ติดอันดับ

บังกลาเทศเคลื่อนย้ายชาวโรฮีนจาก่อนถึงฤดูมรสุม

เอเจนซ์ ฟรานซ์-เพรส

บังกลาเทศเริ่มเคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาจำนวน 100,000 คน ไปยังพื้นที่ปลอดภัยก่อนที่ฤดูมรสุมจะมาถึง ด้วยเกรงว่าจะเกิดแผ่นดินถล่มและน้ำท่วมในค่ายที่แออัด เจ้าหน้าที่กล่าวเมื่อต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2561

สหประชาชาติกล่าวว่า ผู้ลี้ภัยประมาณ 150,000 คนในเขตตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ ที่ซึ่งมีชาวโรฮีนจาอาศัยอยู่ในกระท่อมตามไหล่เขาประมาณหนึ่งล้านคน มีความเสี่ยงอย่างสูงต่อโรคภัยไข้เจ็บและภัยพิบัติในฤดูฝนนี้

กลุ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้เร่งเพิ่มความแข็งแรงให้กับที่หลบภัยที่ชาวโรฮีนจาได้สร้างขึ้นอย่างรีบร้อนขณะหนีข้ามชายแดนจากการปราบปรามด้วยกองทัพอย่างโหดเหี้ยมในพื้นที่ชุมชนเขตตะวันตกของพม่า

ตั้งแต่เดือนสิงหาคมมีผู้ลี้ภัยเกือบ 700,000 คนข้ามชายแดนมาอยู่ในภูมิภาคค็อกซ์บาซาร์ และมีการโค่นต้นไม้และตั้งกระท่อมที่ไม่แข็งแรงตามไหล่เขา

นายโมฮัมหมัด อาบูล คาลัม ข้าหลวงผู้ลี้ภัยบังกลาเทศกล่าวว่า ผู้ลี้ภัยจำนวน 100,000 คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ “ความเสี่ยงสูง” ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมและแผ่นดินถล่มมากที่สุด จะได้รับการเคลื่อนย้ายก่อนเดือนมิถุนายน

“เราได้เคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัยจำนวน 10,000 คนจากหลายพื้นที่ไปยังสถานที่ที่ปลอดภัยกว่า” นายคาลัมกล่าว

บังกลาเทศได้จัดพื้นที่ประมาณ 14 ตารางกิโลเมตรของพื้นที่ป่าไม้ในค็อกซ์บาซาร์ เพื่อให้ชาวโรฮีนจาที่เพิ่งมาถึงได้สร้างที่หลบภัย

ป่าไม้ถูกโค่นที่อัตราความเร็วประมาณสนามฟุตบอลสี่สนามต่อวัน นายคาลัมกล่าว

กลุ่มผู้ลี้ภัยซึ่งใช้ฟืนสำหรับการหุงหาอาหารได้โค่นพื้นที่ป่าไม้ไป 5,000 เอเคอร์แล้ว นายมาฮิดูร์ ราห์มัน รองผู้ว่าการเมืองคอกซ์บาซาร์กล่าว

ไหล่เขาที่เคยเขียวขจีได้กลายเป็นพื้นที่แห้งแล้ง หน้าดินถูกเปิดและทำให้เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินถล่มในช่วงที่ฝนตกหนัก นายราห์มันกล่าว

“ผู้ลี้ภัยประมาณ 200,000 คนเสี่ยงต่อภัยจากแผ่นดินถล่ม” นายราห์มันกล่าว

ฝนมรสุมสร้างความเสียหายทุกปีในค็อกซ์บาซาร์และพื้นที่เนินเขาจิตตะกอง ซึ่งเป็นพื้นที่ข้างเคียงที่เป็นเขตป่าไม้โซนร้อนและเป็นที่อยู่ของช้างป่า

เมื่อฤดูกาลที่แล้ว ฝนที่ตกหนักก่อให้เกิดแผ่นดินถล่มในภูมิภาคนี้และทำให้มีผู้เสียชีวิต 170 คน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวโทษการตัดไม้ทำลายป่าว่าเป็นสาเหตุทำให้แผ่นดินถล่มทวีความรุนแรงขึ้น

ใน พ.ศ. 2555 แผ่นดินถล่มในภูมิภาคนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน และเมื่อสองปีก่อนหน้า ฝนตกหนักทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 50 คน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้แสดงความหวาดเกรงว่าชาวโรฮีนจามี “ความเสี่ยงสูง” ต่อพายุประจำปี

นายกูแตร์เรสกล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ตนได้เน้นย้ำกับบังกลาเทศว่า “พื้นที่สูงเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดสำหรับการเคลื่อนย้ายในลักษณะนี้”

รัฐบาลบังกลาเทศกล่าวก่อนหน้านี้ว่า ผู้ลี้ภัยประมาณ 100,000 คนที่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่ถูกกดขี่จะได้รับการเคลื่อนย้ายไปยังเกาะในอ่าวเบงกอล ซึ่งเป็นบริเวณที่กองทัพเรือบังกลาเทศกำลังสร้างที่พักอาศัยให้กับผู้ลี้ภัย

นายอับดุล มันนาน ข้าหลวงประจำภูมิภาคจิตตะกองกล่าวว่า ชาวโรฮีนจาจะไม่ได้รับการเคลื่อนย้ายไปยังเกาะก่อนสิ้นปี

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button