เรื่องเด่น

การอนุมานนโยบายของ รัสเซียในทะเลจีนใต้

สำหรับรัสเซีย ปัญหาทะเลจีนใต้คือจุดบรรจบของนโยบายสองระดับ

ด.ร.อเล็กซานเดอร์ โคโรเลฟ

นโยบายของรัสเซียว่าด้วยเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้นั้นมีความซับซ้อนมากกว่าที่น่าจะเป็น

ทางการรัสเซียวางบทบาทอย่างเป็นทางการของรัสเซียในฐานะตัวแสดงที่อยู่นอกภูมิภาคที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในข้อพิพาทดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุนั้น รัสเซีย “ไม่เคยเป็นผู้มีส่วนร่วมในข้อพิพาททะเลจีนใต้” และพิจารณาว่าเรื่องนี้ “เป็นเรื่องของหลักการในการที่จะไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการประกาศไม่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ คือการเพิ่มศักยภาพทางทหารของรัสเซียในภูมิภาคอินโดเอเชียแปซิฟิก และข้อตกลงซื้อขายอาวุธและพลังงานมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์กับผู้อ้างสิทธิที่เป็นคู่แข่งกัน

ปัจจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าแม้รัฐบาลรัสเซียอาจไม่มีการอ้างสิทธิในดินแดนโดยตรงในทะเลจีนใต้ แต่ก็มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ผลประโยชน์ และการกระทำที่มีผลโดยตรงต่อวิวัฒนาการความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

หนึ่งในสี่ของโครงการพัฒนากองทัพให้มีความทันสมัยครั้งใหญ่ของรัสเซียที่จะดำเนินไปจนถึงปี พ.ศ. 2563 คือการพัฒนากองเรือในแปซิฟิก โดยมีศูนย์บัญชาการตั้งอยู่ที่เมืองวลาดิวอสต็อก เพื่อให้มีความพร้อมมากขึ้นสำหรับการปฏิบัติการที่ใช้ระยะเวลานานในทะเลที่ห่างไกล ความร่วมมือทางทหารของรัสเซียกับจีนมีความก้าวหน้าไปถึงจุดที่ประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน เรียกจีนว่าเป็น “หุ้นส่วนโดยธรรมชาติและพันธมิตรโดยธรรมชาติ” ของรัสเซีย

การฝึกร่วมทางทะเลระหว่างกองทัพเรือของทั้งสองประเทศครั้งล่าสุดที่ผ่านมาซึ่งก็คือ การฝึกจอยน์ ซี พ.ศ. 2559 ได้จัดขึ้นในทะเลจีนใต้ และเป็นการฝึกร่วมทางทะเลครั้งแรกที่เกี่ยวข้องกับจีนและประเทศที่สองในทะเลที่มีกรณีพิพาทหลังจากที่มีการตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ว่าด้วยเรื่องการอ้างสิทธิของจีนในพื้นที่ภายในเส้นประเก้าเส้น

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของรัสเซียกับเวียดนามก็กำลังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและเวียดนามได้รับการยกระดับให้เป็น “หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม” ซึ่งเทียบได้กับความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและจีน รัสเซียและเวียดนามกำลังพัฒนาโครงการก๊าซร่วมในทะเลจีนใต้ และรัฐบาลรัสเซียยังพยายามที่จะกลับไปยังฐานทัพเรือคัมรานห์ และขายระบบอาวุธขั้นสูงให้กับรัฐบาลเวียดนามที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศของเวียดนาม

ดังนั้น พฤติกรรมที่แท้จริงของรัฐบาลรัสเซียจึงแทบจะไม่มีความเป็นกลางดังที่ระบุในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ การเพิ่มความร่วมมือทางทหารกับรัฐบาลจีนและรัฐบาลเวียดนามไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งสองประเทศนี้คือคู่พิพาทรายใหญ่ในทะเลจีนใต้ ทำให้เจตนารมณ์ของรัสเซียนั้นเป็นเรื่องที่ตีความได้ยาก และต้องใช้กรอบความคิดแบบองค์รวมที่ครอบคลุมมากขึ้นเพื่อที่จะเข้าใจผลประโยชน์ทางนโยบายต่างประเทศของรัสเซียที่มีระดับแตกต่างกัน ชาติมหาอำนาจต่าง ๆ จะเล่นเกมทางนโยบายต่างประเทศในหลาย ๆ ระดับที่อาจคาบเกี่ยวกันในบางเรื่อง สำหรับรัสเซีย ปัญหาเกี่ยวกับทะเลจีนใต้เป็นประเด็นที่นโยบายสองระดับของตนมาบรรจบกัน ซึ่งก็คือ การถ่วงดุลอำนาจอย่างเป็นระบบด้วยการต่อต้านการครอบงำ และการป้องกันความเสี่ยงในภูมิภาคอย่างไม่เป็นระบบ

ระดับแรก การถ่วงดุลอำนาจอย่างเป็นระบบ เป็นผลมาจากการ กระจายอำนาจของชาติมหาอำนาจในโลก และการรับรู้ถึงภัยคุกคามที่สำคัญ ในฐานะผู้ถ่วงดุลอย่างเป็นระบบ รัสเซียได้ท้าทายการเป็นมหาอำนาจขั้วเดียวที่นำโดยสหรัฐฯ ด้วยวิธีการต่าง ๆ หลายวิธี ดังจะเห็นได้จากนโยบายของรัสเซียในจอร์เจีย ยูเครนและซีเรีย แรงผลักดันเพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจผู้นำระบบ (สหรัฐอเมริกา) ทำให้รัสเซียพยายามเข้าร่วมกับจีน ซึ่งก็คล้ายกับรัสเซียคือท้าทายการเป็นมหาอำนาจขั้วเดียวของอเมริกา ดังนั้น การประเมินภัยคุกคามจากภายนอกของรัสเซียและจีนจึงมีความสอดคล้องกัน โดยทั้งสองประเทศพิจารณาว่านโยบายของสหรัฐฯ นั้นกำลังเป็นภัยคุกคาม

เรือและเรือดำน้ำของกองทัพรัสเซียจอดอยู่ในแม่น้ำเนวาในวันกองทัพเรือที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

แรงกดดันที่เกิดจากระบบระหว่างประเทศที่นำโดยสหรัฐฯ และผลที่ตามมาคือแรงจูงใจในการต่อต้านระบบดังกล่าว คือเหตุผลที่สำคัญที่สุดที่ผลักดันให้รัสเซียและจีนร่วมมือกัน จากมุมมองนี้ ทะเลจีนใต้สำหรับรัสเซียคือส่วนหนึ่งของเกมระดับโลกที่ใหญ่กว่าที่ทำให้รัสเซียไม่ขัดแย้งผลประโยชน์ของจีน แต่ให้การสนับสนุนอย่างเงียบ ๆ

ระดับที่สอง การป้องกันความเสี่ยงในภูมิภาค ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นจากข้อพิจารณาต่าง ๆ ทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาค และการสร้างผลลัพธ์ที่เป็นจริงจากการผสมผสานของนโยบายที่มุ่งเน้นที่การ กระจายความเชื่อมโยงในภูมิภาคต่าง ๆ ของรัสเซีย กับการป้องกันการขาดเสถียรภาพที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของรัสเซียในอินโดเอเชียแปซิฟิก นโยบายการป้องกันความเสี่ยงในภูมิภาคนี้ยังมุ่งเน้นที่ความต้องการทางการค้าของรัฐบาลรัสเซียเพื่อสร้างผลประโยชน์จากข้อตกลงเกี่ยวกับพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานและอาวุธ

ด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งรวมถึงการส่งออกอาวุธ ความร่วมมือทางด้านเทคนิคทางทหาร และโครงการพลังงานร่วม รัฐบาลรัสเซียจะทำให้เกิดโครงสร้างผลประโยชน์และโครงสร้างทางอำนาจที่สมดุลมากขึ้นรอบ ๆ ทะเลจีนใต้ และสร้างความสัมพันธ์อันหลากหลายกับพันธมิตรในเอเชียไปพร้อม ๆ กัน โดยมีเวียดนามเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าถึงสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมรัสเซียจึงไม่คัดค้านนโยบายของจีน และในขณะเดียวกันก็แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อความกังวลของเวียดนามในทะเลจีนใต้ จุดบรรจบของนโยบายออกสองระดับนี้ทำให้นโยบายของรัสเซียเกี่ยวกับทะเลจีนใต้มีความคลุมเครือโดยแท้จริง

ความหมายโดยนัยหลัก ๆ ของ “เกมสองระดับ” สำหรับรัสเซียตลอดจนการตอบสนองต่อนโยบายที่เกี่ยวข้องของรัสเซียก็คือ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้นั้นเป็นตัวแปรมากกว่าจะเป็นปัจจัยที่คงที่ ยิ่งความขัดแย้งในทะเลจีนใต้เบี่ยงเบนจากประเด็นเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยในภูมิภาคไปเป็นประเด็นเกี่ยวกับการเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มากเท่าไร พฤติกรรมของรัสเซียในภูมิภาคก็จะแสดงออกถึงการถ่วงดุลอำนาจด้วยการต่อต้านการเป็นมหาอำนาจขั้วเดียวมากขึ้นเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม ยิ่งสหรัฐฯ อเมริกามีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้น้อยเท่าไร นโยบายของรัสเซียในภูมิภาคนี้ก็จะมีการถ่วงดุลในระบบน้อยลงเท่านั้น และมีแนวโน้มที่จะเป็นนโยบายป้องกันความเสี่ยงในภูมิภาคมากขึ้น

จนถึงตอนนี้ นโยบายสองระดับของรัสเซียในทะเลจีนใต้ก็ดำเนินไปได้ด้วยดีโดยไม่ขัดแย้งกันเอง เวียดนามได้ผลประโยชน์จากความร่วมมือกับรัสเซีย ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะความร่วมมือดังกล่าวมีประโยชน์ในตัวของมันเองเท่านั้น แต่เป็นเพราะความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างจีนและรัสเซียอย่างที่เป็นอยู่ทำให้เวียดนามมีโอกาสที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับตรงนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามมีประสบการณ์อันยาวนานในการใช้อาวุธและยุทโธปรณ์ทางทหารของรัสเซีย นโยบายของรัสเซียยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีน แม้ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่มีองค์ประกอบทางทหารที่แข็งแกร่งระหว่างรัสเซียและเวียดนามอาจดูเหมือนเป็นการต่อต้านจีน แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันช่วยส่งเสริมผลประโยชน์ของจีนเพราะเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้รัฐบาลเวียดนามและรัฐบาลสหรัฐฯ รวมตัวเป็นพันธมิตร

แม้จะมีความไม่พอใจที่รัสเซียส่งอาวุธให้กับเวียดนาม แต่รัฐบาลจีนก็ตระหนักว่าการลดหรือการยกเลิกการส่งอาวุธดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลเวียดนามล้มเลิกนโยบายการกระจายความสัมพันธ์ทางทหารอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและหันไปพึ่งพารัฐบาลสหรัฐฯ มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้จีนถูกกดดันจากชาติต่าง ๆ ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ดังนั้น แม้จะมีการต่อต้านการยุ่งเกี่ยวของนานาชาติต่อกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ แต่รัฐบาลจีนก็ยอมรับความเกี่ยวพันที่มากขึ้นของรัสเซียตลอดจนความร่วมมือทางทหารระหว่างรัสเซียกับเวียดนาม

ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับจีนและเวียดนาม รัสเซียตระหนักถึงเป้าหมายในระดับภูมิภาคและระดับโลก รัสเซียเพิ่มเดิมพันของตนในการถ่วงดุลอำนาจในอินโดเอเชียแปซิฟิก ชะลอความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนาม และสร้างอิทธิพลต่อการพิพาทในทะเลจีนใต้เพื่อให้มีการเจรจาแบบพหุภาคีมากขึ้น สำหรับรัสเซียแล้ว การรักษาสภาพการณ์ที่เป็นอยู่แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบนัก แต่ก็ดีกว่าการต้องรับมือกับชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง o

บทวิเคราะห์นี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกโดยศูนย์ตะวันออกและตะวันตกในวารสาร เอเชีย แปซิฟิก บุลเลติน ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “นโยบายสองระดับของรัสเซียเกี่ยวกับทะเลจีนใต้” ความคิดเห็นต่าง ๆ ที่แสดงใน เอเชีย แปซิฟิก บุลเลติน เป็นมุมมองของผู้เขียนและอาจไม่ได้สะท้อนถึงนโยบายหรือจุดยืนของศูนย์ตะวันออกและตะวันตกหรือองค์กรใด ๆ ที่ผู้เขียนมีส่วนเกี่ยวข้อง บทความนี้ได้รับอนุญาตให้พิมพ์ซ้ำและมีการเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำเสนอของ ฟอรัม ครั้งนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button