เรื่องเด่น

‘สัญญาณเตือน’ ใน แปซิฟิก

ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามของรัฐอิสลามอิรักและซีเรียในฟิลิปปินส์

เจ้าหน้าที่ ฟอรัม

กองทัพฟิลิปปินส์ระบุสัญญาณของภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 โดยกองทัพค้นพบภัยคุกคามทั้งหมดหนึ่งปีต่อมาในเมืองมาราวีหลังจากที่มีการต่อสู้อย่างรุนแรงเป็นเวลาห้าเดือนเพื่อยึดอำนาจกลับคืนมา การต่อสู้นี้สิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 โดยรัฐบาลเป็นฝ่ายมีชัย

หลักฐานที่บ่งชี้ถึงกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ซุกซ่อนอาวุธ การปรากฏตัวของนักรบต่างชาติ หรือนักรบนอกประเทศ และภาพอันน่าสยดสยองของประชาชนที่ถูกตัดศีรษะเผยให้เห็นถึงอันตรายที่ผู้นำมากมายในอินโดแปซิฟิกหวาดกลัวมานาน นักรบที่จงรักภักดีต่อรัฐอิสลามอิรักและซีเรีย (ไอซิส) อาจพยายามที่จะสร้างรัฐอิสลามขึ้นมา หรืออย่างน้อยก็สร้างเครือข่ายอันแข็งแกร่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากคนเหล่านี้สูญเสียที่มั่นไปในตะวันออกกลาง

เด็ก ๆ ที่ต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัยอันเนื่องมาจากการสู้รบในเมืองมาราวี เล่นอยู่ใกล้ ๆ โล่และอุปกรณ์ของตำรวจในเมืองซาเกียรัน จังหวัดลาเนาเดลซูร์ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์

“เหตุการณ์ในมาราวีคือสัญญาณแจ้งเตือนสำหรับทุกประเทศในอินโดแปซิฟิก” พล.ร.อ. แฮร์รี บี. แฮร์ริส จูเนียร์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก กล่าวในงานกิจกรรมของสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ออสเตรเลียในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 “ผู้ก่อการร้ายเหล่านี้กำลังใช้กลยุทธ์การสู้รบที่เราเคยเห็นในตะวันออกกลางในการเข่นฆ่าผู้คนในเมืองมาราวี เกาะมินดาเนา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กองกำลังที่ได้รับแรงบันดาลใจจากไอซิสมารวมตัวกันเพื่อทำการต่อสู้ในระดับนี้”

การต่อสู้นี้ปะทุขึ้นในฟิลิปปินส์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 เมื่อกองกำลังของรัฐบาลพยายามจับกุมนายอิสนิลอน ฮาปิลอน ซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มอะบูซัยาฟและผู้นำของไอซิสในฟิลิปปินส์ นักรบของนายฮาปิลอนยิงตำรวจและทหารฟิลิปปินส์และได้รับการสนับสนุนจากอีกกลุ่มหนึ่งที่จงรักภักดีต่อไอซิส นั่นก็คือกลุ่มมาอูเต นอกเหนือจากการสังหารพลเรือนแล้ว นักรบของกลุ่มมาอูเตยังเข้ายึดอาคารหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงศาลากลางเมืองมาราวีและมหาวิทยาลัยรัฐมินดาเนา

การต่อสู้ที่บรรลุผลสำเร็จของกองทัพฟิลิปปินส์เพื่อยึดเมืองมาราวีกลับคืนทำให้ผู้คนหูตาสว่างด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่

  • ยอดผู้เสียชีวิตที่น่าตกตะลึง: เมื่อกองทัพเข้าควบคุมเมืองมาราวีให้หลุดพ้นจากการถูกปิดล้อมในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 นั้น มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,100 คนตามรายงานของรอยเตอร์ พ.อ. โรเมโร บรอว์เนอร์ จูเนียร์ รองผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจที่ต่อสู้กับกลุ่มหัวรุนแรงกล่าวว่า มีสมาชิกกลุ่มหัวรุนแรง 920 คนที่ถูกสังหารและมีกองกำลังของรัฐบาลเสียชีวิต 165 นาย พลเรือน 45 คนถูกสังหารโดยกลุ่มหัวรุนแรง เมื่อการสู้รบสิ้นสุดลง กองทัพฟิลิปปินส์ระบุว่าเจ้าหน้าที่ได้สังหารนายฮาปิลอนและนายโอมาร์คายัม มาอูเต ซึ่งเป็นสองผู้นำหลักของกลุ่มพวกพ้องร่วมรบมาอูเตที่ช่วยกันปิดล้อมเมือง ทางการสหรัฐฯ ได้ยืนยันการเสียชีวิตของนายฮาปิลอนตามผลวิเคราะห์ดีเอ็นเอ
  • ข้าศึกที่เป็นกลุ่มจัดตั้ง: จากวิดีโอที่ตรวจยึดได้โดยกองทัพฟิลิปปินส์ทำให้เห็นภาพของผู้นำสองกลุ่ม นั่นก็คือ กลุ่มมาอูเตและกลุ่มอะบูซัยยาฟที่กำลังวางแผนโจมตีเมืองมาราวี ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะสเตรตส์ ไทมส์ เมื่อการสู้รบเริ่มต้นขึ้น มือปืน 400 ถึง 500 คนได้ก่อเหตุวินาศทั่วเมือง โดยมีบางคนโบกธงสีดำของไอซิส นักรบหัวรุนแรงที่เสียชีวิตจากการต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับกลุ่มอะบูซัยยาฟและกลุ่มมาอูเตประกอบไปด้วยประชาชนชาวอินโดนีเซีย มาเลเซียและซาอุดีอาระเบีย กองทัพทหารฟิลิปปินส์ระบุ
  • การสงครามในเมือง: ผู้ก่อการร้ายได้แสดงให้เห็นถึงยุทธวิธีการสงครามในเมืองเช่นเดียวกับที่ใช้ในอิรักและซีเรีย ซึ่งรวมถึงการใช้วัตถุระเบิดแสวงเครื่อง โดรน ระเบิดซึ่งขับเคลื่อนด้วยจรวด (อาร์พีจี) ปืนซุ่มยิงและระเบิดเพลิง ในการสู้รบเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 นาวิกโยธินฟิลิปปินส์ถูกโจมตีด้วยระเบิดเพลิงขณะที่กำลังพยายามกวาดล้างอาคาร ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เดอะสเตรตส์ ไทมส์ เมื่อนาวิกโยธินเหล่านี้วิ่งออกจากอาคารเพื่อหลบหนีเพลิงไหม้ ก็ถูกยิงด้วยปืนซุ่มยิง อาร์พีจีและเครื่องยิงลูกระเบิด เมื่อการต่อสู้สิ้นสุดลง มีเจ้าหน้าที่นาวิกโยธินเสียชีวิต 13 นาย

ความเชื่อมโยงกับซีเรีย

ความพยายามในการจัดตั้งกลุ่มนักรบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มไอซิสสามารถโยงใยไปถึงผู้ปฏิบัติการในซีเรีย ตามรายงานสรุปจากศูนย์ต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยและการศึกษาแห่งโรงเรียนนายร้อยทหารบกสหรัฐฯ ที่เวสต์พอยต์ การศึกษาในหัวข้อ “นอกเหนือจากรัฐเคาะลีฟะห์: กิจกรรมของรัฐอิสลามที่อยู่นอกวิลายัตที่ได้รับการกำหนดของกลุ่ม” ได้มีการวิเคราะห์แผนการก่อการร้ายและการโจมตีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 และพบว่าร้อยละ 60 ของการโจมตีทั้งหมด 20 ครั้งและแผนการทั้งหมด 35 แผนมีความเชื่อมโยงกับผู้ปฏิบัติการของรัฐอิสลาม “สำหรับการโจมตีและแผนการที่มีความเชื่อมโยงเหล่านี้ มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าผู้ปฏิบัติการของรัฐอิสลามในซีเรียได้กำกับดูแล ให้เงินทุนหรือติดต่อกับกลุ่มย่อยต่าง ๆ ในท้องถิ่น และบุคคลต่าง ๆ ในภูมิภาคที่ให้ความเห็นอกเห็นใจต่อรัฐอิสลาม” ผลการศึกษาที่เขียนโดยนางมารีลล์ เนสส์ ผู้ช่วยวิจัยแห่งศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายระบุ

ป้ายที่มีตัวหนังสืออ่านว่า “ฉันรักมาราวี” ตั้งอยู่หน้าอาคารบ้านเรือนและมัสยิดในเมืองมาราวีที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงคราม รอยเตอร์

ประมาณ ครึ่งหนึ่งของการโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายในภูมิภาคนี้เกิดขึ้นที่ฟิลิปปินส์ แต่กลุ่มหัวรุนแรงในประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็วางแผนที่จะโจมตีด้วยเช่นกัน ผู้ก่อการร้ายได้วางแผนไว้หลายแผนการในมาเลเซีย (ร้อยละ 43) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ 37) ขณะที่ฟิลิปปินส์มีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น

มีปัจจัยหลายอย่างรวมกันที่ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง นายดอน แรสส์เลอร์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์ของศูนย์ต่อต้านการก่อการร้าย กล่าวกับ ฟอรัม

“อย่างน้อยก็ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา รัฐอิสลามได้กระตุ้นให้ผู้คนเดินทางไปยังฟิลิปปินส์หากไม่สามารถเดินทางไปยังซีเรียหรือทำการโจมตีในประเทศบ้านเกิดของตนเองได้” นายแรสส์เลอร์
กล่าว “เนื้อหาข้อมูลต่าง ๆ ล่าสุดที่กลุ่มรัฐอิสลามปล่อยออกมาได้ผลักดันให้ฟิลิปปินส์เป็นจุดหมายปลายทางที่ต้องการสำหรับสมาชิกใหม่ของกลุ่ม และกระตุ้นให้คนเดินทางมายังประเทศนี้และกลายเป็นผู้ปฏิบัติการที่แข็งขัน”

นายแรสส์เลอร์ยังตั้งข้อสังเกตว่าการปรากฏตัวของกลุ่มหัวรุนแรงในท้องถิ่น เช่น กลุ่มอะบูซัยยาฟ และกลุ่มมาอูเต ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่ามีขีดความสามารถในการทำงานและมีความยืดหยุ่น ทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดจึงมีการโจมตีเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์มากขึ้น

ด้วยความพยายามที่จะสร้างรัฐอิสลามขึ้นในภูมิภาคนี้ ผลการศึกษาสรุปว่า ไอซิสพยายามที่จะขยายกองกำลังของตนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม รายงานนี้ไม่ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะปรากฏขึ้นในรูปแบบใด “กลุ่มรัฐอิสลามดูเหมือนจะฝังตัวและขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการกระตุ้นให้กลุ่มคนและเครือข่ายผู้คนในท้องถิ่นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากตนกระทำการคบคิด วางแผนและโจมตีในหลายประเทศในภูมิภาคนี้” ผลการศึกษาระบุ

แม้ไอซิสจะกำหนดตัวผู้นำประจำภูมิภาคในฟิลิปปินส์ แต่ก็ยังไม่ได้ประกาศให้เป็น “วิลายา” (รัฐหรือจังหวัดในการปกครอง) “นอกเหนือจากความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเครือข่ายขนาดเล็ก หรือการจัดกลุ่มย่อยต่าง ๆ แยกออกมาจากกลุ่มเดิมที่ขนาดใหญ่กว่าเพื่อให้แต่ละกลุ่มลงมือโจมตีครั้งเดียวอย่างต่อเนื่องกันแล้ว ศักยภาพในเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวของรัฐอิสลามในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มว่าจะเชื่อมโยงกับหนทางการปฏิบัติและการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับนักรบญิฮาดที่มีอยู่แต่เดิมในภูมิภาค และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้ยึดครองพื้นที่และพยายายามทำให้เป็นแหล่งหลบภัย” ผลการศึกษาระบุ

ที่มั่นที่อุดมสมบูรณ์

จากการศึกษาของศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายพบว่า แม้กิจกรรมการก่อการร้ายในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในในฟิลิปปินส์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ก็มีแนวโน้มว่าแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงจะขยายตัวในพม่า

แม้ข้อมูลดังกล่าวจะไม่ได้ระบุว่าพม่าเป็นพื้นที่ที่สำคัญสำหรับการโจมตีของไอซิส แต่จากการศึกษาพบหลักฐานเล็กน้อยที่บ่งชี้ว่าพม่าอาจป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการแทรกซึมเข้า “ชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮีนจา
ที่ถูกทารุณกรรมเป็นแรงบันดาลใจให้เครือข่ายของรัฐอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้วางแผนกิจกรรมการก่อการร้ายในพม่าและในประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่า” ผลการศึกษาของศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายระบุ

นายพลคาร์ลิโต กาลเวซ ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพฟิลิปปินส์ (ซ้าย) จับมือกับนายพลเรย์ ลีโอนาร์โด เกอร์เรโร ที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต่อหน้านายโรดรีโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ (กลาง) ในระหว่างพิธีผลัดเปลี่ยนผู้นำที่ค่ายอากินัลโดในกรุงมะนิลา เอเจนซ์ ฟรานซ์ เพรส/เก็ตตี้อิมเมจ

ชาวมุสลิมโรฮีนจาหลายแสนคนได้หลบหนีออกจากพม่าซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธท่ามกลางความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับทหาร พม่าไม่ยอมรับว่าชาวมุสลิมโรฮีนจาทั้งหมดเป็นพลเมืองของประเทศ ทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มคนไร้สัญชาติที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก ตามรายงานของ หนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์ก ไทมส์ ชาวโรฮีนจานับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนีและอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ที่ยากจนของพม่า ก่อนที่คนเหล่านี้จะหลบหนีจากการปะทะอันรุนแรงกับตำรวจและทหารนั้น มีชาวโรฮีนจาประมาณหนึ่งล้านคนอยู่ในพม่า หนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์ก ไทมส์ ระบุ

ความเป็นไปได้ว่าจะมีกิจกรรมของไอซิสในพื้นที่เห็นได้จากแผนการหนึ่งที่ล้มเหลวในอินโดนีเซีย ที่กำกับดูแลโดยผู้ปฏิบัติการของไอซิสที่ชื่อนายนาอิมและเป้าหมายคือสถานทูตพม่า “ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่ารัฐอิสลามมองว่าปัญหาเกี่ยวกับโรฮีนจาคือโอกาสในการก่อเหตุ เช่นเดียวกับกลุ่มญิฮาดอื่น ๆ” ผลการศึกษาของศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายระบุ

นายแรสส์เรอร์พิจารณาว่าวิกฤตการณ์โรฮีนจาคือสิ่งสำคัญในการสรรหาผู้ก่อการร้ายใหม่ ๆ “มีความเป็นไปได้สูงมากที่รัฐอิสลามจะใช้ประโยชน์จากวิกฤตการณ์โรฮีนจาในพม่าเพื่อเป็นเครื่องมือในการชุมนุม” นายแรสส์เรอร์กล่าว “อัลกออิดะห์ก็กำลังทำอย่างนั้นอยู่แล้ว

การหยุดยั้งการแพร่กระจายของภัยคุกคาม

หลังจากที่เห็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในเมืองมาราวี ผู้นำทางทหารและทางการเมืองในอินโดแปซิฟิกได้ร่วมมือกันอย่างรวดเร็วเพื่อแบ่งปันทรัพยากรและข่าวกรองเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของการก่อการร้าย ความร่วมมือดังกล่าวในหลาย ๆ กรณีเป็นความร่วมมือแบบหลายมิติและมีเป้าหมายในการขจัดแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงก่อนที่จะมีการรวมตัวกัน

การพัฒนาต่าง ๆ ได้แก่:

  • ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 ออสเตรเลียได้ประกาศว่าจะส่งกองกำลังไปยังฟิลิปปินส์เพื่อฝึกทหารและแบ่งปันข่าวกรอง นางมาริส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย กล่าวว่า การต่อต้านภัยคุกคามจากไอซิสนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภูมิภาค “เรามีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนฟิลิปปินส์ในภารกิจการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้าย” นางเพย์นระบุ ตามรายงานของรอยเตอร์ “นี่คือภัยคุกคามต่อภูมิภาคที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อเอาชนะ” ก่อนหน้านี้ ในเดือนมิถุนายน พ. ศ. 2560 ออสเตรเลียได้ส่งอากาศยาน เอพี-3ซี โอเรียน สองลำออกไปตรวจการณ์เหนือเมืองมาราวีเพื่อตรวจหาผู้ก่อการร้าย สหรัฐอเมริกาได้ส่งทหารประมาณ 300 ถึง 500 นายไปยังฟิลิปปินส์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 เพื่อทำการฝึกในด้านข่าวกรอง การตรวจการณ์และการลาดตระเวน ตามรายงานของรอยเตอร์ เครื่องบินตรวจการณ์ เอพี-3ซี โอเรียน ยังให้การสนับสนุนทางด้านข่าวกรอง การตรวจการณ์และการลาดตระเวนแก่การปฏิบัติการของกองทัพฟิลิปปินส์อีกด้วย
  • เจ้าหน้าที่จากออสเตรเลีย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์ ได้ร่วมชุมนุมกันในอินโดนีเซียในการประชุมสุดยอดที่ใช้เวลาหนึ่งวันในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 และได้ร่วมลงนามในข้อตกลงเพื่อต่อสู้กับแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง ประเทศต่าง ๆ ได้ตกลงใจที่จะจัดการชุมนุมทางยุทธศาสตร์ในการต่อต้านนักรบต่างชาติเพื่อสนับสนุนการแบ่งปันข่าวกรอง การแบ่งปันข้อมูลมีวัตถุประสงค์เพื่อรวมฐานข้อมูลที่มีอยู่เกี่ยวกับนักรบชาวต่างชาติและอาจสร้างฐานข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวข้ามพรมแดนของผู้ก่อการร้าย ประเทศต่าง ๆ ยังให้คำมั่นที่จะสร้างกฎหมายเกี่ยวกับการก่อการร้ายที่ระบุว่าพฤติกรรมใดคือการกระทำผิดทางอาญา เช่น การวางแผนการโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายและการสนับสนุนนักรบต่างชาติ
  • การตระเวนทางทะเลแบบไตรภาคีระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลของทั้งสามประเทศนี้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อดำรงเสถียรภาพในภูมิภาคในยามที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เช่น การกระทำอันเป็นโจรสลัด การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติอื่น ๆ ในน่านน้ำภูมิภาค หนังสือพิมพ์ เดอะฟิลิปปินส์ สตาร์ รายงานว่าประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ตกลงใจที่จะแลกเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงาน จัดตั้งศูนย์บัญชาการร่วมและแบ่งปันข่าวกรอง
  • มาเลเซียเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุดยอดด้านการต่อต้านการให้เงินทุนแก่การก่อการร้ายครั้งที่ 3 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 โดยเป็นการประชุมร่วมกันกับออสเตรเลียและอินโดนีเซีย การประชุมสุดยอดด้านการต่อต้านการให้เงินทุนแก่การก่อการร้าย พ.ศ. 2560 นี้เป็นโอกาสในการพบปะกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองการเงินและผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานทางด้านนโยบาย การกำกับดูแล การบังคับใช้กฎหมาย และความมั่นคงแห่งชาติ ผู้เข้าร่วมการประชุมในหัวข้อนี้ยังประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในภาคการบริการทางการเงิน เทคโนโลยีทางด้านการเงิน และเทคโนโลยีทางด้านการกำกับดูแล

ความร่วมมือในระดับภูมิภาคนี้และภารกิจทางทหารที่จริงจังโดยกองทัพฟิลิปปินส์ทำให้สามารถเอาชนะกลุ่มหัวรุนแรงได้ภายในช่วงปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560 ขณะที่กองทัพเฉลิมฉลองความสำเร็จในการทำให้เมืองมาราวีหลุดพ้นจากการควบคุมโดยไอซิส ชาติต่าง ๆ ในอินโดแปซิฟิกก็ได้ส่งความช่วยเหลือมากมายมายังฟิลิปปินส์ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ก่อสร้าง การเงินและความเชี่ยวชาญต่าง ๆ เพื่อทำการฟื้นฟู รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ประกาศจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจบันกอน มาราวี ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานรัฐบาลหลายหน่วย เพื่อเป็นผู้นำในการฟื้นฟูและการบูรณะ

นายเอดัวร์ดู เดล โรซาริโอ เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการเคหะ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำหน่วยเฉพาะกิจนี้ โดยมีนายเดลฟิน โลเรนซานา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายมาร์ก วิลลาร์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงโยธาธิการและทางหลวงเป็นรองประธาน

เป็นเรื่องที่ชัดเจนอย่างยิ่งว่าความร่วมมือของรัฐบาลทุกภาคส่วนที่ประกอบไปด้วยความร่วมมือระหว่างทหารและพลเรือน ตลอดจนความร่วมมือข้ามชาตินั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อผู้นำทางทหารและผู้นำทางการเมือง ดร.อึ้ง เอ็ง เฮ็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ระบุว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่ดึงดูดใจนักรบต่างชาติที่ต้องการจะควบคุมดินแดน “นักรบต่างชาติหลายสิบราย หรือไม่ก็หลายร้อยราย หรืออาจจะหลายพันรายจะมีทักษะในการทำวัตถุระเบิดแสวงเครื่อง ทักษะในการจี้เครื่องบิน และทักษะในการลักพาตัว” ดร.อึ้งกล่าว ตามรายงานของเว็บไซต์ bloomberg.com ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการคาดการณ์นี้ก็คือ องค์กรก่อการร้ายต่าง ๆ ได้ยึดที่มั่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานแล้ว และอีกไม่นานจะมีบรรดานักรบต่างชาติที่แกร่งกล้าเข้าร่วมกับองค์กรเหล่านี้ “เมื่อเราพูดถึงภัยคุกคามเฉพาะพื้นที่ เรามักจะหมายถึงภัยคุกคามอย่างโรคไข้เลือดออกหรือวัณโรค ซึ่งมันจะคงอยู่ต่อไป แม้จะใช้ความพยายามหลายปีก็ไม่สามารถกำจัดมันได้” ดร.อึ้งกล่าว “ปัญหานี้จะเกิดขึ้นในอาเซียน” ดร.อึ้งกล่าวเพิ่มเติมโดยหมายถึง 10 ประเทศที่เป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พล.ร.อ. แฮร์ริสแห่งกองบัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิกกล่าวว่า ความท้าทายนี้ต้องได้รับการอาใจใส่อย่างเร่งด่วน“เป็นเรื่องที่ชัดเจนสำหรับผมว่าไอซิสจะมุ่งหน้าสู่อินโดแปซิฟิกอีกด้วย” พล.ร.อ. แฮร์ริสกล่าวในระหว่างการประชุมของสภาที่ปรึกษาทางทหารซานดิเอโก ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ ซานดิเอโก ยูเนียน ทริบูน การแพร่กระจายของไอซิสก็คล้ายคลึงกับโรคมะเร็ง พล.ร.อ. แฮร์ริสกล่าวเพิ่มเติมว่า “ด้วยความร่วมมือในระดับนานาชาติ เราจะสามารถขจัดโรคไอซิสนี้ได้ก่อนที่มันจะแพร่กระจายต่อไป”

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button