กระบอกเสียงแผนก

ความปรารถนา ข้อกังวล และผลประโยชน์ของ อินเดีย กับจุดยืนทางการเมืองของ จีน

ดร.สาธุ ลิมาเย

ะหว่างผู้นำรัฐบาลของอินเดียและจีนมีการพบปะกันเพียงสองครั้งเท่านั้นในช่วงปี พ.ศ. 2559 ซึ่งทั้งสองครั้งเกิดขึ้นในการประชุมแบบพหุภาคีโดยมีการปฏิสัมพันธ์แบบทวิภาคีนอกรอบแบบสั้น ๆ นายนเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดียได้เดินทางไปยังเมืองหางโจวเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด จี20 ในช่วงต้นเดือนกันยายน และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้เดินทางไปเยือนรัฐกัวในช่วงกลางเดือนตุลาคมเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศกลุ่มบริกส์ครั้งที่แปด ซึ่งประกอบไปด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้

อย่างไรก็ตาม นายประณัพ มุขัรชี ประธานาธิบดีอินเดียได้เดินทางไปเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ โดยกิจกรรมหลักคือการประกาศโครงการ “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างใกล้ชิด” ร่วมกันในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 ครั้งนี้ถือเป็นการไปเยือนประเทศจีนครั้งแรกนับตั้งแต่ที่นายมุขัรจีเข้ารับตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555 และเป็นครั้งแรกของการไปเยือนจีนโดยประธานาธิบดีอินเดียนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543

โดยรวมแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและจีนในช่วงปี พ.ศ. 2559 ดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่น อันเนื่องมาจากความขัดแย้งที่เจาะจงบางอย่างซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างขั้นพื้นฐานมากขึ้น จุดยืนตามนโยบายของจีนในเรื่องการบรรจุชื่อผู้นำกลุ่มหัวรุนแรงที่เป็นที่รู้จักกันดีเข้าไว้ในบัญชีการก่อการร้ายขององค์การสหประชาชาติ การที่อินดียเข้าร่วมกับกลุ่มประเทศผู้ค้านิวเคลียร์ ตลอดจนความขัดแย้งทางด้านชายแดนและการค้าเป็นสิ่งที่ทำให้อินเดียตีความว่าจีนไม่ค่อยใส่ใจกับความปรารถนา ข้อกังวลและผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของอินเดีย นายกรัฐมนตรีโมทีได้เชื่อมโยงความสัมพันธ์แบบทวิภาคีและข้อจำกัดที่กว้างขึ้นเข้าด้วยกันในระหว่างการไปเยือนจีนในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 โดยกล่าวว่า “เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์แบบทวิภาคีที่ยั่งยืนและการพัฒนาที่มั่นคง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่เราคำนึงถึงความปรารถนา ข้อกังวลและผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของกันและกัน”

อีกนัยหนึ่งคือ นายโมทีเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศ “มีความใส่ใจต่อผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของกันและกัน ส่งเสริมการรวมตัวกันในเชิงบวก และป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจในแง่ลบ” เห็นได้อย่างชัดเจนว่า นายโมทีคิดว่าจีนไม่ได้กระทำตามแนวทางดังกล่าว แต่อ้างว่าอินเดียได้กระทำในส่วนของตนเองผ่านโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างใกล้ชิด และระบุว่าอินเดียประสบความสำเร็จโดยเฉพาะในด้าน “การรักษาสันติภาพและความสงบสุขในพื้นที่ชายแดน” และการเพิ่มความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 จีนไม่สนับสนุนการระบุชื่อนายมาซูด อัซฮาร์ ผู้นำกลุ่มหัวรุนแรงต้องห้าม จัยช์ อี โมฮัมเหม็ด ในฐานะผู้ก่อการร้ายในบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการแห่งองค์การสหประ ชาติเพื่อตรวจสอบการลงโทษกลุ่มอัลกออิดะห์ กลุ่มรัฐอิสลาม และกลุ่มหัวรุนแรงอื่น ๆ กรณีนี้เกิดขึ้นเพียงไม่นานหลังจากที่มีการโจมตีฐานทัพอากาศของอินเดียที่เมืองปาทานกฏเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2559 ซึ่งทางการอินเดียอ้างว่าเป็นการก่อเหตุของปากีสถานและกลุ่มจัยช์ อี โมฮัมเหม็ด

ไม่นานหลังจากนั้น ในขณะที่สถานการณ์ยังคงพิลึกพิลั่นและไม่ชัดเจน มีรายงานว่า นายดัลกุน ไอซา ชาวอุยกูร์ที่มีความคิดเห็นขัดแย้งทางการเมืองและเป็นประธานคณะกรรมการบริหารของสภาอุยกูร์โลก ได้รับวีซ่าที่ออกโดยทางการอินเดียเพื่อไปเข้าร่วมการประชุมที่เมืองดารัมซาลา แต่วีซ่าดังกล่าวก็ถูกยกเลิกในเวลาต่อมาตามรายงานข่าว สื่ออินเดียผู้กระตือรือร้นได้กล่าวถึงประเด็นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดทั้งปี ทางการอินเดียไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ แต่เห็นได้ชัดว่าความขัดแย้งนั้นยังคงดำเนินต่อไป

ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการสอบถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ในระหว่างการแถลงข่าวก่อนหน้าที่นายประณัพ มุขัรชี ประธานาธิบดีอินเดียจะเดินทางไปเยือนจีนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของอินเดียระบุว่า “ในประเด็นเกี่ยวกับกลุ่มจัยช์ อี โมฮัมเหม็ด ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งตามที่รัฐบาลจีนได้ระบุว่าจีนมีการสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับทางอินเดีย และเราก็มีการสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับทางจีน”

นั่นคือคำอธิบายอย่างเป็นทางการทั้งหมด ในระหว่างที่นายโมทีไปเยือนประเทศจีนในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 ทางการอินเดียระบุว่านายโมทีได้ประณามการโจมตีล่าสุดโดยผู้ก่อการร้ายที่สถานทูตจีนประจำกรุงบิชเคก สาธารณรัฐคีร์กีซ และกล่าวย้ำกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ว่า “การตอบโต้การก่อการร้ายของเราจะต้องไม่ถูกกระตุ้นโดยประเด็นทางการเมือง” ผู้สื่อข่าวอินเดียไม่ได้ระบุว่านายสีได้ตอบกลับหรือไม่

นาย เอส. ชัยจันการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ได้เปิดเผยความรู้สึกมากกว่านายโมทีเล็กน้อยแต่ก็ยังคงระมัดระวังคำพูดในที่ประชุมร่วมระหว่างองค์กรวิจัยของอินเดียและจีนในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 นายชัยจันการ์กล่าวว่าทั้งสองประเทศ “เผชิญกับภัยคุกคามจากการก่อการร้ายแบบจารีตนิยม แต่ดูเหมือนว่าเราจะไม่สามารถร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควรในการประชุมระหว่างประเทศครั้งสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้ แม้กระทั่งในเรื่องอำนาจอธิปไตย แน่นอนว่าควรจะมีความละเอียดอ่อนและความเข้าใจมากกว่านี้”

ประโยคหลังนี้ดูเหมือนจะสะท้อนให้เห็นถึงการตีความของอินเดียว่า ความลังเลของจีนในเรื่องการสนับสนุนการระบุชื่อนายอัซฮาร์ในฐานะผู้ก่อการร้ายนั้นเกิดจากความกังวลของจีนเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ก็ได้ แต่เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าแม้กระทั่งในเรื่องที่จีนและอินเดียบอกว่าจะแบ่งปันผลประโยชน์และหลักการร่วมกัน (การต่อต้านการก่อการร้าย) แต่ความขัดแย้งเกี่ยวกับปากีสถานและการปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติก็ส่งผลต่อความสามารถและความเต็มใจที่จะยอมรับผลประโยชน์และจุดยืนของอีกฝ่ายอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม อินเดียและจีนยังคงยืนยันว่าทั้งสองฝ่ายกำลังร่วมมือกันในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ในการประชุมกับนายเมิ่ง เจี้ยนจู้ เลขาธิการคณะกรรมการกลางฝ่ายการเมืองและกฎหมายแห่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 นายโมทีกล่าวว่า “การก่อการร้ายเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และการเพิ่มความร่วมมือระหว่างอินเดียและจีนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน”

เหตุการณ์อื่นที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและจีนมีความซับซ้อนในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2559 คือความพยายามของอินเดียที่จะเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ค้านิวเคลียร์ ก่อนที่จะมีการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ค้านิวเคลียร์อย่างเต็มคณะในเดือน

มิถุนายนที่เกาหลีใต้ กระทรวงการต่างประเทศของจีนออกแถลงการณ์ออนไลน์ที่ระบุว่า “ความขัดแย้งมากมาย” ยังคงมีอยู่ในหมู่สมาชิกกลุ่มประเทศผู้ค้านิวเคลียร์ในเรื่องการรับประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม อินเดียได้ส่งนายชัยจันการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปยังกรุงปักกิ่งเพื่อเจรจาในวันที่ 16 ถึง 17 มิถุนายน พ.ศ. 2559 จากการแถลงข่าวของจีนระบุว่า “ในระหว่างการมาเยือนครั้งนี้ ทางอินเดียได้แสดงความปรารถนาที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ค้านิวเคลียร์ เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จีนเข้าใจความจำเป็นของอินเดียในการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์”

ในขณะเดียวกัน จีนได้ยืนยันถึงความสำคัญของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบการไม่แพร่ขยายอาวุธระหว่างประเทศ โดยเน้นย้ำว่ากลุ่มประเทศผู้ค้านิวเคลียร์ยังคงมีความเห็นที่ต่างกันในเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกของประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ จีนยังระบุว่า “กลุ่มประเทศผู้ค้านิวเคลียร์ไม่เคยหยิบยกเรื่องการเข้าเป็นสมาชิกของประเทศใดก็ตามที่ไม่ได้เป็นภาคีสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์มาเป็นหัวข้อการประชุม ในการประชุมของกลุ่มแบบเต็มคณะที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ที่กรุงโซลก็จะไม่กล่าวถึงประเด็นนี้เช่นกัน ดังนั้น ในเวลานี้จึงเป็นเรื่องที่เปล่าประโยชน์ที่จะพูดถึงการสนับสนุนหรือการคัดค้านการเข้าเป็นสมาชิกของประเทศใดก็ตามที่ไม่ได้เป็นภาคีสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ จุดยืนของจีนไม่ได้มุ่งเป้าที่ประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นจุดยืนสำหรับทุกประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์

อินเดียได้โต้ตอบในเวลาต่อมาในปีเดียวกัน โดยแสดงความไม่พอใจที่การใช้หลักการร่วมกันไม่ได้หมายถึงนโยบายที่บรรจบกัน นายชัยจันการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า “ด้วยโครงการความร่วมมือในการพัฒนาอย่างใกล้ชิดที่เรามีอยู่และพันธสัญญาต่อกลุ่มของเรา (ที่ประกอบไปด้วยบราซิล แอฟริกาใต้ อินเดียและจีน) ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เราควรจะสนับสนุนซึ่งกันและกันในเรื่องการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส”

ในกรณีของอินเดีย การเข้าถึงเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ที่ใช้สำหรับพลเรือนที่สามารถคาดการณ์ได้เป็นสิ่งสำคัญ กลุ่มควบคุมเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ครอบคลุมในวงกว้างยังเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่เป็นแบบอย่างมากขึ้น เมื่อตระหนักว่านี่คือความสามัคคีของบรรดาประเทศขนาดใหญ่ที่กำลังพัฒนา ดังนั้น สิ่งสำคัญคือจีนต้องมองว่ามันเป็นความทะเยอทะยานในเชิงพัฒนา ไม่ใช่ข้ออ้างทางการเมือง

การตีความของอินเดียเกี่ยวกับจุดยืนของจีนในเรื่องความพยายามของอินเดียที่จะเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ค้านิวเคลียร์นั้น กว้างกว่าเรื่องที่จีนให้ความสำคัญกับหลักเกณฑ์ที่เท่าเทียมกันในการเป็นสมาชิก สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่าง ๆ อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับ “ความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ”

นายชัยจันการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นให้เห็นถึงช่องว่างอีกประการหนึ่งโดยระบุว่า “และสำหรับการหารือทั้งหมดในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ของจีนและอินเดียในที่ประชุมระดับโลกแม้ว่าจะมีความขัดแย้งกันระหว่างสองประเทศ แต่ความขัดแย้งที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องนั้นค่อนข้างจะรุนแรง แม้ว่าเราจะมีความมุ่งมั่นต่อความสงบเรียบร้อยของโลกที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ แต่การกระทำของเราในเรื่องการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับ

แนวทางของเราที่จะนำไปสู่การจัดระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น โดยอาศัยการปฏิรูปสถาบันพหุภาคีที่มีอยู่และความร่วมมือของเราในการสร้างสถาบันใหม่ต่าง ๆ เช่น ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชียและธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ ซึ่งเมื่อก่อนคือธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ภายใต้กลุ่มบริกส์”

สถานการณ์เหล่านี้ขัดแย้งกันเพราะจริง ๆ แล้วเราแทบจะไม่แตกต่างกันในเรื่องของหลักการ ที่น่าประหลาดคือ จากความขัดแย้งต่าง ๆ ที่กล่าวมาในช่วงปีนี้ ข้อพิพาทชายแดนที่ดำเนินมาเกือบหกทศวรรษกลับมีความสงบนิ่งในปี พ.ศ. 2559 โดยมีแค่การประชุมทางทหารตามปกติและการเจรจาระหว่างผู้แทนพิเศษเท่านั้น

ในที่ประชุมร่วมระหว่างองค์กรวิจัยเมื่อเดือนธันวาคม พ. ศ. 2559 นายชัยจันการ์ได้มุ่งเน้นในแง่ดี โดยระบุว่า “โดยทั่วไปแล้ว ทั้งสองฝ่ายได้สร้างสันติภาพและความเงียบสงบในขณะที่มีความเห็นพ้องกันในเรื่องบริบททางการเมืองและการชี้นำหลักการสำหรับการแก้ปัญหาชายแดน” นายชัยจันการ์กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง “เป็นผลมาจากขีดความสามารถทางด้านการส่งกำลังบำรุงที่แตกต่างกันและการขาดเส้นควบคุมแท้จริงที่เห็นพ้องร่วมกัน” แต่ก็ได้แสดงความมุ่งหวังที่น่าสนใจว่า “เมื่อช่องว่างเหล่านี้แคบลง (ซึ่งน่าจะหมายถึงทั้งความอสมมาตรของขีดความสามารถและการขาดมุมมองร่วมกันเกี่ยวกับเส้นควบคุมแท้จริง) เราจะเห็นเสถียรภาพที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบรรลุการแก้ปัญหาชายแดนในขั้นสุดท้าย”

ถ้อยคำแห่งนัยนี้ดูเหมือนจะเป็นทั้งการแจ้งเตือนและการส่งสัญญาณถึงความพยายามของอินเดียที่จะลดปัญหาเกี่ยวกับขีดความสามารถทางด้านการส่งกำลังบำรุงในบริเวณเส้นควบคุมแท้จริงของฝั่งตนเองในรัฐอรุณาจัลประเทศโดยอาศัยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาทางทหาร โดยพิจารณาจากคำร้องขอทางการทูตอย่างต่อเนื่องของอินเดียเพื่อให้มีการระบุเส้นควบคุมแท้จริงที่ชัดเจน ซึ่งเป็น “คำร้องขอ” ของนายโมทีในระหว่างที่ไปเยือนประเทศจีนเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558

ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนนั้นยังมีความไม่ชัดเจน ตามที่เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของอินเดียระบุ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 นายโมทีไม่ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการค้าในแง่ที่เป็นปัจจัยเชิงบวกในความสัมพันธ์ และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่านายโมทีได้เอ่ยถึงเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งตรงกันข้ามกับการไปเยือนของนายมุขัรชีในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 ที่เริ่มต้นอย่างมีจุดมุ่งหมายที่เมืองกวางเจาซึ่งมีมูลค่าเศรษฐกิจท้องถิ่น 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 32.6 ล้านล้านบาท) และเป็นช่วงที่

ประธานาธิบดีอินเดียระบุว่าการค้าระหว่างสองประเทศได้เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จาก 2.91 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 9.49 หมื่นล้านบาท) เป็น 7.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 2.32 ล้านล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2558 แม้ว่าจะมีความไม่สมดุลทางการค้า และอินเดียมุ่งหวังที่จะให้มี “การขยายการค้าของเราเพื่อให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น” รวมถึงตลาดที่กว้างขึ้นสำหรับสินค้าของอินเดียในประเทศจีน

นายมุขัรชียังได้ระบุว่า “มีการมุ่งเน้นการลงทุนแบบสองทางซึ่งเป็นเรื่องที่น่าพอใจ” ต่อมาในปีเดียวกัน นายชัยจันการ์ได้สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกนี้โดยกล่าวว่า “อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจด้วยประการทั้งปวงที่ความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจ

และลักษณะเฉพาะทางระบบที่เกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปจะก่อให้เกิดความท้าทายที่สำคัญทางการค้า” นายชัยจันการ์กังวลว่า “การขาดดุลที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดคำถามที่เป็นเหตุเป็นผลในเรื่องความยั่งยืนของรูปแบบการค้าในปัจจุบัน” นายชัยจันการ์กล่าวทิ้งท้ายอย่างมีความหวังที่สุดว่า “แต่มันก็เป็นข้อพิสูจน์ถึงความมีวุฒิภาวะของเราที่เราได้พยายามอย่างจริงใจที่จะแก้ไขปัญหานี้ด้วยการลงทุนที่มากขึ้นและการเข้าถึงตลาดที่กว้างขึ้น ซึ่งจนถึงตอนนี้ผมต้องยอมรับว่าประการแรกนั้นประสบความสำเร็จมากกว่าประการหลัง” o
ดร. สาธุ ลิมาเย เป็นผู้อำนวยการศูนย์ตะวันออกและตะวันตกในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และที่ปรึกษาอาวุโสของศูนย์วิเคราะห์กองทัพเรือ บทความนี้เป็นเนื้อหาที่ตัดตอนมาจากบทความของ ดร.ลิมาเย เรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและเอเชียตะวันออก: แข็งแกร่งแต่ไม่โลดโผน” และมีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอครั้งนี้ บทความต้นฉบับได้รับการตีพิมพ์ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2560

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button