ติดอันดับ

ความร่วมมือของอุตสาหกรรมด้านกลาโหมของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความท้าทายใหม่ ๆ

ฟีลิกซ์ คิม

อุตสาหกรรมด้านกลาโหมของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาหลายทศวรรษ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นพันธมิตรทางทหารที่แข็งแกร่งระหว่างประเทศทั้งสอง ในขณะที่ภัยคุกคามร่วมกันของประเทศทั้งสองและอุตสาหกรรมด้านกลาโหมได้พัฒนาขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ลักษณะของความร่วมมือก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

สถานการณ์ปัจจุบันกำลังสร้างความท้าทายใหม่ ๆ ต่อความเป็นหุ้นส่วนที่คนวงในกล่าวว่าจะเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และสร้างความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมด้านกลาโหมของประเทศทั้งสอง

นายเจียน เจ-กุก หัวหน้าฝ่ายบริหารโครงการจัดหาด้านกลาโหมสาธารณรัฐเกาหลี อธิบายถึงสภาพแวดล้อมล่าสุดในอินโดเอเชียแปซิฟิกว่าเป็นหนึ่งใน “ความไม่ชัดเจนอย่างมาก” ที่ซึ่งประเทศที่มีอำนาจมากกว่าพยายามที่จะขยายอิทธิพลของตน และเกาหลีเหนือคุกคามเสถียรภาพของทั้งภูมิภาคด้วยโครงการอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ นายเจียนกล่าวที่ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ความสัมพันธ์ทางทหารที่แข็งแกร่งระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีและสหรัฐฯ เป็นกุญแจที่จะหลีกเลี่ยงภัยพิบัติในสถานการณ์ดังกล่าว แต่ความก้าวหน้าด้านกลาโหมก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกัน นายเจียนกล่าว

“ความเป็นพันธมิตรจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นหุ้นส่วนที่สมดุลและแข็งแรงมากขึ้น” นายเจียนกล่าวในการปราศรัยของตน การอุบัติของภัยคุกคามใหม่ ๆ รวมทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้นำไปสู่ “ยุคของวิกฤตหรือโอกาส ประเทศของเราทั้งสองได้ขยายขอบเขตของความร่วมมือ วิธีการร่วมมือของเราจำเป็นต้องมีพัฒนาการเช่นเดียวกัน”

นายเจียนย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องมีการวิจัยและการผลิตร่วมกัน ซึ่งดำเนินการด้วยวิธีการที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งเฉพาะทางสูงสุดของอุตสาหกรรมด้านกลาโหมของแต่ละประเทศ นายเจียนกล่าวว่านี่คือวิวัฒนาการตามธรรมชาติที่เป็นรูปแบบ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการจัดหาผลิตภัณฑ์ด้านกลาโหมแทบทั้งหมดของสหรัฐฯ ให้กับสาธารณรัฐเกาหลี แล้วเปลี่ยนไปสู่การผลิตฐานยิงจรวด ปืนไรเฟิล และลูกระเบิดมือที่ออกแบบโดยสหรัฐฯ ภายในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี แล้วไปสู่การผลิตอาวุธที่หนักกว่าภายในประเทศ เช่น เครื่องบินขับไล่ไอพ่นที่ออกแบบโดยสหรัฐฯ และสุดท้ายไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ด้านกลาโหมที่เป็นของสาธารณรัฐเกาหลีโดยสมบูรณ์ เช่น รถถัง และส่วนต่าง ๆ ของปืนใหญ่อัตตาจร เป็นต้น

ในการพูดคุยกับฟอรัม ศาสตราจารย์ชอย เมียง-จิน แห่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านกลาโหมของมหาวิทยาลัยโฮวอนเห็นด้วยกับนายเจียน

“การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านกลาโหมของสาธารณรัฐเกาหลีเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปรับปรุงขีดความสามารถในการป้องกันตัวเองให้ดีขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย” นายชอยกล่าว “เนื่องจากมีความต้องการซื้อขายอาวุธทั่วโลก จึงมีความเป็นไปได้เพิ่มสูงขึ้นสำหรับเราในการส่งออกอาวุธที่ได้รับการพัฒนาภายในประเทศให้กับตลาดโลก”

นายชอยอธิบายถึงการพัฒนาเคเอฟ-16 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นของเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 ของอเมริกาที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในสาธารณรัฐเกาหลี (ภาพ: เครื่องบินขับไล่เคเอฟ-16 ของกองทัพอากาศสาธารณรัฐเกาหลี แสดงการบินในระหว่างนิทรรศการด้านกลาโหมและอวกาศระหว่างประเทศของกรุงโซลประจำปี พ.ศ. 2560 ที่สนามบินโซลในเมืองซ็องนัม ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2560)

“เกาหลีใต้ไม่เพียงนำเข้าเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์เท่านั้น แต่ยังซื้อเทคโนโลยีดั้งเดิมที่สำคัญต่าง ๆ ซึ่งช่วยเกาหลีใต้ในการผลิตเครื่องบินเหล่านั้น” นายชอยกล่าว “ในตอนนี้ เกาหลีใต้ส่งออกเครื่องบินขับไล่ไอพ่นไปยังประเทศต่าง ๆ รวมถึงเครื่องบินฝึกสอนความเร็วเหนือเสียงที-50 ที่ได้รับการพัฒนาภายในประเทศ”

นายเจียนกล่าวว่า ตนหวังว่าการซื้อเครื่องบินขับไล่ไอพ่นล่องหนเอฟ-35 ที่ผลิตในสหรัฐฯ 40 ลำโดยสาธารณรัฐเกาหลีอาจนำไปสู่ความร่วมมือที่เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากขีดความสามารถในการป้องปรามเกาหลีเหนือที่เครื่องบินดังกล่าวมอบให้กับเกาหลีใต้แล้ว นายเจียนต้องการให้เกาหลีใต้ก่อตั้งศูนย์บำรุงรักษา ซ่อมแซม และยกเครื่องของเครื่องบินเอฟ-35 เพื่อให้บริการทั่วทั้งภูมิภาค

“ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องจะเตรียมพร้อมสำหรับความร่วมมือแบบทวิภาคีที่ครอบคลุมมากขึ้น” นายเจียนกล่าว “ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นพื้นฐานสำหรับการทำงานร่วมกันในช่วงเวลาฉุกเฉิน”

นายฟีลิกซ์ คิม เป็นผู้สื่อข่าวสมทบของ ฟอรัม รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button