นต้น แต่รัฐบาลเวียดนามก็พยายามที่จะมีปฏิสัมพันธ์เชิงรุกกับรัฐบาลของนายทรัมป์ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 นายเหงียนซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ไปเยือนทำเนียบขาว ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการไปเยือนโดยผู้นำของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นผู้นำคนที่สามของภูมิภาคเอเชียถัดจากนายชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน การไปเยือนทำเนียบขาวครั้งนี้ส่งผลให้มีการทำข้อตกลงทางการค้า แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือการตอกย้ำความเชื่อมั่นว่าแต่ละฝ่ายมีความตั้งใจที่จะร่วมมือกัน

นายเท็ด โอเซียส เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ (กลาง) เดินไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่หน่วยยามฝั่งเวียดนาม ในระหว่างพิธีส่งมอบเรือลาดตระเวนเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 ที่จังหวัดกว๋างนาม ประเทศเวียดนาม สหรัฐฯ ได้ส่งมอบเรือลาดตระเวนชายฝั่งหกลำเพื่อขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างสองประเทศ ท่ามกลางความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ที่กำลังมีกรณีพิพาท

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักจะมีแนวโน้มในการโอนอ่อนผ่อนตามการเมืองของชาติมหาอำนาจ และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความสอดคล้องระหว่างรัฐบาลต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ก็เกิดความผันผวนเป็นครั้งคราว ด้วยข้อพิจารณาทางภูมิศาสตร์การเมืองและผลประโยชน์แห่งชาติที่แตกต่างกันในปัจจุบันระหว่างบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนวทางปฏิบัติของเวียดนามจึงไม่สามารถใช้เป็นสูตรสำเร็จในการรับมือกับจีนได้ และไม่ว่าจะเป็นสูตรสำเร็จใดก็ตามก็ค่อนข้างจะใช้ได้ไม่นาน เนื่องจากกลุ่มทางการเมืองต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง และนำไปสู่การเปลี่ยนขั้วอำนาจอย่างทันทีทันใด อย่างไรก็ตาม ประเทศต่าง ๆ สามารถใช้เวียดนามเป็นประเด็นอ้างอิง ด้วยประวัติความเป็นมาในเรื่องการต่อต้านการครอบงำของจีน แม้ว่าจะไม่มีสูตรสำเร็จใดที่จะใช้ในการรับมือกับจีน แต่อย่างน้อยที่สุดก็มีการปฏิบัติอยู่สามประการที่เวียดนามและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงจำเป็นต้องทำ

ประการแรก ให้ตระหนักว่าการปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนไม่ได้เป็นโอกาสทองเสมอไปและอาจกลายเป็นกับดักหนี้ กลยุทธ์การลงทุนของจีนหลาย ๆ อย่างทำให้เกิดผลประโยชน์ในระยะสั้นและเป็นรูปธรรม แต่ในระยะยาวจะสร้างผลประโยชน์ให้กับรัฐบาลจีน และใน

หลาย ๆ กรณีจะเป็นการบ่อนทำลายผลประโยชน์ของประเทศนั้น ๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่จะพะวงอยู่กับการเมืองภายในประเทศ ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าจะมีมุมมองหรือความคิดแบบเอาตนเองเป็นหลัก ความน่าดึงดูดใจของจีนในแง่โอกาสทางเศรษฐกิจดูเหมือนจะมีอิทธิพลกับบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าแนวโน้มในเรื่องภัยคุกคาม การหาความสมดุลระหว่างโอกาสทางเศรษฐกิจและภัยคุกคามคือความท้าทายที่ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญเหมือน ๆ กัน เวียดนามอยู่ในแถวหน้าของกลุ่มประเทศที่รู้สึกได้ถึง “ภัยคุกคามจากจีน” อันที่จริงแล้ว ภัยคุกคามจากจีนนั่นเองที่ผลักดันให้เวียดนามทำการตัดสินใจโดยใช้การวางแผนล่วงหน้ามากขึ้นในด้านนโยบายการป้องกันประเทศ การทูตและการค้า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางภูมิศาสตร์การเมืองในปัจจุบันทำให้รัฐบาลเวียดนามนึกถึงการบีบบังคับและการขยายอิทธิพลของจีนในอดีต สิ่งสำคัญคือประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องตระหนักว่าแรงจูงใจทางเศรษฐกิจจะมาพร้อมกับผลเสียที่มากกว่าในระยะยาวกว่า ในความสัมพันธ์แบบอสมมาตร ประเทศที่มีขนาดเล็กกว่าต้องมีความเชี่ยวชาญทางกลยุทธ์ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ติดกับพรมแดนประเทศจีน ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงภูมิภาคนี้เข้ากับจีน ตัวอย่างเช่น อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่แม้จะได้รับการพัฒนาอันเนื่องมาจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของจีน แต่ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของจีนตามลำแม่น้ำโขง ซึ่งส่งผลต่อการกระจายน้ำและผลผลิตทางการเกษตร

ประการที่สอง เวียดนามและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำเป็นต้องสร้างกลยุทธ์ใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เท่าทันกับขีดความสามารถของรัฐบาลจีนที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ด้าน การทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมทางกลยุทธ์และประวัติความเป็นมาของจีนนั้นเป็นประโยชน์ต่อบรรดาผู้นำของเวียดนาม แต่ก็ไม่สามารถที่จะชะล่าใจได้ สงครามในยุคใหม่เป็นสงครามแบบครอบคลุม ทำให้การต่อต้านการบีบบังคับของจีนมีความซับซ้อนและยากกว่าที่เคยเป็นมา การสงครามทางเศรษฐกิจ ระบบนิเวศ การทูต จิตวิทยา และสารสนเทศมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นมากกว่าภัยคุกคามจากการสงครามแบบดั้งเดิมในสนามรบ จีนได้ลงทุนในการเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทหาร เศรษฐกิจ พลังงานหรือเทคโนโลยี จีนกำลังทำให้ตนเองได้ประโยชน์สูงสุดจากการบีบบังคับในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษหรือการสร้างแรงจูงใจ โดยทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

สุดท้ายนั้น เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี ทั้งเวียดนามและประเทศอื่น ๆ ไม่สามารถทำงานได้โดยลำพังในการรับมือกับภัยคุกคามจากจีน สิ่งสำคัญคือประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องทำงานร่วมกัน และร่วมมือกับประชาคมโลกและปฏิบัติตามหลักนิติธรรม การสร้างความผูกพันอันเหนียวแน่นกับพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการส่งเสริมความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต่อประเด็นต่าง ๆ ของภูมิภาคคือสิ่งจำเป็น รัฐบาลเวียดนามต้องเพิ่มการสนับสนุนต่อความสามัคคีของอาเซียนและสร้างความร่วมมือกับสิงคโปร์ ซึ่งมีความกระตือรือร้นที่จะปกป้องความสัมพันธ์ของอาเซียน เพื่อให้บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของตนตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างผลประโยชน์ด้านความมั่นคงในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

ดร. เฮือง เล ทู เป็นนักวิชาการอาคันตุกะที่ศูนย์ศึกษาด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และเป็นนักวิชาการสังกัดที่สถาบันยูซอฟ อีชัก แห่งสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประเทศสิงคโปร์ บทความนี้คัดลอกมาจากรายงานของสถาบันวิจัยโลวี เรื่อง “มุมมองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน” ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 และมีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ ฟอรัม ครั้งนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button