วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมแผนก

การฟื้นคืนชีพของพิธีกรรม ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสิ่งต้องห้าม ใน เวียดนาม

ายเหงียน ดุ่ย นาม ที่สวมใส่ชุดผ้าไหมสีสันสดใสของสตรีและฟ้อนรำในขณะที่มีเทียนสอดอยู่ระหว่างนิ้วมือ กำลังนำกลุ่มผู้สวดมนต์ประกอบพิธีกรรมในวัดเพื่อแสดงความเคารพต่อเทพธิดาแห่งป่าเขา เทพธิดาแห่งสายน้ำและเทพธิดาแห่งสรวงสวรรค์

นายนามซึ่งมีอายุ 24 ปี เป็นหนึ่งในบรรดาคนทรงที่ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่ประกอบพิธีหาวดงที่ส่งเสียงกระหึ่มและเต็มไปสีสันสดใส ขณะนี้เขารู้สึกยินดีที่พิธีกรรมดังกล่าวได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งหลังจากที่ครั้งหนึ่งเคยถูกสั่งห้ามโดยพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองประเทศ

“มันเป็นเหมือนกับภาพลวงตา เหมือนกับมีวิญญาณมายึดร่างของผมไว้” นายนามกล่าว เขาทำงานที่อู่ซ่อมรถแห่งหนึ่งในกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ในยามที่ไม่ได้ประกอบพิธีหาวดง

พิธีหาวดงซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 (พ.ศ. 2044-2413) มีหัวใจสำคัญคือความเชื่อในเทพธิดาแห่งสามอาณาจักร ได้แก่ เทพธิดาแห่งป่าเขา เทพธิดาแห่งสายน้ำและเทพธิดาแห่งสรวงสวรรค์ ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากองค์ประกอบของลัทธิเต๋า ศาสนาพุทธและศาสนาอื่น ๆ

ในระหว่างพิธีกรรมเหล่านี้ คนทรงจะฟ้อนรำไปตามจังหวะดนตรีพื้นบ้านที่ดังกระหึ่มและมีบุคลิกที่เปลี่ยนไปตามลักษณะของบุคคลต่าง ๆ ในตำนานและในประวัติศาสตร์ บุคลิกท่าทีของคนเหล่านี้เปลี่ยนไปราวกับมีดวงวิญญาณต่าง ๆ มาสิงร่างเอาไว้ บางครั้งพวกเขาบอกว่ามันรู้สึกอย่างนั้น

จริง ๆ “มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมขยับตัวไม่ได้เลยและเอาแต่ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ แล้วต่อมาก็กลับเป็นปกติตอนที่ถูกบุคคลใหม่เข้าสิง” นายนามเล่า

บรรดาผู้ที่มีความเชื่อพากันนั่งคุกเข่าอยู่ข้างหลังคนทรงและเอื้อมมือออกไปคว้าเงินที่คนทรงโปรยลงมาอย่างร่าเริง ของที่คนนำมาถวายแก่เทพธิดาและดวงวิญญาณต่าง ๆ

กระจัดกระจายอยู่บนพื้นซึ่งมีทั้งเงิน บะหมี่สำเร็จรูป ไปจนถึงม้ากระดาษที่มีขนาดเท่าตัวจริง “มันเป็นพิธีกรรมสำหรับสังคมทุกชนชั้น ตั้งแต่คนรวยไปจนถึงคนจน ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ไปจนถึงประชาชน ตั้งแต่สูงสุดไปจนถึงต่ำสุด” นายดอน คี ทันห์ สถาปนิกและนักวิจัยกล่าว

นายทันห์กล่าวว่าพิธีกรรมนี้มีผู้ให้ความสนใจในวงกว้างเพราะดึงดูดผู้เข้าร่วมทั้งสองเพศ

สถานะของพิธีหาวดงได้รับการยืนยันใน พ.ศ. 2559 เมื่อได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมแห่งมนุษยชาติโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก

ใน พ.ศ. 2548 พรรคคอมมิวนิสต์ได้ยกเลิกการสั่งห้ามพิธีหาวดงซึ่งก่อนหน้านั้นถูกมองว่าเป็นพิธีกรรมที่งมงาย พิธีกรรมนี้ได้รับความสนใจมากขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เนื่องจากการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจทำให้มีความมั่งคั่งมากขึ้นและมีการเปิดกว้างทางสังคมมากขึ้น

พิธีหาวดงหลัก ๆ แล้วจะไม่เกี่ยวกับเงิน แต่ของที่คนนำมาถวายแก่ดวงวิญญาณและวัดอาจมีมูลค่าหลายแสนดอลลาร์สำหรับพิธีกรรมหนึ่งครั้ง แม้ว่ารัฐบาลจะไม่เห็นด้วยกับการสิ้นเปลืองเงินทอง แต่การสนับสนุนพิธีกรรมก็อาจเป็นการแสดงสถานะทางสังคมอย่างหนึ่ง

นายนามกล่าวว่าเขาได้ละทิ้งวิถีชีวิตที่บ้าระห่ำของวัยหนุ่มหลังจากที่นักบุญได้เรียกร้องให้เขามาเป็นคนทรง สิ่งนี้เป็นแรงกระตุ้นให้เขาทำงานหนักในแต่ละวันตามอาชีพของตน และทำให้เขาเป็นเจ้าของอู่ซ่อมรถสองแห่ง

นายนามยังคงทุ่มเทให้กับการเป็นคนทรงต่อไปโดยไม่สนใจว่าใครจะคิดอย่างไรที่เขาแต่งกายเป็นผู้หญิงและทำพิธีเรียกดวงวิญญาณ ตอนนี้มีเพียงครอบครัวที่ใกล้ชิดเท่านั้นที่รู้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา “มันคือหน้าที่ที่ผมต้องทำไปตลอดชีวิต” นายนามกล่าว

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button