เรื่องเด่น

นวัตกรรม ด้านความมั่นคง

การพัฒนาด้านการกำกับดูแลเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น คือสิ่งจำเป็นต่อการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพ

พ.อ. (เกษียณอายุราชการ) เดวิด ชานาฮาน ศูนย์ความมั่นคงศึกษาเอเชียแปซิฟิก แดเนียล เค. อิโนะยูเอะ

เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลายรายคาดการณ์ว่า ในทศวรรษหน้า ความก้าวหน้าต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การใช้เทคโนโลยีเก่าด้วยวิธีการที่แปลกใหม่ที่มีอุปสรรคน้อยลงทำให้บรรดาหุ้นส่วน คู่แข่ง และตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในภูมิภาคนี้มีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายในด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนาได้มากกว่าขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และทำให้ตัวแสดงบางรายมีโอกาสที่จะนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ชั่วร้าย

กลไกและกระบวนการในการกำกับดูแลที่มีอยู่มากมายทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติไม่สามารถรับมือกับความก้าวหน้าและสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกันไปมาในปัจจุบันได้ เนื่องจากกลไกและกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคที่การกำกับดูแลเทคโนโลยังเป็นเรื่องที่แยกพิจารณาเป็นส่วน ๆ ในขอบเขตเฉพาะที่ชัดเจน กลไกและกระบวนการเหล่านี้ต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้มีการประสานเชื่อมโยงกันมากขึ้นระหว่างสาขาที่แตกต่างกันเพื่อสร้างโอกาสต่าง ๆ และเพื่อระบุและตอบโต้ภัยคุกคามที่เป็นผลิตผลจากสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

สำนักโครงการวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหมสหรัฐฯ (ดาร์ปา) กำลังพัฒนาระบบปฏิบัติการที่ใช้ข้อมูลจากสถานการณ์ใหม่ ๆ เพื่อให้สามารถทำงานได้ดีขึ้นและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น [ดาร์ปา]
ความก้าวหน้ามากมายนับไม่ถ้วนอาจอยู่ในรูปของข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ พลังงาน การผลิตวัสดุ เทคโนโลยีชีวภาพ และความก้าวหน้าทางด้านสุขภาพของมนุษย์ ดังที่นักพยากรณ์อนาคตระบุไว้ในรายงานต่าง ๆ เช่น รายงานเรื่อง “ความขัดแย้งของความก้าวหน้า” ที่ออกโดยสำนักงานผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา เทคโนโลยีจะถูกหล่อหลอมเข้าด้วยกันมากขึ้นและไม่สามารถจำแนกความแตกต่างได้ชัดเจนระหว่างมิติทางกายภาพ ดิจิทัลและชีวภาพ ดังที่นายคลอส ชวาบ แห่งสภาเศรษฐกิจโลกอธิบายไว้ในหนังสือของตนที่ชื่อว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

ความเย้ายวนของโลกซึ่งคาดว่าจะเป็นผลมาจากความก้าวหน้าเหล่านี้ได้ถูกพรรณนาไว้มากมายโดยเหล่านักเทคโนโลยีที่เป็นผู้ประกอบการ อาทิ นายปีเตอร์ ไดแมนดิส ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยซิงกูลาริตี ผู้สนับสนุนนายอีลอน มัสก์ แห่งบริษัทเทสลา ผู้สนับสนุนบริษัทสเปซเอกซ์และมูลนิธิ เอกซ์ไพรซ์ และเป็นผู้ร่วมเขียนหนังสือที่ชื่อว่า ความอุดมสมบูรณ์: อนาคตจะดีกว่าที่คุณคิด โลกที่คนเหล่านี้พรรณนาถึงคือดินแดนในอุดมคติที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง ซึ่งขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์จะเติบโตเร็วกว่าปัญหาและความท้าทายอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ความท้าทายที่เกิดจากมุมมองอันสวยหรูเหล่านี้ก็คือ สำหรับองค์กรและผู้คนที่รับผิดชอบในเรื่องการสร้างความมั่นคงในระดับชาติและระดับภูมิภาคแล้ว มุมมองดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้อุ่นใจเท่าไรนัก หรือไม่ได้ให้ข้อมูลเชิกลึกในการจัดการกับประเด็นหรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหรือทวีความรุนแรงขึ้นอันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าเหล่านี้

ความท้าทายที่เกิดจากความปั่นป่วน

เทคโนโลยีตั้งแต่ลิ่มไปจนถึงสมาร์ทโฟนเป็นทั้งสิ่งขับเคลื่อนและสิ่งที่ก่อความปั่นป่วนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ นวัตกรรมใหม่ในปัจจุบันมีวงจรชีวิตที่รวดเร็วนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดที่ก่อผลกระทบอย่างแพร่หลาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะขององค์ประกอบหลาย ๆ ประการของการปฏิวัติเทคโนโลยีในปัจจุบัน

โดรนที่ต้องสงสัยว่าเป็นของเกาหลีเหนือที่ถ่ายภาพระบบป้องกันขีปนาวุธ ถูกตรวจพบที่เมืองอินเจ ประเทศเกาหลีใต้ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 [ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส]
ความสามารถในการคำนวณที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณต่อหน่วยราคาตามกฎของมัวร์ที่มีมา 52 ปี คือตัวกระตุ้นที่สำคัญในการพัฒนานวัตกรรม ในขณะที่การเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณที่ผ่านมาจะเป็นไปในแนวนอนหรือการขยายตัวอย่างช้า ๆ จนเมื่อถึงช่วงหักเห การขยายตัวในอนาคตจะเป็นไปในแนวดิ่งหรือการเพิ่มขึ้นแบบรวดเร็ว โอกาสเหมาะที่จะดำเนินนโยบายหรือการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพคือช่วงก่อนที่เทคโนโลยีจะขยายตัวในแนวดิ่ง

การคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงพลวัตทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางสังคมและความมั่นคงอย่างไร เมื่อใดและที่ไหนเป็นงานที่ยากลำบากตามลักษณะความซับซ้อนของระบบพื้นฐานที่เทคโนโลยีส่งผลกระทบ ความซับซ้อนโดยธรรมชาตินี้จะพยายามนำพาเทคโนโลยีไปยังปลายทางที่กำหนดไว้ ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่จะคาดว่าจะทำได้คือ การสร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อันเป็นที่ยอมรับเพื่อกำหนดขอบเขตและวิธีการปฏิสัมพันธ์ของตัวแสดงต่าง ๆ

กระบวนการในการกำกับดูแลที่ช่วยในการกำหนดขอบเขตเหล่านั้นกำลังอยู่ในภาวะตึงเครียด และในหลาย ๆ กรณีก็มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการในการกำกับการดูแลที่เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ

การพัฒนาและการใช้งานเทคโนโลยีนั้นเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุปกรณ์ เทคนิคและกระบวนการต่าง ๆ แพร่กระจายไปในวงกว้างและมีการนำสิ่งเหล่านี้มาผสมผสานกันเพื่อค้นหาสิ่งใหม่ ๆ นวัตกรรมมากมายที่คาดหวังเอาไว้สูง อาทิ พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชันที่แพร่กระจายในวงกว้าง อาวุธลำแสงหรือเครื่องบินส่วนบุคคลนั้นยังมาไม่ถึง ซึ่งถือว่าใช้เวลานานนับจากที่คาดการณ์ว่าจะมี ความผิดหวังเหล่านี้ทำให้บางคนเย้ยหยันแนวคิดในเรื่องผลกระทบจากการขยายตัวของเทคโนโลยีแบบทวีคูณ

อย่างไรก็ตาม ในสาขาอื่น ๆ ดูเหมือนจะปรากฏให้เห็นความก้าวหน้าที่ก่อผลกระทบมากขึ้นซึ่งก้าวไปไกลกว่าแม้กระทั่งสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญที่มองโลกในแง่ดีที่สุดได้คาดการณ์ไว้แต่แรก ตัวอย่างของความก้าวหน้าดังกล่าวได้แก่แนวโน้มต่าง ๆ เช่น ความก้าวหน้าแบบทวีคูณของเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และปัญญาประดิษฐ์ เมื่อนำมาประกอบกัน เทคโนโลยีดังกล่าวมีแนวโน้มอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันปั่นป่วนในอนาคตอันใกล้และเป็นความท้าทายต่อบทบาทและเป้าหมายของมนุษยชาติในระยะยาว

ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีปรับแต่งยีน (คริสเปอร์: ลำดับของสายดีเอ็นเอที่มีการแสดงซ้ำ ๆ ในช่วงจำนวนหนึ่ง ๆ ของลำดับสายดีเอ็นเอ) คือตัวอย่างหนึ่งของเทคโนโลยีที่มาบรรจบกันแบบใหม่ที่มีศักยภาพในการสร้างความปั่นป่วน ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ด้วยความก้าวหน้าทางด้านขีดความสามารถในการคำนวณและการศึกษาจีโนม เทคโนโลยีนี้คือโอกาสในการพัฒนาหรือการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้มนุษย์สามารถออกแบบและบริหารจัดการองค์ประกอบพื้นฐานของชีวิต การศึกษาจีโนมคือการศึกษาเกี่ยวกับสารพันธุกรรมทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตและการจัดโครงสร้าง หน้าที่ตลอดจนวิวัฒนาการต่าง ๆ ศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมที่มีอยู่เพื่อดัดแปลง “เซลล์สืบพันธุ์” ของมนุษย์เพื่อการป้องโรคทำให้เกิดตรรกะอันผิดเพี้ยนที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่พึงปรารถนา ไม่มีความชัดเจน และยิ่งไปกว่านั้นยังมีข้อกำหนดที่มีผลบังคับที่น้อยลง

ตัวอย่างเช่น ไบโอแฮกกิง หรือการใช้ประโยชน์จากสารพันธุกรรมในการทดลองโดยไม่ได้คำนึงถึงมาตรฐานทางจริยธรรมและแม้กระทั่งกฎหมายที่มีอยู่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบตะวันตก อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ ความกระตือรือร้นในเรื่องไบโอแฮกกิง กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอินโดแปซิฟิก โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ อาทิ ไบโอชินเอเชียในสิงคโปร์ และไบโอแฮกกิงเอเชียในฮ่องกง สิ่งที่น่ากังวลคือ เทคโนโลยีที่ใช้ได้สองทางในสาขาวิศวกรรมชีวเวชที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ “ไบโอแฮกเกอร์” ที่ไร้การควบคุมหรือที่เป็นมือสมัครเล่นที่ถูกเฝ้าระวังความประพฤติสามารถดัดแปลงพันธุกรรมเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์และสิ่งมีชีวิตที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้อีกด้วย ไม่ต้องใช้จินตนาการมากมายก็คาดการณ์ได้ว่าผลกระทบอันเลวร้ายจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหากคนร้ายนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้งาน

การผสมผสานนโยบาย

อีกตัวอย่างหนึ่งของการผสมผสานเทคโนโลยีที่สร้างความยุ่งเหยิงที่ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลคือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเมื่อนำมาประกอบกัน จะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะมีอิทธิพลต่อเกือบทุกวงการ มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า เมื่อนำกระบวนการปัญญาประดิษฐ์ที่มีขีดความสามารถมากขึ้นมารวมกับข้อมูลขนาดใหญ่จะทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง จากโลกแห่งการวิเคราะห์ที่มีการอธิบายหรือคาดการณ์พฤติกรรมของระบบในอนาคต ไปเป็นโลกที่สามารถออกคำสั่งเพื่อเรียกคำตอบที่ต้องการได้ทันที ขีดความสามารถนี้จะใช้ได้ทั้งในทางที่ดีและทางที่ชั่วร้าย

ตัวอย่างเช่น ในหนังสือที่ชื่อ การผลักดัน: การพัฒนาการตัดสินใจในเรื่องสุขภาพ ความมั่งคั่งและความสุข ที่เขียนโดยนายริชาร์ด ทาเลอร์

และนายแคสส์ ซันสไตน์ ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2551 ได้อธิบายถึงวิธีการที่รัฐบาลอาจทำได้เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่ต้องการ เช่น การปฏิบัติตนเพื่อให้สุขภาพดีขึ้น หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น วิธีการดังกล่าวคือ “การผลักดัน” หรือการส่งเสริมพฤติกรรมที่ต้องการโดยการสร้างรูปแบบทางเลือกที่เน้นความเข้าใจอันถ่องแท้เกี่ยวกับอคติและอุปนิสัยแทนการใช้กฎระเบียบหรือบทลงโทษสำหรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ อย่างไรก็ตาม บางคนอาจตีความว่าวิธีการผลักดันดังกล่าวคือระบบพ่อปกครองลูกแบบร่วมสมัย รัฐบาลที่มีความเอาใจใส่อาจตรวจสอบให้แน่ใจว่าประชาชนทำในสิ่งที่รัฐบาลเห็นว่าถูกต้องเหมาะสมกับสังคมและผลประโยชน์ของชาติ ระบบการค้าและระบบสังคมใหม่ ๆ ที่ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์คือการสนับสนุนความต้องการที่มีอยู่แล้วมากกว่าจะเป็นการชักนำให้ผู้ใช้ค้นพบแนวคิดใหม่ ๆ สิ่งเหล่านี้ดึงดูดให้ผู้ใช้เข้าสู่กรอบที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการมากขึ้นโดยผู้ใช้มีความคุ้นเคยอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการติดอยู่ในกรอบที่ย้ำคิดย้ำทำในสิ่งเดิม ๆ ที่ตนพอใจในหลาย ๆ กรณี นี่เป็นเรื่องที่น่าหนักใจ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและปัญญาประดิษฐ์ทำให้ตัวแสดงที่ประสงค์ร้าย และ/หรือตัวแสดงที่ไม่เปิดเผยตัวสามารถชักนำประชาชนให้รับรู้ข้อมูลเพียงด้านเดียว ให้ข้อมูลที่โต้แย้งข้อมูลที่ถูกต้องหรือเชื่อถือข้อมูลที่เป็นเท็จ นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัวและเกิดขึ้นทุกวันในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลก

นักวิเคราะห์ของกองทัพเรือออสเตรเลียใช้ระบบโซนาร์ตรวจสอบด้านข้างขั้นสูงที่ติดตั้งบนยานพาหนะใต้น้ำที่ทำงานโดยอิสระในการค้นหาเรือดำน้ำขนาด 800 ตันที่สูญหายไปเป็นเวลาหนึ่งศตวรรษ ภารกิจนี้เกิดขึ้นในช่วงปลาย พ.ศ. 2560 ในพื้นที่นอกชายฝั่งปาปัวนิวกินี [รอยเตอร์]
“ในวันนี้ ด้วยอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมที่มีอยู่ การปรับแต่งการรับรู้ของเราเกี่ยวกับโลกนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลา ในพื้นที่และด้วยเจตนาที่คาดไม่ถึงมาก่อน” นายแรนด์ วอลต์ซแมน จากสถาบันวิจัยแรนด์ คอร์เปอเรชัน ระบุในคำให้การต่อวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560 เรื่อง “การใช้ข้อมูลเป็นอาวุธ” “เราได้เข้าสู่ยุคของการปรับแต่งข้อความ การเล่าเรื่องและการชักจูงซึ่งเกิดขึ้นทั่วไปในวงกว้าง เราต้องมีกลยุทธ์ในการต่อต้านปรปักษ์น้อยใหญ่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”

การกล่าวอ้างและการโต้แย้งการกล่าวอ้างในเรื่องการปรับแต่งข้อมูลในการเลือกตั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ แสดงให้เห็นถึงขอบเขตของความท้าทาย ตัวอย่างเช่น ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่มีอยู่สามารถสร้างภาพและวิดีโอที่เหมือนจริงอย่างเหลือเชื่อเพื่อดำเนินภารกิจการบิดเบือนข้อมูล ตามผลการศึกษาล่าสุดของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน หากไม่มีการยับยั้ง การพัฒนาทางปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถปรับแต่งข้อมูลได้อย่างง่ายดายเพื่อจุดประสงค์ที่เป็นการมุ่งร้าย

รูปแบบขั้นตอนที่แน่นอนใน “การเรียนรู้เชิงลึก” จะช่วยเพิ่มกระบวนการตัดสินใจในระบบต่าง ๆ ที่ทำงานโดยอิสระที่อยู่ในระบบรถยนต์ การเงิน การแพทย์และการทหาร ขณะนี้ รูปแบบขั้นตอนเหล่านี้ทำได้แม้กระทั่งการสั่งการให้ตนเองทำงานในลักษณะที่วิศวกรที่สร้างมันขึ้นมาก็ไม่สามารถอธิบายได้ ปัญหายุ่งยากนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัญญาประดิษฐ์มีศักยภาพและการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น ดังที่นายทอมมี จากโคลา ศาสตราจารย์แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้การเรียนรู้ของเครื่องได้ตั้งข้อสังเกต “ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจในด้านลงทุน การตัดสินใจด้านการแพทย์หรือการตัดสินใจในด้านการทหาร คุณไม่ต้องการพึ่งพาแค่วิธีการแบบ “กล่องดำ”” ในการอธิบายถึงกระบวนการตัดสินใจที่ได้มา

สถานการณ์ตัวอย่างที่คาดการณ์ไว้เหล่านี้ ตลอดจนสถานการณ์ในสาขาอื่น ๆ อีกมากมายที่ประสบความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพร้อม ๆ กันคือสิ่งที่น่ากลัว จากมุมมองทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายนั้นเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งอย่างยิ่งจนถึงขนาดที่หลายคนอ้างว่าไม่เคยมีช่วงเวลาที่มีความเป็นไปได้หรือมีแนวโน้มมากกว่านี้ในการเกิดอันตราย สถานการณ์ดังกล่าวเป็นความท้าทายที่ทำให้ประชาคมนานาชาติต้องส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโอกาสทางเทคโนโลยีเหล่านี้ ตลอดจนการลดความเสี่ยงที่แฝงอยู่มากมาย อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งมากที่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจจะติดอยู่ในกรอบความคิดแบบดั้งเดิมที่เป็นแบบเส้นตรง (และไม่แหวกกฎ) หรือตกอยู่ในความกังวลฉับพลันมากเกินกว่าที่จะคิดในเชิงกลยุทธ์ในเรื่องอิทธิพลของความปั่นป่วนและนวัตกรรมที่จะกำหนดอนาคต

สิ่งนี้ได้กระตุ้นให้เกิดความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมดูแลการจู่โจมทางเทคโนโลยีโดยอาศัยนโยบาย กระบวนการและกลไกต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศต่าง ๆ จะสามารถดูแล ควบคุมและกำหนดทิศทางแรงขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีที่จะนำพาประชาคมนานาชาติไปสู่อนาคตอย่างโลดโผน หนึ่งในเสียงเรียกร้องที่เด่นชัดที่สุดคือนายอัซฮาร์ เซีย อูร์ เรห์มัน ซึ่งหนังสือที่นายเรห์มันเขียนล่าสุดที่ชื่อว่า การกำกับดูแลเทคโนโลยี – แนวคิดและแนวปฏิบัติ คือข้อมูลอ้างอิงอันเป็นที่ยอมรับในเรื่องแนวคิดในการกำกับดูแลเทคโนโลยี

มีขั้นตอนใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์มากมาย สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรระดับภูมิภาคได้ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลเทคโนโลยีในพื้นที่ไซเบอร์ และใน พ.ศ. 2559 อาเซียนได้เริ่มจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์

การโจมตีโดยมัลแวร์และแรนซัมแวร์ (มัลแวร์เรียกค่าไถ่) เมื่อเร็ว ๆ

นี้ได้เน้นให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาการความร่วมมือในภูมิภาคดังกล่าว เพื่อลดภัยคุกคามและเพื่อส่งเสริมมาตรการในการสร้างความเชื่อมั่นทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เผชิญกับความท้าทายคล้าย ๆ กัน แม้ความร่วมมือเหล่านี้จะเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง แต่ก็มีแนวโน้มที่จะพิจารณาความท้ายทายทางเทคโนโลยีโดยแยกเป็นส่วน ๆ และไม่คำนึงถึงความท้าทายที่เป็นระบบซึ่งเกิดจากผลกระทบโดยรวมของเทคโนโลยีเหล่านี้ แนวคิดที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาแบบองค์รวมมากขึ้นคือสิ่งจำเป็น

การลดความเสี่ยง

ดังนั้น เราควรทำอย่างไรเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายด้านความมั่นคงสามารถระบุความเสี่ยงและลดความเสี่ยงที่จะเกิดจากผลรวมของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีความเชื่อมโยงกันและมีผลกระทบสูงในทศวรรษที่จะกำลังจะมาถึง รายการของสิ่งที่ต้องกระทำควรประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้

ปลูกฝังการมองการณ์ไกลและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ: ทำให้การมองการณ์ไกลและการคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรของหน่วยงานรักษาความมั่นค งต่าง ๆ

ตรวจหาความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการตรวจสอบผลกระทบโดยรวมของเทคโนโลยีที่มีต่อกระบวนการวางแผนและกลยุทธ์ ตัวอย่างเช่น การใช้ “ชุดตรวจสอบ” เทคโนโลยีเพื่อกระตุ้นการตั้งข้อสงสัยตามโอกาส การตั้งสมมติฐานและการระบุความเสี่ยง

กระตุ้นให้เกิดการสนทนาและการศึกษาในหมู่ประชาชน: ขยายขอบเขตและยกระดับคุณภาพในการสื่อสารของประชาชนเพื่อให้สังคมตระหนักถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทำให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการอภิปรายอย่างรอบรู้เกี่ยวกับสิ่งที่น่าพอใจและเป็นที่ยอมรับ การป้องกันที่ต้องมี และกลไกที่จำเป็นในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง ผู้ปฏิบัติงานด้านนโยบาย นักเทคโนโลยี นักการศึกษาและนักจริยธรรมต้องสร้างชุมชนความร่วมมือขึ้นมาใหม่หรือกระตุ้น

ชุมชนที่มีอยู่แต่เดิมให้มีความกระตือรือร้นมากขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสังคม รวมถึงหลักประกันและความเชื่อมั่นว่าจะมีการดำเนินการในสิ่งที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อให้แน่ใจว่าเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่จะถูกควบคุมโดยประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชน มิใช่ถูกควบคุมโดยกระบวนการที่ไม่สามารถตรวจสอบได้หรือโดยตัวแสดงที่ประสงค์ร้าย นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มวิชาเกี่ยวกับเทคโนโลยี จริยธรรมและพลเมืองไว้ในหลักสูตรประถมศึกษา

ส่งเสริมการกำกับดูแลเทคโนโลยีในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลก: ค้นหาวิธีที่จะช่วยกำหนดแนวโน้มในด้านการกำกับดูแลเทคโนโลยีและหน่วยงานที่ดูแลมาตรฐานในระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อความมั่นคงในระยะยาว ตัวอย่างเช่น องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ คณะกรรมาธิการมาตรฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างประเทศ และสภามาตรฐานแห่งภาคพื้นแปซิฟิก พัฒนาหรือเพิ่มองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศภายในชุมชนความร่วมมือที่มีอยู่เพื่อดำเนินงานด้านการกำหนดขอบเขตความเสี่ยงและการพัฒนากลยุทธ์แบบองค์รวมเพื่อให้มั่นใจว่าผลกระทบจากเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างความปั่นป่วน อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ วิศวกรรมดาวเคราะห์ อาวุธที่ทำงานโดยอิสระที่มีความรุนแรงถึงแก่ชีวิต ชีววิทยา

สังเคราะห์และนาโนเทคโนโลยีจะไม่บานปลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคหรือระดับโลกที่ไม่สามารถจัดการได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงต้องใช้วิธีการทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อมีส่วนร่วมในการระบุความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและรายงานข้อมูลต่อผู้กำหนดนโยบายระดับชาติ รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในองค์กรที่มีความหลากหลายมากขึ้นและกลไกต่าง ๆ ที่จำเป็นในการลดความเสี่ยงเหล่านี้

พัฒนาแรงงานในอนาคต: ตรวจสอบว่าการกระตุ้นเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงยุคสมัยและวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมมีผลกระทบอย่างไรต่อแรงงานในอนาคต ยกระดับการเรียนรู้นวัตกรรมและแนวคิดของภาคเอกชนเพื่อสร้างวิธีการใหม่ ๆ ในการคาดการณ์และการลดผลกระทบที่เกิดจากการขาดแคลนและการล้นหลามของแรงงานมนุษย์และองค์ความรู้ต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการเข้ามาแทนที่ของระบบอัตโนมัติ หากไม่สามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความปั่นป่วนเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความไม่เสมอภาคจะเพิ่มมากขึ้นและประชาชนจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบที่รุนแรง ซึ่งจะทำให้มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเกิดความรุนแรงในสังคมและระหว่างประเทศ

จากการคาดการณ์ค่อนข้างมั่นใจว่า ทศวรรษต่อ ๆไปนี้จะเต็มไปด้วยเรื่องราวที่คาดไม่ถึงอย่างแน่นอน ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้กำหนดนโยบายด้านความมั่นคงพยายามที่จะตอบสนองความจำเป็นในการกำกับดูแลที่เพียงพอเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและการลดความเสี่ยงที่อยู่ในรูปของผลกระทบในวงกว้างจากการขยายตัวทางเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน ต้องมีการสร้างกลไกในการกำกับดูแลเพื่อพัฒนาและควบคุมศักยภาพของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่อย่างเหมาะสมเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์โดยไม่ขัดขวางความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จากคำกล่าวของนายจอร์จ คลีเมนโซ ว่าด้วยเรื่องสงครามและเรื่องทั่ว ๆ ไป การใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่และผลกระทบที่เกิดจากเทคโนโลยีเหล่านั้นเป็นเรื่องสำคัญเกินกว่าที่จะปล่อยไว้ในความรับผิดชอบของบรรดานักเทคโนโลยี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเทคโนโลยีที่ติดอยู่ในกรอบเดิม ๆ ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในเชิงรุกในการสร้างและใช้ประโยชน์จากเครื่องมือในการกำกับดูแลที่จำเป็นเพื่อให้เป็นมาตรการที่น่าเชื่อถือในการปกป้องคุ้มครองภูมิภาคและโลกจากภัยอันตรายในอนาคต

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button